24 ก.ย. 2021 เวลา 10:12 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"Sciences Denial : ยามเมื่อวิทย์ปลอมอยากเอาชนะวิทย์แท้"
ในปัจจุบันที่คนเรามีเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ มันทำให้หลาย ๆ คนได้มีโอกาสเข้าถึงและเรียนรู้ข้อมูลหลาย ๆ อย่างด้วยตัวเอง
ซึ่งการเรียนรู้หลาย ๆ อย่างด้วยตัวเองนั้นมันก็เป็นเหมือนดาบสองคม ด้านดีก็คือเราสามารถเข้าถึงข้อมูลในส่วนที่เราสนใจได้อย่างเต็มที่ แต่ข้อเสียก็คือข้อมูลที่เราได้มานั้นมันอาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด
ซึ่งการรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี่แหละที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะทำให้คนที่รับข้อมูลที่ผิด ๆ นี้ไปถ่ายทอดต่อให้คนอื่นเข้าใจผิดตามไปด้วย และคนที่รับข้อมูลที่ผิดไปนั้นก็จะปิดกั้นองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อตัวของเขาเอง ซึ่งเราเรียกพฤติกรรมลักษณะนี้ว่า "Sciences Denial"
ตัวอย่างที่เราเห็นไปเมื่อไม่นานนี้ก็ผู้นำความเชื่อว่าคนเราไม่ต้องฉีดวัคซีน ไม่ต้องสวมหน้ากาก ก็สามารถรอดจากโควิดได้ สุดท้ายผู้นำคนที่ว่าก็ติดโควิดเสียชีวิต อันนี้ก็จัดเป็น Sciences Denial ที่เห็นได้ชัด
Sciences Denial จริง ๆ แล้วสามารถจำแนกออกเป็นได้หลายรูปแบบมาก (ตามรูปประกอบ) แต่สามารถจัดหมวดหมู่ออกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้:
1. Fake Expert หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเก๊ กลุ่มนี้จะสัมพันธ์กับ Dunning-Kruger effect ที่ผมชอบเขียนถึงบ่อย ๆ หรือถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ ก็คือ "รู้นิดเดียว แต่คิดว่าตัวเองรู้หมดแล้ว" ซึ่งจริง ๆ แล้วอันนี้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปที่จะพยายามรักษาคุณค่าของตัวเอง (Ego นั่นแหละ) ว่า "ข้านี่แหละรู้เยอะกว่าใคร คนอื่นต้องฟังข้าสิ" ด้วยการรับข้อมูลมาเพียงเล็กน้อยแล้วเอาจินตนาการของตัวเองมาผสมเข้าจนสถาปนาตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญได้
2. Logic Fallacies หรือตรรกะวิบัติ อันนี้เกิดจากชุดความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล แต่มันโดนใจจนเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาคิดนี้เป็นเรื่องจริง เช่น เชื่อว่า Global warming นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพราะสถานการณ์มันก็มีมาก่อนหน้านี้แล้ว และค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นทุกปี ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ต่างหาก
3. Impossible expectation หรือคิดไว้ก่อนว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ ตรงนี้เป็นการ Fix mindset เอาไว้แล้วว่าเขาเชื่อเท่านี้ เกินกว่านี้ไปจะไม่มีทางเป็นไปได้และจะปฏิเสธความรู้ที่เกินกว่าที่เขาเชื่อ เช่น ยุคหนึ่งคนเราเคยไม่เชื่อว่าจะสามารถเดินทางด้วยการบินได้ หรือไม่เชื่อว่าจะมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าที่จะมองเห็นได้ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เป็นต้น
4. Cherry picking หรือเลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบ วิธีนี้เป็นการยึดเอาสิ่งที่ตัวเองเชื่อและหาหลักฐานมาประกอบให้สิ่งที่ตัวเองเชื่อดูมีน้ำหนักมากขึ้น (เพื่อรักษา Ego ของตัวเองนั่นเอง) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีข้อมูลอีกด้านแต่เขาก็เลือกที่จะไม่เชื่อชุดข้อมูลเหล่านั้นถ้ามันมาทำให้สิ่งที่เขาเชื่อนั้นลดความน่าเชื่อถือลง เช่น คนที่เชื่อว่าโควิดเกิดจากการทดลองของมนุษย์ก็จะพยายามหาอ่านแต่ข้อมูลที่ Support ว่ามันหลุดมาจากห้องแลป ทั้งที่ข้อมูลที่สนับสนุนการมีอยู่ของเชื้อที่ใกล้เคียงกับโควิดในค้างคาวกับตัวกินมด และหลักฐานความเชื่อมโยงของเชื้อเหล่านั้นก็มีอยู่มาก แต่เขาก็เลือกที่จะไม่สนใจ
5. Conspiracy Theory หรือการสร้างทฤษฎีสมคบคิด ข้อนี้มักจะเชื่อมโยงกับข้อแรก ด้วยการเอาองค์ความรู้ที่มีเพียงน้อยนิด มาผสมกับจินตนาการอันกว้างไกลของตัวเอง จนเกิดเป็นทฤษฎีที่บางทีไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานมาสนับสนุนแต่ก็พร้อมที่จะเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเป็นเรื่องจริง เช่น วัคซีนโควิดมีการใส่อนุภาคนาโนที่มีส่วนประกอบของแม่เหล็กเข้าไปเพื่อให้สามารถควบคุมคนได้ในอนาคต พิสูจน์ได้โดยการเอาโลหะมาแปะบริเวณที่ฉีดไปมันจะถูกดูดอยู่อย่างนั้น หรืออย่างวัคซีนจะแปรสภาพในอีก 2 ปีหลังจากฉีดและทำให้ผู้ที่ฉีดเสียชีวิตทันทีเพื่อควบคุมจำนวนประชากร (เหมือนธานอสดีดนิ้ว)
ซึ่งวิธีตรวจสอบว่าเรากำลังใช้ Sciences Denial อยู่หรือไม่นั้นให้ตรวจสอบง่าย ๆ ได้คือลองพิจารณาว่า "สิ่งที่เราเชื่ออยู่นั้น มันสมเหตุสมผล (Rational) หรือไม่" ถ้ามันค่อนไปทางสามารถอธิบายอย่างมีเหตุผล ก็แสดงว่าอาจจะปลอดภัย แต่หากสิ่งที่เราเชื่อมันไม่ค่อยมีเหตุผล Support มากนัก หลักฐานไม่ค่อยมี ฟังดูแปลก ๆ แต่ก็ยังเลือกเชื่อเพียงเพราะคิดว่ามันถูกใจ
ก็อาจต้องระวังให้ดีว่า สิ่งที่เราเชื่อนั้นอาจจะเป็น Sciences Denial ที่อาจจะทำร้ายตัวเราเองและคนรอบข้างได้ในสักวัน
โฆษณา