26 ก.ย. 2021 เวลา 09:30 • คริปโทเคอร์เรนซี
“NFT” คืออะไร ?
"NFT" กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และได้รับความสนใจจากเหล่านักลงทุนรุ่นใหม่ เมื่อ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter ได้ประกาศขายทวีตแรกของตนเองในรูปแบบ NFT โดยสามารถปิดราคาที่ 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 90 ล้านบาท หลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่า NFT คืออะไรกันแน่ ทำไมถึงสามารถสร้างมูลค่าได้สูงขนาดนั้น บทความนี้จะพามารู้จักกัน
"Non-Fungible Token" หรือ "NFT" คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง อยู่ในเทคโนโลยีบล็อกเชน คล้ายกับ "cryptocurrency" ที่จริง ๆ มีหลายสกุลเงิน แต่ที่โด่งดังคุ้นหูที่สุดตอนนี้ ก็คือ สกุลเงินดิจิทัลอย่าง "Bitcoin"
สำหรับ จุดเด่นของ NFT ก็ตรงตามชื่อ คือ การเป็น "โทเคน" ที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ และจะมีชิ้นเดียวในโลกตามของสิ่งนั้นที่มีอยู่จริง
NFT ในช่วงแรก นิยมนำมาใช้ในแวดวงศิลปะ โดยนำภาพวาด งานศิลปะ ประติมากรรม เพลง วิดีโอ เกม การ์ตูน ฯลฯ ที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผู้สร้างมาเปลี่ยนเป็น NFT
งานศิลปะต่าง ๆ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น เมื่อนำไปแปลงเป็นโทเคน (Token) เข้าสู่ NFT จะถูกเรียกว่า "Crypto Arts" (งานศิลปะเข้ารหัส) กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าสามารถซื้อ-ขายได้
ความน่าสนใจของงานศิลปะแบบ NFT คือ ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้สร้างงานศิลปะ และขายงานได้ หากงานนั้น ๆ ถูกตาต้องใจนักสะสม หรือเป็นที่ต้องการของใครก็ตามที่อยากครอบครอง ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้นักสะสมได้พบกับผลงานศิลปินที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่มีพื้นที่ในการแสดงผลงานของตัวเองได้มากขึ้นอีกด้วย
สำหรับแพลตฟอร์มของ NFT ที่ใช้สำหรับซื้อ-ขาย สินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ก็มีมากมายหลายเว็บไซต์ ซึ่งต่างก็เป็นแหล่งสะสมผลงานที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น "OpenSea" แหล่งคริปโตอาร์ตที่มีชื่อเสียง ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถแปลงงานของตัวเองสู่ดิจิทัล และตั้งราคาเองได้ หรือ "Valuables" แพลตฟอร์มผลงานศิลปะ ที่มีการซื้อ-ขาย ทวีตแรกของโลกในราคาราว 90 ล้านบาทนั่นเอง
การที่เราจะสร้างสรรค์งานศิลปะ และแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำไปลงไว้ในแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย รูปแบบ NFT ก็อย่าลืมศึกษาเรื่อง "Gas Fee" ซึ่งก็คือ ค่าธรรมเนียมสำหรับการนำข้อมูลไปลงไว้ในแต่ละระบบ Blockchain
โดยแต่ละแพลตฟอร์มก็มีเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน บางเว็บไซต์อาจต้องจ่ายเป็นบิตคอยน์ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ผู้สนใจลงทุนด้าน NFT ควรศึกษาให้ละเอียดก่อนทุกครั้งเสมอ
(ข้อมูลจากไทยรัฐและกรุงเทพธุรกิจ)
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ www.mktsolution.co
#nft #marketing #business #MKTSolution
โฆษณา