26 ก.ย. 2021 เวลา 04:30 • ประวัติศาสตร์
ท้าวเวสสุวรรณ เทพแห่งความมั่งคั่ง
รูปวาดโดย ทีมงานเจริญ
ความศรัทธาต่อสิ่งสมมุติของมนุษย์นั้น เกิดขึ้นมายาวนานหลายพันปี ทุกอารยะธรรมล้วนมีความเชื่อเป็นของตนเอง ซึ่งตามมาด้วยการแสวงหาวิธีเคารพบูชาเพื่อหวังถึงผลสำเร็จแห่งศรัทธาที่ตั้งมั่น เรื่องราวเหล่านี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน ดังที่เราจะพบคติความเชื่อมากมายบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อตามหลักการธรรมชาติ ศาสนา ภูตผี ปีศาจ รวมถึงอำนาจเร้นลับที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตา
แม้บางอารยะธรรมจะสูญหายไปจากโลกนี้ แต่ก็ยังคงทิ้งร่องรอยความศรัทธาไว้ในรูปแบบแตกต่างกันจะเป็นคัมภีร์ บันทึก จารึก หรือสิ่งก่อสร้างอันน่าพิศวง ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่อาจอธิบายได้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ศรัทธาประเภทหนึ่งที่ยังคงปรากฏความเข้มแข็งให้เห็นในปัจจุบันคือ ศรัทธาในผู้มีความดีความเพียรและมีอิทธิปาฏิหาริย์ เมื่อได้กราบไหว้เคารพบูชา จะดลบันดาลให้เกิดความสมปรารถนาต่อตัวผู้เคารพกราบไหว้ คำกล่าวที่ว่า ความเชื่อกับงมงายมีเพียงเส้นบางๆคั่นอยู่ จึงเป็นเรื่องที่สมควรนำมาพิจารณาอย่างมีเหตุมีผล
ในคัมภีร์หรือจารึกทางศาสนาแถบเอเชีย มีเรื่องของ ท้าวจตุโลกบาล ตามคติจักรวาลวิทยาในศาสนาพุทธเรียกว่า จาตุมหาราชิกา แปลว่า "มหาราชทั้งสี่" หรือผู้รักษาคุ้มครองโลกใน 4 ทิศ ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก
ทางคติความเชื่อแบบจีน จตุโลกบาลมีชื่อเรียกในภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วว่า “สี้ไต๋เทียงอ้วง” มีตำนานว่า คราวกษัตริย์บู่อ๋อง แห่งราชวงศ์จิว ยกพวกไปตีกษัตริย์ติ๋ว ระหว่างทางมีเทพเจ้า ๔ องค์มาขออาสาช่วยรบ กษัตริย์บู่อ๋องได้กล่าวขอบใจ และขอให้ช่วยปกปักรักษาให้ดินฟ้าอากาศเป็นไปโดยราบรื่นตามฤดูกาลก็พอ ครั้นการรบเป็นผลสำเร็จ กษัตริย์บู่อ๋องจึงรับสั่งให้ตั้งศาลเจ้าบูชาเทพทั้ง ๔ องค์
2
ตามวิหารหน้าทางเข้าวัดพุทธมหายานจีนนิกาย จึงประกอบด้วยเทพทั้งสี่องค์ ซึ่งมักประดิษฐานเรียงกันให้ได้ตามลำดับถ้อยคำมงคลดังกล่าวข้างต้น
1
๑.เจงเจียเทียงอ้วง (ท้าววิรุฬหก) ราชาแห่งกุมภัณฑ์ ปกครองทิศใต้ กายสีขาว ถือดาบ คือ “ฮวง” (ลม)
๒.ฉือกว๋อเทียงอ้วง (ท้าวธตรฐ) ราชาแห่งคนธรรพ์ ปกครองทิศตะวันออก กายสีแดงหรือขาว มือถือพิณจีน (ปี่แป๋ หรือผีผา) คือ “เที้ยว”
๓.โตเหวินเทียงอ้วง (ท้าวเวสสุวรรณหรือกุเวร) ราชาแห่งยักษ์และภูตผี ปกครองทิศเหนือ กายสีเขียวหรือเหลือง มือถือฉัตรหรือร่ม คือ “โหว” (แต่บางแห่งก็อุ้ม “ถะ” คือเจดีย์แบบจีนแทน)
๔.ควงบักเทียงอ้วง (ท้าววิรูปักข์) ราชาแห่งนาค ปกครองทิศตะวันตก กายสีน้ำตาลเข้ม ถืองูหรือมังกรในมือหนึ่ง คือ “สุง” มืออีกข้างถือดาบ
1
คราวงานพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เราจะเห็นประติมากรรมอันงดงามของท้าวจตุโลกบาลประจำอยู่ที่ชั้นแรกทั้งสี่ทิศ ตามความเชื่อว่าจะทำหน้าที่ป้องกันอันตราย ทำให้งานพระราชพิธีราบรื่น ถือเป็นครั้งแรกซึ่งไม่เคยปรากฏในงานพระเมรุมาศใดมาก่อน นับเป็นการสะท้อนให้เห็นคติความเชื่อในด้านนี้อย่างชัดเจน
ในประเทศไทยการบูชา ท้าวเวสสุวรรณ เหนือเทพองค์อื่นปรากฏเด่นชัดมานานแล้ว ด้วยเชื่อว่าจะปกป้องคุ้มครองจากอันตรายและช่วยให้เกิดความมั่งคั่งประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ วัดพุทธหลายแห่งสร้างรูปเคารพไว้ให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้บูชา พร้อมเรื่องเล่าที่แตกแขนงออกไปจากคัมภีร์ดั้งเดิมท้าวเวสสุวรรณ มีที่มาที่ไปอย่างไร? ถึงกลายเป็นความศรัทธาอันลึกซึ้งของคนไทย
1
ท้าวเวสสุวรรณ ในภาษาพราหมณ์เรียกว่า "ท้าวกุเวร" ทางพุทธศาสนาเรียก "ท้าวไพศรพณ์"
2
เป็นอธิบดีแห่งอสูร หรือเจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งปวง เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ ประทับอยู่ทางทิศเหนือ อาณาเขตที่ ท้าวเวสสุวรรณ ปกครองนั้นมหาศาลมาก ด้วยเป็นหัวหน้าของ "พระอินทร์" (ท้าวธตรฐ) ปกครองโลกด้านทิศตะวันออก ,"พระยม" (ท้าววิรุฬหก) ปกครองโลกด้านทิศใต้ และ "พระวรุณ" (ท้าววิรูปักษ์) ปกครองโลกด้านทิศตะวันตก
เรามักจะเห็นท้าวเวสสุวรรณในรูปของยักษ์ยืนถือคทา(ไม้เท้าเป็นรูปกระบอง)เป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้ว ยังมีรูปเคารพที่ต่างออกไปในรูปของชายนั่งในท่ามหาราชลีลา มีลักษณะอันโดดเด่นคือ พระอุระพลุ้ยอีกด้วย
คัมภีร์ปุราณะของฮินดูกล่าวว่า"ท้าวกุเวร” เป็นบุตรของพระวิศรวะมุนี กับนางอิลาวิฑา และเป็นหลานของฤๅษีปุลัสตยะ ในอดีตชาติ ท้าวกุเวร เกิดเป็นพราหมณ์ ชื่อ ยาคทัตต์ มีนิสัยชอบลักขโมย ถูกทหารไล่จับ จึงหนีเข้าไปหลบในเทวาลัยร้างของพระศิวะ และได้จุดไฟบูชาทำให้พระศิวะทรงพอพระทัย
3
ภายหลังถูกจับได้และโดนประหาร แต่ยมทูตไม่สามารถนำวิญญาณไปได้ เพราะพระศิวะทรงส่งสาวกไปรับวิญญาณและส่งไปเกิดใหม่ เป็นบุตรของท้าวอรินทมะ แห่งแคว้นกลิงคะ ชื่อว่า ทัมพกุมาร และได้ทำพิธีบูชาพระศิวะด้วยการจุดประทีปอยู่ทุกเวลา
เมื่อตายจึงได้มากำเนิดใหม่เป็นบุตรของพระวิศรวะมุนี มีนามว่า "พระไวศรวัณ” ได้บำเพ็ญตบะจนพระศิวะพอพระทัย จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทพแห่งทรัพย์สมบัติ เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ เป็นเจ้าของทองและแก้วแหวนเงินต่างๆ รวมถึงทรัพย์แผ่นดินทั่วไป และทำหน้าที่เป็นเทพโลกบาลประจำทิศเหนือ
ความสำคัญของท้าวเวสสุวรรณ ยักษ์ที่มีสถานะเป็นเทพ มีกล่าวอยู่ในพระไตรปิฎกแสดงให้เห็นบทบาทหน้าที่และความสำคัญในการคุ้มครองดูแลศาสนาว่า คืนหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ เขาคิชฌกูฎ ใกล้กรุงราชคฤห์ เทพผู้พิทักษ์โลกบาลทั้ง ๔ ทิศ พร้อมด้วยเสนารักษ์ คนธรรพ์ (รุกขเทวดา) กุมภัณฑ์และนาค ได้เข้าเฝ้า
4
เมื่อถวายบังคมแล้ว ท้าวเวสสุวรรณ ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า มียักษ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ที่เลื่อมใสก็มี ไม่เลื่อมใสก็มี แต่ที่ไม่เลื่อมใสมีมากกว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม เพื่อเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด ห้ามดื่มสุราเมรัย
พวกยักษ์เหล่านั้นไม่เว้นจากสิ่งเหล่านี้ จึงไม่ชอบพระพุทธองค์ มีสาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติธรรมถือศีลในป่า อาจได้รับเหตุเภทภัยจากยักษ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของพระองค์
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้รับการคุ้มครองรักษา ท้าวเวสสุวรรณ อธิบดีแห่งจตุโลกบาล จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงเรียนคาถาบทหนึ่ง ชื่อ "อาฏานาฏิยา” เพื่อทำให้บรรดายักษ์เกิดความเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงรับ ท้าวเวสสุวรรณจึงถ่ายทอดพระสูตร ชื่อ อาฏานาฏิยา ซึ่งก็คือบทสวดสำหรับคุ้มครองป้องกันเภทภัย นั่นเอง
1
พระสูตรดังกล่าวมีขนาดยาวมาก ด้วยความที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยักษ์และอมนุษย์ ผู้คนทั่วไปจึงนิยมเรียกกันว่า "การสวดภาณยักษ์” แต่ในความเป็นจริงแล้วการสวดภาณยักษ์ เป็นการเรียกโดยสะดวก เพราะในการสวดภาณยักษ์นั้น มีทั้งภาณยักษ์ และภาณพระ รวมกันเป็นอาฏานาฏิยสูตร นั่นเอง
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า มีการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยปริตร เพื่อสะเดาะเคราะห์ในพระนคร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้รอดพ้นจากเหตุร้ายในช่วงเวลาเปลี่ยนศักราช ในปัจจุบันการสวดภาณยักษ์ได้แพร่หลายไปยังวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มักสวดด้วยสำเนียงที่ดุดัน แห้งแหบโหยหวนทำนองขู่ตวาดภูตผีปีศาจ ซึ่งเป็นลักษณะการสวดเช่นเดียวที่ปรากฏในพระราชพิธี
1
ทว่าในระดับพระราชพิธีนั้นให้นิมนต์พระอีกสำรับหนึ่ง มาสวดภาณพระ ด้วยทำนองสรภัญญะที่ไพเราะชื่นใจขึ้นเป็นคู่กัน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาราษฎร์ ว่าได้ขับไล่ภัยอันตรายสิ่งร้ายและอวยพรชัยสิริมงคล ในกาลเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนปี
ปฐมสมโพธิกถาในกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของท้าวเวสสุวรรณ ในการช่วยเหลือพระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพียรสู่การหลุดพ้นครั้งสมัยพุทธกาลว่า ท้าวเวสสุวรรณกับท้าวจตุโลกบาลนำบาตรศิลามรกตมาทั้ง ๔ ทิศ แล้วเข้ากราบทูลถวายให้ทรงรับซึ่งข้าวสัตตุด้วยบาตรทิพย์ทั้ง ๔
พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอ จึงทรงอธิษฐานผสานบาตรทั้ง ๔ เข้าเป็นบาตรเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุ ทางบาลีเรียกว่า "มันถะ” คือ ข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อน เรียกว่ "มธุบิณฑิกะ” คือ ข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน ด้วยบาตรนั้น
ในภาษาสันสกฤตเรียกท้าวเวสสุวรรณ ว่าพระไพศรพณ์ และถูกนำมาเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมอัยการ ตั้งแต่แรกก่อตั้งเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว เนื่องจากยกกระบัตร (ชื่อในสมัยโบราณ) มีหน้าที่รักษาความยุติธรรมและกฎหมายเช่นเดียวกับหน้าที่ของพระไพศรพณ์ ในสวรรค์
คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าการบูชาท้าวเวสสุวรรณ จะบังเกิดโชคลาภร่ำรวยเงินทอง มีกินมีใช้ไม่ขาด แก้ปีชง เสริมปีชง ป้องกันภัยจากสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น
1
คนมีลูกเพิ่งคลอด หรือมีเด็กเล็ก มักนิยมตั้งท้าวเวสสุวรรณไว้ตรงที่เด็กนอนหลับเพื่อขับไล่ภูติผีปีศาจไม่ให้มารบกวน ผู้มีอาชีพสัปเหร่อ หรือรับหน้าที่เพชฌฆาตประหารชีวิตนักโทษ มักพกรูปท้าวเวสสุวรรณ ไว้เป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกันภัยจากวิญญาณร้าย เพราะท้าวเวสสุวรรณเป็นผู้ปกครองแห่งยักษ์และภูติผีปีศาจนั่นเอง
บทความโดย ฟ้าพระจันทร์
โฆษณา