25 ก.ย. 2021 เวลา 15:42 • ครอบครัว & เด็ก
้เด็ก กับ เมลาโทนิน
หนึ่งวันของการเรียนจากที่บ้าน ทำไมมันกินเวลานานแสนนานสำหรับแม่ๆหรือผู้ใหญ่ รู้มั้ย?
เพราะชั่วโมงการตื่นของเด็กๆ ถูกยืดออก ในขณะที่การนอนลดน้อยลงหรือเปลี่ยนอย่างมหาศาล
ปัญหาคืออะไร
สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในบ้านของตัวเอง คือเวลาสกรีนไทม์ที่มีมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา และไม่สามารถจำกัดเวลาให้มันได้
กว่าจะเรียนออนไลน์เสร็จ กินข้าว และเบรก ช่วงเวลาดูการ์ตูนหรือทีวีที่ริดรอนลงไปย่อมต้องได้รับการชดเชย นี่เป็นกฎกติกาที่เด็กทุกบ้านสามารถเรียกร้องได้ในยุคโควิดนี้
นั่นทำให้ช่วงเวลาที่ต้องนั่งหน้าจอถูกขยายเป็นสองเท่า
Blue Light จากจอมือถือ ไอแพด หรือแทบเล็ต ส่งผลโดยตรงไปยังสมองน้อยๆ และทำให้ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการนอนทำงานลดประสิทธิภาพลง
บวกกับ การออกกำลังน้อยลงทำให้เด็กๆ ยังคงมีพลังเหลือเฟือที่รอเผาผลาญ
การนอนจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ และจากการนอนในเวลา ทุ่มสองทุ่ม ตารางยุคใหม่จึงกลายเป็นนอนสามทุ่มสี่ทุ่ม หรือแย่ๆในบางวันห้าทุ่มก็คงจะมี
ทางออก 2 ทาง
การจัดการปัญหานอนดึก มีหนทางที่สร้างความหวังให้ผมอยู่สองทาง คือ
1. การปรับโดยพฤติกรรม
2. ทางเลือกในการใช้ยาบางชนิด สำหรับเด็กบางคนเท่านั้น
การปรับพฤติกรรม
แรกสุด.     การจัดสรรตารางกิจกรรมของวันอย่างตั้งใจ และไม่ปล่อยไหลโฟลว์จนควบคุมไม่ได้
แม้จะฟังดูง่าย แต่เชื่อว่าพ่อแม่ หลายคนไม่สามารถควบคุมเวลาของวันได้เลย
ภาพคร่าวๆ ที่ผมใช้ คือการเรียนออนไลน์ การกินข้าว การนอนกลางวัน การดูการ์ตูน และที่สำคัญที่สุด การวิ่งเล่นออกกำลัง เมื่อตกเย็น...ความเหนื่อยเข้ามา อะไรๆ ก็ดูมีความหวังมากขึ้น
เล่นเยอะๆ คืนนี้พ่อจะได้นอนกับเขาบ้าง
ต่อมา.     การสร้างตารางเวลา ซึ่งเน้นแค่เพียงเฉพาะ 'ตารางการนอน'
ในฐานะพ่อแม่เราต้องมาถึงจุดที่เข้าใจตรงกันได้แล้วว่า เวลาบนหน้าปัดนาฬิกาไม่สำคัญ
กิจกรรมก่อนหลังที่ทำซ้ำทุกวันจนเป็นขนบของบ้านต่างหากที่เป็นเครื่องมือชี้ตารางเวลาให้เด็กๆ ได้ดีที่สุด เช่น หลังทางข้าว กินผลไม้พร้อมกับดูการ์ตูน เสร็จแล้วขึ้นนอน
เมื่อเด็กๆ ทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นขั้นตอนทุกวัน เขาจะรู้ว่ากิจกรรมใดที่กำลังจะตามมาในลำดับต่อไป
การรู้ได้เองนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายเตรียมความพร้อมในการเข้านอนโดยธรรมชาติ ฮอร์โมนการนอนที่จำเป็นจะทำหน้าที่ตามนาฬิการ่างกาย (Biological Clock) โดยอัตโนมัติ และนั่นคือเป้าหมายของเรา
ต้องไม่ลืม.     การจัดบรรยากาศในห้องนอนให้พร้อม
โดยมีหลักการชัดเจนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ
- หลีกเลี่ยงการดูจออย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ห้ามมีของเล่นในห้องนอน เพราะมันทำให้สมองของเด็กน้อยตื่นตัวและพร้อมเล่นต่อ เมื่อเข้าห้องนอน ต้องมีความหมายว่า การนอนเท่านั้น เพื่อให้เด็กปรับโหมดเข้าสู่การพักผ่อน ไม่ใช่การเข้าห้องนอนเพื่อไปเล่นกับของเล่นสุดโปรดต่อ
- มีความเย็น การนอนที่หลับเร็วและลึกจะเกิดขึ้นได้ด้วยอุณหภูมิในห้อง ซึ่งจากผลการวิจัยมากมาย อุณหภูมิที่ใช่อยู่ที่ 18-20 C
- กิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน ที่เป็นตัวบ่งชี้ชัดๆอีกรอบว่า "เรากำลังจะนอนแล้ว" ซึ่งคงไม่พ้นการอ่านนิทานสั้นๆ ที่ไม่ตื่นเต้นมากมายและไม่ใช้เสียงดังจนเกินไป
และถ้าทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ผล เราคงต้องมาถึงทางออกสุดท้าย ที่ผมได้ลองใช้และเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม
ทางเลือกในการใช้เมลาโทนิน
อันที่จริง มันไม่ใช่ยา แต่เป็นตัวช่วยที่ผลิตเลียนแบบฮอร์โมนทางธรรมชาติของร่างกายที่สมองผลิตเพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกง่วงและหลับได้ลง
ในช่วงกลางวันสมองจะผลิตฮอรโมนตัวนี้ต่ำและเมื่อเข้าสู่เวลากลางคืนฮอร์โมนนี้จะถูกหลั่งออกมาเพื่อสร้างความรู้สึกง่วงให้เราตามเวลา
เมลาโทนิน นับเป็น Supplement ที่ช่วยทดแทนส่วนที่ขาดเหลือของฮอร์โมนตัวนี้นั่นเอง
ในการใช้เมลาโทนนินในเด็ก จะเกิดประโยชน์ชัดเจนในเด็กที่มีภาวะ ADHD, หอบ, Autism spectrum disorder, Atopic dermatitis
สำหรับเด็กทั่วไป กติกาการใช้จากการวิจัยเบื้องต้นมีอยู่ว่า
- สามารถใช้เมลาโทนินได้ตั้งแต่อายุ 3.7 ปีขึ้นไป (หรือรอ 4 ขวบ)
- ทานคืนละไม่เกิน 0.5 mg
- ทานก่อนเข้านอน 90 นาที
รูปแบบที่พบได้ในท้องตลาดสำหรับเด็ก มีทั้งแบบเม็ดเคี้ยวกลืนและกัมมี่ ซึ่งง่ายและมีรสชาติดี
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าลูกบ้านไหนนอนดึก หลับยาก หรือตื่นบ่อยในระหว่างคืน ควรปรึกษากุมารแพทย์และปรึกษาแง่มุมการใช้เมลาโทนินหรือตัวช่วยอื่นๆ สำหรับลูกเราก่อนนะคะ
สำหรับบ้านผม
สัปดาห์ที่ผ่านมาในบ้าน เราได้ลองใช้เมลาโทนินกับน้องน้อยผู้มีพลังงานสูงส่ง ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าพอใจเป็นอย่างมาก
เพราะนอกจากระยะเวลาการหลับจะสั้นลงอย่างชัดเจน คือหลับได้ภายใน 10 นาทีหลังจากเอนหลังลงบนเตียง ในระหว่างคืนยังสามารถหลับได้ยาว และไม่มีการตื่นมาขอกินนมกลางดึกอีก
สำเร็จ!
อันที่จริงเป้าหมายการให้ลูกนอนนั้นมีมากมายกว่าความพยายามลดความเหนื่อยอ่อนของแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นในบ้านแน่นอน
เพราะปัจจัยหลักที่พระเจ้าสร้างกลางคืนมาก็เพื่อการพักผ่อน
ในเวลาต้นคืนจนถึงตีสาม หรือเรียกง่ายๆ ว่า หลังละหมาดอีชาจนถึงช่วงเวลาการละหมาดตะฮัดยุด คือช่วงเวลาที่ร่างกายของทุกๆคนในโลกถูกตั้งโปรแกรมให้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ซึ่งส่งผลอย่างมากในเรื่องสุขภาพและความยืนยาวของชีวิต
ถ้าเด็กๆ ได้นอนหลับอย่างเต็มตื่น นอกจากสมองจะพัฒนาได้เต็มศักยภาพของมัน เรายังทำหน้าที่วางรากฐานสุขภาพที่ดีและปลอดโรคประจำตัวเรื้อรังในอนาคตอย่าง มะเร็ง ความดัน โรคหัวใจ เบาหวาน ของลูกๆ เรา ได้อีกด้วย
และนั่นคือเป้าหมาย.
เด็ก กับ เมลาโทนิน
โฆษณา