30 ก.ย. 2021 เวลา 06:00 • ไลฟ์สไตล์
เลือก “บริษัทประกันภัย” อย่างไร ให้ไกลความเสี่ยง
“บริษัทประกันภัย” ใดมีความเสี่ยงบ้าง ผู้ทำประกันควรดูปัจจัยใดที่จะทำให้มีความเสี่ยงจากการทำประกันภัยน้อยที่สุด
เลือก “บริษัทประกันภัย” อย่างไร ให้ไกลความเสี่ยง
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากสำหรับการทำ “ประกันภัย” จากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของสถานการณ์เฉกเช่นปัจจุบัน ยิ่งทำให้ผู้คนมีความต้องการคุ้มครองความเสี่ยงจากโรคระบาดนี้ไว้ให้อุ่นใจ
อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีข่าวเรื่องบริษัทประกันรายหนึ่งที่ส่งจดหมายขอยกเลิกกรมธรรม์โควิด (ชนิดเจอจ่ายจบ) จนส่งผลสะเทือนไปทั้งวงการ เพราะลูกค้าที่เคยซื้อประกันโควิด ประเภทเจอจ่ายจบ ทั้งกับเจ้าที่เป็นข่าว รวมถึงเจ้าอื่นๆ ก็เกิดความไม่สบายใจ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องออกมาเบรค และบังคับให้บริษัทดังกล่าว “ห้ามยกเลิกกรมธรรม์”
ถัดมาไม่นาน ประเด็นล่าสุดที่เกิดขึ้น ก็คือกรณีที่ บริษัทประกันอีกรายหนึ่ง ได้ทำการเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ และส่งผลให้เกิดความแตกตื่นในหมู่ผู้บริโภคที่ซื้อประกันเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทประกันที่ตนเองซื้อกรมธรรม์ไว้นั้น ยังอยู่ดีหรือเปล่า?
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะมาแนะนำวิธีการเลือก “บริษัทประกันภัย” ในเบื้องต้น เพื่อให้อย่างน้อยก็มีความมั่นใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวจะไม่สร้างความเสี่ยงให้กับผู้ทำประกันในภายหลัง
ฐานะทางการเงินที่มั่นคง
อันดับแรก บริษัทประกันภัยจะต้องมีสถานะหรือฐานะทางการเงินที่มั่นคง เพื่อรับประกันการบริหารจัดการที่ดีของบริษัท โดยปกติเราบริษัทประกันภัยทั้งหมดจะต้องเปิดเผยงบแสดงฐานะทางการเงิน แต่การที่เราจะต้องเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดอาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากจนเกินไป
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ความว่าให้เราสนใจกับสิ่งนี้น้อยลง แต่อยากแนะนำให้พิจารณาเพียงตัวเลขไม่กี่ตัวที่มีความสำคัญกับลูกค้าบริษัทประกันภัย อย่าง อัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR)
อัตราส่วนนี้เสมือนเป็นการบอกเราว่าบริษัทประกันภัยมีความสามารถในการชำระและจัดการหนี้สินเพียงใด ยิ่งตัวเลขมีค่าสูงมาก ยิ่งแสดงถึงความสามารถการบริหารหนี้สินที่ดี บ่งบอกถึงความมั่นคงของบริษัท
(หมายเหตุ: ธุรกิจประกันภัย ในทางบัญชีเงินจากลูกค้าประกันภัยถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินบริษัท)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีการกำหนดให้ทุกบริษัทประกันภัยต้องมีอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 120% (ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 140% ในปี 2565) และต้องเปิดเผยตัวเลข CAR ให้สาธารณชนได้รับทราบ
ฉะนั้นก่อนที่จะทำการเลือกกรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยใด การตรวจสอบตัวเลข CAR ของบริษัทนั้นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจก็จะช่วยให้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในภายหลังลดลงไปได้ไม่มากก็น้อย
ประวัติการดำเนินงานของบริษัท
การดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทประกันภัยมีความสำคัญให้นำมาประกอบการตัดสินใจได้ โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อลูกค้าประกันภัยของบริษัท
1
การบอกเล่าประสบการณ์จากผู้เอาประกันภัยหรือลูกค้าของบริษัทประกันภัยต่างๆ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “รีวิว” ก็สามารถนำมาร่วมพิจารณาได้ เช่น ความยากง่ายในการติดต่อประสานงานกับบริษัท ระยะเวลาการดำเนินเรื่องความคุ้มครอง ประวัติการบอกเลิกกรมธรรม์ เป็นต้น
โดยส่วนนี้ผู้ทำประกันอาจจะต้องเป็นคนสืบค้นข้อมูลเอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการบริการที่ไม่พึงประสงค์ของตัวผู้เอาประกันภัย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลในอดีต ซึ่งอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าในอนาคตบริษัทที่ผู้ทำประกันภัยเลือกจะยังมีความน่าเชื่อถือเช่นเดิม โดยการกระทำตามที่แนะนำไปดังกล่าวเป็นเพียงการวิธีการเลือกบริษัทในเบื้องต้น
ฉะนั้นการติดตามข่าวสารของบริษัทประกันภัยที่ตนเองทำประกันภัยไว้ รวมถึงการอ่านรายละเอียดหรือสอบถามข้อมูลกรมธรรม์อย่างถี่ถ้วนนั้นมีความสำคัญมาก เพื่อให้ได้รับความพึงพอใจและลดความเสี่ยงจากการทำประกันภัยให้ได้มากที่สุด
อ้างอิง: สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
โฆษณา