1 ต.ค. 2021 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เราสามารถลงมือ “ฆ่า” ใครสักคน ด้วยความเมตตาได้หรือไม่ ?
.
การทำ “การุณยฆาต” แบ่งออกได้เป็นกี่ประเภท ?
***หมายเหตุ 1 : บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อจุดประสงค์สำหรับการอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากมีรายละเอียดที่ผิดพลาด หรือมีความไม่เหมาะสมในประการใด ทางผู้เขียนขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
***หมายเหตุ 2 : เนื้อหาในบทความนี้อาจมีความรุนแรง หรือมีความอ่อนไหวทางศีลธรรม
***หมายเหตุ 3 : บทความนี้ไม่ได้มีความเจตนาส่งเสริมให้มีการคิดสั้นแต่อย่างใด
***หมายเหตุ 4 : กฎหมายการทำการุณยฆาต มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
“การุณยฆาต” = การฆ่า หรือทำให้ตายอย่างสงบ
คำว่า การุณยฆาต หรือคำในภาษาอังกฤษ Euthanasia [[[อ่านออกเสียงว่า ยู-เท-เน-เซีย]]] เป็นการทำให้คนเสียชีวิตเพื่อจำกัดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ที่มักจะป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่มีทางรักษาอาการป่วยให้หายขาด หรือรักษาให้อาการดีขึ้นได้
ในส่วนของคำว่า “Euthanasia” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกว่า "eu" (ดี) และ "thanatos" (ความตาย) ถ้าจะให้แปลอย่างตรงตัวก็คือ “ความตายที่ดี”แนวคิดก็คือการไม่ยอมรอให้ใครบางใครต้องทนทุกข์ทรมานจากการตายลงอย่างช้าๆ
ในส่วนของภาษาไทย คำว่า “การุณยฆาต” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า “การุณ” (ความเมตตา) และ ฆาต (การฆ่า) แปลอย่างตรงตัวก็คือ การฆ่าด้วยความเมตตา ทั้งนี้จะเป็นการเมตตามอบความตายให้กับตัวเอง หรือจะเป็นการที่ผู้อื่นมอบความตายให้ ด้วยความยินยอม หรือปราศจากความยินยอม ของผู้ตาย เราจะมาหาคำตอบในบทความนี้กันครับ
โดยแนวคิดของชาติตะวันตกสําหรับการทำ การุณยฆาต มีข้อพิจารณา 3 ประการ คือ
1. เมื่ออยู่ในภาวะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส
2. สิทธิส่วนบุคคลที่จะยุติชีวิตลง
3. บุคคลไม่ควรถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไป ในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้ และไร้การรับรู้ทางสมอง
1
“การทำการุณยฆาต แบ่งออกได้เป็น 7 รูปแบบ”
การปลิดชีวิตผู้คนด้วยความเมตตา ที่จัดอยู่ในขอบเขตของการทำ การุณยฆาต นั้นแบ่งออกได้เป็น 7 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. Active Euthanasia (การกระทำบางอย่างให้เสียชีวิต) : การกระทำบางสิ่งเพื่อให้ผู้ป่วยเสียชีวิต อาทิ การฉีดยา/การให้ยาบางอย่าง ในบางกรณี เรียกรูปแบบนี้ว่า Aggressive Euthanasia หรือการทำการุณยฆาตอย่างก้าวร้าว
2. Passive Euthanasia (การปล่อยให้เสียชีวิต) : มีเจตจำนงที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยไม่ให้การช่วยเหลือเพื่อพยุงชีวิต อาทิ ไม่ใช้งานเครื่องช่วยหายใจ หรืองดเว้นการให้อาหารทางสายยาง
โดยที่นักจริยธรรมบางคน (Ethicists) แยกแยะระหว่าง “การระงับการช่วยชีวิต” กับ “การยุติการช่วยชีวิต” (โดยที่ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการช่วยชีวิต แต่ถูกถอดออกจากการช่วยชีวิต)
3. Voluntary Euthanasia (การทำการุณยฆาตด้วยความสมัครใจ) : เป็นการปลิดชีวิตโดยได้รับความยินยอมจากตัวผู้ป่วยเอง
4. Involuntary Euthanasia (การทำการุณยฆาตโดยปราศจากความสมัครใจ) : เป็นการปลิดชีวิตโดยไม่ได้รับความยินยอมจากตัวผู้ป่วย เกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ไม่มีสติรับรู้ และไม่มีใครรับรู้เจตจำนงของผู้ป่วย
โดยที่นักจริยธรรมบางคน (Ethicists) แยกแยะระหว่าง “การปลิดชีพโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย” หรือ Involuntary Euthanasia (คัดค้านความปราถนาของผู้ป่วยที่ยังไม่ต้องการเสียชีวิต) กับ การปลิดชีพโดยมิได้รู้ความยินยอมของผู้ป่วย หรือ Nonvoluntary Euthanasia (ปราศจากความยินยอม และไม่สามารถรับรู้ความปราถนาที่แท้จริงของผู้ป่วย)
5. Self-administered Euthanasia (การปลิดชีพที่ผู้ป่วยมีส่วนในการลงมือด้วยตัวเอง) : ผู้ป่วยมีส่วนในการดำเนินการบางอย่างเพื่อนำพาตัวเองไปสู่ความตาย
6. Other-administered Euthanasia (การปลิดชีพผู้ป่วย โดยที่ผู้อื่นมีส่วนในการลงมือ) : โดยบุคคลคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ป่วย เป็นผู้จัดการบางอย่างเพื่อนำพาผู้ป่วยไปสู่ความตาย
7. Assisted Euthanasia (การปลิดชีพที่ผู้ป่วยมีส่วนในการลงมือด้วยตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลอื่น) : ผู้ป่วยมีส่วนในการดำเนินการบางอย่างเพื่อนำพาตัวเองไปสู่ความตาย ภายใต้การให้ความช่วยเหลือของบุคคลอื่น ซึ่งอาจจะเป็นแพทย์
ในทางปฏิบัติแล้ว การทำการุณยฆาตในแต่ละครั้ง อาจมีความเป็นไปได้ที่มีการผสมผสานรูปแบบ ได้มากกว่า 1 รูปแบบเข้าด้วยกัน และแน่นอนว่าการทำการุณยฆาตนั้นยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงทางศีลธรรม และมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายในหลายๆ ประเทศ
“Mercy-killing” คำศัพท์ที่เราเคยได้ยิน สื่อความหมายถึงอะไร ?
สำหรับคนที่เสพสื่อความบันเทิงจากชาติตะวันตก คงจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างกับคำว่า Mercy-killing (เมตตา-ฆ่า) เรามาลองสำรวจกันดูว่า แท้ที่จริงแล้วการทำ Mercy-killing นั้นจัดอยู่ในหมวดหมู่การทำการุณยฆาตในรูปแบบใด
โดยทั่วไปแล้ว การทำ Mercy-killing นั้นสื่อถึงการทำการุณยฆาตได้หลายรูปแบบ อาทิ
- Active Euthanasia (การกระทำบางสิ่งเพื่อให้ผู้ป่วยเสียชีวิต)
- Involuntary Euthanasia (การทำการุณยฆาตโดยปราศจากความสมัครใจ)
- Nonvoluntary Euthanasia (การทำการุณยฆาตโดยปราศจากความยินยอม และไม่สามารถรับรู้ความปราถนาที่แท้จริงของผู้ป่วย)
- Other-administered Euthanasia (การปลิดชีพผู้ป่วย โดยที่ผู้อื่นมีส่วนในการลงมือ)
อีกหนึ่งคำศัพท์ที่น่าสนใจในขอบข่ายที่เกี่ยวกับการทำ การุณยฆาต คือ Physician-assisted Suicide (แปลตรงตัวคือ การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์) มีความหมายครอบคลุมถึงการทำการุณยฆาตหลายรูปแบบ อาทิ
- Active Euthanasia (การกระทำบางสิ่งเพื่อให้ผู้ป่วยเสียชีวิต)
- Voluntary Euthanasia (การทำการุณยฆาตด้วยความสมัครใจ)
- Assisted Euthanasia (การปลิดชีพที่ผู้ป่วยมีส่วนในการลงมือด้วยตัวเอง ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลอื่น)
ใจความสำคัญของการทำ Physician-assisted Suicide คือ แพทย์ เป็นผู้จัดเตรียม ยาในปริมาณที่เพียงพอ ที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถปลิดชีพตนเองได้
Phillip Nitschke นายแพทย์ และนักมนุษยนิยม ที่มีส่วนในการผลักดันกฎหมายการมทำการุณยฆาตในประเทศออสเตรเลีย
ในกรณีของประเทศออสเตรเลีย การทำการุณยฆาตในรูปแบบ Physician-assisted Suicide ได้กลายเป็นธุรกิจไป โดยที่นายแพทย์ Phillip Nitschke ผู้รณรงค์ให้การุณยฆาต กระทําได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้คิดค้นโปรแกรมสําเร็จรูปที่มีชื่อว่า Death-by–laptop ที่ประกอบด้วย สายยางต่อกับเข็มฉีดยาที่บรรจุยาระงับความรู้สึก จะถูดฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ
อุปกรณ์ดังกล่าวจะทํางานพร้อมกับโปรแกรมที่บรรจุในเครื่องโน้ตบุ๊ก (Laptop) โดยจะมีคำถาม 3 ข้อปรากฏบนหน้าจอ และเมื่อผู้ป่วยตอบคำถามที่แสดงความจำนงต่อการทำการุณยฆาตครบทั้ง 3 ข้อ ก็จะเริ่มต้นกระบวนการปลิดชีพในทันที โดยคำถามทั้ง 3 ข้อมีดังนี้
1. ท่านต้องการเดินเครื่องฉีดสารพิษเพื่อตาย กดปุ่ม “ใช่”
2. ท่านพร้อมที่จะตาย กดปุ่ม “ใช่”
3. ท่านต้องการให้ฉีดสารพิษเข้าเส้นเลือดภายใน 15 วินาทีกดปุ่ม “ใช่”
แล้วคุณผู้อ่านหล่ะครับ คิดว่าการทำการุณยฆาตเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ?
โฆษณา