14 ต.ค. 2021 เวลา 14:54 • ประวัติศาสตร์
สนธิสัญญาตอร์เดชิยา (Tordesillas Treaty 1494) - สนธิสัญญาแบ่งโลก
สนธิสัญญาตอร์เดชิยาคืออะไร?
สนธิสัญญาตอร์เดชิยาเป็นสนธิสัญญาที่มีการลงนามกันในปี 1494 เป็นสนธิสัญญาที่แบ่งขอบเขตการสำรวจโลกระหว่างสเปน กับ โปรตุเกส ในยุคศตวรรษที่ 15 ซึ่งทั้งสองชาติเป็นมหาอำนาจทางทะเล และเป็นผู้นำในการสำรวจโลกใหม่ ในยุคสมัยของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่สามารถค้นพบโลกใหม่ได้ จนเกิดเป็นการแข่งขันกันของมหาอำนาจทางทะเลทั้งสอง จนเกือบจะนำไปสู่สงครามของสเปนและโปรตุเกสซึ่งนับถือศาสนาคริสต์คาธอลิกทั้งคู่
แผนที่เดินเรือ ศตวรรษที่15 โดย ANTONIO DE HERRERA Y TORDESILLAS นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 16 จาก National Geographic จะเห็นแส้นแดงด้านขวาคือ เส้นที่แบ่งตามสนธิสัญญาตอร์เดชิยา ด้านขวาของเส้นแดงเป็นของโปรตุเกส ด้านซ้ายเป็นของสเปน แต่เมื่อกองเรือของ Magellan ได้เดินเรือรอบโลกสำเร็จจึงเกิดการขัดแย้งขึ้นอีกรอบเมื่อสเปนเดินทางถึงเกาะโมลุกกะซึ่งเป็นแหล่งค้าขายเครื่องเทศใต้อิทธิพลของโปรตุเกสในเวลาต่อมา
จนสมเด็จพระสันตะปาปา Alexander ที่ 6 จำเป็นต้องให้การรับรองสนธิสัญญาเพื่อแบ่งสิทธิในการสำรวจโลกใหม่ (อเมริกา) และการสำรวจทางทะเล ซึ่งในขณะนั้นโปรตุเกสกำลังเป็นผู้นำและอยู่ระหว่างการสะสมความมั่งคั่งจาก
การค้าทาส เครื่องเทศ ผ่านการเดินเรือค้าไปยังชวา (อินโดนีเซีย) การยึดมะละกา (มาเลเซีย) จนถึงค้าขายกับเมืองนากาซากิของญี่ปุ่นในยุคกลาง (สามารถอ่านการค้าขายระหว่างโปรตุเกสกับญี่ปุ่นได้ในโพสต์นี้)
ทำไมสนธิสัญญานี้จึงสำคัญ?
ความสำคัญของสนธิสัญญาตอร์เดชิยานั้น สนธิสัญญา
ดังกล่าว ถือเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดการแบ่งเขตทางทะเลโดยมนุษย์ ทะเลในยุคนั้นเป็นอาณาเขตซึ่งเรือในยุคกลางไม่สามารถไปถึงได้
จวบจนกระทั่งการคิดค้นและสร้างเรือ Carrack และ Caravel ซึ่งแข็งแรงเพียงพอที่จะเดินเรือข้ามมหาสมุทรได้ เรือดังกล่าวนับเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่างหนึ่งในยุคนั้น
เรือจำลองของเรือ Nao Victoria เป็นเรือใบในปี 1522 ซึ่งถือเป็นเรือลำแรกที่เดินทางรอบโลกได้ - ภาพจาก Wikipedia
ภาพเรือ Carrack ของโปรตุเกส ญี่ปุ่นเรียกเรือดังกล่าวว่าเรือ Nanban (南蛮) หรือเรือของพวกคนเถื่อน หรือเรียกอีกแบบหนึ่งก็คือ เรือดำ (Black Ship) หนึ่งในหลักฐานการค้าขายของโปรตุเกสและญี่ปุ่นยุคกลาง ถ้าใครเคยเล่น Total War: Shogun 2 น่าจะคุ้น ๆ ครับ - ภาพจาก Wikipedia
ซึ่งจากการเริ่มใช้ประโยชน์จากทะเลได้ของมนุษย์ผ่านการครอบครองดินแดนและการค้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนุษย์เริ่มมีการถกเถียงกันในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากทะเล และมีการขัดกันในด้านผลประโยชน์ที่เกิดจากทะเล
จนนำมาสู่การถกเถียงและโต้แย้งต่อแนวคิดที่แบ่งทะเลให้กับเพียง 2 ชาติอย่างสเปน และโปรตุเกสจากผลของสนธิสัญญาตอร์เดชิยา
โดย Hugo Grotius นักปรัชญาชาวดัตช์ในปี 1609 ซึ่งได้กล่าวถึงแนวคิด Mare Liberum หรือ Freedom of the Sea ที่หมายถึง การใช้ทะเลได้โดยอิสระ โดยชาติที่ไม่ผูกพันกับสนธิสัญญาตอร์เดชิยาซึ่งผูกพันเพียงสเปนและโปรตุเกสเท่านั้น ในอีกกว่าร้อยปีให้หลัง ซึ่งต่อมาเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดกฎหมายทะเล (The Law of the Sea) ซึ่งยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
ภาพจาก https://teara.govt.nz/en/artwork/6961/mare-liberum-by-hugo-grotius
ผลของสนธิสัญญาในอีกหลายร้อยปีต่อมา
ผลของสนธิสัญญาตอร์เดชิยา ที่แม้ว่าจะผ่านกาลเวลามาเป็นหลายร้อยปีแล้วแต่ก็ยังคงถูกใช้อ้างเพื่อผลประโยชน์ของชาติในการครอบครองดินแดน อย่างเช่น การอ้างสิทธิเหนือเกาะฟอล์คแลนด์ของอาร์เจนตินาในปี 1982
(โดยอาร์เจนตินาอ้างว่าสิทธิของสเปนที่เคยได้ ตามสนธิสัญญานี้ แม้ผ่านกาลเวลามา 488 ปี ก็จะต้องตกเป็นของอาร์เจนตินาหลังจากที่อาร์เจนตินาประกาศตนเป็นเอกราชจากสเปน)
จากบทความจะเห็นได้ว่ามนุษย์นั้น ล้วนถูกผลักดันจากความสงสัยใคร่รู้และผลประโยชน์ ผลจากความต้องการพัฒนาตนเองด้วยการสร้างเรือขนาดใหญ่ขึ้น ความต้องการผลกำไร เป็นแรงผลักดันมนุษย์มาช้านาน
ไม่แน่ในยุคสมัยของเราอาจจะมีการถกเถียงกันเรื่องการใช้งานอวกาศในลักษณะเดียวกับการใช้ทะเลที่เคยเกิดขึ้นจากการลงนามสนธิสัญญาตอร์เดชิยา 1494 ก็เป็นได้
อ้างอิง
โฆษณา