27 ก.ย. 2021 เวลา 02:12 • ศิลปะ & ออกแบบ

อาจารย์ทวี รัชนีกร เล่าถึงแรงบันดาลใจ

ของการมุ่งมั่นทำงานศิลปะว่า
“ ตอนผมก้าวเข้าไปใหม่ๆในศิลปากร
อาจารย์ศิลป์ บอกว่า "เมื่อคุณก้าวเข้ามาในประตูวิหารอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ถ้าคุณไม่จริงจังก็ให้ถอยออกไป"
1
เพราะแกห่วงลูกศิษย์แกไง
มาเรียนศิลปะแล้วยุคนั้นไม่มีใครรู้จักศิลปิน
ไม่ต้องพูดเรื่องศิลปะ ไม่มีใครรู้จัก
ก็แล้วแกก็บอกว่า
“ศิลปะทําให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”
ผมก็ไม่กล้าถามว่าทําไมเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เราก็เป็นมนุษย์แล้ว
ไปถามอาจารย์แสวง สงค์มั่งมี ซึ่งเป็นหนุ่มหน่อย ครูหนุ่มหน่อย พอพูดกันได้ แกก็ถามเราย้อนว่า
“ ลื้อเรียนไปทําไม”
“ ก็เรียนไปเพื่อ” เราก็เท่ห์หน่อย “เรียนเพื่อมีความรู้”
แกก็บอกว่า
“ให้ลื้อมีความรู้ แล้วก็ไม่ให้ประกาศนียบัตรนะ เอาไหม”
“ไม่เอา อยากได้ประกาศนียบัตร”
“แล้วลื้อไปดูนอนดูรีเปล่า”
“เปล่า เอาไปทํางาน”
“เอ้ย ทํางานบ้านอั้วก็ได้ หญ้าไปดายหญ้า แต่ว่าไม่มีเงินให้เอาไหม”
“ไม่เอา เอาเงินด้วย”
“ลื้อเอาเงินไปทําไม”
“เอาเงินไปซื้อข้าวกิน ปลูกบ้าน เพื่อดํารงชีวิตอยู่”
“กิจกรรมเพื่อดํารงชีวิตอยู่ สัตว์กับคนเหมือนกันไหม แต่ลื้อเพื่อดํารงชีวิตอยู่อย่างเดียว
มันก็จะไม่ต่างกับสัตว์”
เราก็บอกว่า “ก็สะสมไง เราสะสมเงินได้ เราก็หา สะสม”
“สะสมนี่น่ะ ตัวตุ่นมันเอา ของมันไปสะสมไว้กินหน้าหนาว ผึ้งมันจะเอาน้ำหวานให้ลูกตัว มันตายก็ให้ผึ้งกิน มันทําได้เหมือนคน มันไม่ต่างกับคนน่ะ ถ้าลื้อมีความคิดเพียงว่าเพื่อดํารงชีวิตอยู่ ลื้อสู้สัตว์ไม่ได้หรอก
มนุษย์เราต้องมีชีวิตอยู่ดํารงชีวิตอยู่ แล้วรู้ว่าอยู่เพื่ออะไร อย่างพระทุกอย่างเรียกปัจจัยสี่ สําหรับดํารงชีวิตอยู่ พระเขากินเพื่ออยู่ อยู่เพื่ออะไร อยู่เพื่อแสวงหาสัจธรรม เพื่อนิพพาน นี้ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน ต้องมีคําว่าอยู่เพื่ออะไรด้วย ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน กินเพื่ออยู่ กินนอนสืบพันธุ์ พอ ไม่ใช่ ใช่ไหม ไม่ต่างกับสัตว์”
เราก็ถามว่า “แล้วอยู่เพื่ออะไรล่ะ”
แกบอก “มนุษย์เรา อยู่เพื่อ หนึ่ง ความจริง แสวงหาสัจจะ
นักวิทยาศาสตร์ก็แสวงหาวัตถุ พระพุทธเจ้า เพลโต โสกราตีส อริสโตเติล
ฝรั่งถึงยกย่องนักปราชญ์ แม้กระทั่งมูฮัมหมัดแม้กระทั่งพระไครสต์ ก็แสวงหาความจริงของชีวิต แสวงหาสัจธรรม หนึ่งความจริง นักวิทยาศาสตร์ก็แสวงหา ความจริงของวัตถุ
เพราะสัตว์มันไม่สนใจหรอก โลกกลมโลกแบนไม่สนใจหรอกน่ะ ก็อยู่ไปวันๆอย่างนี้ มนุษย์เริ่มสงสัยทําไมโลกกลม ทําไมแอปเปิ้ล ตกลงมาที่พื้นได้น่ะ นี้คือความเป็นมนุษย์ นี้เราเป็นมนุษย์ตรงนี้ เราภูมิใจในความเป็นมนุษย์ ที่เราแสวงหาความจริง ทั้งวัตถุและทางจิตใจ พระพุทธเจ้าถ้าคุณไปศึกษาแล้วคุณจะรู้ว่า พระพุทธเจ้าสัจธรรมสูงสุดคือ นิพพาน
ทุกคนต้องควรจะเข้าใจ ความดี คุณธรรม
คุณธรรม คือ ความดี สัตว์มันไม่มีความดี กัดกันกินกันไม่ระลึกนึกถึงความดี ศาสนาเราก็สอนความดี นั้นคนที่มีคุณธรรมฝรั่งถึงยกย่อง ความจริงความดีแล้วความงาม คือ สุนทรียภาพ สุนทรียภาพนี้เหมือนกัน สัตว์มันไม่สร้างหรอก มันอยู่รูอยู่อะไรก็ได้ไม่เคยสร้างงานสถาปัตยกรรม ไม่เคยคิดทํางาน มันขุดรูอยู่ ที่เราเป็นมนุษย์เพราะเราไม่ได้ขุดรูอยู่ เรามีสถาปัตยกรรม เรามีจิตรกรรม ประติมากรรม แล้วเวลาจะบอกเอง เวลาที่ผ่านไปจะบอกว่าชีวิตเรา อะไรมีค่า
เวลาจะเวลาจะบอก สมมุติว่า แค่วิทยาศาสตร์ เอดิสันมันคิดไฟฟ้า เดี๋ยวนี้ยังมีประโยชน์ มันตายไปตั้งนานแล้วใช่ไหม พนมรุ้ง สถาปัตยกรรม พนมรุ้ง พิมาย ฝรั่งก็มาดู ศรีสัชณาลัย สุโขทัย คนก็ยังมาดู เพราะมันเป็นงานสถาปัตยกรรม เป็นงานศิลปะ แต่คนที่ร่ำรวยในยุคนั้นก็มีคนนั่งเกี้ยวทองคํายุคนั้นก็มี มียศมีศักดิ์เยอะแยะ พวกนี้ตายไปอีกไม่กี่ปีก็เป็นก้อนขี้หมา แต่สิ่งที่อยู่ คือ ผลงานศิลปะ ที่ยังมีประโยชน์กับคน ในอีกร้อยปีพันปีนั้นสิ่งเหล่านี้ คือ ทําให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ "
ก็ทําให้เราก็เกิดมีอุดมการณ์ ฮึด
นี่มันของดีนี่หว่าเราไม่เสียทีที่เรียนสาขาวิชานี้
เราก็ ฮึด เราทํางานก็เกิดมีอุดมการณ์ขึ้นมา ไม่ใช่เขียนรูปเหมือน เขียนรูปอะไรไปตามเรื่องตามราว ไม่ใช่อย่างงั้น
ก็เกิดอุดมการณ์ขึ้นมา ทุกคนที่เรียนไม่ว่ารุ่นนั้น รุ่นผม รุ่นชลูด รุ่นอะไร ก็ทุ่มเทชีวิตให้กับ ศิลปะเต็มที่...
รับชมได้ที่นี่ ArtsWork
ทวี รัชนีกร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2548
เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2477
หลังจากจบการศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง
ก็ศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
สาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
อาจารย์ทวีท่านเป็นศิลปินที่มีความมุ่งมั่น
สร้างคุณูปการให้กับวงการศิลปะ
และทุ่มเทการทำงานเป็นอย่างมาก
ถือเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ และของจังหวัดนครราชสีมา
โดยยึดแนวคิดทางศิลปะจากท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ผู้เป็นบิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัยของไทย
ซึ่งเป็นอาจารย์ ในสมัยที่ท่านศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบัน อาจารย์ทวี ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ อุทิศตนเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
โฆษณา