27 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • สิ่งแวดล้อม
ในที่สุดก็พบ “กิ้งกือหายาก-ที่มีขาเยอะที่สุดในโลก” (750 ขา) หลังตามหามันมานานกว่า 80 ปี
Illacme plenipes
ตลอด 3 ปีที่ “พอล มาเร็ก” (Paul Marek) และทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจ ณ ป่าที่เต็มไปด้วยหมอก แถบซานเบนิโต รัฐแคลิฟอร์เนีย นั่นทำให้พวกเข้าได้พบกับกิ้งกือสายพันธุ์ Illacme plenipes ที่มีขามากถึง 750 ขา ซึ่งไม่เคยถูกอธิบายอย่างเป็นทางการมาก่อน ดังนั้น การค้นพบในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำความรู้จักสิ่งมีชีวิตที่มีขามากที่สุดในโลกชนิดนี้กันครับ
อันที่จริงแล้ว เคยมีการค้นพบกิ้งกือสายพันธุ์นี้มาก่อนเมื่อปี ค.ศ.1928 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลกลาง ทว่าการค้นพบครั้งนั้นกลับไม่มีการถ่ายภาพ หรือเก็บข้อมูลใด ๆ ไว้เลย จนกระทั่งมันถูกพบอีกครั้งในปี 2006 หลังผ่านไปเกือบ 80 ปี โดยพอลและทีมงานได้ใช้เทคโนโลยีแผนที่ระบุตำแหน่งจนสามารถค้นพบกิ้งกือดังกล่าวถึง 4 ครั้ง ในช่วงปี 2006-2007 ก่อนจะรวบรวมข้อมูลเผยแพร่ลงวารสาร ZooKeys เมื่อปี 2012
(ภาซ้าย) ขาที่เรียงกัน 750 ขาของ Illacme plenipes, (ภาพขวาบน) ขนที่สามารถหลังสารพิเศษคล้าย "ไหม", (ภาพขวาล่าง) ศีรษะและขากรรไกรที่หลอมรวมเข้ากัน
โดยทีมวิจัยพบว่า กิ้งกือสายพันธุ์นี้มีขนาดตัวเพียง 3 ซม. และมีเฉพาะเพศเมียเท่านั้นที่เป็นเจ้าของขาจำนวน 750 ขา ในขณะที่เพศผู้จะมีประมาณ 550 ขา ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกิ้งกืออีกกว่า 10,000 ชนิดทั่วโลก ที่มีขาเพียง 36-400 ขา โดยงานวิจัยนี้ยังพบความลับของขาซึ่งมาจากการที่พวกมันไม่มีดวงตา ทำให้ต้องอาศัยอยู่ใต้พื้นดินที่ลึกราว 10-15 ซม. เพื่อหลีกเลี่ยงแสง ซึ่งขาที่มากมายนี้จะช่วยเพิ่มแรงในการขุดดินให้กับพวกมัน อีกทั้งยังมีส่วนทำให้ลำตัวของพวกมันยาวขึ้น ซึ่งช่วยให้เก็บรักษาไข่ได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ นักวิจัยยังพบอีกว่า ขนที่ขึ้นอยู่ตามร่างกายของพวกมันสามารถหลั่งสารพิเศษที่มีความหนืดคล้าย “ไหม” โดยสารคัดหลั่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยยึดเกาะร่างกายกับหินได้มั่นคงยิ่งขึ้น และหากหลั่งสารเหล่านี้ออกมามากพอ ยังสามารถใช้เป็นกลไกในการป้องกันตัวได้อีกด้วย ซึ่งนับเป็นลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่พบได้ยากมาก ๆ เลยทีเดียว
นอกจากนี้ พวกมันยังมีลักษณะทางกายวิภาคที่น่าสนใจอื่น ๆ อีก เช่น หนวดขนาดใหญ่ (เมื่อเทียบกับร่างกาย) ซึ่งถูกออกแบบมาให้พวกมันใช้ชีวิตในความมืดได้ดีขึ้น – ร่างกายโปร่งแสง – ขากรรไกรที่หลอมรวมเข้ากับศีรษะ ทำให้พวกมันหาอาหารผ่านการดูดเนื้อเยื่อพืชและเชื้อราในรูปของเหลว ต่างจากกิ้งกือสายพันธุ์อื่นที่ใช้ปากในการเคี้ยวพืช
ร่างกายที่โปร่งแสงทำให้สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้
โดยกิ้งกือสายพันธุ์นี้ มักอาศัยอยู่ในเขตร้อนชื้น ครอบคลุมพื้นที่แถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลเซีย พวกมันเป็นตัวแทนที่หลงเหลืออยู่เพียงชนิดเดียวของตระกูล Siphonorhinidae ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าเมื่อหลายล้านปีก่อนสิ่งมีชีวิตตระกูลนี้อาศัยกระจายกันอยู่ทั่วโลก แต่ตอนนี้กลับเหลือพวกมันเป็นกลุ่มสุดท้าย จึงไม่แปลกที่พวกมันจะมีกายวิภาคที่คล้ายคลึงกับกิ้งกือสายพันธุ์โบราณมากกว่ากิ้งกือสายพันธุ์ปัจจุบัน
🧠 อย่าลืม แอดไลน์ @flagfrog (มี @ ด้วยน๊า)
หรือกด https://lin.ee/fhoby0f
✅ เพื่อรับเรื่องราวเจ๋ง ๆ
(ที่ไม่เผยแพร่ในเพจเฟสบุ๊คได้เลยครับ)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากพื้นที่อาศัยของพวกมันที่มักอยู่ในรัศมีเพียง 4.5 กม. แถมยังมีจำนวนประชากรต่ำ และเมื่อบวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้หมอกในแคลิฟอร์เนียลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทบอย่างรุนแรงต่อที่อยู่อาศัยของ Illacme plenipes ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงกังวลว่า กิ้งกือเจ้าของแชมป์โลกขาเยอะอาจต้องสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว
โฆษณา