27 ก.ย. 2021 เวลา 10:32 • ข่าวรอบโลก
จีนสมัครเข้าร่วม CPTPP: มังกรซ่อนกล?
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ตำราพิชัยสงครามซุนวูมีเคล็ดว่า “ในจริงมีหลอก ในหลอกมีจริง”
หนึ่งในสุดยอดกลยุทธ์คือ หลอกล่อจนคู่แข่งงุนงงและสับสนว่า ฝ่ายเรากำลังเอาจริงหรือหลอก จนคู่แข่งวางตัวไม่ถูก เล่นเอาเสียกระบวนท่า
2
จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 นับเป็นการเดินหมากที่ช็อกสหรัฐฯ และโลก เพียงหนึ่งวันหลังจากที่สหรัฐฯ ทำข้อตกลงร่วมพัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์กับพันธมิตรออสเตรเลียและอังกฤษ
1
ในขณะที่สหรัฐฯ ปิดล้อมจีนด้านการทหาร จีนก็ส่งสัญญาณจะรุกแหวกวงล้อมด้านการค้า สลายห่วงโซ่การค้าสหรัฐฯ เชื่อมโลก
เรามักเข้าใจกันว่า CPTPP เป็นกลุ่มการค้าที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ประกอบด้วย 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
โดยมีที่มาดั้งเดิมจากข้อตกลง TPP ที่ประธานาธิบดีโอบามาเป็นโต้โผริเริ่ม เพื่อผนึกกลุ่มการค้าเสรีโดยไม่มีจีน
1
แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP จนปัจจุบันจึงกลายมาใช้ชื่อ CPTPP ประธานาธิบดีไบเดนเองจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีจะพาสหรัฐฯ กลับเข้ามาร่วมวงอีก
3
ข้อตกลง CPTPP เป็นชุดกฎเกณฑ์ที่มีมาตรฐานสูง หลายฝ่ายมองว่า จีนไม่น่าจะยอมรับกฎเกณฑ์เหล่านี้ของฝั่งโลกเสรีได้ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า จีนยื่นขอสมัครเข้าร่วม CPTPP นั้น มังกรกำลังซ่อนกลอะไร?
3
เพียงแค่ยื่นขอเข้าร่วม ไม่ว่าสุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่ จีนก็ยิงนัดเดียวได้นกห้าตัว
หนึ่ง ได้แต้มเชิงสัญลักษณ์ว่า จีนยังเดินหน้าสนับสนุนการค้าเสรี การปฏิรูป และการเจรจาพหุภาคี แตกต่างจากทรัมป์และไบเดนที่ทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ และไม่ยกเลิกกำแพงภาษีกีดกันสินค้าจีน
สอง เป็นทั้งคำขู่และคำเชิญชวนถึงสหรัฐฯ เพราะจีนขอเข้าร่วมการเจรจาในขณะที่ไม่มีสหรัฐฯ อยู่ในกลุ่ม และกลุ่ม CPTPP ยังไม่ได้รับกฎเกณฑ์ที่มาตรฐานสูงขึ้นอีกของสหรัฐฯ (เมื่อทรัมป์ถอนออกจาก TPP ตัว CPTPP มีการปรับกฎเกณฑ์ให้มาตรฐานต่ำลงจากเดิม)
1
จีนกำลังขู่สหรัฐฯ ว่าจีนกำลังจะสวมบทตลาดใหญ่ใน CPTPP แทนที่ตลาดสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ก็เป็นเสมือนคำเชิญชวนให้สหรัฐฯ กลับมาสู่เวทีเจรจาพหุภาคี ร่วมกำหนดกฎเกณฑ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกับจีนผ่านกลไก CPTPP แทนการเจรจาพหุภาคีใน WTO ที่หยุดชะงักมานาน และแทนที่แนวทางสงครามการค้าของทรัมป์และไบเดน
1
สาม แบ่งแยกและสร้างความปั่นป่วนให้กลุ่มพันธมิตรการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งยังได้ประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าอีกด้วย การที่จีนเข้าร่วมเจรจา CPTPP จะทำให้เกิดความแตกแยกภายในกลุ่ม CPTPP ระหว่างกลุ่มประเทศที่สนับสนุนหรือมีทัศนคติเปิดกว้างกับการเข้าร่วมของจีน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ กับกลุ่มประเทศที่ต่อต้านการเข้าร่วมของจีนหรือมีทัศนคติเชิงลบต่อจีน เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย
3
ในขณะเดียวกัน ก็ยังทำให้พี่เบิ้มของกลุ่มอย่างญี่ปุ่นวางตัวลำบากระหว่างเลือกข้างสหรัฐฯ ที่ยังไม่กลับมาร่วมกลุ่ม หรือจะเปิดทางให้จีนเข้าร่วมการเจรจาอย่างจริงจัง โดยที่ญี่ปุ่นเคยพูดมาตลอดว่าข้อตกลง CPTPP พร้อมเปิดกว้างต้อนรับทุกคน ไม่มีความตั้งใจจะปิดกั้นใครเป็นพิเศษ
สี่ การร่วมสร้างและเปิดรับกฎเกณฑ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศชุดใหม่ ข้อตกลง CPTPP ได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงและสะท้อนแนวโน้มของกฎเกณฑ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
1
ไม่ว่าจีนจะชอบใจกฎเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ก็ตาม แต่หากในอนาคต จีนต้องการทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ หรือข้อตกลงการลงทุนกับสหภาพยุโรป จีนก็จำเป็นต้องยอมรับกฎเกณฑ์ใหม่หลายอย่างที่ใกล้เคียงกับข้อตกลง CPTPP อยู่แล้ว
การเจรจาจะทำให้จีนได้มีโอกาสเรียนรู้ว่ากฎเกณฑ์ใดบ้างที่จีนพอยอมรับและปรับตัวได้ กฎเกณฑ์ใดที่ยังติดขัดและต้องใช้เวลาปรับตัว ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ว่าประเทศใดในกลุ่มเจรจายอมรับได้กับข้อสงวนใดของจีน ซึ่งอาจทำให้สุดท้ายจีนแตกขั้ว CPTPP หันไปทำข้อตกลงกับประเทศส่วนหนึ่งใน CPTPP ที่ยอมรับข้อสงวนบางอย่างของจีนได้
6
ห้า ใช้เป็นตัวกดดันการปฏิรูปภายในประเทศ กลุ่มหัวก้าวหน้าในจีนใช้ข้อตกลงภายนอกเป็นเครื่องมือกดดันการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
การที่จีนแสดงความสนใจจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP และการสร้างกระแสชัดเจนว่ากฎเกณฑ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศจะไปในทิศทางนี้ (แม้ปัจจุบันจีนจะยังรับไม่ได้หลายอย่าง) เป็นการใช้แรงกดดันภายนอกประเทศผลักดันการปฏิรูปภายในประเทศ คล้ายคลึงกับที่จีนเข้าร่วม WTO ในปี ค.ศ. 2001 ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในจีนอย่างมโหฬาร
1
ทั้งหมดนี้คือ เหตุผลที่ถึงแม้สุดท้ายจีนอาจล้มเหลวในการเข้าร่วม CPTPP แต่การเข้าสู่กระบวนการเจรจานั้น จีนมีแต่ได้ไม่มีเสีย
2
แต่คำถามต่อมาก็คือ เพราะเหตุใดนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองว่า การเข้าร่วม CPTPP ของจีนนั้น เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา โอกาสสำเร็จน้อย
1
เหตุผลสำคัญคือ ข้อตกลง CPTPP ยังคงมีกฎเกณฑ์หลายอย่างที่จีนไม่น่าจะยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การแลกเปลี่ยน data ข้ามพรมแดนที่อาจกระทบความมั่นคงของจีน การรวมกลุ่มสหภาพแรงงาน ซึ่งรัฐบาลจีนไม่น่าจะปล่อยให้มีได้ ไปจนถึงมาตรฐานเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สูงกว่าข้อตกลงการค้าอื่น
3
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศบางท่าน เช่น ศ. เฮนรี่ เกา (Henry Gao) แห่งมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ และ ศ. โจวเว่ยหวน (Zhou Weihuan) แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ กลับมองว่า แท้จริงแล้ว กฎเกณฑ์ของ CPTPP หลายข้อนั้น จีนสามารถรับข้อตกลงได้อย่างไม่มีปัญหา
2
เนื่องจากการปฏิรูปที่กำลังดำเนินการอยู่ภายในประเทศ หรือการอาศัยช่องข้อยกเว้นในข้อตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะหรือความมั่นคง หลายกฎเกณฑ์หากเวียดนามยังสามารถยอมรับได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จีนจะยอมรับไม่ได้
4
แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนอาจจะยอมรับข้อตกลงเหล่านี้ได้จริง หลายประเทศในกลุ่ม CPTPP ก็อาจจะไม่เชื่อมั่นในพฤติกรรมของจีนว่าจะสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ได้จริงหรือไม่ ดังที่มักมีคำวิจารณ์ว่าจีนไม่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ WTO ที่จีนตกลงไว้ได้ในความเป็นจริง เนื่องจากกลไกการค้าที่ไม่เป็นทางการต่างๆ ภายในจีน
2
ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจีนของประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่ม CPTPP ทำให้ไม่ง่ายที่จะเปิดใจยอมรับจีนเข้าร่วมกลุ่ม แม้ว่าจีนจะนั่งยันนอนยันว่าพร้อมปรับปรุงตนเองและจะผูกมัดตามกฎเกณฑ์ของ CPTPP ก็ตาม
นอกจากนี้ สหรัฐฯ แม้จะอยู่ภายนอกกลุ่ม ก็ยังสามารถขัดขวางจีนทางอ้อมได้ เนื่องจากในข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกและแคนาดา (USMCA) มีข้อบทที่ 32.10 ซึ่งทรัมป์ได้เจรจาไว้ บัญญัติว่า ประเทศภาคีในข้อตกลง USMCA สามารถถอนตัวออกได้ ถ้าประเทศอื่นในข้อตกลงนี้ไปทำข้อตกลงการค้ากับประเทศที่ไม่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (non market economy) ความมุ่งหมายก็เพื่อสกัดจีนโดยเฉพาะ
1
กล่าวคือ หากแคนาดาและเม็กซิโกยอมรับให้จีนเข้าร่วม CPTPP ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกและแคนาดา (USMCA)
1
หลายคนดูจะตื่นเต้นกับข่าวจีนยื่นขอสมัครเข้าร่วม CPTPP แต่นี่เป็นเพียงการประกาศเข้าสู่กระบวนการเจรจาเท่านั้น จากการเข้าสู่การเจรจาจนถึงการบรรลุข้อตกลง ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานหลายปี และอุปสรรคขวากหนามมากมายดังที่กล่าวมา
1
หากสุดท้ายนี่เป็นได้เพียงกลหลอก จีนก็ได้ประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์และประสบการณ์
ส่วนหากสุดท้ายจับพลัดจับผลูเกิดเป็นเรื่องจริงได้ขึ้นมา เพราะความหอมหวานของขนาดตลาดที่ใหญ่ของจีนและการประนีประนอมในช่วงการเจรจา ก็จะมีผลสลายห่วงโซ่การค้าสหรัฐฯ เชื่อมโลกออกเป็นเสี่ยงๆ
2
เรียกว่า กลนี้ ออกหัวออกก้อยล้วนเข้าทางจีน
โฆษณา