2 ต.ค. 2021 เวลา 05:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Case Study: Solazyme น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันประกอบอาหาร และการล้มละลาย
หลังผ่านพ้นวิกฤตซับไพรม์ในปี 2009 ราคาน้ำมันโลกดีดตัวกลับขึ้นมาจากราคาประมาณ 50 เหรียญต่อบาร์เรล สู่ระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยความวิตกกังวลต่อภาวะโลกร้อนเพราะการเผาไหม้น้ำมันฟอสซิล จึงเป็นยุคทองของการพัฒนาน้ำมันทางเลือกอย่างไบโอดีเซลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะอาด จนมีการค้นคว้าวิจัยพืชที่ให้น้ำมันสูง ไม่ว่าจะเป็น ปาล์ม สบู่ดำ ละหุ่ง ถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อผลิตน้ำมันก่อนจะแปรรูปเป็นไบโอดีเซล
แต่คงไม่มีตัวเลือกใดโดดเด่นกว่า “จุลสาหร่าย” (microalgae) ด้วยเหตุที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อพื้นที่สูงและใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวไม่นาน ซึ่งแตกต่างจากพืชอื่นๆ จึงมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านการผลิตไบโอดีเซลด้วยจุลสาหร่ายเกิดขึ้นมากมาย มีการวิจัยพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การคัดเลือกสายพันธุ์จุลสาหร่าย เทคนิคการสกัดน้ำมัน วิธีการกลั่น โดยหนึ่งในบริษัทที่จะยกขึ้นมาเล่าถึงก็คือ Solazyme
Solazyme, Inc. ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2003 โดยผู้ร่วมก่อตั้งคือ Jonathan S. Wolfson และ Harrison Dillon ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อการขนส่งจากจุลสาหร่าย ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจนถึงก่อนวิกฤตซับไพรม์ บริษัทได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันจากจุลสาหร่าย และได้รับเงินสนับสนุนจากเชฟรอนและหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริการ เพื่อพัฒนาน้ำมันสำหรับยานยนต์และอากาศยาน
หลังจากวิกฤติซับไพรม์ก็ได้ยื่นจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในปี 2011 พร้อมกับแผนระดมทุน 160 ล้านเหรียญ เพื่อพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงจากจุลสาหร่ายในเชิงพาณิชย์ นอกจากการผลิตน้ำมันเชิงเพลิงแล้ว Solazyme ได้มีการพัฒนาวิจัยสารสำคัญในจุลสาหร่ายที่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพควบคู่ไปด้วย โดยในวันแรกของการเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ราคาของ Solazyme (NASDAQ: SZYM) ขึ้นไปสูงถึง 21 เหรียญต่อหุ้น จากราคาเสนอขายที่ 18 เหรียญต่อหุ้น
หลังได้เงินจากตลาดหลักทรัพย์ Solazyme ก็เร่งดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลขึ้น 2 แห่ง ในสหรัฐอเมริกาและบราซิล และระหว่างนั้นก็มีการร่วมทุนกับ Bunge Limited ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ส่งออกน้ำมันพืช โรงงานน้ำตาล รวมถึงการผลิตไบโอเอทานอล ซึ่ง Solazyme จะได้น้ำตาลที่เป็นสารตั้งต้นในการเลี้ยงจุลสาหร่าย ขณะที่ Bunge Limited จะนำน้ำมันที่ผลิตได้แปรรูปเป็นวัตถุดิบใช้ในอาหาร
แต่แผนของ Solazyme หลังจากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่เป็นดังที่คิดไว้ เพราะหลังจากกลางปี 2014 ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงต่ำกว่า 50 เหรียญต่อบาร์เรล (โดยทั่วไปไบโอดีเซลจากจุลสาหร่ายยุคนั้นมีต้นทุนสูงกว่า 50 เหรียญต่อบาร์เรล) พร้อมกับราคาหุ้นของบริษัทซึ่งดิ่งจากจุดสูงสุด 27.47 เหรียญในช่วงเข้าตลาดหลักทรัพย์สู่ 2 เหรียญกว่าๆ ตอนต้นปี 2015 จึงทำให้การพัฒนาไบโอดีเซลจากจุลสาหร่ายหมดความน่าสนใจ เพราะสู้กับราคาไม่ได้ เป็นเหตุให้ Solazyme ต้องปรับกลยุทธ
เมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ทางตัน การผลิตน้ำมันสำหรับอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงเป็นทางเลือกเพื่อให้อยู่รอด โดยบริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น AlgaPrime DHA น้ำมันโอเมก้า-3 จากจุลสาหร่าย, AlgaWise น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร หรือจะเป็นโปรตีนจากสาหร่าย เช่น AlgaVia พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น TerraVia ในปี 2016 และได้สัญญาจำหน่ายน้ำมันจากจุลสาหร่ายให้กับ Unilever สำหรับเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ แต่ท้ายที่สุดธุรกิจใหม่ก็ต่อลมหายใจได้อีกเพียงข้ามปี เพราะในปี 2017 TerraVia จำเป็นต้องยื่นล้มละลาย พร้อมกับการถูกเข้าซื้อกิจการโดย Corbion บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติดัตช์จำนวน 20 ล้านเหรียญ และผลิตภัณฑ์จากจุลสาหร่ายทั้งหมดก็ย้ายเข้าสู่พอร์ตของ Corbion
จากจุดนี้เองจะเห็นได้ว่าธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพอาจจะมีวงจรชีวิตสั้นมาก เพราะสิ่งสำคัญก็คือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงการปิดกั้นการเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มน้ำมันฟอสซิล และแม้ว่าจะผลิตไบโอดีเซลได้สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใด แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความต้องการพลังงานที่สะอาดกว่า อย่างเช่น ไฟฟ้า ซึ่งเราก็กำลังเป็นประจักษ์พยานของยุคการปฏิวัติพลังงานครั้งสำคัญนี้ด้วย
…………………………….
Algae Company Solazyme Makes Strong Nasdaq Debut
…………………………….
Solazyme Ditches Biofuels (& Name) in a World of Cheap Oil
…………………………….
Innovative microalgae specialist TerraVia acquired by Corbion
…………………………….
TerraVia: a new growth platform for Corbion
…………………………….
#BiotechAnalyst #FutureIsNow #TheFuturist #Solazyme #Biodiesel #Algae
โฆษณา