25 ต.ค. 2021 เวลา 07:10 • ท่องเที่ยว
“Onsen” การแช่บ่อน้ำพุร้อนของญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดมาอย่างไร ?
Onsen (温泉) หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “ออนเซ็น”
ออนเซ็น (Onsen) แปลตรงตัวคือ “บ่อน้ำพุร้อน”
ที่เกิดมาจาก 2 คำมารวมกัน นั่นก็คือ “ออน (On)” ที่แปลว่า “ร้อน” กับคำว่า “เซน (Sen)” ที่แปลว่า “น้ำพุ”
>> Shortcut : สำหรับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบอ่านยาว อยากอ่านแค่เรื่องราวคำตอบของหัวข้อบทความ ข้ามไปอ่านแค่ส่วนที่ 2 ของบทความ ได้เลย <<
อันที่จริงแล้ว คำคำนี้ ไม่ได้มีการเขียนหรือสะกดว่าออนเซ็น เท่าที่เราค้นหามาถ้าจะสะกดให้ถูกจะต้องเขียนเป็น “อนเซ็ง หรือ อนเซ็น”
(เพราะการเขียนทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นคำว่า “on” จะเขียนว่า อน/อง อย่างเช่น “Nippon” เขียนว่า นิปปง, นิปปน หรือ “hontō” เขียนว่า ฮนโต)
เนื่องจากว่า ตัวเราไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นมา เพียงแต่สังเกตวิธีการเขียนเฉพาะคำนี้มา หากตรงนี้ผิดพลาดประการใดต้องรบกวนท่านที่คุ้นเคยกับภาษามาช่วยแนะนำให้พวกเราทีเด้อ
(แต่เข้าใจว่าในไทยเรียกแบบไหนก็ได้ เพราะเราก็จะเข้าใจแน่นอนว่าหมายถึงแช่บ่อน้ำพุร้อน)
โอเค มาเข้าเรื่อง !
อนเซ็น (Onsen) อาจเป็นมากกว่าแค่การแช่น้ำร้อน หรือ บ่อน้ำพุร้อน
กล่าวคือ มันคือวัฒนธรรมการอาบน้ำแร่ในโรงอาบน้ำตามบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ
ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน จนกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน
ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกแยกอีกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ
- Rotenburo คือ อนเซ็นที่อยู่กลางแจ้ง อาจห้อมล้อมไปด้วยหุบเขา
- Sento คือ อนเซ็นในร่ม เช่นตามสปา โรงแรม รีสอร์ต หรือ โรงอาบน้ำสาธารณะ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว Sento อาจหมายถึงโรงอาบน้ำหรือสถานแช่น้ำร้อนเพื่อความผ่อนคลาย ที่ใช้นำประปา ซึ่งอาจแตกต่างจากอนเซ็นที่เป็นการใช้น้ำที่มีแร่ธาตุธรรมชาติ จากสถานที่แห่งนั้น
Rotenburo
Sento
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพมากขึ้น ก็คงต้องกล่าวถึง ต้นกำเนิดของอนเซ็น ที่มาจากการใช้ประโยชน์ของน้ำแร่ธรรมชาติจากภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ โดยความร้อนจากภูเขาไฟจึงดันน้ำที่อยู่ใต้ดินออกมา แก๊ส และไอน้ำ จึงก่อให้เกิดน้ำพุร้อน โดยน้ำพุร้อนประกอบด้วยหลากหลายแร่ธาตุ
ทั้งนี้ความแตกต่างของแร่ธาตุก็จะขึ้นอยู่กับสถานที่และบ่อน้ำพุร้อน
ยกตัวอย่างเช่น แร่ธาตุ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน ธาตุเหล็ก คลอไรด์ โพแทสเซียม โซเดียม คลอรีน เป็นต้น
จากเรื่องราวต้นกำเนิดนี้ จึงทำให้น้ำร้อนในบ่อแช่ มีอุณหภูมิที่สูงมาก เฉลี่ยประมาณ 39-42 องศา (แต่ตามหลักการแล้ว บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่เกิน 25 องศา ชาวญี่ปุ่นก็จะเรียกว่าอนเซ็นได้แล้วละ)
[ต้นกำเนิดที่แท้จริงของบ่อน้ำพุร้อน Onsen อาจยาวนานมากถึง 3,000 กว่าปี]
จริง ๆ ใช่แค่คำว่า 3,000 ปีอาจจะยังน้อยไปด้วยซ้ำ (เพราะมันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี่เนอะ)
แต่ว่าบ่อน้ำร้อนในแถบหมู่เกาะญี่ปุ่นหรือทางเอเชียเนี่ย มันถูกบันทึกไว้ที่ราว ๆ ช่วงนี้ละนะ
แต่ถ้าเป็นการบันทึกของชาวญี่ปุ่น
เขาก็จะเริ่มต้นเขียนไว้ว่าบ่อน้ำพุร้อนนี้ เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 6
โดยมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ ใช้สำหรับประกอบพิธีชำระล้างบาปของศาสนาชินโต เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ และจะได้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงต้อนรับปีใหม่ โดยเขาจะมีทั้งการแช่บ่อน้ำร้อนและน้ำเย็น (จนปัจจุบันนี้ ก็ยังมีพิธีการนี้อยู่นะ)
หลังจากนั้น เมื่อผู้คนได้ทำการพบบ่อน้ำพุร้อนตามธรรมชาติแล้ว
พวกเขาก็เริ่มมีการใช้งานเจ้าบ่อนี้มากขึ้น ซึ่งไม่ได้แค่ใช้ประกอบพิธีแล้วละ แต่เพื่อความสบายและการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวด้วยเช่นกัน
ที่สำคัญอีกอย่างคือ ชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้น เขาจะใช้สำหรับบ่อน้ำพุร้อนเป็นจุดล่าสัตว์อีกด้วย !
ใช่แล้ว “ล่าสัตว์” นี่ละ !
คือ บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาตินี้ มันก็จะล่อให้สัตว์ต่าง ๆ อย่างเก้งกวางที่แวะเข้ามาดื่มน้ำแร่
นายพรานก็จะใช้จังหวะนี้ละ ยิงธนูออกล่าสัตว์ป่า นั่นเอง
[“วัฒนธรรมของการแช่อนเซ็น” จนมาถึง บ่อน้ำร้อนในร่มแบบเซ็นโต]
วัฒนธรรมในที่นี้ก็ง่าย ๆ เลย คือ ในช่วงหน้าหนาวเนี่ย คนญี่ปุ่นจะใช้การแช่นำร้อน เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากความหนาวเย็น หรือแม้กระทั่งในช่วงหน้าร้อนเอง ก็ถือว่าได้รับลม และเสริมพลังงานให้กับร่างกาย จากประโยชน์ของแร่ธาตุในน้ำพุร้อนธรรมชาติ นั่นเอง
แน่นอนว่า เมื่อความต้องการแช่น้ำมากขึ้น ลำพังเพียงแค่บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ ก็อาจไม่เพียงพอละ
โรงอาบน้ำหรือบ่อน้ำร้อนในร่ม (Sento-เซ็นโต) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ในช่วงยุคสมัยเอโดะ (ประมาณปี ค.ศ.1603) โดยในช่วงสมัยแรก ๆ เนี่ย เซ็นโตส่วนใหญ่ยังคงเป็นน้ำแร่ที่ส่งตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ
ต่อมาในช่วงยุคสมัยเมจิ หรือประมาณปี ค.ศ. 1868 ก็ได้เริ่มปรับมาเป็นโรงอาบน้ำ ที่มีจุดประสงค์เพื่อความผ่อนคลายและตอบโจทย์ความต้องการด้านวัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนในสถานที่กว้าง ๆ ของชาวญี่ปุ่น
โดยวัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนของญี่ปุ่นเนี่ย ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกับชาวตะวันตกมากขึ้น
ส่วนหนึ่งก็มาจากในช่วงยุคสมัยการฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration) ที่เริ่มเปิดรับการเข้ามาของวัฒนธรรมชาวตะวันตก และเป็นการเผยแพร่ให้ชาวตะวันตกรู้จักญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย เช่นกัน
โดยเราจะสังเกตได้จากรูปภาพวาดที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ยกตัวอย่างเช่น ภาพที่วาดของชาวญี่ปุ่นสนทนากับชาวตะวันตก โดยมีฉากหลังเป็นภูเขาไฟและบ่อน้ำพุร้อน และ ภาพวาดที่มีเหล่าสตรีกำลังแช่อนเซ็นกันอย่างเพลิดเพลิน (ชื่อภาพว่า : A Picture of Thriving Ikaho Hot Spring in Kozuke Province)
จนมาถึงในยุคปัจจุบัน เพื่อน ๆ ทราบไหมว่าประเทศญี่ปุ่นมีบ่ออนเซ็นมากกว่า 27,600 แห่งเลยทีเดียวนะ ! !
(เข้าใจว่าตัวเลขนี้คือการรวมทั้งอนเซ็นและเซ็นโต)
[แล้วการแช่น้ำของคนญี่ปุ่นเนี่ย เขาเคร่งครัดขนาดนั้นเลยเหรอ ?]
หลัก ๆ แล้ว มันคือการเข้ามาเพื่อผ่อนคลาย ถ้าใช้คำว่าเคร่งครัด เราเองก็คงรู้สึกว่าขัดแย้งนะ
อะ...แต่ว่ามันก็มีข้อบังคับเล็กน้อย
ยกอย่างเช่น
- ต้องเริ่มจากอาบน้ำหรือล้างตัวทำความสะอาดร่างกายก่อนลงไปแช่ (เหมือนเขาไม่ได้ถึงกับบังคับ แต่มันเป็นมารยาท รวมถึงมีป้ายคำแนะนำอยู่ด้วย)
- ตามข้อบังคับแล้ว เขาจะไม่อนุญาตให้คนที่มีรอยสักเข้ามาใช้งาน
หรือถ้าพวกเขาต้องการแช่น้ำร้อน ก็ให้ไปใช้บริการเรียวกัง ที่มีบ่อแช่แบบส่วนตัวแทน
- บุคคลที่เพิ่งดื่มเหล้าหนัก ตรงนีเก็ไม่อนุญาตให้เข้ามาใช้งาน แต่ไม่ใช่เพราะจะทะเลาะวิวาทนะ แต่ว่าเรื่องความเสี่ยงที่ความดันเลือดจะต่ำลง จนทำให้เป็นลมและจมน้ำได้
- ห้ามวิ่ง ! (เขาแค่กลัวลื่นจ้า และในโรงอาบน้ามหรือบ่อเนี่ย เขาไม่ได้มี Lifeguard ข้างในนะ)
พอสังเขปก็จะประมาณนี้ (จริง ๆ มันมีอีกละ แต่เดี๋ยวจะยาวเกินไป)
ตรงนี้ ถ้าเพื่อน ๆ ที่อาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วได้แช่เป็นประจำ ก็สามารถมาแชร์ประสบการณ์กันได้นะ 🙂
[“การแช่อนเซ็นในประเทศไทย” อีกทางเลือกหนึ่งของความผ่อนคลาย]
เนื่องจากว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ชอบไปใช้บริการแช่อนเซ็นมาก ๆ
ที่เราไปแช่บ่อยก็จะมีของ Kashikiri และ Yunomori คือเรียกได้ว่าต้องไปแช่ทุกสัปดาห์เลยละ มันสบาย ผ่อนคลาย แล้วก็ทำให้ความคิดของเราปลอดโปร่งมาก ๆ เลย (ไอเดียหลั่งไหลออกมาตามความร้อนเลยละ)
จริง ๆ ก็เคยมีโอกาสไปใช้งานของ Let’s Relax สาขาทองหล่อกับ PAÑPURI ที่สาขาเกษรอย่างละครั้ง จะออกแนวเรียบหรูหน่อย
การแช่อนเซ็นในประเทศไทย ไม่ได้มีข้อบังคับที่เยอะเท่าประเทศต้นกำเนิดอย่างญี่ปุ่น
อย่างเช่น รอยสัก หรือ เรื่องของการนุ่งผ้าขนหนูลงแช่น้ำอย่างเขิน ๆ ก็ทำได้…
(แต่เข้าไปในบ่อแล้ว ไม่นุ่งผ้าจะดีกว่า เพราะไม่มีใครนุ่งเลยจ้า แห่ะ ๆ)
เรื่องของรอยสัก เราไม่แน่ใจว่าสถานประกอบการ มีข้อบังคับตรงนี้ไหม แต่ว่าเราไปแช่มาหลายครั้ง ก็เห็นคนไทยที่มีรอยสักมาแช่กันบ่อยครั้งอยู่นะ เลยเข้าใจว่าที่ไทยไม่ได้มีข้อบังคับในเรื่องนี้
ผู้คนข้างในก็หลากหลายเลย มีทั้งคนญี่ปุ่นทั้งชาวฝรั่งและคนไทย
เราก็เคยมีโอกาสได้คุยกับคนญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน บางทีเขาไม่ได้นัดกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นมา (ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะแยกมาแช่น้ำกัน) แต่ถ้าบังเอิญเจอกัน ก็เรียกได้ว่าจับกลุ่มคุยกันยาวเลย นึกว่านัดกันมา
[การแช่บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ ไม่ได้มีแต่ในประเทศญี่ปุ่น]
เออเนอะ ! อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะลืมไปเลยว่าการแช่บ่อน้ำพุร้อนเนี่ย ไม่ได้มีแค่ญี่ปุ่น แต่เพียงประเทศเดียว
(เพราะบทความนี้เราพูดถึงแต่ประเทศญี่ปุ่น เพราะหยิบหัวข้อเรื่องของอนเซ็น ออกมาเนอะ)
แต่จริง ๆ แล้ว ประเทศอื่น ๆ ก็มีบ่อน้ำพุร้อนที่มีต้นกำเนิดตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่าง เช่น “Rudas Bath” บ่อน้ำร้อนที่บูดาเปส, Blue Lagoon ในประเทศไอซ์แลนด์
Rudas Bath
Blue Lagoon
หรือประเทศไทยเอง ก็มีบ่อน้ำพุร้อนเยอะเลย เช่น บ่อน้ำพุร้อนหินดาดที่กาญจนบุรี, บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน, ลำปาง ซึ่งหลาย ๆ ที่ก็เป็นแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติชั้นดี ที่สถานประกอบการอนเซ็นในกรุงเทพได้นำเอาน้ำแร่เหล่านี้มาใช้งาน อีกด้วยเช่นกัน
(เพิ่มเติมประสบการณ์ : เราเคยมีโอกาสไปแช่ที่ Blue Lagoon ขอบอกว่ามันค่อนข้างกว้างใหญ่ แต่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนและมีเสียงดังหน่อย (เหมือนสวนสนุกเลย) พร้อมมีเบียร์ Lager และ Cider ที่เย็นจับใจ ไว้รอบริการ แต่ต้องซื้อนะ)
ก่อนที่จะยาวกันไปกว่านี้
งั้นพวกเราขออนุญาตจบบทความไว้แต่เพียงเท่านี้
หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะได้รับสาระสบายสมองกันอย่างเช่นเคย 🙂
โฆษณา