22 ต.ค. 2021 เวลา 04:45 • ไลฟ์สไตล์
ทำไมคำว่า "ทิรามิสุ (Tiramisù)" ที่แปลว่า "ปลุกฉันที" ถึงกลายมาเป็นชื่อขนมหวาน ?
“Tiramisù” ขนมหวานแบบเค้กมีครีมนุ่มหอมกาแฟและผงโกโก้
เป็นหนึ่งในขนมหวานสุดโปรดของพวกเรา (ถึงแม้ว่ามันจะค่อนข้างไขมันสูงมากก็ตามที)
แล้วเจ้าขนมหวาน Tiramisù มีเรื่องราวอะไรบ้างละ ?
เอ้ะ...หากดูจากความหมายของชื่อขนมชิ้นนี้ที่แปลว่า มารับชั้นไปด้วย หรือ ปลุกฉันที... มันกลายมาเป็นชื่อขนมหวานได้ยังไงนะ ?
ไม่รอช้า ! วันนี้พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ มาพักผ่อนหย่อนท้องไปกับเรื่องราวของ Tiramisù ในภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตา กันได้เลย !
(ปล. หากเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านแค่คำตอบของหัวข้อ ไม่อยากอ่านยาว ก็สามารถข้ามไปอ่านได้ในพารากราฟที่ 2 เรื่องต้นกำเนิดรูปแบบที่สอง ได้เลยจ้า)
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านต่อ เชิญทางนี้ได้เลย !
จากที่เราได้เห็นกันไปแล้วในภาพอินโฟกราฟิกว่าต้นกำเนิดของทีรามิสุ มันมีด้วยกันประมาณ 2 ความเชื่อเนอะ (ซึ่งจริง ๆ มีมากกว่านี้อีก ฮ่า ๆ)
ตามความเชื่อในต้นกำเนิดรูปแบบที่ 1
เรื่องราวนี้กำเนิดในช่วงศตวรรษที่ 17 จากฝีมือของพ่อครัวในเมืองเซียนา (Siena) แคว้นทัสคานี (Tuscany) ในเมนูที่มีชื่อเดิมว่า "Zuppa del duca" หรือมีความหมายว่า "ซุปสำหรับท่านดยุค" ซึ่งทำขึ้นเพื่อฉลองการมาเยือนของ Grand Duke Cosimo de'Medici III (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Grand Duke of Tuscany)
Grand Duke Cosimo de'Medici III
ใช่แล้ว… เมนูที่เป็นต้นแบบให้กับทีรามิสุในปัจจุบัน เคยถูกเรียกว่าซุป !
แต่มันไม่ใช่ซุปที่ออกแนวของคาวนะ แต่เป็นของหวานที่อัดแน่นไปด้วยครีม กาแฟดำ และ เลดี้ฟิงเกอร์
Zuppa del duca
Zuppa del duca
ในเวอร์ชั่นต้นแบบของทีรามิสุอย่าง Zuppa del duca ของเมือง Siena เนี่ย
เขาไม่ได้มีการผสมชีส Mascarpone เข้าไป ก็มีเรื่องราวอยู่ว่า ในตอนนั้นการเดินทางขนส่งชีส Mascarpone จากแคว้น Lombardia มาที่แคว้น Tuscany นั้นมันค่อนข้างลำบาก แถมชีสดันหมดความอร่อยไปเสียก่อน
ในเวอร์ชั่นต้นฉบับของ Zuppa del duca ก็จะมีการใช้ไข่ดิบมาเป็นส่วนผสมหลักของของหวานจานนี้ด้วย (แต่หลัง ๆ เรื่องการใช้ไข่ดิบไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรแล้วละ)
ซึ่งต่อมาเนี่ย เมนู Zuppa del duca ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากชาวอิตาลีเท่าไร นั่นก็เพราะว่าส่วนผสมต่าง ๆ ในการทำเจ้าซุปของหวานนี้ มันมีความสดเสียเหลือเกิน จนขั้นตอนการเก็บรักษามันยุ่งยากและเปลืองค่าใช้จ่าย
หลังจากนั้น... ในเรื่องราวของความเชื่อแบบที่ 1
เมนู Tiramisù มีการบันทึกของการกำเนิดในช่วงปี ค.ศ. 1968 - 1970 โดยร้านขนม Le Beccherie ในเมืองเทรวีโซ (Treviso) แคว้นเวเนโต (Veneto) ประเทศอิตาลี (เป็นเมืองที่อยู่ไม่ห่างจากเมืองแห่งสายน้ำอย่าง Venice)
Le Beccherie ในเมืองเทรวีโซ (Treviso) แคว้นเวเนโต (Veneto) ประเทศอิตาลี
ซึ่งผู้คิดค้นเมนู Tiramisù (หรือเป็นผู้ปลุกชีพของเมนู Zuppa del duca แบบไม่ได้ตั้งใจ) ก็คือ คุณ Roberto Linguanotto เป็นเชฟที่ถนัดการทำของหวาน โดยในทีแรกคุณ Roberto ต้องการทำเมนูของหวานอย่าง “Sbatudin” เพื่อเอาใจคุณภรรยา ซึ่งเมนูนี้ก็จะประกอบไปด้วยไข่แดง น้ำตาล ไวน์ แล้วทำให้เป็นลักษณะของน้ำซอส เพื่อที่จะสามารถใช้เลดี้ฟิงเกอร์บิสกิตในการดิปทานได้
แต่สุดท้าย ไปมา ๆ คุณ Roberto กลับเปลี่ยนใจ เพราะดันไปเห็นวัตถุดิบที่ตัวเองมีอย่าง ชีส Mascarpone จึงได้ทำการผสมเข้าไปพร้อมกับกาแฟ และวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการทำเมนู Sbatudin
Sbatudin
จนในที่สุดจึงออกมาเป็นเค้กครีมกาแฟสุดนุ่มอย่าง “Tiramisù” นั่นเอง
Tiramisù แบบดั้งเดิมที่เป็นสูตรแรกตามความเชื่อต้นกำเนิดรูปแบบที่ 1 ของร้าน Le Beccherie
จะว่าไปแล้ว หลังจากที่คุณ Roberto คิดเมนูนี้ขึ้นมาจนเสร็จ แล้วได้รับความนิยมสูง
ก็ได้มีร้านอาหารต่าง ๆ ในเมืองเทรวิโซ ออกมาเคลมผลงานว่า พวกเขาตะหากละ ที่เป็นผู้คิดค้นนะ !
(เช่น ร้าน Alcamin, Al Fogher และ II Vtturino)
ทีนี้ เรามาดูเรื่องราวตามความเชื่อในต้นกำเนิดรูปแบบที่ 2 กันบ้าง
เรื่องราวนี้จะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีเหตุมีผลที่เป็นที่มาของความหมายของ “Tiramisù” อยู่นะ
ว่ากันว่าต้นกำเนิดของ Tiramisù อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1800) มาจากเมืองเทรวีโซ แคว้นเวเนโต โดยหญิงสาวเจ้าของสถานเริงรมย์ (โอเค ถือว่าเริ่มได้ถูกเมืองนะ…)
เธอต้องการทำขนมหวานเพื่อปลุกพลังความเป็นชายของลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามา ซึ่งลูกค้าหลาย ๆ คนที่เข้ามาปรึกษากับเธอ ส่วนใหญ่จะหมดพลังความเป็นชายเสียส่วนใหญ่ จนเธอได้คิดค้นสูตรขนมหวานชูกำลังในยามเย็น และมอบให้กับชายหนุ่มเหล่านั้น
เมนูนี้กลายเป็นที่นิยม โดยขนมชิ้นนี้ได้ถูกเปรียบเสมือนกับ "Viagra" ในรูปแบบธรรมชาติ (เพราะมาจากอาหาร ไม่ได้มีส่วนผสมของยาเลย)
นี่จึงเป็นที่มาของความหมายว่า "มารับฉันขึ้นไปด้วยสิ" หรือ "ปลุกฉันที"
จนกระทั่งในยุคปัจจุบัน (ช่วงปี 1968-1970) ร้านอาหารชื่อดังอย่าง “Le Beccherie” ได้นำเมนูนี้มาใช้เป็นของหวานขึ้นชื่อประจำร้าน และได้ตั้งชื่อว่า “Tiramisù” นั่นเอง
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวสั้น ๆ เกี่ยวกับ เลดี้ฟิงเกอร์ (Lady Finger) ส่วนผสมที่สำคัญของ Tiramisù
หรือ ในชื่อของภาษาอิตาลีจะเรียขนมนี้ว่า “Savoiardi”
Lady Finger
เลดี้ฟิงเกอร์ (Lady Finger) เป็นขนมบิสกิตประเภทหนึ่งของอิตาลี ลักษณะเป็นแท่งยาว มีส่วนผสมหลักที่ง่าย ๆ คือ แป้ง ไข่ และ น้ำตาล นิยมนำมาทำเป็นฐานของขนมทีรามิสุ
โดยชื่อในภาษาอิตาลีคือ Savoiardi ก็มาจากเรื่องราวต้นกำเนิดที่มาจากราชวงศ์ซาวอย (Savoy) ในช่วงศตวรรษที่ 11 ที่เป็นตระกูลที่คิดค้นเจ้าขนมชนิดนี้ขึ้นมา
แต่เรื่องราวที่ทำให้ขนมนี้มีชื่อเสียง ก็อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 15 ในตอนที่ ดัชชีแห่งซาวอย หรือ ดยุคแห่งซาวอย (Dutch of Savoy) ได้ทำการเมนูขนม Savoiardi ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่าเลดี้ฟิงเกอร์ ด้วยแท่งที่เรียวยาว นำมาถวายให้กับกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส (King of France) ที่มาเยือนในแคว้นของเขา
โดยเริ่มแรกนั้น เลดี้ฟิงเกอร์จะไม่ใช่บิสกิตที่กรอบ แต่กลับกลายเป็นกึ่ง ๆ เค้ก ที่มีความนุ่มแต่กรอบอร่อย ทานคู่กับไวน์หรือค็อกเทลก็เลิศรศ
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปเช่นเคย
ถ้าหยั่งงั้น วันนี้พวกเราขออนุญาตจบเรื่องราวสบายสมองสั้น ๆ ไว้ที่ตรงนี้ 🙂
โฆษณา