28 ก.ย. 2021 เวลา 03:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
#MODERN : Ref, Draft, Trace, Copy วาดแบบนี้เรียกว่าอะไร วาดแบบไหนถึงเรียกว่าผิด
ปี 2021 เป็นอีกหนึ่งปีที่ผลงานศิลปะในไทยหลายๆ แขนงเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากภาพวาดบนผืนผ้าใบสู่งานวาดในรูปแบบดิจิทัล จากตลาดซื้อขายในโลกจริงสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ในโลกของ NFT เรียกว่าเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของเหล่าครีเอเตอร์ไทยก็คงไม่เกินไปนัก
เมื่อตลาดกว้างขึ้นความต้องการเพิ่มมากขึ้น เหล่าครีเอเตอร์จึงต้องสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า แต่บนความแตกต่างย่อมมีความเหมือน ปี 2021 นอกจากจะเป็นปีที่เฟื่องฟูแล้ว ยังเป็นปีที่มีข่าวนักวาดชาวไทย วาดภาพคล้ายงานของนักวาดต่างชาติหลุดออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ ตั้งแต่กรณีนักวาดชาวไทย ‘ได้รับแรงบันดาลใจ’(ref) มาจากภาพ Watermelon Pool ของ Hiroshi Nagai (Citypop) หรือคดีล่าสุดที่ดังไกลถึงญี่ปุ่น เมื่อภาพประกอบหนังสือประวัติศาสตร์เอโดะของนักวาดชาวไทยถูกกล่าวหาว่า ‘ลอก’(copy) งาน Taisyo Love files ของ Matsuo Hiromi เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่จนแม้แต่อาจารย์ ONE ผู้วาดมังงะเรื่องดัง One Punch Man ยังต้องลงมาช่วยกระจายข่าวเพื่อหาความจริง
หากพูดถึงการ ‘ลอก’ และ ‘ได้รับแรงบันดาลใจ’ สองคำนี้ในแง่การปฏิบัติมีความใกล้เคียงกันมาก แต่ความหมายนั้นกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยที่นิยามของสองคำนี้ได้รับการอธิบายเป็นคติสั้นๆโดยปาโบล ปิกัสโซ่ว่า Good Artists Copy, Great Artists Steal - ศิลปินที่ดีมักคัดลอก แต่ศิลปินที่ยิ่งใหญ่จะหยิบฉวย แล้วแบบไหนล่ะคือคัดลอก แบบไหนคือหยิบฉวย แถมยังมีคำอีกมากมายในวงการนักวาดที่มากกว่าแค่สองคำนี้อีก เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับคำศัพท์เหล่านี้พร้อมทั้งอธิบายคร่าวๆเพื่อให้คุณแยกออกว่าการวาดแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร
Reference (เรฟเฟอร์เรนส์) เรียกกันสั้นๆว่า ‘เรฟ’ หมายถึง ‘การอ้างอิง’ จากภาพถ่ายจริงหรือบุคคลจริง ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาผลงานให้ง่ายและดียิ่งขึ้น ในที่นี้อาจรวมไปถึงการหาข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการวาดด้วย โดยปกติเราจะเห็นศิลปินใช้แหล่งอ้างอิงเสมอ เช่น การวาดฉากใน Your Name ที่มาจาก Suga Shrine ซึ่งเป็นสถานที่จริง หรือการอ้างอิงงานจากศิลปินท่านอื่นเพื่อพัฒนางานของตนเอง ก็ถือเป็นการอ้างอิงในรูปแบบของการได้รับแรงบันดาลใจเช่นกัน แล้วการเรฟผิดหรือไม่ คำตอบคือไม่ผิดหากไม่เหมือนต้นฉบับจนเกินไป
1
Draft (ดราฟท์) การร่างภาพ หนึ่งในขั้นตอนสำคัญและเป็นขั้นตอนแรกๆ ที่นักวาดทุกท่านต้องวางโครงร่างของงานเพื่อกำหนดทิศทางก่อนลงมือทำ โดยปกติคำนี้มักได้รับการนิยามที่ผิดพลาดว่าเป็นการลอกงาน ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นหากศิลปินระบุว่าผลงานอยู่ในขั้นตอนของการดราฟท์ หมายถึงอยู่ในช่วงของการร่างและวางขั้นตอนทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงการลอกงานคนอื่นแต่อย่างใด
Trace (เทรซ) หนึ่งในคำที่หมิ่นเหม่และได้รับการถกเถียงกันมากที่สุดคำหนึ่งในวงการนักวาด จุดประสงค์จริงๆของการเทรซคือ ‘การวาดทาบ’ เส้นหรือผลงานเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อลอกลายเส้นให้เหมือนต้นฉบับ ยกตัวอย่างผู้ช่วยที่ต้องวาดการ์ตูนให้เหมือนต้นฉบับเพื่อนำมาทำอนิเมชันต่อ หรือนักวาดมังงะที่ต้องรักษาลายเส้นให้เหมือนอาจาย์ ซึ่งการเทรซไม่จำเป็นต้องวาดทาบทุกเส้น เพียงมีความต้องการให้ส่วนประกอบออกมาเหมือนต้นฉบับก็ถือเป็นการเทรซ ในทางปฏิบัติการเทรซไม่มีความผิดเพราะถือเป็นการเรียนรู้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่แสวงหาผลกำไร
Copy (ก๊อปปี้) เรียกกันสั้นๆว่า ‘ก๊อป’ ความหมายของคำนี้ตรงตัว คือการคัดลอกผลงานที่มีอยู่ก่อนโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับ มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ผลงานที่ออกมาเหมือนต้นฉบับทั้งหมด และระบุให้งานชิ้นนั้นเป็นของตนเองโดยไม่ให้เครดิตเจ้าของผลงานจริง หากคุณนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงการกดคำสั่ง Ctrl+C / Ctrl+V เพื่อวางผลงานชิ้นนั้นลงไปบนกระดาษแผ่นใหม่ หรือหากให้เห็นภาพง่ายขึ้น การทำซ้ำสินค้าแบรนด์ไฮเอนด์ในราคาที่ถูกลงแล้ววางขายในรูปแบบของคำว่า mirror ก็เป็นการก๊อปปี้เช่นกัน โดยปกติแล้วช่วงแรกของการทำงาน นักวาดอาจเริ่มจากการก๊อปปี้ก่อนเพื่อฝึกฝน ในส่วนนี้ถือว่าไม่มีความผิด แต่การก๊อปปี้เพื่อแสวงหาผลกำไรนั้นมีความผิดทางกฎหมาย และละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี พ.ศ.2537 มาตรา 15 เจ้าของผลงานจริงสามารถฟ้องดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ก๊อปปี้งานของตนได้
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://ctclockwises.com/ref-draft-trace-copy/
ขอบคุณภาพประกอบจาก: Aneel comics https://www.facebook.com/aneelcomics
CONTENT : APHAPHAT T.
ติดต่อโฆษณา: kritthanan@songsue.co
โฆษณา