ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ซูมเข้าใกล้สู่กาแล็กซีแคระคินแมน
กาแล็กซีแคระคินแมน (Kinman Dwarf Galaxy) เป็นกาแล็กซีขนาดเล็กที่อยู่ห่างจากโลกออกไป 75 ล้านปีแสง ซึ่งในช่วงปี ค.ศ.2001 ถึง 2011 นักดาราศาสตร์ได้เก็บข้อมูลสเปกตรัมของกาแล็กซีนี้เอาไว้ แต่เนื่องจากกาแล็กซีนี้มีขนาดเล็กและอยู่ไกลมาก จึงไม่สามารถศึกษาดาวฤกษ์แต่ละดวงในที่อยู่ในกาแล็กซีนี้ได้ ทำได้เพียงศึกษาสเปกตรัมโดยรวมของทั้งกาแล็กซี แต่อย่างไรก็ตาม ดาวฤกษ์ที่สว่างมากและมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากดาวดวงอื่น จะปรากฏเอกลักษณ์อย่างเด่นชัดบนสเปกตรัมของกาแล็กซี
นักดาราศาสตร์พบว่าในกาแล็กซีนี้มีดาวฤกษ์ประเภท "ดาวแปรแสงสีฟ้าที่สว่างมาก" (Luminous Blue Variables / LBVs) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความสว่างอย่างมาก แต่ไม่มีคาบที่ชัดเจน สามารถสว่างได้มากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 2.5 ล้านเท่า และมีสเปกตรัมที่แตกต่างไปจากดาวฤกษ์สีฟ้าทั่ว ๆ ไป
ในปี พ.ศ. 2019 นักดาราศาสตร์ตรวจวัดสเปกรัมของกาแล็กซีนี้อีกครั้ง และพบว่าสเปกตรัมของดาวแปรแสงสีฟ้าดวงนี้หายไป ราวกับว่าไม่เคยมีดาวดวงนี้มาก่อน ในขณะที่สเปกตรัมของดาวฤกษ์ยักษ์น้ำเงินดวงอื่น ๆ ยังคงปรากฏอยู่ ซึ่งเมื่อพิจารณาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ประเภทนี้ จุดจบของมันควรจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างมาก ๆ แล้วจึงจะจางหายไป
นักดาราศาสตร์ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการเลือนหายของดาวฤกษ์อยู่สองสมมติฐาน อย่างแรกคือ ดาวฤกษ์กำลังเข้าสู่ช่วงที่แสงสว่างลดลงอย่างมาก ผนวกกับฝุ่นของกาแล็กซีที่เข้ามาบดบังพอดี จึงทำให้สเปกตรัมของดาวดวงนี้หายไป และสมมติฐานที่สองคือ วาระสุดท้ายของดาว มวลที่มหาศาลทำให้แกนกลางยุบตัวจนกลายเป็นหลุมดำโดยที่ไม่เกิดการระเบิดซูเปอร์โนวา ซึ่งการเกิดหลุมดำแบบนี้ยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่ ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้อาจสนับสนุนสมมติฐานการเกิดหลุมดำในลักษณะนี้ได้