29 ต.ค. 2021 เวลา 11:33 • ไลฟ์สไตล์
มารู้จัก "เบียร์ดำ (Porter & Stout)" และ Guiness Beer
เชื่อว่าหลายคน ที่เริ่มลองเปลี่ยนรสชาติการดื่มเบียร์เนี่ย
ซึ่งนอกจากการเปิดความหลากหลายไปยังโลกของ IPA (India Pale Ale) แล้ว
ก็คงต้องมีแวะมายังโลกของเบียร์ดำ ที่มีความคล้ายคลึงกันมาก อยู่บ้างแหละเนอะ
ว่าแต่ว่า เจ้าเบียร์ดำ ที่คนเข้าถึงง๊ายง่าย เพราะอยากได้ลิ้มลอง
จนต้องติดใจกับรสที่แปลกใหม่ จนกลายเป็นแฟนคลับ เป็นอย่างไร ?
วันนี้ให้พวกเรา InfoStory พาเพื่อน ๆ ไปรู้จักเบียร์ดำแบบคร่าว ๆ กัน
กับซีรี่ส์ “โลกของเบียร์ ฉบับมือใหม่” ตอนที่ 4 ตอนนี้กันได้เลย !
พอพูดถึงเบียร์ดำแล้ว
พวกเรามีความเชื่อว่า หลาย ๆ คน คงจะต้องนึกถึงเบียร์ Guinness ที่มีโลโกเป็นรูปพิณฝรั่ง อย่างแน่นอน
งั้นพวกเราจะขอนำเรื่องราวของเบียร์ Guinness มาเล่าให้ฟังหน่อยละกัน
Guinness เนี่ย เดิมทีเป็นเบียร์ดำแบบ Irish Stout (จริง ๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นนะ)
อาจเรียกได้ว่าเป็นเจ้าแรก ๆ ที่พัฒนาในส่วนของเบียร์ดำแบบ Stout จากทางฝั่งประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งมีการดัดแปลงมาจากเบียร์ Porter จากฝั่งเมืองลอนดอน ของประเทศอังกฤษ
ใครคือผู้กำเนิดเบียร์ดำ Guinness กันละ ?
Guinness คือเบียร์ดำที่คิดค้นโดย คุณ Arthur Guinness เป็นชาวไอริชที่อาศัยอยู่ในเมือง Dublin
ซึ่งชื่อนามสกุลของเขานี่ละ ที่นำเอามาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เบียร์ดำ Irish Stout อันนี้
Arthur Guinness
จุดเริ่มต้นของการคิดค้นเบียร์ Stout ก็มาจาก
การที่เขามักจะใช้เวลาว่างไปกับการหมักเบียร์ในห้องใต้ดิน
ซึ่งเบียร์ที่เขาสนใจหมักเนี่ย ก็เป็นเบียร์ดำ Porter ขวัญใจชาวกรรมกรผู้ใช้แรงงาน จากฝั่งอังกฤษ
จนต่อมา คุณ Arthur เนี่ย เขาก็รู้สึกว่า หากจะผลิตเบียร์ที่สร้างชื่อเสียง หรือ เป็นสัญลักษณ์ของชาวไอริช ก็คงจะต้องเป็นความหนักแน่น ความเข้มข้น ซึ่งก็มาจากความชอบดื่มเบียร์ที่เข้มข้นของชาวไอริชอยู่แล้ว
คุณ Arthur ก็ไม่รอช้า หยิบเจ้าเบียร์ Porter ที่มีความนุ่มนวล มีแอลกอฮอล์ที่ไม่สูง มาดัดแปลง
ให้มีความเข้มข้น มีแอลกอฮอล์ที่สูง และ เพิ่มลูกเล่นการเพิ่มปริมาณฟองเบียร์อร่อย ๆ ด้วยการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ก๊าซไนโตรเจนเข้าไป
2
ซึ่งคอนเซ็ปต์ในลักษณะนี้ ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคอนเซ็ปต์ของการทำกาแฟ Nitro Coldbrew ในปัจจุบันอีกด้วยนะ (เพียงแต่ไม่มี CO2 จ้า)
(ขอเพิ่มเติมนิดนึงคือ เบียร์ Porter บางชนิดเนี่ย ก็ไม่ได้มีแอลกอฮอล์ที่ต่ำนะ บางชนิดสูงถึง 10% ก็มี)
จนต่อมา เบียร์ดำ Guinness Irish Stout เนี่ย ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในที่สุด
ด้วยคอนเซ็ปต์หลัก ๆ คือ การเป็นขั้นกว่าของเบียร์ดำ Porter นั่นเอง
ซึ่งเรื่องราวของเบียร์ Guinness นี้ก็ไม่ธรรมดานะ
เพราะว่า บริษัทเบียร์ Guinness เนี่ยเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี ค.ศ. 1886
จนกระทั่งบริษัท ได้ทำการควบรวมเข้ากับบริษัท Grand Metropolitan
จนในที่สุด ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท “Diageo” ในปี ค.ศ.1997
1
ซึ่งต่อมาเนี่ย แอลกอฮอล์ของเบียร์ดำ Guinness ก็ถูกปรับให้มีปริมาณที่ต่ำลง
(จากประมาณแอลกอฮอล์ 7.7% เหลืออยู่ที่ประมาณ 4.4%)
สาเหตุเพราะวัตถุดิบเริ่มขาดแคลน และ การเก็บภาษีของเบียร์ที่เพิ่มขึ้น ทั่วสหราชอาณาจักร นั่นเอง
เอ...ว่าแต่ ชื่อ Guinness เนี่ย มันช่างคุ้นหูซะเหลือเกิน
จนทำให้อดไม่ได้ ที่จะนึกถึงหนังสือที่มีการบันทึกสถิติโลกอย่าง
“Guinness Book” หรือ “Guinness World Records”
แล้ว เบียร์ดำโลโกพิณฝรั่งอย่าง Guinness ไปเกี่ยวข้องอะไรกับ Guinness Book กันละ ?
Guinness World Records เกิดขึ้นจากหนึ่งในผู้บริหารของบริษัทเบียร์ Guinness ที่มีชื่อว่า “Sir Hugh Beaver”
Sir Hugh Beaver
ซึ่ง Sir Hugh เนี่ย เขามักจะมีการพูดคุยกับเพื่อนฝูง จนหลายครั้งเป็นการเถียงกันซะมากกว่า
โดยพวกเขาเถียงกันในเรื่องของสถิติต่าง ๆ เช่น นกชนิดไหนเคลือนที่เร็วที่สุด ? หรือ ตึกไหนมีขนาดสูงที่สุดบนโลกใบนี้ ?
แน่นอนว่า คำถามชวนปวดหัวเหล่านี้ ทำให้ Sir Hugh เถียงกับเพื่อน ๆ ได้ไม่มีวันจบ
จนต่อมาในปี ค.ศ. 1954 เขาก็ได้ร่วมมือกับเพื่อนอีก 2 คน ผลิตหนังสือ “The Guinness Book of Records” ที่จะรวบรวมสถิติที่สุดติ่งของแต่ละสิ่งอย่าง ประจำปีนั้น ๆ ที่พวกเขาค้นพบมา นั่นเอง
ต่อมาเนี่ย หนังสือที่รวบรวมสิ่งที่น่าสนใจแบบสุดโต่งของ Sir Hugh ก็ดันขายได้ดี และ เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วสหราชอาณาจักร
จนในปี ค.ศ. 1999 หนังสือเล่มนี้ ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น “Guinness World Records” ที่จะออกมาวางขายปีละเล่ม และยังถูกนำไปทำเป็นรายการ และ สารคดีต่าง ๆ อีกมากมาย
โอย...หลุดเรื่องเบียร์มาไกลนิดนึง แห่ะ ๆ ...
งั้นเราขอปิดท้าย ด้วยการเพิ่มเติมเรื่องราวของเบียร์ Porter อีกสักนิดเดียวนะ
ว่ากันว่า Porter เนี่ย เป็นเบียร์ขวัญใจกรรมกร ของอังกฤษในสมัยปี ค.ศ. 1700
เบียร์ดำชนิดนี้ อันที่จริงแล้ว เป็นหนึ่งในประเภทของ “Ale” แต่ต่างกันที่มีสีเข้มกว่า
เป็นที่นิยมมากในชนชั้นแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ที่ท่าเรือในเมืองลอนดอน
ในอดีต Porter เป็นเบียร์ที่สามารถผลิตออกมาได้จำนวนที่มาก และ เป็นเบียร์ที่ไม่ได้มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูง (แต่กลับกับ ให้น้ำตาลที่สูง) มีราคาถูกมาก จึงเสมือนกับการเพิ่มแรงให้กับเหล่ากรรมกรนั่นเอง
(แต่ Porter เวอร์ชันที่แอลกอฮอล์สูงก็มีนะ โดยมีชื่อเรียกในช่วงศตวรรษที่ 18 ว่า “Brown Stout”)
อย่างไรก็ดี Porter เนี่ย มีจุดด้อยในเรื่องของอายุการเก็บรักษาที่มีระยะเวลาสั้น
เพราะเบียร์ดำอย่าง Porter นั้น มีสัดส่วนของ Hobs ที่ค่อนข้างน้อย
ที่น้อยเพราะ มอลต์ที่คั่วจนไหม้เกรียม จะมีกลิ่นที่แรงจนกลบ Hobs ไปจนหมด เลยทำให้ผู้ผลิตในสมัยก่อนไม่นิยมเติม Hobs ในปริมาณที่เยอะ และเพื่อที่จะได้เป็นการประหยัตต้นทุนการผลิตด้วย
พอ Hobs มีปริมาณที่น้อย นั่นจึงทำให้ การเก็บรักษาเบียร์ดำชนิดนี้ มีอายุที่สั้น นั่นเอง
ถึงแม้ว่า Porter และ Stout จะมีเรื่องราวความเป็นมา ที่แตกต่างกันในอดีต
แต่ว่าในปัจจุบันเนี่ย แทบจะไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมากแล้วละนะ
วันนี้พวกเราก็ขอจบเรื่องราวเกี่ยวกับเบียร์ไว้เพียงเท่านี้ก่อน :)
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
-The Beer Bible by Jeff Alworth
-Tasting Beer, 2nd Edition: An Insider's Guide to the World's Greatest Drink by Randy Mosher
โฆษณา