28 ก.ย. 2021 เวลา 07:40 • ประวัติศาสตร์
๑๐๔ ปี วันพระราชทานธงชาติไทย
ธงของประเทศสยามนั้น เดิมใช้ธงแดงมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาอยุธยา กระทั่งกรุงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงมีการปรับรูปแบบของธงเพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่างเรือหลวงและเรือราษฎรในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยเพิ่มตราจักรสีขาวบนธงแดงหมายถึงเรือหลวง ขณะที่เรือค้าขายของราษฎรคงใช้ธงแดงอย่างเดิม
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริให้นำช้างเผือกไว้กลางจักรสีขาว ด้วยช้างนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำตราจักรของเรือหลวงออก ให้เหลือไว้เพียงรูปช้างบนธงแดง ให้ใช้เป็นรูปลักษณ์ที่เป็นแบบแผน
ธงช้างเผือกเป็นหนึ่งในธงชาติที่โลกรู้จักมากกว่า ๑๕๐ ปี
สยามใช้ธงช้างเผือกมาเป็นเวลาถึง ๑๑๐ ปีและเป็นธงของชาติเอเชียไม่กี่ประเทศที่ได้ถูกบันทึกไว้ในแผนภาพธงชาติของโลก ในขณะที่กว่า ๓๐ ประเทศทั่วโลกเวลานั้น จำต้องใช้ธงที่มีธงยูเนียนแจ๊กของสหราชอาณาจักรอยู่ที่มุมซ้ายบนในฐานะรัฐอาณานิคม ธงช้างเผือกนอกจากเป็นธงชาติยังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงเอกราชของราชอาณาจักรสยามอีกด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปรับรูปแบบธงชาติ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงชาติขึ้นในพุทธศักราช ๒๔๓๔ (ร.ศ.๑๑๐) กำหนดให้ใช้ธงช้างเผือกพื้นแดงโดยทั่วกัน ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดธงราชการให้มีช้างเผือกทรงเครื่องบนพื้นสีแดง และธงเรือหลวงเป็นช้างเผือกทรงเครื่องบนพื้นสีน้ำเงิน หรือสีขาบ ด้วยสีขาบนี้เดิมเป็นสีพื้นของธงประจำพระบรมราชอิสริยยศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก่อน จึงใช้เป็นสีธงประจำพระบรมราชอิสริยยศในรัชกาลที่ ๕ ด้วย
สีขาบประจำพระอิสริยยศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มาของสีน้ำเงินอันหมายถึงพระมหากษัตริย์ซึ่งตรงกับสีประจำวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรสุขทุกข์ของราษฎร ประชาชนต่างตกแต่งบ้านเรือนและห้างร้านตลาดด้วยธงทิว ผ้าเฟื่อง ซุ้มดอกไม้ แต่ราษฎรไม่ค่อยมีกำลังซื้อหาธงช้างเผือกซึ่งมีราคาแพงเพราะต้องใช้วิธีการพิมพ์จากต่างประเทศมาประดับรับเสด็จ มีแต่ทางราชการเป็นส่วนใหญ่ บ้างก็ขวนขวายหยิบยืมขอธงจากจังหวัดใกล้เคียงมาประดับเพื่อเตรียมรับเสด็จ ทั้งที่ทางราชการไม่ได้กำหนดกะเกณฑ์บังคับให้ต้องทำเช่นนั้น หากแต่ด้วยความจงรักภักดี ทำให้ราษฎรพยายามประดับธงกัน แม้ไม่สามารถหาธงได้ ก็สู้อุตส่าห์หาผ้าแดงผ้าขาวมาประดับแทน เป็นที่ยากลำบาก
จึงได้ทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนธงใหม่เป็นแถบสีแดงขาว ๕ ริ้ว อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาการใช้ธงช้างผิดด้านด้วย เนื่องจากธงช้างที่สั่งทำจากต่างประเทศและนำเข้ามา หลายครั้งมีการทำช่องร้อยเชือกสลับด้านกันด้วย ทำให้การชักธงช้างเผือกบางครั้งช้างก็หันหน้าเข้าเสาธง บางครั้งก็หันออก ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน การแก้ไขเป็นแถบสีล้วนจึงช่วยให้ไม่ว่าจะชักขึ้นประดับอย่างไรก็ไม่ผิดด้าน อีกทั้งยังช่วยให้ราษฎรสามารถหาผ้าแดงขาวมาตัดเย็บธงเองได้ง่าย ไม่ต้องซื้อหานำเข้าจากต่างประเทศ
จากธงแดงขาว ๕ ริ้วที่ถูกใช้ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ต่อมาได้ถูกปรับเปลี่ยนใหม่เป็นธงสามสี เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าควรเพิ่มสีน้ำเงินแก่หรือสีขาบเข้าไปแทนที่สีแดงตรงกลางเพื่อให้เสมอกันกับธงชาติของประเทศแกนนำฝ่ายสัมพันธมิตรในคราวสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นอนุสรณ์ที่พระองค์ทรงนำสยามประเทศเข้าร่วมกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในการพระราชสงครามครั้งนั้น ประกอบกับสีขาบหรือสีน้ำเงินยังเป็นสีอันเป็นสิริแห่งพระชนมวารรัชกาลที่ ๖ ด้วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงไตรรงค์ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ปรากฏความในพระราชปรารภว่า
ทหารอาสาสยามกับธงไตรรงค์ที่ประตูชัยฝรั่งเศสหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
"การประกาศสงครามครั้งนี้นับเป็นความเจริญก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของประเทศ สมควรจะมีสิ่งเตือนใจสำหรับวาระนี้ในภายหน้า สิ่งนั้นควรได้แก่ธงชาติไทย"
ธงไตรรงค์จึงได้โบกสะบัดบนยอดเสาเรือเอ็มไพร์ขณะนำกองทหารอาสาสยามออกเดินทางสู่สมรภูมิทวีปยุโรปสมดังพระราชประสงค์ อีกทั้งยังได้โบกสะบัดเป็นศรีสง่าปรากฏแก่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ในขบวนสวนสนามของกองทหารชาติสัมพันธมิตรซึ่งเป็นผู้มีชัยชนะ ภายหลังสิ้นสุดมหาสงครามเพื่ออารยธรรม
“ธงไตรรงค์” จึงนับเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดศักราชประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่ ในฐานะชาติอารยะ ซึ่งยืนหยัดทัดเทียมเสมอหน้าชาติมหาอำนาจ ทั้งในบทบาทบนเวทีโลก มีการร่วมก่อตั้งสันนิบาตชาติ เป็นอาทิ และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิของคนไทยที่ได้รับเกียรติและได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่ง จากพระราชประดิษฐกรรมและพระราชวีรกรรมนับแต่หนนั้นเป็นปฐมบทสืบมา
สีขาบ หรือ สีน้ำเงินจึงถูกนำมาใช้เป็นสีของธงไตรรงค์อันหมายถึง ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์
โฆษณา