29 ก.ย. 2021 เวลา 23:52 • ธุรกิจ
มารู้จักสัญญาอัจฉริยะกัน (Smart Contract)
เพื่อนๆ คงเคยได้ยินคำว่า Smart Contract หรือ สัญญาอัจฉริยะ ฟังเป็นคำไทยอาจจะแปลกๆ ไม่คุ้นหูอยู่หน่อยนะครับวันนี้ขอพาทุกคนรู้จักไปทำความรู้ในเรื่องของ Smart Contract ว่าคืออะไรกันครับ และนำไปใช้งานกันได้อย่างไร โดยเนื้อหาของข้อมูลนี้แอดมินเอามาจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิตัล หรือ Digital Government Development Agency (DGA) ซึ่งอธิบายได้ดี เข้าใจง่ายและเห็นภาพได้ดีครับ
สัญญาอัจฉริยะ คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถดำเนินการตามข้อตกลง โดยอัตโนมัติทันทีที่เกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขในสัญญาซึ่งได้มีการระบุถึง เงื่อนไข หรือเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยไม่ต้องมีคนกลาง นั่นคือ หลักการสำคัญของสัญญาอัจฉริยะ ซึ่งได้ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1994 โดย Nick Szabo (Crosby, Pattanayak, Verma, & Kalyanaraman, 2016)
แอดสรุปย่อๆได้ว่า สัญญาอัจฉริยะคือข้อสัญญาของคู่ค้าธุรกรรมผ่านทางดิจิตอล ที่ดำเนินการตามสัญญาอัตโนมัติทันทีที่เข้าเงื่อนไขตามที่ระบุครับ
รูปนี้เป็นรูปของนาย Nick Szabo ผู้คิดค้นครับ
ยกตัวอย่างสัญญาอัจฉริยะ เช่น
- การโอนเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยอัตโนมัติทันทีที่จำนวนผู้ใช้ถึงระดับที่ตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไว้ล่วงหน้า
- การโอนเงินจ่ายค่าโฆษณาบนเว็บไซต์ โดยอัตโนมัติทันทีที่จำนวนคนดูถึงระดับที่ตกลงกับเจ้าของเว็บไว้ล่วงหน้า
- การโอนคูปองส่วนลดราคาสินค้ามาให้ลูกค้าอัตโนมัติ ทันทีที่ถึงวันที่ใช้คูปองนั้นได้
- หรือแม้แต่การโอนเงินจ่ายค่าบทความ ทันทีและทุกครั้งที่จำนวนผู้อ่านบทความถึงระดับที่ตกลงกับนักเขียนไว้ล่วงหน้า
เห็นถึงความสะดวกสบาย ไม่ต้องมีเอกสารอะไรมากมายเลย ทุกอย่างทำเป็นระบบบนดิจิตอลหมดเลยครับ
ดังนั้นตราบใดที่คู่สัญญาทุกฝ่ายตกลงกันได้ เมื่อนั้นสัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract ก็จะถูกโปรแกรมและบริหารจัดการอัตโนมัติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์บนเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งในปัจจุบันบริษัท Ethereum และ Codius ได้เปิดใช้งาน Smart Contract บนพื้นฐานของเทคโนโลยี Blockchain โดย The Ethereum Project เป็นหนึ่งตัวอย่างของการทำ Smart Contract เต็มรูปแบบซึ่งอยู่ในรูปแบบของ Public Blockchain ส่วนตัวอย่างอื่น ๆ นั้นเป็นการทำSmart Contract ในรูปแบบของ Private หรือ Permissioned Blockchain ซึ่งจะทำการติดต่อเฉพาะ Node ที่รู้จักและเชื่อถือได้เท่านั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
ประโยชน์สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)
การนำสัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract มาใช้งานนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคู่สัญญา การฉ้อโกง และการบิดเบือนสัญญา อีกทั้งยังสามารถช่วยแก้ปัญหาการตีความเนื้อหาในสัญญา ซึ่งมักจะเป็นข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาเสมอ ๆ เนื่องจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตีความสัญญาคนละแบบ
ทั้งนี้ในการประยุกต์ใช้งาน Smart Contract ร่วมกับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องทราบจุดเด่น และข้อจำกัดของ Smart Contract ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถนำ Smart Contract ไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดยจุดเด่น ของ Smart Contract ประกอบไปด้วย
• ความปลอดภัย (Security) เนื่องจาก Smart Contract ที่ถูกพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain นั้นจะถูกกระจายไปยังสมาชิกอื่น ๆ ที่อยู่ในเครือข่าย จึงมั่นใจได้ว่า Smart Contract ดังกล่าวจะไม่สูญหาย หรือถูกเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
• ความเป็นอัตโนมัติ (Automation) เนื่องจาก Smart Contract จะดำเนินการตามข้อตกลงโดยอัตโนมัติทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งได้มีการระบุไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยไม่ต้องมีคนกลางมาเกี่ยวข้อง
• ความเป็นมาตรฐาน (Standardization) การนำ Smart Contract มาใช้งานในระบบใด ๆ นั้น หมายความว่าระบบนั้นจะต้องทำงานภายใต้เงื่อนไข หรือข้อตกลงต่างที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบตามที่ได้กำหนดไว้ใน Smart Contract
สรุปได้ว่ามีประโยชน์และความสะดวกเยอะแยะมากเลยทีเดียว ทุกอย่างจะถูกต้อง เชื่อถือได้ และอัตโนมัติ ซึ่งในปัจจุบันนี้เริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหลายๆอุตสาหกรรมและธุรกิจ นอกเหนือไปจากการธุรกรรมการเงินแล้วครับ
หวังว่าบทความนี้เพื่อนๆคงได้ความรู้มากขึ้นนะครับ
(ข้อมูลนี้นำมาจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิตัล, DGA หรือ Digital Government Development Agency)
โฆษณา