30 ก.ย. 2021 เวลา 08:08 • ท่องเที่ยว
อารามนามมงคล (EP.๒/๘)
โพธิรุกขพิชชชาราม “วัดศรีเกิด” ตามรอยอักขระศิลาฝักขาม
วัดศรีเกิด ไม่ปรากฏหลักฐานการบันทึกไว้แน่ชัด แต่มีชื่อปรากฏในโครงราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ ในบทโคลงที่ ๑๒ ร่วมกับชื่อวัดทุงยูและวัดชัยปราเกียรติ์ (ชัยพระเกียรติ) และในส่วนของศิลาจารึกของวัดศรีเกิดปรากฏนาม “วัดหลวงโพธิรุกขพิชชาราม” จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่มีมาก่อนพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ จากนั้นราว พ.ศ. ๒๓๓๙ ในสมัยของพระเจ้ากาวิละ ได้ทำการบูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับนำต้นศรีมหาโพธิ์มาเป็นนามอารามใหม่ว่า “วัดศรีเกิด” (ศรี มาจากคำว่า “สะหลี” ในภาษาเหนือหมายถึง “ต้นโพธิ์”) “สะหลีเกิด” หมายถึง ต้นโพธิ์ที่เกิดขึ้นเอง
พระเจ้าแข้งคม หรือ พระป่าตาลน้อย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยในท่าขัดสมาธิราบ หล่อสัมฤทธิ์ลงรักปิดทองขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากถึง ๓,๙๖๐ กิโลกรัม หน้าตักกว้าง ๙๔ นิ้ว สูง ๑๑๒ นิ้ว มีลักษณะพิเศษ ตรงบริเวณพระชงฆ์ (เข่า) เป็นสันนูนยาวเห็นได้ชัดเจน ผู้คนจึงพากันเรียกขานตามสำเนียงพื้นเมืองว่า “พระเจ้าแค่งคม”หรือ “พระเจ้าแข่งคม” หรือ “พระเจ้าแข้งคม”
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดแตกต่างไปจากพระพุทธรูปล้านนาทั่วไป พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรโปน พระโอษฐ์หนา ขอบพระโอษฐ์ซ้อนกัน ๒ เส้น มีไรพระศก ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง สังฆาฏิเป็นแผ่นขนาดใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภีปลายเป็นริ้วพับซ้อนกัน พระหัตถ์ขวาวางอยู่กึ่งกลางพระชงฆ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวไม่เสมอกัน นักโบราณคดีระบุว่าเป็นพุทธศิลป์สมัยอู่ทองผสมผสานศิลปะล้านนาและแบบบายน เดิมพระเจ้าแข้งคมประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าตาลนอกเมืองเชียงใหม่ ต่อมาวัดแห่งนี้ได้ทรุดโทรมและกลายเป็นวัดร้าง พระเจ้ากาวิละโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นองค์พระประธานภายในวิหารวัดศรีเกิดสืบมาจนปัจจุบัน
วิหาร สถาปัตยกรรมล้านนา ยกพื้นสูงหลังคาหลูบเตี้ย ด้านข้างมีมุขยื่นออกไปจากตัวอาคาร เพื่อใช้เป็น เส้นทางขึ้น-ลงของพระสงฆ์
พระเจดีย์ รูปทรงศิลปะล้านนา องค์เจดีย์เป็นห้องสี่เหลี่ยมฉาบสีทองทั้งองค์ แต่ละด้านมีซุ้มจระนำประดิษ ฐานพระพุทธรูปยืน แต่ละมุมขององค์เจดีย์ประดับด้วยฉัตรสีทอง เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลม รอง รับบัลลังก์ ปล้องไฉน และยอดฉัตร
อักขระศิลา ร่องรอยลายลักษณ์อักษรฝักขาม (อักษรที่เคยใช้ในล้านนา และ เชียงตุง สิบสองปันนา) ขีดเขียนลงบนแผ่นศิลาขนาดกว้าง ๓๗ ซม. สูง ๖๙ ซม. หนา ๖ ซม. เป็นตัวเลขธรรม และ ภาษาไทยยวน มีอยู่ด้วยกัน ๒ ด้าน ด้านที่ ๑ มี ๑๙ บรรทัด ระบุดวงชะตาอยู่ข้างบน ส่วนด้านที่ ๒ มี ๑๘ บรรทัด ระบุที่ตั้งเดิมอยู่ภายในเวียงเชียงใหม่ ทางทิศตะวันตกใกล้วัดพระสิงห์ เป็นอีกหนึ่งอักขระโบราณวัตถุที่ยังคงเปิดกว้างต่อการย้อนอดีตโพธิรุกขพิชชชาราม “วัดศรีเกิด”
ร้อยเรียง เพื่อบอกเล่า : "ปริญญ์ทิพย์ "
แนะนำข้อมูลการปรับปรุงเพิ่มเติมได้ที่ email:harnggoon@gmail.com
มือถือ/ไอดีไลน์: 089 956 8234
โฆษณา