30 ก.ย. 2021 เวลา 17:21 • ปรัชญา
มันคนละคำกันและไม่ใช่คำที่มีความหมายพ้องกันด้วย คำว่าความรู้ดูไม่มีปัญหานักหากไม่ขุดลึกลงไปมาก ๆ แต่คำว่าทัศนคติมีปัญหาพอสมควรว่าคนที่ใช้คำนี้คิดถึงความหมายเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน
ในโลกแห่งความเป็นจริงคนไทยเราเมื่อเห็นคำสองคำนี้คงไม่มีใครคิดถึงคำจำกัดความตามพจนานุกรมแน่ ๆ ได้ยินได้ฟังหรือเห็นแล้วเข้าใจความหมายเอาเองเลยทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้าคิดแบบลึกซึ้งจริง ๆ มันมีปัญหาทั้งสองคำเช่นความรู้ที่เทียบกับภาษาอังกฤษว่า Knowledge นี่เป็นปรัชญาสาขาหนึ่งโดยเฉพาะเลยคือ Epistemology
ในปรัชญาสาขาที่ว่าด้วยความรู้นี่ คนที่ไม่คุ้นเคยกับปรัชญานี่อ่านแล้วสมองบวมได้เลยเช่น ความรู้คืออะไร ความรู้กับความเชื่อต่างกันอย่างไร เป็นไปได้ไหมสิ่งที่เรารับรู้ทั้งหมดมันเป็นแค่มายาภาพที่เราคิดเอาเองทั้งหมด ถ้าไม่มีเราแล้วมันอาจไม่มีอะไรเลย ...
ทัศนคติ เรามักใช้ในความหมายว่าเรามีความคิดเห็น มีความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น บุคคลนั้น รวมถึงเรามีปฏิกริยาตอบสนองอย่างไรกับสิ่งนั้น เรื่องนั้นหรือบุคคลนั้น
ลองเทียบกับภาษาอังกฤษเพื่อให้ชัดขึ้นมันจะมีคำที่ใช้ในความหมายตรงหรือใกล้เคียงกันหลายคำเช่น attitude, viewpoint, standpoint แม้กระทั่งคำว่า mindset หรือ opinion เราต้องมาทบทวนดูตัวเราเองว่าเมื่อเราใช้คำว่าทัศนคติน้ำหนักการให้ความหมายของเราอยู่ที่ความหมายตรงกับคำใดมากกว่า
ทัศนคติ ในความหมายของ Mindset(การมอง การรับรู้โลกรอบ ๆ ตัวเรา) และ Attitude(ปฏิกริยาโต้ตอบ ปฏิสัมพันธ์ต่อโลกรอบ ๆ ตัว ทั้งสองประเด็นถือเป็นเรื่องสำคัญที่การศึกษา การพัฒนาคนให้ความสำคัญอย่างมาก ทัศนคติถือเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาได้ เมื่อได้รับความรู้ที่ถูกต้องจนมีความเข้าใจคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ จนในที่สุดสามารถเลือก ตัดสิน ประเมินค่าได้ด้วยตนเอง
ตัวอย่างสำคัญที่เป็นประเด็นในการพัฒนาหรือเปลี่ยนทัศนคติของบุคคลเช่น ทัศนคติที่ดีในการทำงาน ทัศนคติในการแก้ปัญหา ในวงการสื่อ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างภาพ สงครามการข่าว การล้างสมอง(Brain-washed) ล้วนมาจากหลักการว่า ทัศนคติปรับเปลี่ยนกันได้ทั้งสิ้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ ถ้าแบ่งระดับความคิดจากต่ำไปสูง จาก รู้ จดจำ, เข้าใจ, ประยุกต์ใช้ได้, วิเคราะห์สังเคราะห์ จนถึงตัดสินประเมินค่าได้ ระดับความรู้ที่เป็นระดับความคิดในขั้นสูง ยิ่งอยู่ในระดับสูงขึ้นเพียงใดก็จะสร้างทัศนคติที่ดี มีคุณค่าตนเองและสังคมได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นทัศคติของบุคคลจึงเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของระดับความรู้และความคิดของบุคคลนั้น ๆ
โฆษณา