1 ต.ค. 2021 เวลา 14:09 • ประวัติศาสตร์
"McFarland House - จิตวิญญาณข้ามศตวรรษของบ้านไม้ริมหาดหัวหิน" เรื่องราวจากคอลัมน์ "ทัศนศึกษา Sight & See ไปกับครูพี่ต้นคูน" บนแอป 2read
McFarland House ยามบ่าย
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนชั้นสองของ McFarland House
McFarland House ยามบ่าย
ในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโรค COVID – 19 บรรเทาลง ทำให้เราพอจะได้หายใจกันโล่งขึ้นได้บ้าง หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ต้องเดินทางไกลนัก สามารถใช้เวลาเพียงสองหรือสามวันก็ไปพักผ่อนได้เต็มอิ่มก็คงหนีไม่พ้นชายหาดของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเราสามารถจัดทริปได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะไปกับเพื่อน ครอบครัว หรือหลบไปพักใจจากสารพัดเรื่องราวเงียบ ๆ คนเดียว
หัวหินเป็นถิ่นมนต์ขลัง นอกเหนือไปจากชายหาดสีขาวที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา และอาหารทะเลนานาชนิดที่พร้อมยกขบวนมาเสิร์ฟให้แก่ผู้มาเยือนถึงโต๊ะแล้ว ในมุมต่างๆ ของเมืองตากอากาศแห่งนี้ยังซ่อนเรื่องราวแห่งอดีตเอาไว้มากมาย รวมไปถึงบ้านไม้หลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงแรม Hyatt Regency Hua Hin ด้วย บ้านหลังนี้มีเรื่องราวเล่าขานย้อนเวลากลับไปได้กว่าร้อยปี บ้านหลังนี้มีชื่อว่า McFarland House ซึ่งตั้งตามชื่อของ จอร์จ แมคฟาร์แลนด์ (George McFarland) มิชชันนารีชาวอเมริกันที่ถือกำเนิดขึ้นในแผ่นดินไทย และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในฐานะชายผู้ร่วมวางอิฐก้อนแรกเพื่อเป็นรากฐานของการแพทย์ไทยที่โรงพยาบาลศิริราช
🟡กำเนิดจอร์จ แมคฟาร์แลนด์
นายแพทย์ George B. McFarland สืบค้นจาก https://en.wikipedia.org/wiki/George_B._McFarland เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
จอร์จ แมคฟาร์แลนด์ เป็นบุตรชายของแซมูเอล และเจน แมคฟาร์แลนด์ ซึ่งเดิมเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และได้ไปเผยแผ่คริสต์ศาสนาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี แต่เมื่อทั้งคู่จะให้กำเนิดทายาทตัวน้อยๆ ทั้งคู่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางขึ้นมายังกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในเวลานั้นการแพทย์แผนปัจจุบันที่เพชรบุรียังไม่เจริญมากพอ นายแพทย์ที่ทำคลอดให้แก่เจน แมคฟาร์แลนด์ คือนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) หรือ “หมอบรัดเลย์” นั่นเอง เพราะฉะนั้น จอร์จ แมคฟาร์แลนด์ จึงมีชื่อเต็มว่า จอร์จ บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ โดยชื่อกลางบรัดเลย์ นั้น นำมาจากชื่อของนายแพทย์ผู้ทำคลอดให้
และดูเหมือนว่าหมอบรัดเลย์จะได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณของเขาบางส่วนให้แก่ทารกน้อยผู้นี้ เพราะปรากฏว่าในเวลาต่อมา จอร์จ แมคฟาร์แลนด์ ได้กลายมาเป็นมิชชันนารีและนายแพทย์ผู้สร้างคุณูปการให้แก่สังคมไทยมหาศาล เช่นเดียวกับหมอบรัดเลย์ผู้ทำคลอดของเขา
🟡อิฐก้อนแรกของโรงเรียนแพทย์
โรงศิริราชแพทยากร สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_24912 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนแพทยาลัย สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_24912 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
ในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 ป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเริ่มรับนวัตกรรมต่างๆ จากตะวันตกเข้ามาใช้อย่างกว้างขวาง อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีคิดของสังคมให้ไทยให้สอดรับกับความเป็นไปในสังคมโลกมากขึ้น
เมื่อ พ.ศ. 2434 นายแพทย์จอร์จ แมคฟาร์แลนด์ ได้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์กลับมาจากสหรัฐอเมริกา และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงเรียนราชแพทยาลัย ซึ่งต่อมาคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ในปัจจุบัน แต่การจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ในระยะแรกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในเวลานั้นสังคมไทยยังไม่คุ้นเคยกับการแพทย์แผนปัจจุบันจากตะวันตกมากนัก การจัดทำตำราเรียนแพทย์เป็นภาษาไทยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก แต่นายแพทย์จอร์จ แมคฟาร์แลนด์ก็สามารถใช้ความเพียรพยายามจนกระทั่งผลิตตำราเรียนแพทย์ฉบับภาษาไทยออกมาได้สำเร็จ คือตำราความรู้เบื้องต้นทางสรีรวิทยา ซึ่งเป็นการจัดทำขึ้นตามคำขอของราชสำนักในเวลานั้นที่ต้องการส่งเสริมกิจการด้านการแพทย์ของประเทศ ตำราเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และมีภาพประกอบทั้งสิ้น 40 ภาพ
ตำราเรียนแพทย์เล่มที่ 1 ของนายแพทย์ George B. McFarland สืบค้นจาก https://readthecloud.co/george-mcfarland-faculty-of-medicine-siriraj-hospital/ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
🟡บ้านตากอากาศของนายแพทย์พระอาจวิทยาคม
ป้ายบอกทางไป McFarland House ในโรงแรม Hyatt Regency Hua Hin
นายแพทย์จอร์จ แมคฟาร์แลนด์ อาศัยอยู่ในเขตโรงพยาบาลศิริราชเพื่อทำหน้าที่ในการเป็นอาจารย์มายาวนานกว่ายี่สิบปี จนกระทั่งการแพทย์แผนปัจจุบันในสยามเจริญขึ้นมาก และโรงพยาบาลศิริราชต้องการขยับขยายที่ทางให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการขอคืนพื้นที่บ้านพักของนายแพทย์จอร์จมาสร้างเป็นสถานพยาบาล นายแพทย์จอร์จจึงย้ายออกจากโรงพยาบาลศิริราช และไปพำนักอยู่ที่บ้านโฮลีรู้ด (Holyrood House) ซึ่งปัจจุบันขายให้เป็นสมบัติของสมาคม YWCA ประเทศไทย นายแพทย์จอร์จได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้จนสิ้นชีวิต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงเห็นถึงคุณงามความดีของนายแพทย์จอร์จ ที่ได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาด้านการแพทย์ในสยามมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางให้แก่นายแพทย์จอร์จ เป็นพระอาจวิทยาคม และพระราชทานที่ดินจำนวน 11 ไร่เศษที่หัวหินให้ด้วย โดยนายแพทย์จอร์จได้สร้างบ้านพักตากอากาศขึ้นในบริเวณนี้ และในเวลาต่อมาเมื่อพื้นที่บริเวณนี้เปลี่ยนมาเป็นโรงแรม จึงได้มีการปรับปรุงบ้านหลังนี้ใหม่โดยใช้ส่วนประกอบจากบ้านไม้หลังเดิมขึ้นเป็น McFarland House ให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม และมื้อน้ำชายามบ่ายมาจนถึงทุกวันนี้
1
🟡มุมสบายริมหาดหัวหิน
ชายหาดหัวหินยามเย็น มองจาก McFarland House
ด้านหน้าของ McFarland House ยามค่ำคืน
McFarland House เป็นหนึ่งในร้านที่ผมมักจะไปฝากท้องและใช้เป็นสถานที่นั่งทำงานบ่อยๆ เพราะมีบรรยากาศเป็นบ้านไม้ในบรรยากาศเก่าๆ โปร่งโล่งสบาย ข้างๆ เป็นสวนของโรงแรมที่จัดแต่งไว้สวยงาม มองออกไปก็เป็นชายทะเลที่มีเกลียวคลื่นซัดเข้าหาดทรายเป็นระยะๆ ถ้าเมื่อยล้าสายตาจากการทำงานเมื่อใดก็สามารถหันไปมองบรรยากาศดีๆ รอบตัวได้
เมนู Grilled Salmon served with creamed spinach และ Gruyère cheese จาก McFarland House
เมนู Grilled Salmon served with creamed spinach และ Gruyère cheese จาก McFarland House
ร่องรอยแห่งกาลเวลาบนชั้นสองของ McFarland House
ด้านหลังของ McFarland House ยามค่ำคืน
ใครที่แวะมาที่ร้าน McFarland House หลังจากเลือกที่นั่งและเลือกเมนูแล้ว ก่อนจะไปเดินเล่นถ่ายรูปที่ไหน ผมมักจะชวนให้ขึ้นไปที่ชั้นสองของร้านก่อน เพื่อที่จะได้ไปสัมผัสความเย็นสบายของบ้านไม้ และชื่นชมรอยอดีตของไม้แต่ละชิ้นที่ประกอบขึ้นมาจากโครงสร้างเดินของบ้านพักตากอากาศของนายแพทย์จอร์จ เพื่อให้ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนบนพื้นที่แสนสบายนี้มีคุณค่าและบรรยากาศแห่งเรื่องราวที่ผ่านมามากขึ้น
ฝากมุมโปรดของผมในหัวหินพร้อมเรื่องราวน่าประทับใจนี้ไว้ด้วยครับ
🟡หมายเหตุ – บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว ประกอบกับการค้นคว้าประวัติของสถานที่ประกอบการเขียน ผู้เขียนไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างหนึ่งอย่างใดจากบุคคลหรือองค์กรใดทั้งสิ้น
🟡แหล่งอ้างอิง
สุธาสินา เชาวน์เลิศเสรี. (2562). The McFarland in Thailand (บทความจากอินเทอร์เน็ต). สืบค้นจาก https://readthecloud.co/george-mcfarland-faculty-of-medicine-siriraj-hospital/ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ประวัติศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม. สืบค้นจาก https://museum.li.mahidol.ac.th เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
https://www.hyatt.com/en-US/hotel/thailand/hyatt-regency-hua-hin/huahi/dining สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564
📌 อ่านบทความอื่นๆ ในคอลัมน์ "ทัศนศึกษา Sight & See ไปกับครูพี่ต้นคูน" ได้ที่แอป 2read หรือคลิกภาพด้านล่าง
📲ดาวน์โหลดแอป 2read 👉https://bit.ly/3bQtbiV
✅อ่านง่าย อ่านสะดวก อ่านที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ตามใจต้องการ มีบทฟรีให้อ่าน เลือกอ่านเฉพาะบทที่อยากอ่านก็ได้ ซื้ออ่านทั้งเล่ม (เล่มที่จบแล้ว) ลด 10% ก็ดี๊ดี ใช้เหรียญเงินเปิดอ่านฟรีดีต่อใจ❤️
📚มีทั้งหมวดการลงทุน ธุรกิจ พัฒนาตนเอง ไลฟ์สไตล์ (ประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว) นิยาย การ์ตูน และคอลัมน์หลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ จากผู้รู้ลึกที่หลงใหลในเรื่องราวนั้นๆ
🎉สมัครสมาชิกกับแอป 2read รับไปเลย 30 เหรียญเงิน ฟรี! เอาไว้ใช้อ่านหนังสือบนแอป 2read (เหรียญเงินมีวันหมดอายุนะ)
💥อย่าลืมแวะมาอ่านบทความฟรีของ 2read Around U
มีทั้งคอลัมน์ “JOURNALIST IN YOUR SIDE” โดย นักผจญข่าว
“สดทุกเช้า อ่านข่าวจีน” โดย พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
และ “ทัศนศึกษา Sight & See ไปกับครูพี่ต้นคูน” โดย พี่ต้นคูน - ดร.ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์
ชอบเรื่องไหน ก็ตามอ่านกันได้เลยที่แอป 2read ที่เดียว!
#2read #แอปที่มากกว่าการอ่านศูนย์กลางการอัพสกิล
โฆษณา