2 ต.ค. 2021 เวลา 01:59 • ประวัติศาสตร์
• ADE 651 ตำนานเครื่องตรวจจับระเบิดลวงโลก
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1990 นายหน้าขายรถชาวอเมริกันนามว่า เวด ควอทเทิลบอม (Wade Quattlebaum) ได้ลงมือประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า ควอโดร แทร็คเกอร์ (Quardro Tracker) โดยเป็นอุปกรณ์ที่มีไว้สำหรับตามหาลูกกอล์ฟที่อยู่ภายในพงหญ้าของสนามกอล์ฟ โดยควอทเทิลบอมวางขายเจ้าอุปกรณ์นี้ ในราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่ด้วยความชาญฉลาด (หรือแกมโกง) ของควอทเทิลบอม ปรากฏว่าเขาได้อวดอ้างประสิทธิภาพเพิ่มเติมของอุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า มันสามารถตรวจจับยาเสพติดได้อีกด้วย (จากหาลูกกอล์ฟ กลายมาเป็นหายาเสพติดได้ไงล่ะเนี่ย)
Quardro Tracker อุปกรณ์ตามหาลูกกอล์ฟ
แต่ดูเหมือนว่าการโกหกของควอทเทิลบอมจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในปี 1996 ควอทเทิลบอมได้ถูกฟ้องร้อง ทำให้ทางการสหรัฐฯ ประกาศห้ามไม่ให้มีการจัดหน่าย Quardro Tracker ในสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด
ทว่ากลับมีชายคนหนึ่งที่ชื่อ เจมส์ แม็คคอร์มิค (James McCormick) ได้แอบนำเครื่อง Quardro Tracker ออกจากสหรัฐฯ ไปยังอังกฤษ ก่อนที่เขาจะดัดแปลงอุปกรณ์และตั้งชื่อให้ใหม่เป็น ADE 651 อุปกรณ์ตรวจจับระเบิด ที่ถูกจัดจำหน่ายโดยบริษัทของเขาในอังกฤษ
แน่นอนว่าเจ้าเครื่อง ADE 651 มันไม่สามารถจับระเบิดได้จริง ๆ (แหงล่ะ) แต่ภายหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 ปรากฏว่า ADE 651 กลับขายดีจนเทน้ำเทท่า โดยจากเดิมที่เจ้าอุปกรณ์นี้มีต้นทุนไม่ถึงร้อยดอลลาร์ แม็คคอร์มิคกลับสามารถขาย ADE 651 ในราคาตกเครื่องละ 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้
โดยประเทศที่เป็นลูกค้ารายสำคัญ (พูดง่าย ๆ ก็คือโดนหลอก) ของ ADE 651 ก็คือประเทศอิรัก โดยในปี 2008 อิรักได้ซื้อ ADE 651 จำนวน 800 ชิ้น และในปี 2009 อีก 700 ชิ้น สนนราคาทั้งหมดที่อิรักต้องจ่ายให้กับเครื่องตรวจจับระเบิด (กำมะลอ) นี้ ตกอยู่ที่ราว 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกเหนือจากอิรัก ก็ยังมีประเทศอื่น ๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของ ADE 651 ไล่เรียงตั้งแต่ ซาอุดีอาระเบีย จอร์เจีย โรมาเนีย ไนเจอร์ และที่สำคัญก็คือประเทศไทยของเรานั่นเอง (น่าภูมิใจไหมเนี่ย?)
สำหรับกรณีของอิรักถือว่าน่าเห็นใจมาก เพราะแม้ว่าจะมีหลาย ๆ ประเทศ ที่ได้ทดสอบ ADE 651 แล้วพบว่า มันไม่มีประสิทธิภาพอะไรเลยสักอย่าง แต่รัฐบาลอิรักก็ยังคะยั้นคะยอที่จะซื้อ ADE 651 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี
ทหารอิรักขณะใช้งาน ADE 651
ซึ่งกว่าที่อิรักจะรู้ตัวว่าพวกเขาโดนหลอก ก็ต้องรอจนถึงปี 2016 เพราะในปีดังกล่าว ได้เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายสิบครั้ง จนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน โดยนายไฮเดอร์ อัล อบาดี นายกรัฐมนตรีของอิรักในขณะนั้น ก็ได้ประกาศยกเลิกการใช้ ADE 651 ในอิรักอย่างเป็นทางการ เพราะมันแสดงให้เห็นแล้วว่า ADE 651 ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง
ส่วนตัวของแม็คคอร์มิค ก็ได้ถูกทางการอังกฤษจับกุมตัวในข้อหาฉ้อโกงในปี 2013 ทำให้เขาต้องติดคุกเป็นเวลา 10 ปี ด้วยกัน
McCormick ขณะถูกจับกุมตัวในปี 2013
ส่วนชายที่เป็นต้นเรื่องทั้งหมดอย่างควอทเทิลบอม เขาก็เคยพูดกับสื่อแห่งหนึ่งว่า
"มันทำหน้าที่อย่างที่มันถูกออกแบบมาได้อย่างดีเยี่ยม ใช่แล้ว มันคือการหาเงินยังไงล่ะ"
*** Reference
• หนังสือ Hoax ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง สำนักพิมพ์ยิปซี
#HistofunDeluxe
โฆษณา