3 ต.ค. 2021 เวลา 08:11 • ประวัติศาสตร์
สงครามครูเสด (Crusades)
ก่อนนี้ผมเคยเขียนเรื่องราวของ “สงครามครูเสด (Crusades)” เป็นซีรีส์ แต่บทความนี้ ผมจะขอเล่าเรื่องราวของสงครามครูเสดแบบรวบรัด ให้จบในบทความเดียว สำหรับคนที่ขี้เกียจอ่านหลายๆ ตอน จะได้อ่านจบในบทความเดียว
“สงครามครูเสด (Crusades)” เป็นมหากาพย์สงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์และมุสลิม โดยมีจุดเริ่มต้นความขัดแย้งจากการแย่งกันเข้าควบคุมดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และสงครามครั้งนี้ก็กินเวลานานนับร้อยปี และเป็นสงครามที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
3
สำหรับเรื่องราวของสงครามนี้ ต้องย้อนไปเล่าตั้งแต่เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 11 ซึ่งในเวลานั้น ยุโรปตะวันตกได้เริ่มเบ่งบานอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะยังตามหลังอารยธรรมเมดิเตอเรเนียนหลายๆ แห่งก็ตาม
ในเวลานั้น จักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) ได้เสียดินแดนจำนวนมากจากการรุกรานของพวกเซลจุค (Seljuk Turk) เสียทีพวกเซลจุคหลายต่อหลายครั้ง
ภายหลังจากผ่านสงครามและความวุ่นวายเป็นเวลาหลายปี “จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 โคมเนนอส (Alexios I Komnenos)” ก็ได้ขึ้นครองบัลลังก์ไบแซนไทน์ในปีค.ศ.1081 (พ.ศ.1624)
1
จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 โคมเนนอส (Alexios I Komnenos)
ในปีค.ศ.1095 (พ.ศ.1638) จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 ก็ทรงส่งทูตไปเข้าเฝ้า “สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Pope Urban II)” เพื่อขอกองทัพเสริมจากตะวันตก มาช่วยสู้รบกับพวกตุรกี
ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกและตะวันออกจะไม่ดีนัก แต่การส่งทูตของจักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 ก็นับว่าทำได้ถูกที่ ถูกเวลา เนื่องจากตอนนั้น สถานการณ์ความสัมพันธ์ของทั้งสองดินแดนก็เริ่มจะดีขึ้นแล้ว
สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Pope Urban II)
พฤศจิกายน ค.ศ.1095 (พ.ศ.1638) ในการประชุมที่แกลร์มง ทางใต้ของฝรั่งเศส สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ทรงปลุกระดมให้ชาวคริสต์จับอาวุธ เข้าร่วมกับไบแซนไทน์เพื่อยึดดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนจากมุสลิม ซึ่งนี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด
การปลุกระดมของสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ได้ผลเป็นอย่างดี ทั้งชนชั้นสูงในกองทัพ ไปจนถึงชาวบ้าน ต่างจับอาวุธ เตรียมพร้อมออกรบ
สำหรับผู้ที่เข้าร่วมกับกองทัพไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้ จะสวมชุดที่มีสัญลักษ์กางเขนอยู่บนเสื้อ
1
นักรบเหล่านี้คือ “อัศวินครูเสด (Crusader)” และเป็นต้นแบบสำหรับกองทัพในสงครามศาสนาในยุคต่อๆ มา โดยกลุ่มกองทัพในยุคต่อๆ มานั้น ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนศักดิ์สิทธิ์และผู้แสวงบุญที่เดินทางไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์
กองทัพครูเสดได้รับการจัดตั้งกว่าสี่กองทัพ ซึ่งแต่ละกองทัพก็มาจากดินแดนต่างๆ ในยุโรปตะวันตก โดยทั้งสี่กองทัพได้เริ่มออกเดินทัพในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1096 (พ.ศ.1639) โดยกองทัพครูเสดชาวบ้าน (People’s Crusade) ได้ออกเดินทัพไปก่อนแล้ว ภายใต้การนำของนักบวชน์ที่มีนามว่า “ปีเตอร์ฤาษี (Peter the Hermit)”
4
ปีเตอร์ฤาษีไม่เชื่อรับสั่งของจักพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 ซึ่งมีรับสั่งให้รอเดินทัพพร้อมกองทัพอื่น และได้นำทัพข้ามช่องแคบบอสพอรัสในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ.1096 (พ.ศ.1639)
1
ในการปะทะครั้งใหญ่ครั้งแรกระหว่างกองทัพครูเสดและมุสลิม กองทัพตุรกีได้บดขยี้กองทัพจากยุโรป ในขณะที่กองทัพครูเสดอีกกองทัพหนึ่ง ก็ได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในหลายๆ เมืองในไรน์ลันท์ ทำให้เกิดความโกรธแค้นไปทั่ว อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวยิวและชาวคริสต์อยู่ในขั้นวิกฤต
2
เมื่อกองทัพครูเสดทั้งสี่มาถึงคอนสแตนติโนเปิล จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 ก็ทรงมีรับสั่งให้ผู้นำกองทัพแต่ละทัพตั้งสัตย์สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ และดินแดนที่ยึดคืนได้จากตุรกีทั้งหมด อีกทั้งดินแดนทุกแห่งที่อาจจะยึดได้ในอนาคต ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจชองพระองค์
แน่นอนว่าผู้นำแต่ละทัพนั้นไม่ยอมรับ
พฤษภาคม ค.ศ.1097 (พ.ศ.1640) กองทัพครูเสดและกองทัพไบแซนไทน์ก็ได้เข้าโจมตีเมืองไนเซีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพวกเซลจุคในอนาโตเลีย โดยในเดือนมิถุนายนของปีนั้น เมืองไนเซียก็ต้องยอมแพ้
ในเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพครูเสดกับจักพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 เริ่มจะไม่ดีนัก เนื่องจากกองทัพครูเสดไม่ยอมสาบานว่าจะภักดีต่อจักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 แต่ถึงอย่างนั้น กองทัพทั้งสองฝ่ายก็ได้เดินทัพเข้าไปในอนาโตเลีย และยึดเมืองแอนติออกในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1098 (พ.ศ.1641)
จากนั้น กองทัพครูเสดก็ได้มุ่งหน้าไปเยรูซาเลม
1
กองทัพครูเสดได้ตั้งค่ายหน้าเยรูซาเลมในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1099 (พ.ศ.1642) และทำให้เจ้าเมืองต้องยอมแพ้ในเดือนกรกฎาคม จากนั้น เมื่อเข้ามาในเยรูซาเลม เหล่าอัศวินครูเสดก็ได้ทำการสังหารชาวเมืองนับร้อย
1
ภายหลังจากได้ชัยชนะในสงครามครูเสดครั้งที่หนึ่ง เหล่าอัศวินครูเสดก็ได้เดินทางกลับบ้าน ส่วนพวกที่ยังอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้แบ่งเขตการปกครองในตะวันตกออกเป็นสี่ส่วน เรียกว่า “รัฐนักรบครูเสด (Crusader states)” ประกอบด้วยเยรูซาเลม อีเดสซา แอนติออก และตริโปลี
3
รัฐเหล่านี้มีปราสาทขนาดใหญ่ล้อมรอบ และรัฐนักรบครูเสดก็กลายเป็นรัฐที่ทรงอำนาจในดินแดนแถบนี้จนถึงปีค.ศ.1130 (พ.ศ.1673) เมื่อกองทัพมุสลิมเริ่มจะโต้กลับ โดยเปิดศึกทำสงครามกับชาวคริสต์
1
ในปีค.ศ.1144 (พ.ศ.1687) แม่ทัพเซลจุคที่ชื่อ “ซังกิ (Zangi)” ได้เข้ายึดอีเดสซา ทำให้รัฐนักรบครูเสดทางเหนือเริ่มเสียที เสียเมืองแก่ข้าศึก
ซังกิ (Zangi)
ข่าวความพ่ายแพ้ของอีเดสซาทำให้ยุโรปและชาวคริสต์ตกตะลึง และทำให้ทางการต้องเรียกร้องให้เปิดศึกสงครามครูเสดอีกครั้ง
ศึกครั้งนี้นำโดย “พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส (Louis VII of France)” และ “พระเจ้าคอนราดที่ 3 แห่งเยอรมนี (Conrad III of Germany)” โดยศึกครั้งนี้เปิดฉากในปีค.ศ.1147 (พ.ศ.1690)
ตุลาคมปีนั้น กองทัพตุรกีได้เข้าบดขยี้กองทัพของพระเจ้าคอนราดที่ 3
พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 และพระเจ้าคอนราดที่ 3 จึงรวมทัพที่เยรูซาเลม และตัดสินพระทัยนำทัพ 50,000 นายเข้าโจมตีเมืองดามัสกัส
เมื่อถูกโจมตี ผู้ปกครองดามัสกัสก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจาก “เนอร์ แอ็ด-ดิน (Nur ad-Din)” ซึ่งเป็นผู้ปกครองดินแดนในซีเรีย ขอให้ส่งกำลังมาช่วย
กองทัพมุสลิมได้เอาชนะกองทัพครูเสด และทำให้สงครามครูเสดครั้งที่ 2 จบลง โดยในปีค.ศ.1154 (พ.ศ.1697) เนอร์ แอ็ด-ดินได้ผนวกดามัสกัสเข้ากับอาณาจักรของตน
ต่อมา ภายหลังจากที่กองทัพครูเสดพยายามจะเข้ายึดครองอียิปต์ กองทัพของเนอร์ แอ็ด-ดินก็ได้เข้ายึดครองไคโรในปีค.ศ.1169 (พ.ศ.1712) และขับไล่กองทัพครูเสดให้ล่าถอยไป
เนอร์ แอ็ด-ดิน (Nur ad-Din)
ภายหลังจากการเสียชีวิตของ “ซิกูร์ (Shirkuh)” ขุนศึกคนสำคัญที่นำทัพของเนอร์ แอ็ด-ดินเข้ายึดครองไคโร “ซาลาดิน (Saladin)” ผู้ซึ่งเป็นหลานของซิกูร์ ก็ได้ขึ้นสู่อำนาจและรวบรวมทัพเพื่อทำสงครามหลังจากเนอร์ แอ็ด-ดินเสียชีวิตในปีค.ศ.1174 (พ.ศ.1717)
2
ในปีค.ศ.1187 (พ.ศ.1730) ซาลาดินเริ่มจัดทัพเพื่อทำสงครามกับอาณาจักรครูเสดในเยรูซาเลม โดยกองทัพของซาลาดินได้ทำการบดขยี้ทัพชาวคริสต์ใน “ยุทธการที่ฮัททิน (Battle of Hattin)” และยึดเมืองคืนมาได้ อีกทั้งยังได้ดินแดนเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก
1
ความพ่ายแพ้ของชาวคริสต์นำไปสู่สงครามครูเสดครั้งที่สาม นำโดยผู้นำหลายฝ่าย เช่น “พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (Philip II of France)” และ “พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Richard I of England)”
1
พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (Richard I of England)
ในเดือนกันยายน ค.ศ.1191 (พ.ศ.1734) ทัพของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ได้เอาชนะทัพของซาลาดินใน “ยุทธการที่อาร์ซัฟ (Battle of Arsuf)”
และเมื่อยึดเมืองจาฟฟาคืนมาได้ พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 ก็ทรงฟื้นฟูอำนาจของชาวคริสต์ในดินแดนแถบนี้ และนำทัพบุกมาถึงเยรูซาเลม หากแต่พระองค์ก็ปฏิเสธที่จะปิดล้อมเมือง
กันยายน ค.ศ.1192 (พ.ศ.1735) พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 และซาลาดินก็ได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพ ทำให้ “ราชอาณาจักรเยรูซาเลม (Kingdom of Jerusalem)” ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง และทำให้สงครามครูเสดครั้งที่สามสิ้นสุด
ต่อมาในปีค.ศ.1198 (พ.ศ.1741) “สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 (Pope Innocent III)” ได้ทรงปลุกระดมให้เกิดสงครามครูเสดอีกครั้ง โดยในเวลานั้น ยุโรปและจักรวรรดิไบแซนไทน์กำลังแย่งชิงอำนาจกัน และเหล่าอัศวินครูเสดก็ต้องการจะโค่นอำนาจของจักรพรรดิแห่งอาณาจักรไบแซนไทน์
สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 (Pope Innocent III)
“จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 4 อันเจลอส (Alexius IV)” ได้ทรงพยายามที่จะให้คริสตจักรไบแซนไทน์อยู่ใต้อำนาจของโรม ทำให้เกิดการต่อต้าน จนนำไปสู่รัฐประหารและการปลงพระชนม์จักพรรดิอเล็กซิออสในปีค.ศ.1204 (พ.ศ.1747)
กองทัพครูเสดได้ประกาศสงครามต่อคอนสแตนติโนเปิล และสงครามครูเสดครั้งที่สี่ก็จบลงด้วยความเสียหายมหาศาลต่อคอนสแตนติโนเปิล นำไปสู่ความย่อยยับของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในเวลาต่อมา
สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของศตวรรษที่ 13 สงครามครูเสดหลายๆ ครั้งก็มีเป้าหมายเพื่อที่จะกำจัดทุกคนที่เป็นศัตรูกับชาวคริสต์ ไม่ใช่การกำจัดอำนาจของมุสลิม
ในสงครามครูเสดครั้งที่ห้า กองทัพครูเสดโจมตีอียิปต์จากทั้งทางบกและทางน้ำ หากแต่ภายหลังก็ต้องยอมแพ้ต่อกองทัพมุสลิมในปีค.ศ.1221 (พ.ศ.1764)
ตั้งแต่ปีค.ศ.1248-1254 (พ.ศ.1791-1797) “พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส (Louis IX of France)” ได้ประกาศสงครามครูเสดต่ออียิปต์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคือสงครามครูเสดครั้งที่เจ็ด และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9
1
ในปีค.ศ.1291 (พ.ศ.1834) เอเคอร์ ซึ่งเป็นเมืองสุดท้ายของกองทัพครูเสดที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้เสียทีแก่พวกมัมลุก ซึ่งเป็นมุสลิมอีกพวกหนึ่ง และนักประวัติศาสตร์หลายรายก็เชื่อว่านี่คือจุดจบของรัฐนักรบครูเสด รวมถึงกองทัพครูเสดก็ถึงกาลอวสาน
ในภายหลัง ถึงแม้คริสตจักรจะพยายามปลุกระดมให้เกิดสงครามครูเสดอีกครั้ง หากแต่ก็ไม่ได้รับแรงสนับสนุนมากนัก
ถึงแม้ว่าสงครามครูเสดจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของชาวคริสต์ หากแต่นักประวัติศาสตร์หลายรายก็โต้แย้งว่าผลจากสงครามนี้ ทำให้ศาสนาคริสต์และอารยธรรมตะวันตกแผ่ขยายเข้าไปยังดินแดนอื่น นอกจากนั้น คริสตจักรโรมันคาทอลิกก็รุ่งเรืองขึ้นมาก มีทั้งเงินและอำนาจ อีกทั้งการค้าและคมนาคมก็ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากภายหลังจากสงครามครูเสด
4
สงครามทำให้ความต้องการเสบียงและสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้น การคมนาคมก็จำเป็นต้องพัฒนา ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเรือและขนส่งอย่างเป็นระบบ
1
ภายหลังจากสงครามครูเสด ผู้คนก็เริ่มสนใจที่จะเดินทางไปยังดินแดนอื่น รวมทั้งการศึกษาก็เริ่มเบ่งบานทั่วยุโรป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นการเบิกทางสู่ยุคเรเนสซองส์ (Renaissance)
1
แต่สำหรับอิสลามแล้ว เหล่านักรบครูเสดคือกลุ่มชนป่าเถื่อน โหดเหี้ยม เห็นได้จากการสังหารหมู่ชาวยิวหลายครั้ง แม้แต่ในปัจจุบัน มุสลิมบางรายก็ยังเรียกความพยายามแทรกแซงตะวันออกกลางของตะวันตกว่าเป็น “ครูเสด (Crusade)”
1
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามนี้เป็นสงครามที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และยังส่งผลต่อการเมืองและมุมมองทางวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน
โฆษณา