15 ต.ค. 2021 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เคยสังสัยกันไหมครับว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนักสืบ แยกแยะระหว่าง การฆ่าตัวตาย (Suicide) กับการ ฆาตกรรมอำพราง (Homicide) ที่ฆาตกรจัดฉากให้เป็นการฆ่าตัวตายได้อย่างไร ?
วันนี้เรามีบทความน่าสนใจ เกี่ยวกับการสืบสวนหาเหตุการตาย ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนักสืบ ในเคสที่เป็นการฆ่าตัวตาย และเคสที่ถูกจัดฉากให้เหมือนว่าเป็นการฆ่าตัวตายมาเล่าสู่กันฟังครับ
***หมายเหตุ 1 : บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อจุดประสงค์สำหรับการอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น
***หมายเหตุ 2 : บทความนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการออกตรวจพื้นที่ที่เกิดเคสการเสียชีวิตอย่างปริศนา กล่าวว่า ไม่มีวิธีที่ชัดเจนในการแยกแยะความแตกต่างระหว่าง การฆ่าตัวตาย หรือ การฆาตกรรมอำพราง และเมื่อการสอบสวนกรณีการเสียชีวิต ได้เริ่มต้นขึ้น สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ
“การเสียชีวิตในทุกเคสถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย ไม่ควรตัดเรื่องการฆาตกรรมทิ้ง จนกว่าการสอบสวนจะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น”
การสืบสวนการเสียชีวิต (Death Investigations) โดยหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นงานที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน และใช้เวลานานในการตรวจสอบหาหลักฐานจากที่เกิดเหตุ เพื่อการระบุและบันทึกหลักฐาน รวมถึงการสอบถามคนที่ใกล้ชิดกับผู้ตาย และแน่นอนว่าต้องมีการสอบสวนผู้ที่ต้องสงสัยร่วมด้วย
โดยใน หลักสูตรพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฏหมาย (Basic Law Enforcement Training Course) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการจัดการเรียนการสอนขึ้นในสถาบัน Coastal Carolina Community College ซึ่งเป็นแหล่งฝึกวิชาของเจ้าหน้าที่ใน หน่วยสืบสวนคดีอาชญากรรม และเป็นคอร์สเรียนที่อยู่ในความดูแลของคุณ Len Condry และเขาได้เล่าถึงงานของเขาให้ฟังว่า
“งานของหน่วยสืบสวนคดีอาชญากรรม มีงานสืบสวนหลายประเภท ด้วยเทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย รวมถึงการสืบสวนคดีฆาตกรรม และการฆ่าตัวตาย”
1
“กฏพื้นฐานในการสืบสวนการตาย คือเจ้าหน้าที่จะให้น้ำหนักว่าเป็นการฆาตกรรมเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเป็นอย่างอื่น และเราจะมองทุกความเป็นไปได้เท่าๆ กัน โดยไม่ลงลึงหรือปักใจเชื่อไปในทางใดทางหนึ่งมากเป็นพิเศษในช่วงแรกของการสืบสวน”
ในส่วนทางด้านของคุณ Chris Thomas เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานนายอำเภอ Onslow County Sheriff Office เป็นอีกหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสืบสวนคดีอาชญากรรม ได้กล่าวว่า “ในการสืบสวนการตายเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทความพยายามเป็นอย่างมาก”
“ในทุกสถานที่ที่เกิดการเสียชีวิต และเราได้รับมอบหมายให้ออกไปตรวจสอบ เราจะตัดความไม่น่าจะเป็นบางอย่างทิ้งไป ในกรณีการเสียชีวิตที่มีความรุนแรง หรือบาดแผล เราจะพิจารณาประวัติการเข้ารับรักษาอาการป่วยของเขา และหากไม่พบว่ามีประวัติความเจ็บป่วยที่อาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตอย่างกระทันหัน หรือไม่มีประวัติว่าป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ยากแก่การรักษา ก็จะมีการพิจารณาเรื่องสถานที่พบศพ รวมถึงมองหาเบาะแสของการฆาตกรรม”
และมีปัจจัยจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง ที่นักสืบ หรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายต้องนำมาพิจารณา เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นการฆ่าตัวตาย หรือว่าเป็นการฆาตกรรมกันแน่ อาทิ รายงานการชันสูตรพลิกศพที่ทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ รวมถึงการตรวจสอบรอยนิ้วมือที่พบบนอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลิดชีวิต (มีด ปืน อาวุธ) การตรวจสอบ DNA จากเส้นผมที่พบเจอในที่เกิดเหตุ รวมถึงการตรวจสอบพยานหลักฐานอื่นๆ และการตรวจสอบวิถีกระสุน
“และในทุกเคสของการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ต้องตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อน ถึงแม้ว่ามันจะดูเป็นการฆ่าตัวตายก็ตาม และจะมีการสืบสวนตามรูปแบบของคดีฆาตกรรมจนกว่าจะมีข้อพิสูจน์เป็นอย่างอื่น”
คุณ Jack Bright ผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจ เมืองแจ็กสันวิลล์ (Jacksonville) ในช่วงปี ค.ศ. 1960 ถึงปี ค.ศ. 2000 กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถมองหาสัญญาณการฆ่าตัวตายที่ชัดเจน โดยมองหาจากข้อความใดๆ ก็ตามที่ผู้ตายถ่ายทอด หรือบอกเล่าออกมาก่อนที่จะเสียชีวิต”
และการตรวจสอบตรวจสอบสัญญาณที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ที่นำไปสู่สาเหตุการตาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของบาดแผลจากมีดหรือของมีคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาเหตุการตายที่มาจากอาวุธปืน จำนวนกระสุนที่ถูกยิง สามารถบ่งบอกว่าเป็น การฆ่าตัวตาย หรือการ ฆาตกรรมอำพราง ได้อย่างค่อนข้างจะชัดเจน แต่ก็ไม่มีกฎตายตัวเสมอไป
“ปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถใช้สืบสวนหาสาเหตุการตายได้คือ การสอบถามบุคคลสุดท้ายที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้เสียชีวิต เนื้อหาการสนทนาอาจบ่งบอกได้ว่า เขากำลังมีความคิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่”
นอกจากนี้การตรวจสอบประวัติการ โทรออก/รับสายโทรศัพท์ ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิต ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้สอบถามคนสุดท้ายที่ได้คุยกับผู้ตายผ่านโทรศัพท์ว่า บทสนทนาส่อไปในทางที่มีความคิดว่าจะฆ่าตัวตายหรือไม่ (ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า การตรวจสอบประวัติการแชทของผู้ตายก็มีประโยชน์ในการสอบสวนหาสาเหตุการตายเช่นเดียวกัน)
และขอเสริมว่าการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสืบสวนเหตุการฆ่าตัวตาย ตัวอย่างเช่น ในตอนเช้าของวันนั้นผู้ตายออกไปซื้ออาหารมาเพื่อเตรียมไว้สำหรับกินในมื้อกลางวัน และมื้อเย็น แต่อยู่ดีๆ ก็เกิดเหตุฆ่าตัวตายในช่วงสายของวันเดียวกัน ทำให้มีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า หากมีความคิดฆ่าตัวตายจริง แล้วผู้ตายจะซื้ออาหารมื้อกลางวัน และมื้อเย็นมาเตรียมไว้เพื่ออะไรกัน ???
โดยสรุปแล้ว ไม่มีเทคนิค หรือวิธีการที่ตายตัวในการสอบสวนหาสาเหตุการตาย รวมถึงไม่มีวิธีการตายตัวในการหาคำตอบว่าเป็นการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย หรือการฆาตกรรม โดยหลักการที่สำคัญคือ แม้ว่ารูปการณ์จะชี้ไปในทางที่ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย หรือเป็นการตายอย่างธรรมชาติจากอาการเจ็บป่วยก็ตามที ในช่วงแรกของการสอบสวนจะไม่มีการทิ้งประเด็นเรื่องการฆาตกรรมเป็นอันขาด
และรายระเอียดที่น่าสนใจคือ การตายที่เกิดจากการยิงหลายๆ บาดแผล ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการฆาตกรรมเสมอไป เพราะในหลายๆ เคสที่มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการฆ่าตัวตายอย่างชัดเจนนั้น ผู้เสียชีวิตได้ใช้ปืนยิงตัวเองหลายบาดแผลก่อนที่จะขาดใจตาย ทำให้การพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดในที่เกิดเหตุ ล้วนมีส่วนสำคัญในการพิสูจน์หาสาเหตุการตายที่แท้จริง
และอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือ เคสการฆ่าตัวตายด้วยการกรีดข้อมือ ซึ่งถ้าเป็นการฆ่าตัวตายจริง มักจะพบเห็นบาดแผลที่ข้อมือมากว่า 1 แผล
ด้วยความจริงที่ว่า เมื่อผู้ที่คิดสั้นได้ลงมือกรีดครั้งแรก ก็จะชักใบมีดออกด้วยความเจ็บปวดอันเกิดขึ้นจากบาดแผล (เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย คล้ายตอนที่เราโดนมีดบาด) ทำให้เกิดบาดแผลเล็กๆ ที่ข้อมือ 1 แผล ที่ไม่ได้รุนแรงจนถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้ ต้องมีการกลั้นใจกรีดซ้ำอีกหนึ่งแผลหรือมากกว่านั้น เพื่อให้ถึงแก่ความตาย (ทำให้พบบาดแผลมากกว่า 1 ที่ข้อมือ)
1
แต่หากเป็นเคสการเสียชีวิตด้วยแผลกรีดข้อมือเพียงแผลเดียว มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง โดยเหยื่ออาจถูกฆ่าตายด้วยวิธีการอย่างอื่นมาก่อน (หรือถูกทำให้หมดสติ) แล้วถูกฆาตกรจัดฉากให้เป็นการกรีดข้อมือ
โฆษณา