2 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • สุขภาพ
หายเจ็บแล้วจริงไหม ลองถามใจดู! รู้ทัน Defense Mechanisms กลไกที่ทำให้เรา 'หลอกตัวเอง'
คุณรับมือกับปัญหาชีวิตของตัวเองอย่างไร?
แน่นอนว่าแต่ละคนล้วนมีวิธีจัดการกับความรู้สึกแย่ๆ แตกต่างกันออกไป บางคนพยายามจะลืมมัน บางคนก็ระบายความรู้สึกแย่ๆ ด้วยการร้องไห้ออกมา หรือบางคนพยายามมองหาข้อดีจากสิ่งที่เกิดขึ้น วิธีการแสดงออกเช่นนี้เป็นกลไกการป้องกันของร่างกายเพื่อไม่ให้เราเผชิญหน้ากับสิ่งเลวร้ายในทันที โดยกลไกนี้เรียกว่า “Defense Mechanisms” หรือกลไกป้องกันตัวเอง
“Defense Mechanisms” คืออะไร?
คือ กระบวนการที่เราใช้ป้องกันหรือลดความขัดแย้งภายในจิตใจที่อยู่ในภาวะไม่สมดุล และก่อให้เกิดความทุกข์ใจกับบุคคลนั้น โดยตัวเราก็จะมีการนำกลไกต่างๆ ออกมาตอบสนองต่อแต่ละแรงขับหรือสัญชาตญาณนั้นๆ แตกต่างกันออกไป โดยกลไกที่เราใช้กันบ่อยๆ ก็จะมี อย่างเช่น การปฏิเสธเพื่อให้ตนเองรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าการยอมรับ การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อให้ตนเองรู้สึกดี การโทษผู้อื่นเพราะรับความรู้สึกแย่ๆ ไม่ได้ หรือการบิดเบือนเพราะยอมรับความจริงไม่ได้ เป็นต้น
3
ทุกกลไกมีหน้าที่ซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง เพื่อปฏิเสธความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ซึ่งกลไกป้องกันเหล่านี้ในแต่ละคนก็จะถูกนำมาใช้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของแต่ละคน โดยส่วนใหญ่แล้ว บุคคลทั่วไปจะมีการปรับเปลี่ยนกลไกป้องกันไปมาตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าหากเรายึดติดหรือใช้กลไกหนึ่งมากเกินไป ก็อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาวได้
“Defense Mechanisms” ทำร้ายเราอย่างไร?
กลไกป้องกันตัวเองเป็นเกราะป้องกันไม่ให้อารมณ์ของเราได้รับการกระทบกระเทือนในทันที แต่ก็เป็น ‘การหลอกตัวเอง’ รูปแบบหนึ่งเช่นกัน เราคิดว่าตัวเองโอเค ทุกอย่างเป็นปกติดี สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อีกด้านหนึ่งของพฤติกรรมแบบ ‘เก็บกด’ เช่นนี้ คือการพยายามคิดบวก กวาดความคิดที่เป็นลบออกไปจากหัว จากการวิจัยได้บอกว่า การที่เราพยายามที่จะไม่ทำอะไรกับมันหรือเพิกเฉยจะยิ่งเป็นการให้พลังมันมากขึ้นอีกด้วย
2
การเก็บและกดความคิดเหล่านั้นเอาไว้ ทำให้เราคิดว่าเรารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ แต่จริงๆ เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ซึ่งการเก็บกดทุกอย่างไว้จะมักเกิดจากความตั้งใจในทางที่ดีและคิดว่ามันมีประโยชน์ อย่าง “คิดบวกเข้าไว้” “อย่าไปคิดถึงมัน” และ “ลืมๆ มันไปเสีย” อารมณ์ที่ไม่ต้องการดูเหมือนจะหายวับไป แต่ความจริงคือมันแค่หลบไปอยู่ข้างล่าง และพร้อมที่จะผุดขึ้นมาตอนไหนก็ได้
การหลอกตัวเองจนทำให้ปัญหาถูกหลบซ่อน จะทำให้เราไม่มีวันมีความสุขอย่างยั่งยืนได้เลย แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะรู้ว่ากำลังหลอกตัวเองอยู่ล่ะ?
Self-awareness ช่วยเราได้!
Self-awareness หรือการตระหนักหรือรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเองจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่า
- ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร?
ถามตัวเองและเขียนมันลงไปในกระดาษอย่างละเอียด และแปะป้ายชื่ออารมณ์ให้ถูก โดยระบุอารมณ์ให้ถูกต้องและชัดเจน เช่น เครียด เศร้า ท้อแท้ ไม่ใช่ระบุกว้างๆ อย่าง “ไม่เป็นไร” “แค่นิดหน่อย” “ก็ดี” เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถแปะป้ายชื่อได้อย่างถูกต้องชัดเจนว่าเรารู้สึกอย่างไรกันแน่ ก็ยากที่จะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นและยากที่จะเข้าใจตัวเอง
2
- ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกในแง่บวกหรือเป็นความรู้สึกในแง่ลบ?
การตั้งคำถามเช่นนี้จะทำให้เราอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงมากขึ้น รู้ว่าสิ่งนี้ดีต่อเราหรือไม่
1
- อะไรทำให้เรารู้สึกเช่นนี้?
หาต้นตอของความรู้สึกของเราให้เจอ เพื่อเราจะได้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเราถึงรู้สึกเช่นนี้
4
- เราสามารถเปลี่ยนแปลงมันหรือทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่?
ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ “เราจะเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างไร” และ “มันจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นใช่หรือไม่” ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ ให้ถามตัวเองว่า “เราจะจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร”
1
และอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราหลุดพ้นจากการหลอกตัวเองคือการใช้ “กฎการเขียนของเพนน์เบเกอร์”
จากการศึกษาพบว่า คนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของตัวเองจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพใจ คนเหล่านี้มีความสุขมากกว่าเดิม หดหู่น้อยลง และวิตกกังวลน้อยลงด้วย และภายในไม่กี่เดือนหลังการเขียนจบลง ความดันโลหิตของพวกเขาลดลง อีกทั้งยังมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นและความจำดีขึ้น
นอกจากนี้ ผลวิเคราะห์จากเหล่านักเขียนที่ผ่านการทดลองนี้มีแนวโน้มว่าจะมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่ากลุ่มคนที่เก็บกดหรือคนที่พร่ำเพ้อบ่นก่นด่าไปเรื่อย คนที่เขียนจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น พวกเขามักจะใช้คำว่า “ฉันได้เรียนรู้ว่า” “เหตุผลนั้นก็คือ” “วันนี้ฉันรู้แล้วว่า” และ “ฉันเข้าใจแล้วว่า” ในกระบวนการเขียน พวกเขาสามารถสร้างระยะห่างระหว่างผู้คิดและตัวความคิด ผู้รู้สึกและความรู้สึก ซึ่งช่วยให้พวกเขามีมุมมองใหม่ เลิกติดกับดัก และก้าวไปข้างหน้าได้
3
โดยวิธีการเขียนของเพนน์เบเกอร์สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงจับเวลายี่สิบนาที เปิดสมุดโน้ตหรือเปิดคอมพิวเตอร์หน้าเอกสาร เขียนประสบกาณ์ความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ เดือน หรือปีที่ผ่านมา ไม่ต้องสนใจความต่อเนื่องหรือความสวยงามของภาษา เขียนไปตามความรู้สึก ทำเช่นนี้ไปสักสองสามวัน และทิ้งหรือซ่อนมันไว้ที่ไหนสักที่ การเขียนจะทำให้ความคิดได้ออกจากหัวเราไปอยู่บนกระดาษ มันจะทำให้เราก้าวออกมาจากการหลอกตัวเองในที่สุด
2
เราจะหลุดพ้นออกจากการหลอกตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเราตรวจสอบความรู้สึกตัวเองอยู่เสมอ การระบุความรู้สึกอย่างละเอียดและตรงไปตรงมาจะทำให้เราสามารถจัดการกับพลังลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2
อ้างอิง
หนังสือ “Emotional Agility เท่าทันอารมณ์ก็เข้าใจตนเอง” โดย Susan David
1
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
1
โฆษณา