3 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • การตลาด
สำรวจ 6 เทรนด์ยอดฮิตบน Twitter ช่องทางดันแบรนด์ให้ชนะใจคน
2
รู้หรือไม่? แบรนด์สามารถหยิบยืมเทรนด์ทวิตเตอร์มาใช้เป็นช่องทางทำการตลาดให้กับตนเองได้
1
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เอาไว้ขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การศึกษา การพัฒนาตนเอง ที่เข้ามามีบทบาทและถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้าง ทำให้เราได้เห็นว่าพื้นที่พูดคุยบนทวิตเตอร์นั้นไม่จำกัดอยู่แค่ปัจเจกบุคคลอีกต่อไป แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย
1
ในขณะเดียวกัน ช่องทางนี้เริ่มถูกใช้เป็นช่องทางทำการตลาดของแบรนด์ต่างๆ มากขึ้น เป็นลู่ทางที่ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยวิธีที่จะทำให้แบรนด์อยู่รอดในทวิตเตอร์ได้คือ แบรนด์ต้องตามเทรนด์อยู่เสมอ
เรามาดูกันว่ามีเทรนด์ใดบ้างที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดบนทวิตเตอร์ และแต่ละเทรนด์มีจุดเด่นใดที่แบรนด์สามารถใช้เพื่อเชื่อมโยงจนกลายเป็นที่จดจำและครองใจชาวทวิตเตี้ยนได้
1) Well-being : การมีชีวิตที่ดี
เทรนด์นี้ถูกพูดถึงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16% เมื่อเปรียบเทียบจากสามปีที่ผ่านมา โดยส่วนมากแล้วจะเป็นบทสนทนาเกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกาย เช่น การแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การนอนหลับที่มีคุณภาพ บทสนทนาและให้กำลังใจผู้อื่นเกี่ยวกับการยอมรับร่างกายตนเอง เรียนรู้และรักรูปร่างของตนเองในแบบที่เป็น เทรนด์นี้ยังครอบคลุมไปถึงบทสนทนาเกี่ยวกับสุขภาพจิต อย่างการกระตุ้นให้คนตระหนักถึงการรักและให้อภัยตนเอง หาคุณค่าและความหมายของตนเอง มีการแนะนำวิธีปรับปรุงคุณภาพชีวิต รวมถึงสภาวะอารมณ์และจิตใจเช่นกัน
เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันกับผู้ใช้ แบรนด์ควรคิดอย่างรอบคอบว่าจะสามารถสร้างสมดุลชีวิตและอารมณ์แง่บวกให้กับผู้บริโภคได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสุขภาพเสมอไป แต่ควรมีความสอดคล้องกับแบรนด์
2) Creator Culture : มุ่งทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์
หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ผู้คนพูดถึงค่อนข้างหลากหลาย เช่น
- เนื้อหาเกี่ยวกับเกม ส่วนใหญ่จะเป็นการแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับเกมที่พึ่งจบไป แนะนำวิธีและเคล็ดลับการเล่นเกม
- เนื้อหาเกี่ยวกับช่องทางอาชีพใหม่ๆ เนื่องจากในปัจจุบัน บ้านเป็นสถานที่ที่เราใช้เวลาอยู่กับมันมากที่สุด ผู้คนเริ่มค้นพบตนเองจากงานอดิเรกและความชอบ และใช้มันเป็นช่องทางทำเงิน สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เช่น แบ่งปัน สอนเทคนิคการทำงาน การวาดรูป การถ่ายภาพ เป็นต้น
- สื่อและความบันเทิง มีการแนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูหนังหรือซีรีส์ แนะนำฟิลเตอร์ไอจี เทคนิคการแต่งรูป แอปพลิเคชันแต่งรูปต่างๆ
สำหรับวิธีการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้คนบนทวิตเตอร์ แบรนด์สามารถให้แรงบันดาลใจผ่านรูปภาพ วิดีโอ เครื่องมือต่างๆ เพื่อสื่อถึงความสร้างสรรค์ของแบรนด์ให้ผู้คนเห็น และอีกประการหนึ่ง แบรนด์ควรมีส่วนร่วมกับผู้คนโดยการหาผู้ที่มีทักษะที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ การหาคนทั่วไปที่ไม่เป็นที่รู้จักจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ ช่วยให้พวกเขาได้ลงมือทำจริงๆ มากขึ้น
3) Imaginative Escapism : การหาที่พึ่งทางใจ
เพื่อหลีกหนีความเครียดที่ต้องเจอในทุกๆ วัน การเข้าไปอยู่ในโลกนิยาย การได้อ่านการ์ตูนที่ชอบสามารถลดความเครียดลงได้ โดยบทสนทนาบนทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ ผู้ใช้งานจะแชร์ความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่อการ์ตูนหรืออานิเมะเล่มโปรด
และอีกหนึ่งหัวข้อที่ชาวทวิตเตี้ยนไม่เคยพลาด! นั่นก็คือ ‘ดูดวง’ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นดูดวงรายวัน เปิดไพ่ทาโร่ Pick a card ดูดวงตัวต่อตัว จะเห็นว่าใน Twitter มีรูปแบบการดูดวงให้เลือกหลากหลายเลยทีเดียว การดูดวงจะทำให้เรารู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และรู้สึกว่ามีพลังควบคุมมันได้
1
จุดเด่นของเทรนด์นี้คือการมอบความสุขให้กับผู้ใช้ในเวลาที่พวกเขากำลังหมดแรงหรือหดหู่กับเหตุการณ์ต่างๆ แบรนด์สามารถใช้ความรู้สึกถึงความตื่นเต้น เรื่องลี้ลับ เรื่องเหลือเชื่อหรือเรื่องขบขันมาแบ่งปันให้กับผู้คนได้ การมอบความหวังและความสุขเล็กๆ เพียงชั่วครู่ก็สามารถสร้างอารมณ์แง่บวกและคลายเครียดให้กับผู้คนเช่นกัน
4) One Planet : กระแสรักโลก
อิทธิพลจากแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้กลายเป็นคำตอบในการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ ทุกคนเริ่มหันมาตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยบทสนทนาบนทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น 191% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากเลยทีเดียว หัวข้อที่พูดถึงกันจะเป็นการรณรงค์ลดใช้บรรจุภัณฑ์และพลาสติกที่ไม่จำเป็น มีการเสนอทางแก้เพื่อลดปัญหาขยะ เช่น การแยกขยะ การรีไซเคิล รวมถึงมีการปลุกจิตสำนึกเพื่อให้คำนึงถึงปัญหาส่วนรวมอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องมลภาวะ
1
วิธีการทำให้ลูกค้าสนใจและซื้อสินค้าจากเรา มีเพียงจับจุดที่สื่อถึงความรักโลกให้ได้ และนำเสนอให้พวกเขาเห็น จากการสำรวจพบว่าคนไทยจากสี่ในห้าคนยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบรนด์สามารถกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยแบ่งปันวิธีที่วางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย แสดงจุดยืนและสื่อสารกับผู้คนอย่างโปร่งใส
1
5) Tech Life : เทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกนำมาใช้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเราอย่างแพร่หลาย อย่างเช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ลำโพงอัจฉริยะ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน การทำงานที่บ้านได้เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันของแต่ละคนไปเรียบร้อย เราใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น เราจึงตระหนักและเริ่มให้ความสำคัญกับหน้าจอดีๆ สักเครื่อง หูฟังคุณภาพดีหรือเน็ตที่เร็วกว่าเดิม นอกจากนี้ ผู้คนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของเทคโนโลยีมากขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ Toxic ต่อตนเองและสังคม
เทคนิคการเข้าถึงผู้คนที่สนใจเทคโนโลยี อย่างแรก แบรนด์ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่บอกให้กับผู้บริโภคนั้นสามารถทำได้จริง เพราะทุกแง่มุมของสินค้าเทคโนโลยีสามารถทำให้ผู้คนเกิดความคาดหวังและรู้สึกผิดหวังได้เช่นกัน ทั้งนี้ แบรนด์ต้องดึงจุดเด่นของความเป็นเทคโนโลยี สร้างความประหลาดใจและความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคมากที่สุด หลังจากนั้น ติดตามและสำรวจความพึงพอใจและประสบการณ์ของลูกค้าที่มีต่อสินค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาและเสริมคุณค่าให้กับแบรนด์
6) My Identity : การมีส่วนร่วมที่ทำให้ตนเองมีคุณค่า
เทรนด์ทวิตเตอร์ที่เห็นค่อนข้างบ่อยอย่างการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ การสมรส การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการให้ความสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังถูกทอดทิ้ง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่คนไทยพยายามผลักดันให้กลายเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ การออกมาแสดงจุดยืนหรือการรณรงค์ทำให้ผู้คนรู้สึกมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ซึ่งกิจกรรมทางสังคมนี้นำไปสู่การรู้คุณค่าของตนเองในที่สุด
การเชื่อมโยงระหว่างผู้คนเกิดจากความสนใจและค่านิยมที่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น แบรนด์ต้องคำนึงถึงฐานลูกค้าในแง่ของสิ่งที่คนเหล่านี้ชอบทำ ดูรายการอะไรเป็นประจำ ชอบกินอาหารประเภทไหน ทั้งนี้ แบรนด์ยังต้องรู้ว่าแหล่งข้อมูลใดที่ผู้คนสนใจ และเพราะเหตุใดจึงสนใจเรื่องนี้ จากนั้น พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้สามารถปรับให้เข้ากับค่านิยมของแบรนด์ได้หรือไม่
เพิ่มเติมอีกนิด! แบรนด์สามารถเชื่อมโยงบทสนทนากับผู้คนได้โดยการอ้างถึงวันสำคัญต่างๆ เช่น สำหรับคนที่รักสุขภาพ เชื่อมโยงกับคนเหล่านี้ด้วยวันสุขภาพจิตโลก วันกีฬาโลก หรือคนที่ชอบต้นไม้ สามารถเชื่อมโยงด้วยวันสิ่งแวดล้อมโลก วันคุ้มครองโลก เป็นต้น โดยบทสนทนาอาจจะเริ่มต้นด้วยการบอกวันสำคัญให้พวกเขารู้และเชื่อมโยงไปเป็นประโยคคำถาม ให้พื้นที่พวกเขาได้แชร์เรื่องราว แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
เมื่อแบรนด์ตัดสินใจใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภคแล้ว การฟังเสียงคนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพราะ “Conversation is Twitter’s superpower” ผู้บริโภคคือผู้ขับเคลื่อนการสนทนาและกำหนดวัฒนธรรม กลุ่มเป้าหมายของเราจะมีส่วนร่วมกับแบรนด์ก็ต่อเมื่อมีความคิดและไลฟ์สไตล์ที่คล้ายคลึงกัน ฉะนั้น แบรนด์ต้องหาจุดที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าแบรนด์มีสิ่งที่เหมือนกันกับตนเอง ในขณะเดียวกัน แบรนด์ต้องไม่ละทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองและสื่อสารมันออกมาอย่างสร้างสรรค์
แปลและเรียบเรียงจาก
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#marketing
โฆษณา