Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SUS - สัตว์
•
ติดตาม
5 ต.ค. 2021 เวลา 03:00 • สัตว์เลี้ยง
SUS TODAY: มังกรโคโมโด เสี่ยงสูญพันธุ์เมื่อโลกร้อนทำระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
กีดกันการเข้าถึงแหล่งอาหาร
เมื่อ 25 ปีก่อน “มังกรโคโมโด” สัตว์ป่าที่พบได้ในประเทศอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียว ถูกประกาศให้เป็น “สิ่งมีชีวิตเกือบอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์” เพื่อเป็นการเตือนให้เราเห็นภาพว่าจำนวนประชากรของพวกมันกำลังลดน้อยลง หากไม่ลงมือทำอะไรสักวัน พวกมันจะต้องสูญพันธุ์แน่ๆ
แต่ไม่ว่าเราจะลงมือทำอะไรไป มหันตภัยที่เกิดจากวิกฤตโลกร้อนกำลังกลายเป็นตัวการสำคัญใหม่ที่ทำให้สายพันธุ์กิ้งก่าขนาดใหญ่ที่สุดของโลกต้องถึงคราวอวสานในที่สุด
รู้จักกิ้งก่ายักษ์ ‘มังกรโคโมโด’
ด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกขนามนามเป็นสัตว์ตระกูลกิ้งก่าสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีฟันกับเขี้ยวอันแหลมคม และมีพิษร้าย ทำให้สัตว์ที่ซุกตัวอยู่ในซอกเล็กๆ ของโลกกลายเป็นที่สนใจของผู้คน
บ้านเพียงแห่งเดียวที่พวกมันอยู่อาศัยคือ อุทยานแห่งชาติโคโมโด ประกอบด้วยไปเกาะต่างๆ หลายเกาะ ที่สามารถพบเห็นมังกรโคโมโดได้ เช่น เกาะคีรีโมตัง เกาะนูซาโกเด เกาะปาดา แต่ที่มีอยู่มากจริงๆ คือที่เกาะรินจา และเกาะโคโมโด
ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวปีละไม่ต่ำกว่าแสนคนตั้งใจไปอินโดนีเซีย เพื่อใช้เวลาไม่กี่นาทีในการชมกิ้งก่ายักษ์พวกนี้เดินทอดน่องอวดร่างกายอันมโหฬาร ที่ตัวโตเต็มวัยอาจมีความยาวถึง 3 เมตร
เมื่อ 25 ปีก่อน ตอนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สำรวจจำนวนมังกรโคโมโด พบว่ามีเจ้าพวกนี้เพ่นพ่านอยู่ตามเกาะต่างๆ ประมาณ 5,000 - 8,000 ตัว แต่จากการนับจำนวนล่าสุดกลับเหลือตัวโตเต็มวัยอยู่เพียง 1,380 ตัวกับพวกเด็กและวัยรุ่นอีก 2,000 ตัว
โดยทั่วไป พอพวกมันอายุได้ 6 ปี ตัวเมียก็จะพร้อมสืบพันธุ์และวางไข่ ประมาณ 30 ฟอง แม้ว่าจะดูเยอะ แต่เอาเข้าจริงเปอร์เซ็นต์การรอดของกิ้งก่าจิ๋วกลับมีน้อยเอามากๆ เพราะจะถูกพวกตัวโตๆ จับกินเสียก่อน
ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกมันก็เริ่มค่อยๆ ลำบากขึ้นจากปัญหาคนบุกรุกถิ่นที่อยู่เพื่อเอามาทำเกษตรกรรม ทำสวนทำนาตามความต้องการผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนมังกรโคโมโดจึงน้อยลง ทำให้ต้องมีการปรับสถานะการอนุรักษ์เสียใหม่ให้อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) แทน
แต่เหตุผลที่น่าหวั่นวิตกกว่านั้น คืออนาคตที่มีปัญหาโลกร้อนเข้ามาเอี่ยวนี่สิ..
ถูกโลกร้อนคุกคาม
ต่อให้เราลงมือทำทุกอย่างเพื่อการอนุรักษ์มังกรโคโมโด ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ย้ายคนออกไปจากเกาะทั้งหมด ปลูกป่าฟื้นฟู เพิ่มจำนวนเหยื่อให้พวกมัน ชะตากรรมของมังกรโคโมโดก็คงไม่พ้นจากวิกฤตการสูญพันธุ์อยู่ดี
ตามข้อมูลของ IUCN ระบุว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของมังกรโคโมโดบนเกาะต่างๆ ถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 30% หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด บ้านของพวกมันอาจหายไปถึง 70% ในอีก 45 ปีข้างหน้า
นั่นหมายความว่า พวกมันจะต้องอยู่อย่างจำกัดเขตแดนมากขึ้น มีโอกาสอ่อนแอเพราะการผสมพันธุ์กันในกลุ่มญาติมากขึ้น หรือไม่ก็ถูกตัดขาดเหยื่อชนิดอื่นๆ ที่หนีน้ำไปอยู่ในเขตแดนที่กิ้งก่ายักษ์ตามไปไม่ถึง
ภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้น
นอกจากเรื่องโลกร้อนและที่อยู่อาศัยหายไปแล้วยังมีเรื่องของรสนิยม “การเลี้ยงสัตว์ที่แตกต่าง” จากชาวบ้านชาวช่องของคนบางกลุ่ม ทำให้มีการลักลอบมังกรโคโมโดสายพันธุ์ป่าออกไปขาย (ราคาตกตัวละ 1 ล้านบาท)
รวมถึงเรื่องการปรับปรุงป่าบนเกาะโคโมโดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในธีมจูราสสิคพาร์ค ก็อาจเร่งให้ที่อยู่อาศัยของพวกมันลดน้อยลง แม้จะมีคำกล่าวอ้างว่าไม่กระทบสัตว์ป่าอย่างแน่นอน แต่ก็มักมีภาพมังกรโคโมโดเผชิญหน้าเครื่องจักรออกมาให้เห็นอยู่เสมอๆ
เรื่องต่างๆ ที่เล่ามา นอกจากจะเกิดขึ้นกับเจ้ามังกรดึกดำบรรพ์แล้ว ยังเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าแบบทุกชนิด เพราะทุกๆ ที่ล้วนมีปัญหาแบบเดียวกัน แตกต่างกันแค่บริบทเงื่อนไขที่ผลักดันให้มีปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น
แต่สำหรับมังกรโคโมโด ก็ต้องถือว่าเป็นโชคร้ายสาหัสที่วันนี้มีภัยจากวิกฤตโลกร้อนเข้ามาซ้ำเติม
IUCN ระบุว่า นอกจากมังกรโคโมโดแล้ว ยังมีการปรับสถานะสิ่งมีชีวิตอีกเกือบสี่หมื่นสายพันธุ์ให้อยู่ใน ‘กลุ่มใกล้สูญพันธุ์’
เป็นการย้ำเตือนว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แล้วจริงๆ
อ้างอิง
- Natural History Museum. Komodo dragon is now listed as Endangered as rising sea levels threaten its survival.
https://bit.ly/3nsGkaq
- Reuters. Indonesia says 'Jurassic Park' project on track despite UNESCO warnings.
https://reut.rs/2YM7Ipr
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย