20 ก.พ. 2022 เวลา 08:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ค่าเบต้า ยังคงสามารถใช้ประเมินผลตอบแทนของหุ้นได้อยู่หรือไม่?
ค่าเบต้า Beta (β) เป็นตัวแปรหนึ่งที่นักลงทุนสายทฤษฎี รู้จักกันดีว่าเราใช้ค่านี้เพื่อเป็นตัวแปรหาผลตอบแทนที่ควรจะได้รับ (Required return) เมื่อเทียบกับตลาด ซึ่งเบต้าเป็นตัวแปรหนึ่งของโมเดล CAPM (นักการเงินส่วนใหญ่อ่านว่า “แค๊ปเอ็ม” ย่อมาจาก Capital Asset Pricing Model) รวมถึงใช้เบต้าในการพิจารณากระจายความเสี่ยงของพอร์ต เพราะเบต้าคือค่าตัวเลขทางสถิติที่วัดความสัมพันธ์เทียบกับดัชนีตลาด ที่เป็นความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) โดยค่าเบต้านี้บอกเราได้ทั้ง “ขนาดและทิศทางของความสัมพันธ์”
เราสามารถคำนวณค่าเบต้าได้จากการคำนวณผลตอบแทนย้อนหลังได้จากสมการ
β = Covariance / Variance
Covariance คือการวัดการเปลี่ยนแปลงระหว่างผลตอบแทนหุ้นและตลาดหรือ SET ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามกันมากน้อยเพียงใด
Variance คือค่าความแปรปรวน เป็นค่าที่ใช้วัดการกระจายของข้อมูล ซึ่งเท่ากับส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนหุ้นแต่ละตัว แล้วนำมายกกำลังสอง
ผลตอบแทนที่ควรจะได้รับ (E(r); Required return) ที่หาจาก CAPM นั้นหาได้จากสมการ
Required return E(r) = Risk-free rate + β*(Market return - Risk-free rate)
โดยนักลงทุนสามารถดูค่าเบต้าได้จาก set.or.th ในหน้าสรุปข้อสนเทศ ตัวอย่างของ PTT (https://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=PTT&ssoPageId=3&language=th&country=TH)
เราสามารถใช้ลิงค์นี้สำหรับหุ้นอื่น โดยการเปลี่ยนตัวย่อ PTT เป็นหุ้นอื่นได้เลย
เบต้ามีค่าเป็นเลขจำนวนจริง เป็นได้ทั้งบวกและลบ
  • (Beta < 0 )หากเบต้ามีค่าเป็นลบ แสดงว่ามีโอกาสที่ราคาของหุ้นตัวนั้นขึ้นลงสวนตลาด ตลาดขึ้นหุ้นตัวนั้นจะลง ตลาดลงหุ้นตัวนั้นจะขึ้นสวน ยิ่งลบมากๆ ก็จะขึ้นลงแรงสวนทางกับตลาดมาก
  • (Beta >0) หากเบต้ามีค่าเป็นบวก แสดงว่ามีโอกาสที่ราคาของหุ้นตัวนั้นขึ้นลงทางเดียวกับตลาด ตลาดขึ้นหุ้นตัวนั้นจะขึ้น ตลาดลงหุ้นตัวนั้นจะลงตาม ยิ่งบวกมากๆ ก็จะขึ้นลงแรงในทางเดียวกับตลาดมาก
  • (Beta =0) หากเบต้าเข้าใกล้หรือเท่ากับศูนย์ แสดงว่าหุ้นตัวนั้นขึ้นลงไม่มีความสัมพันธ์กับตลาด คือไม่ได้กำไร และไม่ขาดทุน
  • (Beta = 1) และหากเบต้าเท่ากับหนึ่ง หมายถึงหุ้นตัวนั้นขึ้นลงและมีอัตราผลตอบแทนเท่ากับตลาด
1
ข้อจำกัดของเบต้า รวมถึงโมเดล CAPM คือการใช้ข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังในช่วงเวลาที่ต่างกัน จะทำให้ค่าเบต้าต่างกัน ส่งผลให้ผลตอบแทนที่คำนวณได้จาก CAPM ต่างกันด้วย นอกจากนี้เบต้าเป็นการใช้ข้อมูลในอดีตที่อาจจะไม่เป็นไปตามค่านั้นในอนาคต
ข้อจำกัดอื่นของเบต้าและ CAPM คือเป็นค่าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะหุ้นที่เป็นวัฎจักรที่ผันผวนตามวงรอบ เช่น หุ้นน้ำมัน เกษตร ยางพารา เดินเรือ มีค่าเบต้าที่ผันผวนตามวัฎจักรของธุรกิจ และมีเบต้าที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างหุ้น STA มีค่าเบต้าปี 2562 เท่ากับ 1.67, ปี 2563 เท่ากับ 0.61, ปีที่แล้วเท่ากับ 0.10, และปีนี้จนถึงปัจุบัน (YTD) เท่ากับ 0.09
ตัวอย่างตีความ STA ปีนี้จนถึงปัจจุบันวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หาก SET ให้ผลตอบแทน 1% แล้ว STA จะให้ผลตอบแทน 0.09% ในทางกลับกันหาก SET ให้ผลขาดทุน 1% แล้ว STA จะทำให้เราขาดทุนเพียง 0.09% (เบต้าเข้าใกล้ศูนย์ คือแทบจะไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุนเมื่อเทียบกับตลาด)
Source: set.or.th ; STA Factsheet
เรามาลองหาราคาหุ้น 5 ตัวแรกที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดใน SETHD จากการใช้เบต้าแตกต่างกันระหว่างปีปัจจุบัน 2565 YTD, 2564, 2563, และค่าเฉลี่ย โดยกำหนดใช้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี เป็นผลตอบแทนโดยปราศจากความเสี่ยง (Risk free rate) 1.7% และผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดคือ 8% ในโมเดล CAPM คำนวณได้ผลตอบแทนคาดหวัง E(r)
Beta and Required return
แล้วนำมาหาราคาเป้าหมายของหุ้นจากแบบจําลองคิดลดเงินปันผล (DDM; Dividend Discount Model) จากสูตร P = Do*(1+g) / [E(r) - g] ที่กำหนดให้การเติบโตของเงินปันผลคือ g = 3% ต่อปี ได้ผลราคาเป้าหมายตามตาราง
ราคาเป้าหมายหุ้นจากการใช้ DDM
จากตารางจะเห็นว่าเมื่อเราใช้ Time frame ของค่าเบต้าต่างกัน จะทำให้ราคาหุ้นแตกต่างกันมากในหุ้นบางตัว อย่างเช่น PTTEP ได้ราคาเป้าหมายต่ำสุดอยู่ที่ 68 บาท และสูงสุดที่ 150 บาท ในขณะที่หุ้นบางตัวอย่างเช่น ADVANC ได้ราคาเป้าหมายที่สอดคล้องกัน
2
แล้วเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เรายังคงใช้เบต้ารวมถึง CAPM ในการประเมินราคาหุ้นได้หรือไม่ แล้วจะใช้ Time frame ไหนในการหาค่าเบต้า?
คำแนะนำส่วนตัวคือเรายังคงสามารถใช้เบต้าและ CAPM ในการเป็น guideline เป้าหมายที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับตลาด แต่ไม่ควรใช้เป็นราคาเป้าหมายในการซื้อขายหุ้นเพียง model เดียว ควรใช้ร่วมกับ model หรือการวิเคราะห์อื่นร่วมด้วย โดย Time frame ผลตอบแทน 1 ปี ย้อนหลัง คือค่าที่นิยมใช้กันทั่วไป และเราสามารถใช้แบบเปรียบเทียบเบต้าหลายๆ ค่า เพื่อดูความอ่อนไหวหรือ beta-price sensitivity
นักลงทุนสาย VI หลายท่านมักจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วยกับการใช้เบต้าและ CAPM ในการประเมินผลตอบแทนคาดหวัง ซึ่งส่วนตัวก็เห็นด้วยแบบนั้นว่าไม่ควรใช้เบต้าและ CAPM ในการประเมินราคาหุ้นเพียงปัจจัยเดียว
และตัวผู้เขียนเองมีความเห็นว่าเป้าหมายการใช้เบต้านั้นคือการเปรียบเทียบความผันผวนของหุ้นเทียบกับตลาด และใช้เพื่อการพิจารณาในภาพรวมของพอร์ต โดยการพิจารณาว่าพอร์ตของเรามีค่าเบต้าสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เรากำหนดหรือไม่
โดยในทางทฤษฎีแล้ว การลงทุนเป็นสัดส่วนของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ต ที่ทำให้มีค่าเบต้ารวมทั้งพอร์ตเข้าใกล้หรือเท่ากับศูนย์ (Beta = 0) คือการกระทำที่เทียบเท่ากับการลงทุนในพอร์ตที่ปราศจากความเสี่ยงหรือ “Risk free portfolio” ซึ่งพอร์ตนี้จะไม่ใช่พอร์ตที่มีผลตอบแทนสูงสุดแต่เป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำสุดเมื่อเทียบกับตลาด และได้ผลตอบแทนเท่ากับ Risk-free rate ซึ่งมักใช้ในสภาวะ bear market
และนักลงทุนอาจต้องการ Beta > 2 คือต้องการให้พอร์ตมีผลตอบแทน (หรือขาดทุน 😅) มากกว่า 2 เท่าของผลตอบแทนตลาดในสภาวะ bull market ได้เช่นกัน
ในครั้งถัดไป เรามาสร้างตัวอย่างพอร์ตที่เป็น Risk free portfolio กัน
คำเตือน
ข้อมูลที่แสดงใช้เพื่อการศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ แต่ไม่ขอยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และไม่ได้มีเจตนาชักชวนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่แสดงตัวใดตัวหนึ่ง
โฆษณา