3 ต.ค. 2021 เวลา 19:34 • ไลฟ์สไตล์
หากใครยังจำได้....ช่วงต้นกันยา 2564 เกิดกระแส พส. (พระสงฆ์) 2 องค์ไลฟ์สดไปหัวเราะร่วนไป ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง จนไปกระแทกใจกลุ่มเยาวรุ่น ที่ไม่เคยสนใจธรรมะมาก่อน แต่...กลับเกิดกระแสต่อต้าน (ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย) ตีกลับว่า “เป็นพระต้องสำรวม ทำแบบนี้ใครจะศรัทธา” เกิดการปะทะคารมโต้เถียงกันไปมา จนกลายเป็นข่าวดัง ซึ่งต้นตอหลักมาจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วความคิด ของคน 2 เจน ที่เหมือนอยู่คนละฟาก
ผมเลยถือโอกาสขุดรูปเก่าๆ สมัยผมเป็น พส. (เมื่อปี 2552 /2009) กะเค้ามาบ้าง (ฮา) สังเกตว่าประเด็นที่ทำให้ผู้เฒ่าทั้งหลายเกิดอาการหัวเสียกับ พส. @พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง ผู้นำความ จึ้ง.ง.ง... และ สภาพพ..... จนทำให้ธรรมะกลับมาอินเทรนด์ในหมู่คนรุ่นใหม่อีกครั้ง กับข้อกล่าวหาสำคัญเรื่อง #ความไม่สำรวม
แต่ขอพูดตรงๆ นะครับ ความสำรวมอะไรนี่ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มักคาดหวังให้เกิดขึ้นในหมู่พระ ทำนอง...เป็นพระต้องพูดช้าๆ เดินเนิบๆ กิริยาต้องไม่กระโด๊กกระเด๊ก เวลาจะทำอะไรก็เหมือนต้องระแวงไปหมด กลายเป็นต้องดูเรียบร้อยเกินปกติ แต่อดีตทิด (ผู้เคยบวช) แบบผม ขอฟันธงเลยว่า ในสังคมพระจริงๆ เขาไม่ได้สำรวมอะไรอย่างนั้นหรอกครับ เพราะนักบวชส่วนใหญ่ก็คือ “ลูกชาวบ้าน” ผู้ชายหลังเปลี่ยนชุดจากกางเกงเป็นจีวร พร้อมเปลี่ยนสังคมใหม่แล้ว นิสัยดั้งเดิมที่เคยเป็นมาแต่ไหนแต่ไร ก็ไม่ (เห็นจะ) เปลี่ยน ตอนแปลงร่างเป็นพระสักหน่อย เพียงแต่หากอยู่ต่อหน้าธารกำนัล ญาติโยม อาจสำแดงอาการสำรวมสักนิด แต่พอเข้าหลังฉากก็ไม่เป็นแบบนั้นหรอกครับ
ระหว่างฉันเช้าในโรงฉัน #ประเพณีฉันแบบรถไฟ ที่สวนโมกข์ ไชยา
โดยความเห็นส่วนตัว ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการแสดงธรรม Live สด ตามสไตล์ พส. พระมหาไพรวัลย์ อย่างน้อยที่สุดพุทธศาสนาที่เคยห่างเหินจากคนส่วนใหญ่ ก็ได้เขยิบพื้นที่เข้ามาใกล้ชิดคนเจนใหม่ๆ มากขึ้น ไม่เชื่อ! ลองถามตัวเองดูก็ได้ครับว่าคุณไปวัดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ถ้าไม่ได้ไปเพราะงานประเพณี หลักๆ ที่จะไปก็คืองานศพเท่านั้น การที่พระสงฆ์ได้ออกมายืน outstanding บนโลกโซเซียล (แล้วมีคนสนใจมากขนาดนี้ ในสมัยผมก็มี หลวงพ่อพยอม กัลยาโณ ที่เทศน์ตลกติดมุกขำจนคนฮากลิ้ง) ผมมองว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะอาจทำให้ผู้ไม่มีศาสนา (ปัจจุบันประมาณการกันว่า ผู้ที่ประกาศตัวว่าไม่มีศาสนาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจมีถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลกไปแล้ว)
มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาล เรื่องความไม่สำรวม (ทางวาจา) ของภิกษุที่น่าสนใจรูปหนึ่ง คือ #เอตทัคคะ* ในด้านผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา (*อ่านว่า เอ-ตะ-ทัค-คะ แปลว่า ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ) นามว่า #พระปิลินทวัจฉเถระ ท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์วัจฉโคตร เมื่อเจริญวัยท่านได้ศึกษาจนจบ #ไตรเพท (คือ พระเวท 3 อย่าง ถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในศาสนาพราหมณ์) ต่อมาเกิดเบื่อหน่ายในชีวิตครองเรือนจึงออกบวชเป็น #ปริพาชก (นักพรตนอกพุทธศาสนาในอินเดียสมัยนั้น) จนได้มาพบกับพระพุทธเจ้าจึงขออุปสมบทเป็นภิกษุ ท่านใช้เวลาศึกษาธรรมะไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
1
แต่..ท่านมีปกติชอบเรียกผู้อื่นว่า “วสละ” แปลว่า “คนถ่อย” (หมายถึง คนชั่ว เลวทราม) ซึ่งถือเป็นคำหยาบ เช่น ท่านเคยทักชายคนหนึ่งว่า “แน่ะเจ้าคนถ่อย ในถาดของท่านนั้นคืออะไร?” ทำให้ชายคนนั้นโกรธ รวมถึงภิกษุในวัด ก็ถูกพระปิลินทวัจฉะเรียกด้วยคำหยาบคายนี้เช่นกัน จึงพากันไปทูลฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสกับพระปิลินทวัจฉะว่า ท่านกล่าวคำหยาบเช่นนั้นจริงหรือ พระปิลินทวัจฉะยอมรับว่า ใช่! พุทธองค์จึงใช้ญาณทัศนะพิจารณาอดีตชาติของพระปิลินทวัจฉะ จนเห็นอดีตกรรมที่ยาวนาน จึงได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธออย่าได้โกรธแค้นปิลินทวัจฉะเลย เพราะคำกล่าวนั้นมิใช่มาจากความโกรธแค้น เพียงแต่เป็น “วาสนา” (ในทางธรรมแปลว่า สิ่งที่เคยกระทำมาจนเคยชินตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน) ของปิลินทวัจฉะเท่านั้น (ผมขอเล่าแบบย่อๆ นะครับ ท่านใดสนใจประวัติท่านแบบละเอียดๆ สามารถเสิร์ชหาอ่านเองได้ครับ)
1
ป้ายโลหะหน้าโรงฉัน “ที่ถวายภัตตาหาร ด้วยประเพณีฉันแบบรถไฟ และสวดมนต์ระหว่างฉัน”
ถึงแม้คนไทยส่วนใหญ่จะนับถือพุทธศาสนา แต่เรากลับมี #ศาสนาไทยไทย เป็นของเราเอง อาทิ เมื่อเห็นอะไรที่เขาว่าดี ว่าเฮง เราก็น้อมใจนับถือไปหมด ศาสนาแบบไทยๆ ของเรานี้ ท่านผู้รู้ให้คำอรรถาธิบายว่า...มีแก่นกลางเป็น #ศาสนาผี (คือศาสนาดั้งเดิมในท้องถิ่น ก่อนที่ผู้คนในภูมิภาคนี้ จะยอมรับนับถือศาสนาจากถิ่นอื่นที่แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามา) แล้วถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกของพุทธหรือพราหมณ์อีกที หากเรายอมรับความจริงข้อนี้กันได้ จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อประหลาดๆ ของคนไทย (แม้ออกตัวว่าเป็นชาวพุทธ) ชนิดตีความได้ละเอียดเป็นฉากๆ
สำหรับผมคำว่า #พุทธตามทะเบียนบ้าน หรือ #พุทธตามบัตรประชาชน น่าจะเป็นคำนิยามที่ชัดที่สุดในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีโอกาสได้ศึกษาศาสนาพุทธในเชิงลึก จนเข้าใจสาระภายในได้กว้างขวางมากขึ้น เมื่อใดเกิดทุกข์ใจในสมัยก่อน ผมมักหยิบคำสอนในศาสนาพุทธมาเพื่อปลอบใจ แต่ทำยังไงก็ปลงตกไม่ได้จริงๆ ซ๊าก.ก.ก ที (ฮา) ในใจผมเคยติดเรื่องสำคัญที่ขวางกั้นอยู่เรื่องหนึ่ง คือ #ความเข้าใจเรื่องภพภูมิ (ง่ายๆ คือเรื่องผี เรื่องเทวดา นั่นแหละ) ที่ขบยังไงก็ไม่แตกสักที ตั้งแต่เล็กจนโตการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่เจริญรุ่งเรือง สอนให้เชื่อเฉพาะสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางกายภาพเท่านั้น แต่ทำไมพุทธกลับเต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย จะให้ยอมปลงใจเชื่อได้ง่ายๆ อย่างงั้นเหรอ ?
แต่...เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาเชิงลึก พร้อมพบครูบาอาจารย์ที่สอนถูกจริต ความสงสัยดังกล่าวที่เป็นเหมือนเครื่องขวางกั้นก็ค่อยๆ คลี่คลายลง แรกเริ่มที่ศึกษาจนรู้และเข้าใจว่ามีอยู่ ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก แต่พอนานๆ ไป กลับรู้สึกเฉยๆ กลับรู้สึกธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทั้งหมดทั้งมวลก็ล้วนเป็นสัตว์ที่ยัง “หลง” เวียนวนอยู่ในห้วงของความทุกข์แบบไม่รู้จบสิ้นชนิดหาทางออกไม่เจอ สำคัญคือต่างล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจาก #ความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นปฐมเหตุ
ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์นั้น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านให้คำนิยามไว้ชัดว่าคือ #ฤทธิ์ทางใจ ชนิดหนึ่ง ที่จะเกิดกับผู้ที่ฝึกเข้าสมาธิได้ถึงระดับฌาน (อัปปนาสมาธิ) ไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไร เพียงแต่ปัจจุบัน...ผู้ที่เข้าสมาธิได้ถึงระดับนี้ นับวันมีแต่น้อยลงๆ ที่เห็นเล่าลือกันว่าเยอะนู่นนี่นั่น ส่วนใหญ่เป็นพวก 18 มงกุฎ ที่หลอกลวงหวังเอาลาภสักการะเสียมากกว่า และฤทธิ์ที่เกิดจากฌานนั้น ก็ไม่ได้มีความมั่นคง เมื่อมีวันได้-ก็มีวันเสื่อมอีกต่างหาก ใช่จะคงอยู่ถาวร จึงหาใช่แก่นสารสาระไม่
ผมและเพื่อนพระนวกะ กำลังเดินทางด้วยรถสองแถวไปเยี่ยม #สำนักสงฆ์ตโปทาวัน อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี
ในสมัยพุทธกาลเองมีพระอรหันต์จำนวนมาก (มากกว่า 60%) ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ชนิดที่เรียกว่า #สุกขวิปัสสกะ คือผู้บรรลุธรรมแบบแห้งแล้ง เหตุเพราะที่ไม่สามารถเข้าสมาธิจนถึงระดับฌานได้ จึงไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้ หากถามว่าระหว่างฤทธิ์ (ที่ได้จากฌานในระดับอัปปนาสมาธิ) กับการบรรลุธรรมเป็นอรหันต์ สิ่งใดมีค่าสำคัญยิ่งใหญ่กว่า ตอบแบบฟันธงได้เลยว่า การบรรลุธรรมแม้จะเป็น “พระสุกขวิปัสสกะ” ก็สำคัญยิ่งใหญ่กว่าหลายเท่า เพราะก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ ก็มีฤๅษีชีไพรจำนวนมาก ที่ฝีกฝนสมาธิจนมีกำลังฌานแก่กล้า สามารถสำแดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ (การฝีกสมาธิแบบเดียวกับฤๅษี มีมาก่อนพระพุทธเจ้า และยังมีในศาสนาอื่นๆ ด้วย) แต่ทำไมผู้มีฤทธิ์กลับยังวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ร่ำไปไม่สิ้นสุด (เหตุเพราะไม่รู้จักธรรมะที่มุ่งสู่การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงของพระพุทธเจ้า)
ครูบาอาจารย์ยังกล่าวให้ฟังอีกว่า “ฤทธิ์ทางใจ” นี้...เป็นวาสนาอย่างหนึ่ง คือผู้ที่จะกระทำได้ ต้องผ่านการสั่งสมในการปฏิบัติมาอย่างยาวนาน (หลายภพหลายชาตินั่นแล) ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน
โดยสาระสำคัญของศาสนาพุทธในเบื้องต้น นอกจากจำเป็นต้องละความชั่วก่อนแล้ว (เพราะความชั่วเป็นเครื่องกีดกั้นขวางทาง ไม่ให้เข้าถึงธรรม) เมื่อผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบสมควรแก่ธรรมแล้ว ปลายทางก็จำเป็นต้องละความดีเสียด้วย อุปมาเหมือนเราอาศัยแพเพื่อข้ามห้วงน้ำใหญ่ แพนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยในการข้าม แต่เมื่อขึ้นฝั่งได้แล้ว ก็จำเป็นต้องสละแพนั้นทิ้งเสีย (ไม่ลากเอาไปด้วย) เปรียบกรรมชั่วดั่งภพชั่ว กรรมดีดั่งภพดี พุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อขึ้นชื่อว่า “ภพ” ก็เปรียบเหมือนกับกองอุจจาระไม่น่าเอาไม่น่าเป็นด้วยกันทั้งสิ้น ........... แต่จุดสำคัญตรงนี้มีคนที่ยังไม่เข้าใจ ผลุนผลันกระโดดข้ามขั้นไปปลายทางเลย ซึ่งจะทำให้หลงทางได้อีก ซึ่งการละความดีกระทำได้ยากกว่าละชั่วเสียอีก เหตุเพราะการยึดติด (ทั้งดีและชั่ว) นี่แหละที่เป็นตัวการของการสร้างภพ
แผ่นปูนหล่อ คำกลอนลายมือท่านพุทธทาส #มองแต่แง่ดีเถิด ที่ความหมายยังลึกซึ้งและร่วมสมัยอยู่เสมอ
ฝอยมาเสียยาว โม้เรื่อยไปถึงดาวอังคารโน่น 555+ เอาเป็นว่าการที่ผมตัดสินใจบวช ไม่ใช่เพราะบวชตามประเพณีแน่นอน แต่เป็นความตั้งใจหลังได้ศึกษาศาสนาพุทธในเชิงลึกมาหลายปี จึงอยากทดลองใช้ชีวิตเป็นพระภิกษุดูสักครั้ง (เอาตรงๆ สมัยที่ผมยังเป็น “พุทธตามบัตรประชาชน” เรื่องบวชเบิดอะไรนี่ ไม่เคยมีปรากฏอยู่ในหัวเลย ประกอบกับที่บ้านไม่เคยบังคับด้วย) ผมมีเป้าหมายว่า ต้องบวชในวัดที่ได้เรียนจริงๆ สำคัญคือต้องสะดวก เรียบง่าย ประหยัดและต้องไม่แพงด้วย ซึ่งวัดที่ตอบโจทย์ผมก็คือ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ที่ก่อตั้งโดย #หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ หรือ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปทุมุตฺตโร) (ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 ก่อนผมบวช 2 ปี) โดยทางวัดเน้นความเรียบง่าย มีระเบียบ ประหยัด เกิดประโยชน์ และถูกต้องตามธรรมวินัย โดยกฎกติกาของวัดชลประทานฯ ในปี พ.ศ. 2552 ที่ผมบวชมีดังนี้
1. ทางวัดจัด #บรรพชาอุปสมบทหมู่ (ไม่มีขบวนแห่นาค งดพิธีกรรมฟุ่มเฟือย สิ้นเปลืองทุกกรณี) สมัยนั้นผมกำเงินไป 2,500 บาท คือจบ ได้อุปกรณ์สำคัญ (ปัจจัย ค่าอัฐบริขาร) ครบทุกอย่าง (ปัจจุบันปรับเพิ่มเป็น 3,000 บาท)
2. ต้องสอบ #คำขานนาค ให้ได้ (คือบทสวด #คำขออุปสมบท เป็นภาษาบาลี ยาวประมาณ 1 หน้ากระดาษ A4) ถ้าสอบไม่ผ่านก็อด ไม่ได้บวช
3. ต้องมีเวลาบวชอย่างน้อย 15 วัน น้อยกว่านี้ไม่รับ
4. มีตารางเรียนพระนวกะ (พระใหม่) ชัดเจน แน่นทุกวัน
5. สามารถเดินทางไปศึกษาธรรมะที่สวนโมกข์ ไชยา (สำหรับผู้บวชเกิน 15 วันได้) ตรงนี้สำคัญ คือผมอยากไปวัดท่านพุทธทาสด้วย
หลังทราบข้อมูลเงื่อนไขการบวช* แล้ว ผมจัดแจงเคลียงานให้เรียบร้อย เพื่อให้มีเวลาบวชตามที่ตั้งใจ ท่องบทสวดขานนาค ปฏิบัติตามกติกาของวัดจนสำเร็จ ได้บวชสมใจ ผมได้ฉายา (นามสกุลพระเป็นภาษาบาลี) ว่า ธมฺมธโร (อ่านว่า ธัม-มะ-ธะ-โร แปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม) ได้เดินทางไป สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยรถไฟ บรรยากาศที่สวนโมกข์แตกต่างจากวัดชลประทานฯ ในเมืองกรุงมาก สำคัญคือที่นี่ฉันมื้อเดียว (ที่วัดชลประทานฯ ฉัน 2 มื้อ ทำให้ผมมีโอกาสได้ลดความอ้วนโดยปริยาย (ฮา) มีประเพณีฉันแบบรถไฟ (คือมีถาดสำหรับวางอาหาร หรือหม้อแกง ที่มีลูกล้อเข็นได้ โดยพระจะนั่งหันหน้าเข้าหากันเรียงแถวหน้ากระดาน 2 ฝั่ง แล้วใช้มือเลื่อนถาดอาหารนี้ตักแบ่งต่อกันไปเรื่อยๆ จนครบทุกองค์)
พส. จตธน. ณ กุฏิเดี่ยว เบอร์ 3 (มีค้างคาวมาเกาะนอนบนเพดานกุฏิด้วยกันทุกคืน ของแถมคือเยี่ยวค้างคาว ที่หยดทะลุมุ้งทุกวัน (ฮา) *สังเกตบริเวณเสากุฏิทุกต้น จะมีน้ำสีดำๆ หล่อไว้ มันคือ น้ำมันเครื่องเก่า (ของเหลือใช้ ที่ได้จากการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง) เพราะสถานที่รอบๆ ยังเป็นป่าธรรมชาติ จึงมีแมลงมีพิษต่างๆ เช่น มด ตะขาบ ขึ้นมารบกวน จึงต้องหล่อน้ำมันป้องกันไว้
ได้เดินทางไปนมัสการ #พระบรมธาตุไชยา พระธาตุสำคัญคู่เมืองสุราษฎร์ ได้ไปเยี่ยม #สำนักสงฆ์ตโปทาวัน ซึ่งเป็นวัดกลางป่าที่วิเวก สงบ และสวยงามมาก หน้าวัดมีลำธารไหลผ่าน และยังมีแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่ผุดขึ้นมาเองกลางลำธารอีกด้วย (สมัยผมตอนเดินทางไปถึงจุดจอดรถสองแถว ต้องเดินเท้าต่อเข้าไปอีกประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร ถึงจะถึงตัววัดที่ตั้งอยู่ในป่า)
ได้โอกาสติดตามท่านอาจารย์โพธิ์ จนฺทสโร (หรือพระภาวนาโพธิคุณ เจ้าอาวาสสวนโมกข์ ขณะนั้น) ไปที่ #ทีปภาวันธรรมสถาน ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ตั้งอยู่ยอดเขาบนเกาะสมุย ที่สงบร่มรื่น แถมวิวสวยมาก หากมองลงมาจากยอดเขาจะเห็นวิวเกือบทั้งเกาะ ผมบวชได้ประมาณ 50 กว่าวัน ถึงจะไม่ยาวมาก แต่ประสบการณ์ที่เก็บตกกลับมาก็คุ้มค่ามากทีเดียว โดยมีทั้งเรื่องที่น่าประทับใจและไม่ประทับใจ ทำให้ผมเข้าใจว่า วัดก็คือสังคมของคนกลุ่มหนึ่ง มีกฎระเบียบปฏิบัติ ซึ่งในแต่ละที่จะแตกต่างกันไป มีทั้งคนที่น่าเคารพและไม่น่าเคารพ อาศัยรวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน พระที่ผมได้พบเจอ ทั้งพระที่บวชมานานหลายพรรษาแล้ว และพระใหม่ที่เพิ่งบวชในคราวเดียวกันส่วนใหญ่เป็น #สมมุติสงฆ์ ที่อุดมไปด้วยกิเลสแบบปุถุชนทั่วๆ ไป (รวมถึงตัวผมด้วย) ต่างคนต่างมีจุดหมายในการบวชที่แตกต่างกัน พระใหม่จำนวนมากมาบวชตามประเพณี พอครบ 15 วันปุ๊บ ก็สึกออกไปเกินกว่าครึ่ง
ผมมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ ท่านอาจารย์โพธิ์ จนฺทสโร (เจ้าอาวาสสวนโมกข์ ขณะนั้น) ไป “ทีปภาวันธรรมสถาน” ตั้งอยู่บนยอดเขาในเกาะสมุย วิวสวย สงบวิเวก พระร่วมเดินทางไปด้วยกันอีก 1 รูปคือ พระสิริ (ยุ่น) จำฉายาท่านไม่ได้ ลูกชายของ รศ.ดร. โสรีช์ โพธิแก้ว อดีตอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ... รูปนี้น้ำหนักผมลดไปเยอะ เพราะฉันมื้อเดียว ถือเป็นเรื่องดีเพราะเป็นคนอ้วนง่าย แต่...ปัจจุบันนี้ทั้งแก่และลงพุง (ฮา)
จริงๆ หากจะเล่าย้อนเรื่องสมัยบวชยังมีอีกเยอะ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ตอนสึกใหม่ๆ ยังจำได้มากกว่า ตอนนี้ก็มีลืมๆ ไปบ้าง พอกลับมาเขียนบทความนี้ เพิ่งทราบว่าท่านจ้อย แห่งสวนโมกข์ (พระใบฎีกามณเฑียร มณฺฑิโร) ได้มรณภาพไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 ในความทรงจำของพระนวกะรุ่นผม ท่านจ้อยเป็นพระใจดี คุยสนุก ท่านเป็นคนมีอารมณ์ขันสูง เป็นผู้นำทัวร์วัดธารน้ำไหล (ชื่อวัดจริงๆ ของสวนโมกข์) ท่านเป็นผู้นำชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในไชยา ทั้งบ้านเกิด กุฏิแห่งแรกของท่านพุทธทาส และสถานที่สำคัญอื่นๆ หากวันไหนได้ท่านจ้อยนำทัวร์แล้วละก็ รับรองวันนั้นมีฮากันลั่นแน่นอน
ท่านจ้อยเคยเล่าอาการป่วยของท่าน ณ เวลานั้นให้ฟัง ทำให้ผมทราบว่าพระธรรมวินัย (กฎระเบียบของพระสงฆ์) สามารถผ่อนผันได้หากจำเป็น ปกติพระจะใช้เครื่องนุ่มห่มเพียง 3 ผืน ประกอบด้วย 1. #สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) 2. #อุตราสงค์ (ผ้าจีวรสำหรับห่ม) และ 3. #อันตรวาสก (ผ้าสบงสำหรับนุ่ง) นิยมเรียกรวมกันว่า #ไตรจีวร แต่ที่ผมเห็นยังมีอีกชิ้น (ชิ้นที่ 4) คือ #อังสะ เหมือนเสื้อกล้ามแต่ตัดเฉวียงบ่า สำหรับใช้สวมด้านใน อังสะบางแบบมีเพิ่มกระเป๋าซิบด้านหน้าใช้เก็บของได้ดี พระเวลาอยู่ภายในวัด (ไม่ได้ออกงานหรือพิธีการ) มักก็จะห่มเฉพาะสบง (ผ้านุ่งคล้ายกระโปรง) และสวมอังสะ นอกจากคล่องตัวแล้วยังระบายความร้อนได้ดี เหมาะกับอากาศในบ้านเรา
แน่นอนว่าพระห้ามนุ่งกางเกงใน ตอนบวชใหม่ๆ ผมยังรู้สึกโทงเทงๆ ชอบกล (ฮา) และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านจ้อยป่วยเป็นโรคไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ (Inguinal hernia) แต่ก็อนุโลมให้ท่านสามารถนำผ้ามานุ่งด้านใน (แทนกางเกงใน) เพื่อบรรเทาอาการป่วยดังกล่าวได้
ภาพนี้เป็นภาพถ่ายย้อนแสงที่สวยมาก ณ ศาลาปฏิบัติธรรมในค่ายลูกเสือ สวนโมกข์ จะเห็นพระนวกะกำลังนั่งพักสนทนากันและบางองค์กำลังห่มจีวร (จีวรห่มยากนะครับ แถมหลุดง่าย…ขอบอก) ภาพนี้ถ่ายโดย “พระวิชญ์” (วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ อดีตเสนาวิชญ์ รายการวาไรตี้แนวตลก #ยุทธการขยับเหงือก) ปัจจุบันวิชญ์เป็นศิลปินแนว New Media Art ที่มีผลงานศิลปะเป็นที่ยอมรับ
ยังมีเรื่องเล่าสนุกๆ ปนความเจ๋ออีกเยอะ ถึงเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานกว่า 12 ปีแล้ว ผมก็ยังคงหวนระลึกถึงได้อยู่เสมอ
ป.ล. ผมพยายามคัดแต่รูปที่ดู(ดี) และสำรวมที่สุดแล้ว เพราะรูปที่ดูแล้วไม่สำรวมมีมากกว่า (ฮา)
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
หมายเหตุ
1. พส. = เป็นศัพท์วัยรุ่น (Slang) ในกลุ่มผู้หญิงหรือ จะเทย (กะเทย) แปลว่า เพื่อนสาว หรือ พี่สาว แต่พระมหาไพรวัลย์ ท่านดัดแปลงนำคำย่อนี้มาใช้หมายถึง “พระสงฆ์”
2. ข้อมูลเพิ่มเติมปัจจุบัน เว็บไซต์วัดชลประทานฯ : https://www.watchol.org เลือกเมนู “รายละเอียดอุปสมบทหมู่”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา