5 ต.ค. 2021 เวลา 06:53 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การพัฒนาเครื่องต้นแบบดักจับพลังงานจากพายุทอร์นาโดที่มนุษย์สร้างขึ้น
เมื่อใดก็ตามที่เราได้ยินคำว่า "ทอร์นาโด" เราคงต้องคิดถึงความพินาศและภัยพิบัติที่ตามมา พายุทอร์นาโด มีพลังงานจลน์ในการหมุนเป็นจำนวนมาก หากเราสามารถสร้างพายุทอร์นาโด และควบคุมพลังงานจลน์ของมันได้ มันจะให้แหล่งพลังงานสะอาดแก่เราอย่างมีประสิทธิภาพ
การเกิดพายุทอร์นาโด
พายุทอร์นาโดนั้น เกิดจากการไล่ระดับการเพิ่มขึ้น ของอุณหภูมิขนาดใหญ่ ในระดับชั้นบรรยากาศ โดยชั้นบรรยากาศด้านล่าง จะถูกเร่งทำให้ร้อนขึ้นจากพื้นดิน ขณะที่อุณหภูมิด้านบนสุดยังคงเย็นอยู่ เนื่องจากอากาศร้อนจะเบา มันจึงลอยขึ้นไปสร้างกระแสลมด้านบน และมีการเคลื่อนที่ด้านข้างของลม ทำให้เกิดการหมุนตามมาด้วย และเกิดการก่อตัวเหมือนกระแสน้ำวน ที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
นักประดิษฐ์ชาวแคนาดา Louis Michaud ได้ออกแบบเครื่องจักรต้นแบบ ที่จะสร้างพายุทอร์นาโดที่ควบคุมได้ขึ้นมา เพื่อนำพลังงานจลน์ของมัน มาผลิตกระแสไฟฟ้า และเรียกเครื่องนี้ว่า "Atmospheric Vortex Engine" (AVE)
การทำงานของเครื่อง AVE
พายุทอร์นาโด ถูกสร้างขึ้นโดยการทำให้อากาศอุ่นและชื้น เข้าไปที่ด้านล่างของอุปกรณ์นี้ จากนั้นทำให้อากาศอุ่นหมุนและลอยตัวขึ้นด้วย tornado vortex generation ก่อตัวเป็นกระแสลมวน คล้ายพายุทอร์นาโดขนาดเล็กที่อยู่นิ่ง
แหล่งความร้อนที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานได้ อาจเป็นพลังงานแสงอาทิตย์หรือความร้อนทิ้ง จากนั้นพายุทอร์นาโด ที่เกิดขึ้นจะไปขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตไฟฟ้าต่อไป วิธีการผลิตพลังงานนี้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้พายุทอร์นาโดที่ผลิตขึ้น สามารถควบคุมให้หยุดได้โดยการเอาลมร้อนออก
การทำงานของเครื่อง AVE
จากการคำนวณของ Louis Michaud พายุทอร์นาโดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 ม. ที่ฐานและขยายขึ้นไปถึงยอดโทรโพสเฟียร์ (โทรโพสเฟียร์ บรรยากาศชั้นล่าง ซึ่งสูงจากผิวโลกราวๆ 8 - 15 กิโลเมตร) จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราวๆ 50 ถึง 500 เมกะวัตต์
แบบจำลองการเกิดพายุทอร์นาโด
การทดลองสร้างทอร์นาโดขนาดเล็ก
บทสรุป
แม้ว่า Michaud จะให้เหตุผลว่าการสร้างพายุทอร์นาโด ที่ควบคุมได้โดยมนุษย์นั้น จะไม่ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ใช้มันผลิตพลังงาน
แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลว่า พายุทอร์นาโด ที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจกลายเป็นภัยพิบัติจริงๆ หากควบคุมมันไม่ได้ ก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล แม้ว่าระบบการทำงานของ AVE นั้น ไม่เหมือนกับพายุทอร์นาโดจริงๆ ที่เกิดจากพายุฝนฟ้าคะนองอย่างกะทันหัน แต่หากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองใกล้ๆ กับสถานที่ทดลอง AVE อะไรจะเกิดผลสืบเนื่องตามมา ?
แล้ว AVE จะไม่เป็นสาเหตุทำให้เกิดพายุทอร์นาโดได้จริงๆ หรือไม่ ?
แม้ว่าผู้พัฒนา จะให้เหตุผลว่า เป็นไปไม่ได้เพราะ AVE สามารถปิดได้อย่างรวดเร็วโดยการปิดแหล่งความร้อนออกไปก็ตาม
การนำ AVE มาใช้จริงๆ จะปลอดภัยหรือไม่ ?
การพิสูจน์แนวคิดนี้ สู่การนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ควรต้องตอบคำถาม เหล่านี้ก่อนใช่หรือไม่ ?
โดยรวมแล้ว แนวคิดการออกแบบนี้ ไม่ได้ถึงขั้นหลุดโลก เพราะมีความเป็นไปได้ ทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การได้พลังงาน ที่สะอาดและยั่งยืนในอนาคต ในราคาที่ไม่แพง แต่การค้นหาวิธีการที่ดีที่สุด ของการนำพลังงาน จากพายุทอร์นาโด ที่มนุษย์สร้างขึ้น มาแปลงเป็นพลังงานอย่างไรนั้น ผู้พัฒนายังคงต้องคิดค้นหาทางกันต่อไป
โฆษณา