6 ต.ค. 2021 เวลา 16:17 • สุขภาพ
"ทันตกรรม"
ภาพโดย mohamed Hassan จาก Pixabay
ไม่ว่ายุคสมัยใด “ช่องปาก” เป็นเรื่องที่มนุษย์เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมากมาเสมอ เนื่องจากเราใช้ปากตั้งแต่การบดเคี้ยวอาหารอันแสนอร่อยตลอดจนการพูดคุยเจรจาค้าขาย การทำให้ช่องปากมีสุขภาพที่ดีมีฟันที่สวยงามนั้นส่งผลถึงการมีภาพลักษณ์ที่ดีอีกด้วย ดังนั้นการรักษาและการดูแลช่องปากจึงเป็นเรื่องที่ตามมาที่เราเรียกว่า “ทันตกรรม”
ทันตกรรม คืออะไร
“ทันตะ” แปลว่า ฟัน ส่วน “กรรม” แปลว่า การกระทำ เมื่อรวมกันแล้ว อาจมีความหมายได้ว่า การทำกิจกรรมเกี่ยวต่าง ๆ ภายในช่องปาก หรือหากเรียกให้ถูกคือ การให้บริการการดูแลรักษาภายในช่องปากให้มีสุขภาพที่ดี
ประเภทของทันตกรรม
ในแต่ละบุคคลอาจมีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากที่แตกต่างการออกไป การดูแลและรักษาจึงจำเป็นต้องตอบสนองความต้องการและรักษาได้อย่างตรงจุดเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาอันสูงสุด กล่าวคือ ทัตกรรม มีการจำแนกประเภทการดูแลรักษาช่องปาก ในปัจจุบันมีการให้บริการหลากหลายประเภท ทั้งในด้านสุขภาพช่องปาก และ ด้านความงาม ดังนี้
การทำฟันพื้นฐาน (General Procedure)
การทำฟันขั้นพื้นฐานคือการดูแลรักษาช่องปากด้วยตนเอง หรือเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์อยู่เป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันการชะลอการสึกกร่อนและเสื่อมสภาพของช่องปากอย่างถูกวิธี โดยการทำฟันขั้นพื้นฐานเป็นการรักษาอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น อาการปวดฟัน การตรวจสุขภาพฟัน เป็นต้น โดยประเภทของการรักษาสามารถแบ่งได้ ดังนี้
การตรวจสุขภาพฟัน การตรวจสุขภาพฟันสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการเจ็บปวด ทันตแพทย์จะประเมินสถาการณ์ในช่องปากของเราว่ามีสุขภาพดี หรือ ไม่ และได้รับการทำความสะอาดอย่างพอเพียงหรือไม่ หากมีอาการผิดสังเกตทันตแพทย์จะสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
- การขูดหินปูน เนื่องจากเราจำเป็นต้องบริโภคอาหารในทุก ๆ วัน หากไม่ได้รับการแปลงฟันที่ถูกวิธีหรือการทำความสะอาดช่องปากได้ไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุที่ก่อเกิดการสะสมของสิ่งสกปรกต่าง ๆ จนก่อเป็นหินปูนในที่สุด หากมีหินปูนมากเกินไปอาจเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียและส่งผลกระทบที่ไม่ดีถึงช่องปากโดยตรง เช่น การมีกลินปาก โรคต่าง ๆ ทางช่องปาก จนไปถึงการสูญเสียฟันในที่สุด ดังนั้นการขูดหินปูนถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและควรที่จะเข้ามาพบทันตแพทย์ในทุก ๆ 6-12 เดือน เพื่อรับการกำจัดหินปูน
- การอุดฟัน เป็นการรักษาเบื้องต้นของการสูญเสียเนื้อฟันบางส่วน จากการผุกร่อน หรือแตกหัก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบไปถึงรากฟันได้ โดยการอุดฟันสามารถเลือกใช้วัสดุได้ 2 ชนิด ได้แก่
อุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม (Amalgam) เป็นวัสดีที่ให้สีคล้ายโลหะ ที่ได้จาก ปรอท เงิน และดีบุกหรือโลหะอื่น ๆ มีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก อายุใช้งานอยู่ที่ 10-15 ปี ข้อเสียคือสามารถสังเกตุได้ง่ายและอาจะดูไม่สวยงาม
อุดฟันด้วยวัสดุเรซินคอมโพสิต (Composite Resin) เป็นการอุดฟันที่ให้สีคล้ายกับสีฟันในธรรมชาติเป็นอย่างมากสามานรถสังเกตเห็นได้ยากมาก
- อาการปวดฟัน และ การถอนฟัน อาการปวดฟันเกิดจากการที่ปลายประสาทในบริเวณรากฟันได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ในบางครั้งเกิดเป็นการปวดฟันเรื้อรังและจำเป็นต้องถอนฟันออกเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดกับคนไข้ อย่างไรก็ตามการถอนฟันถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นควรปรึกษาทันตแพทย์โดยตรงเพื่อประเมิณสถานการณ์ฟันของแต่ละคน ในบางครั้งการปวดฟันสามารถรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องถอน
การดูแลและให้คำปรึกษาฟันในเด็ก ทันตแพทย์นอกจากรักษาแล้ว การให้ความรู้ในการดูแลรักษากับเด็ก ๆ ยังเป็นหน้าที่ที่สำคัญเป็นอย่างมากของทันตแพทย์ เนื่องจากการปลูกฝังองค์ความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดภายช่องปากและฟันของเด็ก ๆ ที่ถูกต้อง ส่งผลถึงการป้องการการสูญเสียฟันในอานคตได้เป็นอย่างดี
วีเนียร์ (Veneer)
วีเนียร์ คือการเคลือบชั้นผิวฟันโดยใช้วัสดุที่คล้ายคลึงกับฟันของเราโดยผ่านกระบวนการด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นการถนอมและป้องกันผิวฟันจากความเสียหายต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยในเรื่องของความสวยงามในเรื่องของสีที่ขาวสว่างใสยิ่งขึ้นอีกด้วย การทำวีเนียร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- วีเนียร์โดยตรง (Direct Veneer) ใช้วัสดุหลักเดียวกับสารอุดฟัน คือ คอมโพสิตเรซิน (Composite Resin) ใช้ร่วมกับสารยึดติด โดยการนำวัสดุอุดหรือเคลียบลงไปบริเวณที่ต้องการและทำให้แห้งด้วยแสงยูวี ข้อดีคือไม่จำเป็นต้องกรอผิวฟันออกมากนักเพราะวัสดุมีความสามารถยึดจับได้ง่ายกับผิวฟัน ในทางกลับกันข้อเสียคือการปฏิบัติงานต้องอาศัยเวลาอันยาวนานและความชำนาญของแพทย์เป็นอย่างมาก หากไม่สามารถสมานบริเวณรอยต่อได้ดีพออาจก่อให้เกิดปัญหากลิ่นปากจนไปถึงปัญหาเหงือกอักเสบตามมาได้
- วีเนียร์ภายนอก (Indirect Veneer) เป็นการผนวกเทคโนโลยี 3D CAD CAM เพื่อสร้างแบบพิมพ์จากการแสกนโครงสร้างจากช่องปากของเราโดยตรง โดยใช้วัสดุประเภท พอร์ซเลน (Porcelaian) ที่มีข้อดีคือมีความสวยงานและพื้นผิวที่คล้ายกับผิวฟันธรรมชาติเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถเลือกแบบพิมพ์และสีที่ต้องการได้ ข้อเสียเห็นจะเป็นการที่แพทย์จำเป็นต้องขูดชั้นผิวฟันออกไปมากกว่าแบบแรก เพื่อสร้างพื้นที่ให้สามารถรองรับกับแบบพิมพ์
การทำนีเวียร์แตกต่างจากการคลอบฟัน เนื่องจากนีเวียร์เป็นการเคลือบฟันแค่บริเวณพื้นผิวเท่านั้นและมีความสวยงามมากกว่า ส่วนการครอบฟันนั้นเป็นการคลอบฟันทั้งเล่มเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเสียหายบางประการ เช่น ฟันแตก ฟันบิ่น เป็นต้น
จัดฟัน (Orthodontics)
การจัดฟัน หรือ การดัดฟัน เป็นการรักษาอาการฟันที่มีรูปแบบและการเรียงตัวกันไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมต่อโครงสร้างกรามหรือใบหน้า เช่น การที่ฟันบนยื่นออกไปมากเกินความจำเป็นส่งผลให้ไม่สามารถสบกับฟันล่างได้ จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการขบเคี้ยวอาหารตามาได้ เป็นต้น นอกจากนี้การจัดฟันยังช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดียิ่งขึ้น สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่นอีกด้วย
การจัดฟันมีให้เลือกหลากหลายวิธีหลากหลายประเภทโดยจำแนกจากวัสดุที่ใช้ในการช่วยจัดและดัดฟันให้มีรูปทรงอันน่าพึงพอใจ ดังนี้
- การจัดฟันแบบโลหะ เป็นการใช้โลหะ (Bracket) เป็นเครื่องมือยึดติดกับฟันใช้ควบคู่กับยาง (Oring) รัดกับโลหะ เป็นตัวช่วยในการกำหนดทิศทางของฟันให้กลับเข้ารูปร่างที่เหมาะสม การจัดฟันแบบโลหะเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เหตุเพราะการจัดฟันแบบนี้มีค่าใช้จ่ายและราคาที่ค่อนข้างถูกว่าวิธีการอื่น ๆ สามารถจัดฟันได้ทุกกรณีการผิดปกติของการเรียงตัวฟัน และตัวยางยังสามารถเปลี่ยนสีได้จึงทำให้การจัดฟันไม่น่าเบื่อ อย่างไรก็ตามการจัดฟันแบบโลหะมีขนาดที่ใหญ่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน การจัดปรับเปลี่ยนทิศทางของฟันในแต่ละรอบอาจเกิดอาการเจ็บปวดที่รุนแรง อีกทั้งยังจำเป็นต้องเปลี่ยนยางอยู่เรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการพบแพทย์อยู่บ่อยครั้ง
- การจัดฟันแบบเซรามิก เป็นการจัดฟันที่คล้ายกับแบบโลหะหากเปลี่ยนจากโลหะเป็นเซรามิก ซึ่งข้อดีของเซรามิกคือมีสีที่คล้ายกับสีฟันในธรรมชาติจึงทำให้ไม่เป็นที่สังเกตมากนัก เหมาะสำหรับผู้จัดฟันที่ไม่ต้องการให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามการจัดฟันแบบเซรามิกมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแบบโลหะ มีความเปราะบางกว่าสามารถแตกหักได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังต้องการการเปลี่ยนยางเช่นกัน จึงจำเป็นต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- การจัดฟันแบบดามอน (Damon) เป็นการใช้เครื่องมือแพทย์พิเศษที่ไม่อาศัยยางรัดฟันในการช่วยควบคุมทิศทาง (Self-ligating Braces) ด้วยวิธีการนี้แพทย์สามารถควบคุมตำแหน่งการจัดฟันได้สะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น ลดความเจ็บปวด ใช้เวลาในการดัดฟันที่น้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์อยู่บ่อยครั้ง แต่การดัดฟันแบบดามอนมีข้อเสียคือ มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมาอีก และมีความเสี่ยงเรื่องของการเกิดหินปูนหากได้รับการทำความสะอาดที่ไม่เพียงพอ
- การจัดฟันแบบใส (Invisalign) เป็นการจัดฟันที่ไม่อาศัยเครื่องมือ ไม่มีรวด หรือยาง หากเป็นพลาสติกที่มีพื้นผิวเรียบและโปร่งใส สามารถถอดได้ตามต้องการ โดยอาศัยเทคโนโลยี 3D ในการแสกนโครงสร้างใบหน้า และวางแผนรูปแบบของพลาสติกให้เหมาะสมตามช่วงเวลาของผู้จัดฟัน ข้อดีคือสะดวกสบาย ประหยุดเวลา สักเกตได้ยาก ข้อเสียคือราคาที่สูงมาก
ฟันปลอม (Prosthodontics)
ฟันปลอม หรือ ฟันเทียม เป็นสิ่งประดิษฐ์ของทันตแพทย์ที่เข้ามาช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไป ช่วยในเรื่องของการรับประทานอาหาร การออกเสียง และการรองรับโครงหน้าอีกด้วย ฟันปลอมสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ฟันปลอชนิดถอดได้ และ ฟันปลอมชนิดติดแน่น
- ฟันปลอมชนิดถอดได้ เป็นฟันปลอมที่ต้องอาศัยโครงสร้างที่ยึดเกาะติดกับฟันในรูปแบบตะขอเกี่ยว เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันไปเป็นจวนมาก สามารถถอดออกได้ ทำความสะอาดได้ง่ายเนื่องจากสามารถนำออกมาทำความสะอาดภายนอกได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งราคายังสามารถจับต้องได้ แต่การใส่ฟันปลอมชนิดนี้อาจทำให้การเคี้ยวอาหารไม่สะดวกสบายนัก ฟันปลอมแบบถอดได้แบ่งตามวัสดุโครงสร้างหลัก ได้แก่
- ฟันปลอมโครงโลหะ มีความแข็กแรงทนทาน เหมาะสำหรับการใช้งานระยะยาว
- ฟันปลอมโครงพลาสติก ราคาถูกกว่า ความทนทานน้อยกว่า เหมาะสำหรับการใช้ชั่วคราวหรือระยะสั้น
อื่น ๆ
- ฟันปลอมชนิดติดแน่น หรือ ฟันปลอมถาวร เป็นฟันปลอมที่ไม่สามารถถอดออกได้โดยอาศัยการกรอฟันธรรมชาติและยึดติดวัสดุกับฟันธรรมชาติอีกที
- ฟันปลอมติดแน่นด้วยสะพานฟัน เป็นการสร้างชุดฟันปลอมชุดหนึ่งขึ้นมาโดยอาศัยฟันธรรมชาติเป็นตัวยึดติดไว้ทั้งสองข้าง และตรงกลางจะเป็นช่องว่างที่สามารถสวมสะพานฟันเข้าไปครอบแทนได้อย่างสมบูรณ์
- ฟันปลอมติดแน่นด้วยรากฟันเทียม เป็นการเจาะและฝังรากฟันเทียมไททาเนียมลงไปในกระดูกขากรรไกร จากนั้นนำเนื้อฟันเรซินมายึดติดและประกอบเข้ากับรากฟันเทียม วิธีนี้มีประสิทธิภาพเกือบเทียบเท่าฟันปกติเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามการทำฟันปลอมชนิดนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง
ฟอกสีฟัน (Teeth Whitening)
การมีฟันที่ขาวสะอาดไม่ใครก็ต้องการมันเป็นอย่างแน่นอน สีของฟันที่ขาวสว่างนั้นช่วยทำให้มนุษย์เรามีบุคลิคภาพที่ดีขึ้น น่ามอง น่าค้นหาเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบัน เรื่องการบริโภคอาหารเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ฟันของเรามีสีที่ไม่น่าพึงประสงค์ได้ เช่น การเกิดคราบน้ำตาลจากการดื่มชาและกาแฟ เป็นต้น ดังนั้นการฟอกสีฟันจึงเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ การฟอกสีฟันคือการนำผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันมาผ่านกระบวนการฟอกสีฟันให้เกิดความขาวหรือเกิดสีที่สว่างมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันการฟอกสีฟันสามารถทำได้ ดังนี้
การฟอกสีฟันที่บ้าน (Home Bleaching) เป็นการฟอกสีฟันด้วยตัวเอง สามารถดำเนินการจัดหาน้ำยาฟอกสีฟันหรือชุดฟอกสีฟันได้ทั่วไป มีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีความขาวทนนานได้ประมาณ 3 ปี ราคาก็ไม่แพงมากนัก ข้อเสียคือวิธีการฟอกสีจำเป็นต้องทำเอง และต้องทำในทุก ๆ 3-4 สัปดาห์ เนื่องจากความเข้มข้นของน้ำยาฟอกสีไม่ได้มีมากเท่ากับการฟอกสีฟันที่คลินิก และข้อควรระวังคือหากฟอกฟันไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกับเหงือก
การฟอกสีฟันด้วยแสงเย็น (Cool Light) โดยทันตแพททย์จะทำการทาเจลฟอกสีฟันเฉพาะลงไปบนพื้นผิวฟัน จากนั้นใช้ไฟ LED หรือแสงเย็นทำให้น้ำยาเริ่มทำปฏิกิริยาการฟอกสีของฟันขึ้น การฟอกสีฟันโดยใช้แสงเย็นนั้นสามารถเห็นความแตกต่างได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ารับบริการ และยังไม่เจ็บตัวอีกด้วย ข้อเสียคือ อาจเกิดอาการเสียวฟันหากน้ำยาฟอกสีฟันมีความเข้มข้นเกินไปจึงต้องอาศัยการควบคุมปริมาณจากทันตแพทย์ หากไม่ได้รับชุดเจลฟอกสีฟันกลับมาทำที่บ้านต่อ สีของฟันอาจอยู่ได้เพียง 6-12 เดือนเท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการบริการค่อนข้างสูง
รากเทียม (Dental implant)
รากเทียม คือ สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างมาทดแทนรากฟันตามธรรมชาติที่มีการสึกกร่อนหรือหมดอายุไขตามธรรมชาติของฟันไป รากฟันเทียมผลิตมาจากไทนทาเนียม (Titanium) โดยการช่วยเหลือของทัตแพทย์ในการเจาะยึดรากฟันเทียมเข้ากับกระดูกกราม ส่วนประกอบของรากฟันเทียมมี 3 ส่วนหลัก ๆ คือ รากเทียม (Detal Impant) เดือยรองรับฟัน (Abutment) และ คลอบฟัน (Replacement Crown)
ประเภทของรากฟันเทียมสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่
- Convention Implant เป็นการฝังรากเทียมโดยวิธีทั่วไป ได้รับการวางแผนการรักษากับแพทย์อย่างเป็นขั้นตอน โดยการเริ่มการเอ็กซ์เรย์ CT Scan เพื่อกำหนดจุดที่เหมาะสมที่สุดในการวางรากฟัน จากนั้นทำการผ่าตัดเจาะและวางรากฟันเทียมลงไปยังจุดเป้าหมาย ใช้ระยะเวลาให้กระดูกขากรรไกรสมานเข้ากับรากเทียมได้สนิทประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำฟันเทียมหรือครอบฟันติดตั้งเข้ากับรากฟันเทียมต่อไป ใช่เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์เช่นกัน เนื่องจากวิธีนี้ได้รับการวางแผนเป็นขั้นตอนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงต่าง ๆ จึงลดน้อยลงไปด้วยเช่น ข้อเสียคือ ใช้เวลาและขั้นตอนค่อนข้างมาก และค่าใช้จ่ายที่สูงตามมา
- Immediate Implant คือการฝังรากเทียมทันทีแทนที่รากฟันเก่าที่เพิ่งได้รับการถอนออกในขณะนั้น สามารถรักษาเนื้อกระดูฟันไว้ได้มาก หากแต่มีข้อจำกัดในเรื่องเส้นประสาทสำคัญ และเนื้อกระดูกที่เพียงพอกับการรองรับรากฟันชุดใหม่เพื่อการยึดติดที่มีประสิทธิภาพ
- Immediate Loaded Implant เป็นการฝังรากฟันเทียมร่วมกับการคลอบฟันในเวลาเดียวกัน สามารถทำได้ภายในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาเป็นอย่างมาก และยังมีความสวยงามเนืองจากจะมีตัวเนื้อฟันหรือครอบฟันติดกับรากฟันตลอดเวลา อย่างไรก็ตามการใช้วิธีการนี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของทัตแพทย์เป็นอย่างมาก อีกทั้งต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ตัดสินใจในการทำในแต่ละเคส
การทำรากฟันเทียมไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีไหนจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาจากทันตแพทย์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีความเกี่ยวพันธ์กับเส้นประสาทและกระดูกขากรรไกรโดยตรงจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ได้
โรคเหงือก (Periodontics)
ทันตกรรมนอกจากรักษาฟันแล้ว “เหงือก” เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของใครหลายท่านที่ไม่ควรมองข้าม โรคเหงือกคืออาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทั่วบริเวณเหงือก โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับการระคายเคือง และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ จนทำให้เหงือกของเราเกิดอาการเหงือกบวมหรืออักเสบตามมา ท้ายที่สุดฟันก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
โรคเหงือกต่าง ๆ สามารถแบ่งแยกได้ตามอาการของเหงือกที่ได้รับผลกระทบความเจ็บปวด ดังนี้
- เหงือกบวม และ เหงือกอักเสบ เป็นอาการที่เหงือกของเรามีอาการบวมผิดปกปกติ มีสีแดงจนถึงม่วง มีเลือดออกขณะแปลงฟันอยู่บ่อยครั้ง ในระยะที่รุนแรงอาจเกิดอาการมีหนองที่ตามมาอีกด้วย สาเหตุหลักของอาการบวมและอักเสบเกิดจากเชื้อจุรินทรีย์ที่สะสมกันจากการรับประทานอาหาร โดยเชื้อจุรินทรีย์จะสะสมกันและเกิดการจับเกาะเป็นแผ่น ๆ หรือที่รู้จักกันในคราบพลัค การมีคราบพลัคที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียและส่งผลกระทบถึงการอาการอักเสบและบวมตามมา อาการบวมและอักเสบอาจะเกิดได้จากการระคายเคืองจากปัจจัยภายนอก เช่น การแปลงฟันที่รุนแรง หรือการแปลงฟันที่ไม่ถูกวิธี จนทำให้ได้รับแผลภายนอก อาการเหล่านี้หากไม่หายและปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจก่อให้เป็นอาการเรื้อรังได้
- เหงือกร่น เป็นอาการการหดตัวของเหงือกเข้ามาหาเนื้อฟัน อาการนี้เป็นอาการที่เรื้อรังและไม่สามารถรักษาได้หายขาด หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เพียงพอจะทำให้เหงือกร่นลงไปจนเผยเนื้อฟันออกมามากเกินที่ควร และทำให้เชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ สามารถเข้ามาทำอัตรายกับเนื้อฟันจนและรากฟันของเราได้ในที่สุด และทำให้เกิดอาการบวมแดงและอักเสบตามมาได้ อย่างไรก็ตามการรักษาสามารถไปพบทันแพทย์เพื้อย่นระยะเวลาการร่นของเหงือก และลดความเสี่ยงในอาการแทรงซ้อนของโรคทางเหงือกอื่น ๆ
- โรคปริทันต์ หรือ โรครำมะนาด เป็นอาการอักเสบของเหงือกที่เรื้อรัง สามารถสังเกตอาการได้จากการมีเลือดออกขณะแปลงฟันเป็นเวลานาน ๆ โดยโรคนี้เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุ สาเหตุของโรคปริทันต์คือการสะสมของหินปูนที่มากเกินไปทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย จึงทำให้ร่างการเกิดการป้องกันตัวเองและต่อสู้กับแบคทีเรียจนเกิดเป็นการอักเสบเรื้อรังในที่สุด การป้องกันสามารถทำได้โดยการไปขูดหินปูนกัยทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ 6-12 เดือน
ศัลยกรรมตกแต่งเหงือก (Gummy Smile)
“รอยยิ้ม” ที่น่ามองเป็นบุคลิคภาพที่น่าหลงไหลและมีสเนห์ การมีรอยยิ้มที่สวยงามประกอบไปด้วยการเรียงตัวของฟันและความพอดีของเหงือกที่มีความลงตัวกัน ในบางท่านอาจจะกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับรอบยิ้มที่มีเหงือกมากเกินไป หรือภาวะเหงือกยื่น (Gummy smile) หรือการมีฟันที่สั้น (Short teeth) ทำให้ไม่กล้ายิ้ม และขาดความมั้นใจในตัวเองไป ดังนั้นการศัลกรรมตกแต่งเหงือกจะเข้ามามีบทบาทในการเติมเต็มรอยยิ้มของคุณได้
ภาพโดย Josef Pichler จาก Pixabay
การรักษาความผิดปกตของเหงือกที่มากเกินไปสามารถรักษาได้โดยการตัดขอบเหงือกส่วนที่เกินออก ทำให้สามารถเผยให้เห็นเนื้อฟันที่มากขึ้นได้ โดยการตัดขอบสามารถรักษาได้ 2 วิธี ดังนี้
- การตัดขอบเหงือกด้วยมีด เป็นวิธีพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับมานานแล้ว วิธีการรักษาคือใช้มีดตัดขอบเหงือกส่วนเกิน เผยเนื้อฟันให้มากขึ้น และเย็บรอยเปิดของเหงือกเพื่อปิดแผลให้สนิท หลังจากนั้นทันตแพทจะนัดให้ผู้ป่วยกลับมาตัดไหมออก และสังเกตอาการต่อไป ข้อดีของวิธีการนี้คือเป็นวิธีที่เรียบง่าย และราคาถูกกว่าแบบการตัดด้วยเลเซอร์ ข้อเสียคือ หลังจากที่ได้รับการศัลกรรมไปหากไม่ทานยาและรักษาความสะอาดอย่างถูกวิธีอาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อและทำให้เหงือกอักเสบได้ภายหลัง อีกทั้งการทำวิธีนี้จะเสียเลือดเป็นจำนวนมากและต้องฉีดยาชาเป็นจำนวนมาก ผู้ที่แพ้ยาชาต้องปรึกษากับทันตแทพย์อย่างใกล้ชิด
- การตัดขอบเหงือกด้วยเลเซอร์ เป็นการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยในการรักษา โดยการตัดขอบเหงือกชนิดนี้เปลี่ยนจากการใช้มีดเป็นใช้เลเซอร์แทน ข้อดีคือ การตัดแบบเลเซอร์นั้นกินเวลาในการศัลยกรรมที่ไม่มากเท่าการตัดขอบเหงือกด้วยมีด การตัดขอบเหงือกด้วยเลเซอร์สามารถห้ามการไหลของเลือดได้ในตัวจึงทำให้อัตราการเสียเลือดมีน้อยมาก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดศัลยกรรมก็สามารถฟื้นฟูได้เร็วกว่า ข้อเสียคือมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า
การผ่าตัดขอบเหงือกไม่ว่าจะวิธีไหนหากละเลยการทำความสะอาดช่องปาก และทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำอาจส่งผลร้ายแรงไปถึงโรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม เหงือกร่น และโรคปริทันต์ได้ในที่สุด ทั้งนี้ก่อนการผ่าตัดควรปรักษาทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด
ภาพโดย yong zhang จาก Pixabay
ทันตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่องปากเป็นอวัยวะที่เราใช้งานในทุก ๆ วันและใช้งานแตกต่างหน้าที่กันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพเหงือกและฟันที่แข็งแรงสามารถใช้บริโภคอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยโดยไม่มีปัญหาใด ๆ หรือการใช้ชีวิตด้วยความมั่นใจในช่องปากที่ปราศจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ การมีฟันที่ขาวสว่างและเรียงตัวกันสวยงาม การมีรอยยิ้มอันน่าหลงไหล สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของการมีชีวิตที่มีความสุขได้
เห็นความสำคัญของทันตกรรมขนาดนี้แล้ว ว่าง ๆ ก็อย่าลืมไปพบทันตแพทย์บ้างหล่ะ
Written by
Tan WN
อ้างอิงข้อมูล
โฆษณา