Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Deemmi Pets
•
ติดตาม
7 ต.ค. 2021 เวลา 04:07 • สัตว์เลี้ยง
พัฒนาการลูกสุนัขฉบับมือใหม่อ่านง่าย
อายุของสัตว์ในแต่ละช่วงวัยมีผลต่อการพัฒนาของอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ ไม่เท่ากัน จึงทำให้พฤติกรรมการแสดงออกบางอย่างของน้องแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ นอกจากนี้การเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของลูกสัตว์แต่ละตัว ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกต่าง ๆ ของสัตว์อีกด้วย
พัฒนาการของสุนัข
ในช่วงวัยเด็กพบว่าสุนัขจะมีพัฒนาการเหมือนกับหมาป่า(Wolf) แต่เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือช่วงการเป็นสัดจะเริ่มมีความแตกต่างกัน
สุนัขบ้าน (Domestic dogs) จะเริ่มเป็นสัดครั้งแรกที่ประมาณ 6-14 เดือนขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และพบการเป็นสัดปีละ 2 ครั้ง แต่ในหมาป่า (Wolf) เริ่มพบการเป็นสัดครั้งแรกที่ 22 เดือน และเป็นสัดเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
==========
มารู้จักกับวงจรชีวิตของเจ้าตูบกัน
1. พฤติกรรมช่วงแรกเกิด - 2 สัปดาห์ (Neonatal period)
- ลูกสุนัขจะใช้เวลาส่วนมากในการนอน มีการครางและดูดนมบ้างระหว่างวัน เริ่มมีการเหยียดขาเข้าออกได้ แต่ยังไม่สามารถลุกเดินไปมาได้อย่างสะดวก
- การคลานจะเป็นในลักษณะไปข้างหน้าอย่างเดียวเท่านั้น หูจะยังไม่ได้ยิน ตายังไม่เปิด
- การขับถ่ายจำเป็นต้องมีการกระตุ้นบริเวณฝีเย็บ
วิธีการตรวจสอบอายุน้องหมาแบบง่าย ๆ
สำหรับน้องหมาที่มีอายุน้อยกว่า 4-5 วัน เมื่อเราทำการดึงหนังบริเวณคอเพื่อยกตัวน้องขึ้น จะพบว่าลูกสุนัขจะแสดงอาการงอขาเข้าหาตัว
แต่ในทางตรงกันข้ามน้องหมาที่มีอายุมากกว่า 5 วันขึ้นไปแล้ว เมื่อดึงหนังบริเวณคอลูกสุนัขจะแสดงอาการเหยียดขาออกจากลำตัว และลักษณะเช่นนี้จะหายไปเมื่ออายุประมาณ 2 สัปดาห์
2. 2-3สัปดาห์ (Transitional period)
- ระยะนี้ลูกสุนัขสามารถเริ่มกินอาหารเหลวที่ไม่ใช่นมได้แล้ว แต่อาหารที่ให้ยังคงต้องเน้นความอ่อนนุ่ม เนื่องจากฟันของน้องยังพัฒนาไม่มาก
- ตาและหูของลูกสุนัขในระยะนี้เริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น ตาเริ่มเปิดได้แต่การมองเห็นยังไม่ชัดเจน หูก็เช่นกันยังได้ยินไม่ชัดเจน
- สุนัขอาจจะเริ่มเดินได้ในระยะนี้บ้างแต่เป็นเพียงลักษณะของการคลาน และจะเป็นการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าและถอยหลังเป็นส่วนใหญ่
- การขับถ่ายไม่จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นแล้ว เราสามารถพาน้องออกไปฝึกขับถ่ายนอกกรงหรือลังเพื่อให้เกิดความคุ้นชินได้
- ลูกสุนัขในช่วงวัยนี้สามารถเล่นต่อสู้หรือทำเสียงขู่ได้
3. 3-12 สัปดาห์ (Socialization period)
- พัฒนาการในช่วงนี้จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และการเลี้ยงดู แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ น้องหมาจะเริ่มแยกตัวจากแม่ มีความซุกซนและอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
- ในช่วงที่อายุน้อยกว่า 5 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะให้ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวโดยปราศจากความกลัวซึ่งเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงต้องเฝ้าดูและระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
- แต่เมื่อลูกสุนัขอายุมากขึ้น (มากกว่า5สัปดาห์) ความซุกซนความอยากรู้อยากเห็นจะลดลงและเรียนรู้ที่จะกลัวในสิ่งต่าง ๆ
- การเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงวัยนี้ จะส่งผลไปถึงพฤติกรรมที่จะแสดงออกในอนาคตได้ ดังนั้นเจ้าของจึงควรให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมรอบตัวน้อง รวมถึงวิธีการดูแลเพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับตัวน้องหมา การเล่นกับทั้งคนหรือสุนัขด้วยกันในช่วงนี้จะเป็นการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้แก่ลูกสุนัข
*** สำหรับคนที่รอคอยการรับสมาชิกใหม่เข้าบ้าน อายุของน้องหมาวัยนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการย้ายที่อยู่ เปลี่ยนเจ้าของ หรือเหมาะจะซื้อมาเลี้ยง
4. 12 สัปดาห์ถึงวัยเจริญพันธุ์ (Juvenile period)
- การแสดงออกต่าง ๆ ในช่วงนี้จะคล้ายกับระยะก่อนหน้า (Socialization period) คือเป็นการฝึกเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น น้องหมาจะเริ่มเดินหรือวิ่งบ่อยขึ้น เน้นฝึกพัฒนาการของร่างกายให้เต็มที่นั่นเอง
- สำหรับสุนัขเพศผู้จะเริ่มมีการยกขาปัสสาวะ เริ่มมีการเที่ยวออกไปไกลจากบริเวณที่อาศัย มีความสนใจต่อเพศตรงข้าม
- ความสามารถในการเรียนรู้จะเกิดขึ้นสมบูรณ์ในช่วงต้นของระยะนี้ และการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะเริ่มเกิดขึ้นในสุนัขบางตัวเมื่ออายุได้ 6 เดือน ซึ่งอาจช้าหรือเร็วกว่านี้ในบางสายพันธุ์
5. 6-14 เดือน – 6 ปี (Adult)
- เป็นวัยที่สัตว์มีร่างกายและพัฒนาการพร้อมสมบูรณ์ที่สุด สามารถผสมพันธุ์ได้จริง และเป็นช่วงอายุที่พบปัญหาทางพฤติกรรมเด่นชัดมากที่สุดเช่นกัน โดยปัญหาที่แสดงออกมานั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ผิดมาตั้งแต่ช่วงของ Socialization period (3-12 สัปดาห์)
- การฝึกน้องให้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างสามารถกระทำได้ตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของระยะนี้
- สุนัขในช่วงวัยหลังจากนี้จะมีความซุกซนน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น
6. 6 ปีขึ้นไป (Senior)
- บางตำราจัดรวมอยู่ในช่วง Adult ของพัฒนาการสุนัข เพราะเป็นช่วงที่สุนัขเริ่มเข้าสู่การเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ เริ่มมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น ต้องการการดูแลเอาใจใส่ และเป็นไปได้ควรมีการตรวจเช็คร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ปัญหาที่พบในเรื่องของพฤติกรรมสำหรับช่วงวัยนี้คือ มีอาการหลงลืม (การลืมเจ้าของ) การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลง เกิดพฤติกรรมการทำซ้ำเกิดขึ้น เช่น การเดินไปในทางเดิมและเวลาเดิมทุกวันโดยไม่ได้มีเป้าหมายจะทำอะไร
การเรียนรู้ธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัยของสัตว์ จะช่วยให้เจ้าของเข้าใจในพฤติกรรมที่แสดงออกของน้องหมาได้ดีขึ้น รวมถึงเข้าใจในความความต้องการบางอย่างที่น้องแสดงออกมา หมอหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับเจ้าของมือใหม่ ได้เข้าใจพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงมากขึ้นนะครับ
น.สพ.มนต์ชัย เล็กเจริญวงศ์
============
👉 Deemmi
ที่ปรึกษาออนไลน์เพื่อคนเลี้ยงสัตว์ (Televetmed)
ให้คำแนะนำโดยคุณหมอจากโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศ
👉 พบกับเราเร็ว ๆ นี้ผ่านช่องทาง
Website:
www.deemmi.com
Line: @deemmi
FB: Deemmi
1 บันทึก
1
2
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย