8 ต.ค. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
หลายคนโดยเฉพาะสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน่าจะรู้จักเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขยะและการรีไซเคิล
.
วันนี้ Career Fact จะพาทุกท่านคุยเรื่องขยะ อาชีพรับซื้อของเก่าและผลกระทบของการนำเข้าขยะพลาสติกต่อประเทศไทย กับ ‘คุณเปรม พฤกษ์ทยานนท์’ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไปผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ Green2Get และทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงอัดขยะที่เชียงใหม่
.
.
#ชีวิตวัยเด็ก
.
ครอบครัวของคุณเปรมทำธุรกิจรับซื้อของเก่าทำให้คุณเปรมคุ้นเคยกับขยะและการรีไซเคิลมาตั้งแต่เด็ก เพราะนอกจากสนามเด็กเล่นของเขาจะเป็นกองกระดาษกับกองพลาสติกแล้ว เขายังต้องช่วยงานที่ร้านเป็นประจำอีกด้วย ‘
.
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คุณเปรมพบว่าตัวเองไม่อยากสานต่อธุรกิจของครอบครัว เพราะการทำงานที่ร้านรับซื้อของเก่าค่อนข้างสกปรกและเต็มไปด้วยฝุ่นซึ่งไม่เหมาะกับเขาที่เป็นโรคภูมิแพ้ สุดท้ายเขาจึงเลือกเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อจะได้จบไปทำงานอย่างอื่น
.
.
#ชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
.
หลังจากจบการศึกษา คุณเปรมได้เข้าทำงานเป็น Quality Assurance Engineer ที่บริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และระหว่างนั้นเขาก็เรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควบคู่ไปด้วย เมื่อเรียนจบเขาตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับไปรับช่วงต่อกิจการรับซื้อของเก่าของที่บ้าน เพราะเขาอยากกลับไปช่วยครอบครัวที่ต้องทำงานหนักโดยไม่มีวันหยุด
.
ในตอนแรกที่คุณเปรมกลับมาช่วยที่บ้าน เขาพยายามอย่างหนักเพื่อจัดระเบียบระบบธุรกิจและระบบบัญชีใหม่ แต่ด้วยความที่เป็นระบบกงสีทำให้เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วได้เพราะเขามีฐานะไม่ต่างจากลูกจ้างเท่านั้น คุณเปรมจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนมาพัฒนาในสิ่งที่ธุรกิจยังไม่มี เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ในการชั่งน้ำหนักและจัดเก็บข้อมูล
.
หน้าที่หลักของคุณเปรมคือชั่งน้ำหนักขยะที่คนนำมาขาย คำนวณราคา ตรวจบิล และจ่ายเงิน นอกจากนี้เขายังต้องดูแลโรงอัดเหล็ก กระดาษ และเศษแก้วของที่บ้านอีกด้วย คุณเปรมทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ส่วนในเวลาว่างเขาก็มักจะเขียนคอนเทนต์ลงบนเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
.
.
#ความคิดที่เริ่มเปลี่ยนไปของคุณเปรม
.
แม้ตอนแรกคุณเปรมจะไม่ค่อยชอบอาชีพรับซื้อของเก่า แต่หลังจากที่เขาศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจนี้ เขาก็รู้สึกหลงรักอาชีพนี้หลังจากพบว่าธุรกิจรับซื้อของเก่ามีข้อดีมากมาย นอกจากมันจะช่วยโลกลดขยะให้สิ่งแวดล้อมแล้ว ทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ยังได้รับประโยชน์อีกด้วย เช่น คนทั่วไปได้เงินจากการนำขยะที่แยกไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า ร้านรับซื้อของเก่าได้รับส่วนต่างจากการขายขยะให้โรงงานรีไซเคิล ส่วนโรงงานรีไซเคิลก็ใช้ขยะผลิตวัตถุดิบที่โรงงานต่างๆ มาใช้ผลิตสินค้าของตัวเองเพื่อลดต้นทุนได้ด้วย
.
.
#จุดเริ่มต้นของลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
.
แรงผลักดันในการสร้างเพจของคุณเปรมคือความต้องการอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ตอนแรกเขาอยากเปลี่ยนโรงงานรับซื้อของเก่าของที่บ้านให้สะดวกสบายมากขึ้น เช่น เพิ่มระบบ Drive-thru แต่เขาไม่สามารถทำได้เพราะพอเป็นธุรกิจครอบครัว เขาก็ไม่มีอำนาจในการบริหาร หลังจากนั้นเขาลองทำสตาร์ทอัพแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
.
สุดท้ายคุณเปรมตัดสินใจเปิดเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ ใน Facebook เพื่อให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยหวังว่าจะช่วยจุดประกายให้คนรักโลกมากขึ้น ซึ่งผลตอบรับก็ดีเกินคาด มีคนมากมายอินบอกซ์มาหาเขาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับวิธีแยกขยะแต่ละประเภทให้ถูกต้อง ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจกว่า 169,000 คน
.
.
#เสียงเล็กๆจากคนทำอาชีพรับซื้อของเก่า
.
สำหรับคุณเปรมอาชีพรับซื้อของเก่าไม่ควรถูกคนในสังคมมองข้าม และควรได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องรวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้นด้วย เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและให้โอกาสคนที่ไม่เหลืออะไรสามารถหาเงินเลี้ยงปากท้องได้แล้ว ยังช่วยเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดยอาชีพรับซื้อของเก่าสร้างรายได้ให้ GDP ของไทย ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท
.
คุณเปรมยกตัวอย่างว่าถ้าประเทศไทยไม่มีอาชีพซาเล้ง รัฐบาลจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทเพื่อฝังกลบขยะที่ควรได้รับการรีไซเคิล
.
.
#ผลกระทบของการนำเข้าขยะพลาสติก
.
โดยปกติกระบวนการรับซื้อของเก่ามีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่คนเก็บขยะและซาเล้งนำขยะมาขายที่ร้านรับซื้อของเก่า ร้านรับซื้อของเก่านั้นก็จะรวบรวมขยะทั้งหมดไปขายให้โรงอัดประเภทต่างๆ หลังจากนั้นโรงอัดก็จะนำขยะที่อัดแล้วไปขายให้กับนายหน้าหรือโรงงานรีไซเคิล
.
แต่การนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศจะส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานข้างต้นทั้งหมดซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 100,000 คน เพราะโรงงานรีไซเคิลสามารถซื้อขยะพลาสติกจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าโดยไม่ผ่านร้านรับซื้อของเก่าในไทย ดังนั้นคนที่มีอาชีพเก็บขยะหรือรับซื้อของเก่าจึงขาดรายได้
.
นอกจากนี้ การนำเข้าขยะพลาสติกยังทำให้ประเทศไทยมีขยะและมลพิษเพิ่มขึ้น รวมถึงสูญเสียทรัพยากรให้กับโรงงานรีไซเคิลต่างชาติที่ย้ายฐานมาผลิตที่ไทย เพราะที่นี่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าขยะอีกด้วย
.
.
#แพลนในอนาคตของคุณเปรม
.
ปัจจุบันคุณเปรมกำลังพัฒนาแอปฯ Green2Get ที่ทำให้ให้คนสามารถกำจัดขยะได้ง่ายขึ้น ให้เป็น Circular Economy Platform ที่ช่วยให้ทุกคนตั้งแต่ผู้บริโภคไปจนถึงโรงงานรีไซเคิล สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และมีส่วนร่วมในการลดขยะ
.
ส่วนในด้านธุรกิจรับซื้อของเก่า เขาก็มีแผนที่จะรับซื้อประเภทขยะมากขึ้น เพื่อให้ร้านรับซื้อของเก่าเล็กๆ สามารถซื้อประเภทขยะที่คนแยกมาขายได้มากขึ้น
.
.
#คำแนะนำของคุณเปรม
.
หลายคนอาจจะมีความเชื่อที่ผิดว่าเราไม่จำเป็นต้องแยกขยะ เพราะสุดท้ายคนเก็บขยะก็นำทุกอย่างไปรวมกันอยู่ดี แต่การแยกขยะสำคัญมาก เพราะช่วยให้คนเก็บขยะสามารถแยกประเภทขยะบนรถได้ง่ายขึ้น
.
การแยกขยะอาจจะดูเป็นเรื่องยาก แต่คุณเปรมก็อยากให้ทุกคนลองเปิดใจทำดู โดยเริ่มจากขยะที่เราสามารถแยกได้ง่าย เช่น ขวดน้ำพลาสติกหรือกระดาษ เราไม่จำเป็นต้องแยกทุกประเภท หรือทำ Zero Waste ในคราวเดียว เพราะประเทศไทยยังไม่มีระบบรองรับที่ดีขนาดนั้น และไม่ใช่ขยะทุกประเภทจะสามารถขายที่ร้านรับซื้อของเก่าได้
.
สุดท้ายนี้ คุณเปรมอยากฝากว่าถ้าเรามีทั้ง ‘ความอดทน’ และ ‘ความสามารถ’ เราจะสามารถประสบความสำเร็จได้มากขึ้น เพราะบางอย่างต้องใช้เวลาถึงจะสำเร็จ
.
#careerfact #cariber
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
ติดตาม Career Fact ทุกช่องทางได้ที่ https://linktr.ee/careerfact
โฆษณา