9 ต.ค. 2021 เวลา 01:58 • ประวัติศาสตร์
๙ ตุลาคม วันไปรษณีย์โลก
ตราไปรษณีย์อากาศชุดแรกของไทยอายุร่วมศตวรรษ
“ไปรษณีย์” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พัฒนาขยายขอบเขตการบริการให้ครอบคลุมอย่างกว้างขวางอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปิดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจนครบ ๑๘ มณฑลทั่วประเทศ การใช้รถยนต์ขนส่งไปรษณียภัณฑ์ และการเปิดเส้นทางขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศในประเทศเป็นครั้งแรก
การทดลองขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยขนส่งไปรษณียภัณฑ์จากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ สู่สนามบินเนินพลอยแหวน จังหวัดจันทบุรี
ซองอากาศไปรษณีย์เที่ยวบินแรกของประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๖๒
ครั้งนั้น กรมอากาศยานทหารบก จัดเครื่องบินแบบสปัด จำนวน ๒ เครื่อง ซึ่งรัฐบาลสยามสั่งซื้อมาจากรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อคราวเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีนายร้อยเอก ชิต รวดเร็ว และจ่านายสิบโทน บินดี เป็นนักบิน ทำการบินทดลองนำส่งไปรษณีย์ทางอากาศ โดยนำถุงไปรษณีย์เดินทางถึงสนามบินเนินพลอยแหวนได้อย่างเรียบร้อย เส้นทางการบินผ่านอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และเข้าสู่สนามบินเนินพลอยแหวน จังหวัดจันทบุรี รวมระยะทาง ๑๘๕ ไมล์ทะเล หรือประมาณ ๓๓๐ กิโลเมตร ความสำเร็จของการทดลองนำส่งไปรษณีย์ทางอากาศครั้งแรก เป็นจุดเริ่มต้นของ “อากาศไปรษณีย์” ที่ทำการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศในระยะต่อมา โดยกรมไปรษณีย์โทรเลขและกรมอากาศยานได้ร่วมกันจัดทำเส้นทางขนส่งไปรษณียภัณฑ์ได้ครอบคลุมทุกเส้นทางคมนาคม
ซองอากาศไปรษณีย์พร้อมตราประทับรูปเครื่องบิน
ทำให้การขนส่งไปรษณียภัณฑ์เกิดความสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศยิ่งขึ้น
ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๖๗ กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ออกดวงตราไปรษณียากรชุด “อากาศไปรษณีย์ชุดแรก” (Airmail 1st Issue) ขึ้น แรกจำหน่ายเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ดวงตราไปรษณียากรชุดนี้เป็นรูปครุฑเหินบนนภากาศ พิมพ์ที่บริษัท วอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ ประเทศอังกฤษ มีชนิดราคา ๒ ๓ ๕ ๑๐ ๑๕ ๒๕ ๕๐ สตางค์ และ ๑ บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกิจการอากาศไปรษณีย์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ในเวลานั้นกิจการอากาศไปรษณีย์ได้เจริญก้าวหน้าและขยายเส้นทางขนส่งไปรษณียภัณฑ์ไปยังหัวเมืองใหญ่ทุกภูมิภาคของประเทศ
ดวงตราไปรษณียากรชุด “อากาศไปรษณีย์ชุดแรก”
​จุดเริ่มต้นของการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศในประเทศครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นรากฐานสำคัญที่เกื้อกูลก่อเกิดประโยชน์ด้านการสื่อสารของชาติให้ก้าวไกลสู่มาตรฐานสากลต่อมายาวนานนับศตวรรษ
โฆษณา