10 ต.ค. 2021 เวลา 01:11 • หนังสือ
#สรุปหนังสือ 𝐂𝐨𝐧𝐬𝐜𝐢𝐨𝐮𝐬 : จิตรู้สำนึก
3
เป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่ผมอ่านแล้วปวดหัว (ปวดจริงๆ) จนต้องกินยาแก้ปวดช่วยเลย มันคือหนังสือที่ “เบามือ” แต่ “หนักหัว” เอามากๆ เพราะส่วนใหญ่คำบรรยายมีความนามธรรมและจินตนาการยาก ถ้าไม่ใช่เพราะความใคร่รู้จริงๆผมคงเก็บเข้ากรุไปเรียบร้อย
วันนี้ใช้คำว่าบทสรุปอาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่ ขออนุญาตใช้คำว่ามาปะติดปะต่อเรื่องเป็นเกร็ดความรู้น่าจะเข้าท่ากว่า หลังจากอ่านไป 2-3 รอบ ก็เข้าใจได้ว่าแม้ว่าเล่มนี้จะมีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก แต่ก็ได้มอบมุมมองที่แปลกใหม่ น่าพิศวงและปลุกไฟแห่งความใคร่รู้ได้อย่างดี
ขอแจ้งก่อนว่าเนื้อหาที่สรุปบางส่วนเป็นความเข้าใจส่วนตัว ถ้ามีประเด็นใดที่คลาดเคลื่อนต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยนะครับ
1. ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการตั้งคำถามสุดลี้ลับที่ว่า “ถ้าทุกสรรพสิ่งล้วนกำเนิดมาจากสสารพื้นฐานอันไร้ชีวิต ความรู้สึกนั้นเริ่มอุบัติขึ้นมาในสิ่งมีชีวิตได้อย่างไร ?” สสารในจักรวาลหมุนวนและเดินทางมาหลายพันล้านปี ใช้เวลาเนิ่นนานในการเรียงตัวมันจนประกอบร่างมาเป็นเราที่นั่งอ่านหนังสืออยู่นี้ เริ่มแสดงการตื่นรู้ขึ้นมาตอนไหนและได้อย่างไร ?
2. ก่อนอื่นต้องเริ่มจากนิยามความหมายแต่ละคำก่อน ไม่งั้นจะนึกภาพไม่ออก คำนิยามเป็นความเข้าใจส่วนตัว เพราะหนังสือจะไม่มีนิยามให้และโดยรวมใช้คำซ้อนทับกันทำให้เห็นภาพค่อนข้างยาก
 
คำว่า “จิตรู้สำนึก” ให้นึกภาพว่ามันคือความรู้สึก ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร นั่นแหละเรามีจิตสำนึกรู้อยู่ มันจะไม่เกี่ยวกับความทรงจำ แค่ “รู้สึก” เฉยๆ หรือใช้คำว่า “รับรู้” เฉยๆ
คำว่า “ประสบการณ์” คำนี้คือสิ่งที่เราจำได้ เคยเจอมาก่อน เป็นภาคส่วนของความทรงจำ รวมถึงคำว่าสัญชาตญาณก็เข้าข่ายเป็นหนึ่งในประสบการณ์อีกด้วย เพราะมันคือการตอบสนองต่อประสบการณ์อย่างรวดเร็ว
1
คำว่า “เจตจำนง” คือความสามารถที่เราเลือกที่จะตอบสนอง เช่น อยากลุกหรือนั่ง วิ่งหนีหรือต่อสู้ หรือพูดง่ายๆมันคือเจตนาของเรานั่นเอง
คำว่า “รู้ตัว” คำนี้มีความหมายซ้อนเหลื่อมกับจิตสำนึกรู้ แต่จริงๆแล้วต่างกัน คำว่ารู้ตัวนั้นให้ความรู้สึกว่านี่คือตัวเรา เป็นของๆเรา เราอาจ “รู้สึก” แต่ไม่จำเป็นต้อง “รู้ตัว” ก็ได้ ลองนึกถึงภาพเราเป็น อัลไซเมอร์ ระดับรุนแรงที่จำตัวเองไม่ได้ความทรงจำเสื่อมแบบถาวร เราอาจจำไม่ได้ว่าเราคือใคร แต่เราก็มีความ “รู้สึก” อยู่เสมอ
การรับรู้(รู้สึก) ความทรงจำ และเจตจำนง สามคำนี้เมื่อกระบวนการเกิดขึ้นอย่างไร้รอยต่อมันทำให้ตระหนักได้ว่า นี่คือตัวเรา เพราะเรารู้สึก เราจำได้ และเราก็เลือกตอบสนองได้ด้วย มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคิดว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา
1
3. สิ่งใดก็ตามที่มี “จิตรู้สำนึก” สิ่งนั้นต้องอธิบายได้ว่า การเป็นสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นอย่างไร ถ้าถามว่าการเป็นค้างคาวนั้นเป็นอย่างไร เราอาจจะพอจินตนาการ และอาจตอบได้ว่าค้างคาวมีจิตรู้สำนึก หรือถ้าถามว่า โต๊ะ เก้าอี้ ก้อนหินล่ะ เราอาจตอบได้ทันทีว่า เหล่านี้ไม่มีจิตรู้สำนึกเพราะมันไม่มีความรู้สึก แต่ถ้าเราถามว่า แบคทีเรีย หนอน มด ต้นไม้หรือปัญญาประดิษฐ์ล่ะ เราจะเริ่มตอบยาก นั่นก็เพราะเรานึกถึงความรู้สึกของการเป็นสิ่งเหล่านั้นไม่ออก #แต่การที่เรานึกถึงความรู้สึกไม่ออก ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีจิตรู้สำนึก
3
4. จิตรู้สำนึกอาจไม่ได้อยู่ภายในสมองอย่างเดียวก็ได้ ต้นไม้ ก้อนหิน ดินสอ ก็อาจมีจิตรู้สำนึกเช่นกัน นั่นเพราะ “จิตรู้สำนึกไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมออกมาเสมอไป” ยกตัวอย่างผู้ป่วยที่ “ตื่นหลังได้รับยาสลบ” กรณีนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวแล้ว แต่ขยับตัวเองไม่ได้ (คล้ายผีอำ) ท่ามกลางฝันร้ายที่เค้ารู้ตัวเสมอเมื่อคุณหมอกำลังผ่าตัด กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าเรามีจิตรู้สำนึกโดยไม่ต้องแสดงออกของพฤติกรรมได้ คำถามคือ จะเป็นไปได้ไหม ถ้าก้อนหินที่เราเขวี้ยงเล่นก็มีความความรู้สึกเหมือนกันละ มันอาจจะรู้สึกว่าไม่อยากถูกขว้างก็ได้ แต่แค่ตอบสนองไม่ได้เท่านั้นเอง
1
5. การตัดสินว่าสิ่งใดมีจิตรู้สำนึกหรือไม่โดยใช้สัญชาตญาณ (ความรู้สึก) ของเรานั้น อาจเป็นภาพลวงตาเราได้ เพราะมีหลายกรณีที่สัญชาตญาณทำให้เรามองความจริงผิดเพี้ยนไป เช่น เรากลัวการเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะกลัวเครื่องบินตก ทั้งๆตามหลักความน่าจะเป็น เราต้องเดินทางเป็นเวลา 55,000 ปีถึงจะเสียชีวิตจากเครื่องบินตก หรือความรู้สึกที่เราเชื่อว่าโลกกลม ยังไม่รวมถึง ศาสตร์แห่งกลศาสตร์ควอนตัม ที่เราแทบจะใช้สัญชาตญาณจินตนาการถึงเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เลย
6. มีการวิจัยหลากหลาย เพื่อยืนยันว่า พืชกับมนุษย์มีอะไรหลายอย่างคล้ายๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อแสง ความร้อน หรือการสัมผัส พืชบางชนิดมีกลไกรับเสียง กลิ่นและตำแหน่ง หรือแม้แต่พัฒนาความทรงจำขึ้นมา จึงเกิดเป็นคำถามว่า การที่เรานึกไม่ออกว่า “การเป็นพืชนั้นเป็นอย่างไร” มันเพียงพอแล้วหรือที่เราจะตีขลุมว่า “พืชทั้งหลายไร้ซึ่งจิตรู้สำนึก”
7. หลังจากที่เรารู้แล้วว่า จิตรู้สำนึกอาจไม่ได้อยู่ในสมองอย่างเดียว ยังมีอีกหนึ่งคำถามคือ จิตรู้สำนึกมีประโยชน์ต่อพฤติกรรมอย่างไร ? จิตรู้สำนึกเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมใช่ไหม ? ลองนึกภาพหุ่นยนต์ AI ที่เรียนรู้และตอบสนองกับมนุษย์ได้ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าเราเชื่อว่าหุ่นยนต์ไม่มีจิตรู้สำนึก หมายความว่าจิตรู้สำนึกไม่มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมเลย นั่นอาจอนุมานได้ว่ามนุษย์อาจแสดงพฤติกรรมโดยไม่ต้องอาศัยจิตรู้สำนึกเลยก็ได้ สอดคล้องกับคำถามที่ว่าทำไมปลาดาวถึงหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ ทั้งๆที่มันไม่มีระบบประสาทส่วนกลางเลย
1
8. จริงๆแล้วจิตรู้สำนึกเป็นจุดแรกที่รับสิ่งเร้าเข้ามา หรือเป็นจุดสุดท้ายที่ได้จากการประมวลผลของสมอง ต้องบอกก่อนว่า เช่น เวลาเราตีเทนนิส คลื่นแสง คลื่นเสียง แรงสั่นสะเทือนนั้นส่งมาที่สมองด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน ความจริงจึงอาจเกิดก่อนแล้ว แต่สมองค่อยรับเหล่านี้มาประมวลผลแล้วทำให้มันอยู่ในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างนี้จึงกำลังบอกว่าจริงๆแล้วจิตรู้สำนึกต้องอาศัยตัวรับมากมายเพื่อสุดท้ายประมวลออกมาให้ตัวจิตได้รับรู้
9. ข้อนี้น่าสนใจมาก เค้าบอกว่าจริงๆแล้ว จิตรู้สำนึกของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจตจำนงเสรีอะไรเลย หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของตัวเราว่าจะเลือกซ้ายหรือเลือกขวา มันทำหน้าที่เพียงรับรู้เฉยๆ ส่วนหน้าที่เลือกว่าจะตอบสนองไปทางซ้ายหรือขวานั้นเป็นผลของการทำงานของสมองที่เอาประสบการณ์ในอดีต และสิ่งเร้าจากภายนอกมาประมวลผลและก็เลือกพฤติกรรมของเราให้เราเอง ลองนึกภาพคุณหยิบหนังสือมาอ่าน เราอาจเห็นหนังสือจากภายนอก (สิ่งเร้า) และประมวลผลจากประสบการณ์ที่ว่าเล่มนี้น่าจะสนุก ทำให้สมองสั่งการให้เราหยิบหนังสือมาอ่าน ไม่ใช่จิตสำนึกรู้เป็นคนเลือกแต่สมองเราต่างหากล่ะ
10. มีหลายการศึกษาที่ระบุชัดว่า “จิตสำนึกรู้ไม่ได้เป็นตัวที่เลือกการตอบสนอง” ยกตัวอย่างเช่นเชื้อ 𝙏𝙤𝙭𝙤𝙥𝙡𝙖𝙢𝙖 𝙜𝙤𝙣𝙙𝙞𝙞 ที่เมื่อติดเชื้อในสมองหนู จะทำให้หนูนั้นละทิ้งความกลัวแมวและเดินเข้าหาแมวได้เลย หรือตัวกะปิที่ปกติจะซ่อนตัวตอนกลางวัน แต่ถ้าติดเชื้อจากหนอนหัวหนาม มันจะกลายเป็นชอบนอนอาบแดดข้างนอก และยอมให้นกกินเพื่อให้หนอนหัวหนามวางไข่ในนกได้สำเร็จ สำหรับมนุษย์มีการศึกษามากมายที่พบว่า ในช่วงที่ติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้คนเปลี่ยนอุปนิสัยไป
1
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทำให้เราตระหนักได้ว่ามีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อพฤติกรรมไม่ใช่เพียงมายาคติที่เรายึดถือว่า “ที่เราทำสิ่งใดเพราะนั่นคือตัวตนของเรา” ดังนั้น สิ่งที่เราเชื่อกันมาตลอดว่า “ฉัน” คือแหล่งกำเนิดแท้จริงของความปรารถนาก็เริ่มจะไม่ใช่ความจริง 100% แล้วล่ะ ทฤษฎีนี้อาจรองรับว่าจิตรู้สำนึกไม่ใช่คนเลือกพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า จริงๆแล้วจิตรู้สำนึกมีผลต่อพฤติกรรมอย่างไร
11. เมื่อเรารับความรู้สึกเข้ามา ผ่านการประมวลผลของประสบการณ์ว่าเราคือใครกำลังทำอะไร พร้อมกับเราเห็นว่าเราเลือกการกระทำแบบใด มันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวให้เรารู้สึกว่า “นี่คือตัวเรา” ทำให้เรารู้ตัว รู้ว่าจะขยับตัวได้ เราจะเลือกใช้ประสบการณ์เก่าๆมาประมวลเพื่อเลือกการตอบสนองได้ ทั้งหมดทั้งมวลมันไร้รอยต่อ
1
12. การเปิดประสาทการรับรู้ถึง การกระทำ ความรู้สึก และเสียง นั้นทำได้เมื่อคุณอยู่ในสภาวะทำสมาธิ ซึ่งเป็นภาวะที่ปราศจากตัวตน (ปราศจากการประมวลผลความทรงจำในสมอง) เป็นภาวะที่เปิดให้จิตสำนึกรู้ทำงานโดยไม่มีอคติจากสมองมาเบียดบัง เราจึงรู้สึกตัดขาดจากตัวตน จากงานวิจัยสมัยใหม่พบว่ามีเครือข่ายประสาทอัตโนมัติทำหน้าที่ทำให้เรารู้สึกถึงตัวตน ซึ่งสมองส่วนนี้จะถูกกดไว้ชั่วคราวขณะทำสมาธิ
1
13. สารเสพติดที่หลอนประสาท เช่น แอลเอสดี เคตามีน ซิโลไซบิน นั้นจะระงับวงจรที่เชื่อมต่อสมองส่วนสำคัญในเครือข่ายประสาทอัตโนมัติ จึงอธิบายได้ว่าคนถึงรู้สึกเหมือนสูญเสียความเป็นตัวตนไปขณะอยู่ใต้ฤทธิ์ยา ภายใต้สภาะนั้น ให้ความรู้สึกล่องลอย มีความสุขภายใน พบว่าเส้นเวลาบิดเบี้ยว และตัวตนกำลังจะสูญหาย จากเรื่องการทำสมาธิและเรื่องสารเสพติดหลอนประสาท เป็นหลักฐานชั้นดีที่ระบุว่า ในขณะที่เราไม่รับรู้ถึงตัวตนของเรา “แต่จิตสำนึกอยู่ก็ยังคงแสดงอยู่อย่างสมบูรณ์” จิตรู้สำนึกดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์ของการเป็นตัวตน และดำรงอยู่ได้แม้ในสภาวะไร้ความคิด !!
1
14. ตัวตนของเราที่เรารู้สึก ที่เราคิดว่าเราเป็น ที่เราเชื่อว่ามันเป็นตัวเรา เป็นเพียงมายาคติที่สร้างขึ้นโดยสมอง และต้องยอมรับว่ามันถูกสร้างขึ้นภายหลัง
15. อีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจมากคือ “ปรากฏการณ์สมองแยกซีก” ได้มีการผ่าสมองซีกซ้ายและขวาให้แยกออกจากกัน คือผ่านเส้นเชื่อมที่เรียกว่า “𝗖𝗼𝗿𝗽𝘂𝘀 𝗖𝗮𝗹𝗹𝗼𝘀𝘂𝗺” พบว่าผู้ป่วยมีความพฤติกรรมผิดปกติ มืออีกข้างต้องการติดกระดุม ส่วนอีกข้างต้องการปลดกระดุม ผลักพร้อมๆกับกอด เปิดประตูพร้อมๆกับปิดประตู คนคนเดียวตอบคำถามด้วยสองคำตอบที่แตกต่างกัน ความปรารถนาและความคิดเห็นตรงข้ามกัน ทำให้เห็นว่าสมองแต่ละซีกนั้นไม่รับรู้ซึ่งกันและกันเลย หมายความว่ามีสองตัวตนอยู่ภายใน 1 คน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมื่อเราแยกซีกสมองออกทำให้จิตรู้สำนึกถูกแบ่งออกด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เจตนาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยสมองแยกซีกนั้นขึ้นตรงต่อสองจิตรู้สำนึกที่แยกขาดจากกัน แต่คำถามที่สำคัญคือ แม้จะมีเจตนาแยกกันสองแบบในคนเดียว แต่ความรู้สึกกลับหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร ???
16. หนึ่งทฤษฎีที่ฉีกทุกกฏแห่งความเชื่อที่เราเคยเชื่อ ก็คือ “ทฤษฎีจิตครอบคลุม” (𝗣𝗮𝗻𝗽𝘀𝘆𝗰𝗵𝗶𝘀𝗺) เป็นทฤษฎีที่เชื่อว่าสสารทุกชนิดมีจิตสำนึกรู้เป็นของตนเอง (ในบางแง่มุม) รวมไปถึงมันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสสารเลยก็ว่าได้ ทฤษฎีนี้เชื่อว่า “เนื้อแท้ของสสารนั้นรับรู้ได้” ซึ่งตรงข้ามกับสาขาที่มองว่าจิตรู้สำนึกนั้นประกอบไปด้วยหลายๆปัจจัยและต้องการการประมวลผลระดับหนึ่งถึงจะเกิดจิตรู้สำนึกขึ้นมาได้ โดยเชื่อว่าจิตรู้สำนึกนั้นเกิดขึ้นมาได้จากกระบวนการอันซับซ้อนของสมอง
1
17. คำถามที่ท้าทายสำหรับศาสตร์ “ทฤษฎีจิตครอบคลุม” ก็คือ เมื่อสสารอันหลากหลายจิตรู้สำนึก นั้นรวมกันเป็นวัตถุหนึ่งที่มีเพียงจิตรู้สำนึกเดียวได้อย่างไร ถ้าเราเอาสมองเรารวมกับเพื่อน เราจะรวมเป็นจิตสำนึกเดียวกันไหม ?
 
ดูเหมือนหนังสือเล่มนี้จะเต็มไปด้วยคำถามมากกว่าคำตอบที่หาได้ ยังไงแล้วพบว่ามนุษย์ต้องศึกษาอีกมากมายเพื่อที่จะหาคำอธิบายความลี้ลับของจิตรู้สำนึก
สุดท้ายนี้ในขณะที่เรามองออกไปนอกโลกเพื่อไขความลับของจักรวาล ความลับของดวงดาว หรือสิ่งมีชีวิตนอกโลก เรากลับพบว่าสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรากลับลี้ลับและน่าพิศวงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้ให้คำตอบที่ผมต้องการ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ได้ก็คือ “การรู้จักตัวเองมากขึ้นแม้จะเล็กน้อยก็ตาม”
ขอฝากคำถามระดับจักวาลให้คนรุ่นต่อไปช่วยกันหาคำตอบด้วยนะครับ หวังว่าสักวันลูกหลานของเราจะคงจะได้รู้ว่า “จิตรู้สำนึกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?”
//พะโล้
#เรื่องย่อของหนังสือเล่มเยี่ยม
โฆษณา