Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Story Top Up
•
ติดตาม
12 ต.ค. 2021 เวลา 10:57 • ธุรกิจ
เมื่อเอ่ยชื่อ “เมืองทองธานี” หลายคนคงนึกถึงสถานที่อย่างศูนย์ประชุมอิมแพ็คและส่วนใหญ่น่าจะเคยไปกันมาแล้ว
อันที่จริงเมืองทองธานีไม่ได้มีเฉพาะศูนย์ประชุมอิมแพ็คที่เราคุ้นเคยเท่านั้น แต่มีพื้นที่โครงการใหญ่กว่าที่เห็นมาก
กว่าจะยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ เชื่อหรือไม่ว่าในอดีตเมืองทองธานีเคยมีสภาพเหมือนกับเมืองร้างมาก่อน
แล้วเรื่องราวของเมืองทองธานีเป็นมาอย่างไร?
(ภาพจาก mgronline)
เมืองทองธานีเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษอุดรรัถยากับทางพิเศษศรีรัชหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ทางด่วนสายบางปะอิน” มีบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND เป็นเจ้าของ
โครงการนี้เริ่มต้นโดยตระกูล “กาญจนพาสน์” เมื่อปี พ.ศ. 2533 ยุคที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังเฟื่องฟู ซึ่งมีคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ เป็นผู้นำทัพ
คุณอนันต์วาดภาพให้เมืองทองธานีเป็นเหมือนเมืองขนาดเล็ก มีการวางผังโครงการอย่างเป็นระบบ พร้อมกับจัดทำแผนพัฒนาที่ดินระยะยาวถึง 15 ปี ประกอบด้วยบ้านแนวราบ คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ สำนักงาน ศูนย์จัดกีฬา มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร และมีทะเลสาบขนาดใหญ่
หากสำเร็จตามเป้าหมายจะมีจำนวนห้องชุด 20,988 ยูนิต บ้านเดี่ยวกว่า 1,000 หลัง อาคารสำนักงานอีก 90 แห่ง และคาดว่าจะมีผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในโครงการราว 1 แสนคน
เรียกได้ว่าเมืองทองธานีเป็นโครงการแบบมิกซ์ยูสรายแรกๆ ของประเทศ
นอกจากนี้ยังครองแชมป์ด้านจำนวนหน่วยขายสูงที่สุดอีกด้วย ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครสามารถทำลายสถิตินี้ได้
เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการระดับตำนานในยุคเดียวกันอย่างแฟลตปลาทองที่มีจำนวนหน่วยขาย 4,328 ยูนิต ซึ่งเมืองทองธานีมีหน่วยขายมากกว่าถึง 5 เท่า
หลังจากใช้เวลาพัฒนาโครงการเพียงไม่นาน เมืองทองธานีก็เปิดตัวครั้งแรกด้วยคอนโดมิเนียมจำนวน 27 อาคาร ภายใต้ชื่อ “ป๊อปปูล่าคอนโด” ก่อสร้างเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ในสไตล์ที่อยู่อาศัยบนเกาะฮ่องกง ราคาขายเฉลี่ยยูนิตละ 350,000 บาท เจาะตลาดผู้มีรายได้จำกัดและกลุ่มข้าราชการ
หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยโครงการเลควิวคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบของเมืองทองธานีและอาคารสำนักงานอีกหลายแห่ง
ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีเกินคาด มีคนจองเกือบหมดเกลี้ยง
ป๊อปปูล่าคอนโด (ภาพจาก Baania)
แต่ในยุคนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าความต้องการของตลาดมาก คนส่วนใหญ่ซื้อเพื่อเก็งกำไร
ความจริงที่ซ่อนอยู่นี้เริ่มสะท้อนให้เห็นผ่านยอดโอนที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของคุณอนันต์ ลูกค้าเริ่มทิ้งเงินดาวน์ ยูนิตส่วนใหญ่ไม่มีการเข้าอยู่อาศัยจริง
ประกอบกับในสมัยนั้นทำเลที่ตั้งของเมืองทองธานีอยู่บริเวณชานเมือง การเดินทางยังไม่สะดวกมากนัก สภาพแวดล้อมในโครงการจึงแทบไม่ต่างจากเมืองร้าง มีอาคารเหลือขายจำนวนมาก พร้อมกับข่าวลือว่าคงไปไม่รอด
ผลสุดท้ายบางกอกแลนด์ต้องชะลอการพัฒนาเกือบทุกโครงการในปี พ.ศ. 2539 เหลือเพียงการก่อสร้างอาคารศูนย์กีฬาขนาด 70,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการจัดกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ท่ามกลางปัญหาขาดเงินหมุนเวียนอย่างหนัก โดยหวังว่าศูนย์กีฬาจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะดึงคนให้เข้ามาเห็นเมืองทองธานี
ช่วงเวลานี้เองก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ไทยและจบลงด้วยวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งบริษัทบางกอกแลนด์ก็หนี้ไม่พ้นวิกฤตในครั้งนี้เช่นกัน
จากการลอยตัวค่าเงินบาทส่งผลให้ดีเวลลอปเปอร์แถวหน้าของเมืองไทยต้องแบกภาระหนี้สูงถึง 52,000 ล้านบาท
ทะเลสาบเมืองทองธานีและเลควิว คอนโดมิเนียม (ภาพจาก Homenayoo)
แล้วคุณอนันต์ทำให้เมืองทองธานีกลับมาผงาดอีกครั้งได้อย่างไร?
หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ในปลายปี พ.ศ. 2541 คุณอนันต์ต้องการรักษาที่ดินผืนนี้ไว้เพราะเป็นมรดกทางธุรกิจที่ตระกูลของเขาสั่งสมมา จึงเลือกที่จะเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่กับสถาบันการเงิน โดยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและโอนกิจการให้เจ้าหนี้
เขามองเห็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือทุกครั้งที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาจะทำให้คนทั้งประเทศรู้จักชื่อเมืองทองธานี
ด้วยวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และความเป็นนักสู้ คุณอนันต์จึงเปลี่ยนแนวคิดการประกอบธุรกิจใหม่จากสร้างเพื่อขายเป็นสร้างให้เช่า เน้นการรับรายได้แบบกระแสเงินสด และนำไปทยอยล้างหนี้
จากจุดเด่นในเรื่องชื่อเสียงของเมืองทองธานีที่คนทั่วไปรู้จักอยู่แล้ว คุณอนันต์ตัดสินใจเปลี่ยนศูนย์กีฬามาเป็นอาคารจัดแสดงสินค้าและจัดงานอเนกประสงค์ภายใต้ชื่อ “อิมแพ็ค อารีน่า” โดยมีโมเดลธุรกิจคล้ายกับไบเทคบางนาและได้จัดตั้งบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งบางกอกแลนด์เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
คุณอนันต์ต้องวิ่งไปหางานเองทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อดึงงานอีเวนท์ให้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องทางการเงินของบางกอกแลนด์จึงเริ่มดีขึ้น หลังจากนั้นได้เริ่มขยายพื้นที่เพิ่มด้วยอาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์และอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ ทำให้เริ่มทิ้งห่างคู่แข่งอย่างไบเทคบางนาไปเรื่อยๆ
ส่วนโครงการป๊อปปูล่าคอนโดมิเนียมที่เหลืออยู่ก็ทยอยนำมาขายในราคาพิเศษและต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ถึงสามารถขายได้หมด
นอกจากนี้ยังได้พยายามสร้างตลาดสด ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ เพื่อสร้างความเจริญและเพิ่มความเป็นชุมชนให้โครงการ
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เมืองทองธานีมีคนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น อาคารพาณิชย์มีร้านค้ามาเปิด สำนักงานที่เคยร้างก็กลับมามีผู้เช่า หลังจากนั้นจึงเริ่มมีรถโดยสารสาธารณะและรถตู้เข้ามาจอดในพื้นที่ การเดินทางก็สะดวกมากขึ้น
ในที่สุดบางกอกแลนด์ก็สามารถปลดหนี้ก้อนสุดท้ายได้ในปี พ.ศ. 2555 และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้อาณาจักรเมืองทองธานีพร้อมก้าวเดินอีกครั้ง
จากสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา คุณอนันต์ได้บทเรียนว่าการกู้เงินจำนวนมากมาสร้างธุรกิจหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ย่อมตามมาด้วยวิกฤติที่รุนแรง
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2556 จึงนำอิมแพ็ค อารีน่า เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นรายแรกของประเทศ
หลังจากนั้นได้เริ่มขยายธุรกิจเพื่อทำให้ความเป็นชุมชนสมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยสร้างศูนย์การค้าบีไฮฟ์ ไลฟ์สไตล์ มอลล์ ในปี พ.ศ. 2557
มีการเปิดตัวโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค มีห้องพักจำนวน 380 ห้อง ตามมาด้วยโรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค เมืองทอง ที่เปิดบริการในปี พ.ศ. 2560 มีห้องพักจำนวน 587 ห้อง
และสิ่งหนึ่งที่เป็นความฝันของคุณอนันต์ตั้งแต่เริ่มสร้างอาณาจักรเมืองทองธานีก็คือการมีช้อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ในโครงการ
“คอสโม บาซาร์” จึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 อาคารศูนย์การค้าพื้นที่รวม 102,460 ตารางเมตร ประกอบด้วยร้านค้าร้านอาหารแบรนด์ดังกว่า 300 ร้าน มีแม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โรงหนังเอสเอฟ ซีเนม่าจำนวน 5 โรง และพื้นที่สำนักงานสูง 10 ชั้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เมืองทองธานีดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้ชีวิตในโครงการมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายเจ้าได้เข้ามาซื้อที่ดินบางส่วนจากบางกอกแลนด์เพื่อพัฒนาเป็นบ้านจัดสรร รวมถึงซื้อคอนโดมิเนียมเก่าที่เคยทิ้งร้างมาปรับปรุงขายใหม่ในราคาไม่แพง
คอสโม บาซาร์และบีไฮฟ์ ไลฟ์สไตล์ มอลล์ (ภาพจาก Impact)
ปัจจุบันบางกอกแลนด์อยู่ภายใต้การบริหารของ คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทของคุณอนันต์ ซึ่งเข้ามาสานต่อความฝันของคุณพ่อให้สมบูรณ์
โดยที่เมืองทองธานียังคงมีที่ดินเหลืออีกกว่า 600 ไร่ พร้อมกับโครงการที่รอพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร City Campus เฟสที่ 2 โครงการธีมปาร์คสวนน้ำและพลาซ่าริมทะเลสาบ การทุบโรงแรมเก่าอีสตินเลคไซด์เพื่อสร้างอาคารใหม่ รวมไปถึงโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บริเวณที่ดินตลาดนัดมะลิกว่า 20 ไร่ ของบริษัทแสนสิริ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายที่แยกจากถนนแจ้งวัฒนะเข้าสู่เมืองทองธานีและไปสิ้นสุดบริเวณทะเลสาบ มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 7 - 8 ปี
ในวันนี้เมืองทองธานีมีอายุกว่า 30 ปี แล้ว ก้าวผ่านอุปสรรคมามากมายจนเปลี่ยนจากเมืองร้างกลายเป็นชุมชนที่มีผู้คนหมุนเวียนเข้ามาในโครงการปีละกว่า 15 ล้านคน
ส่วนในอนาคตเมืองทองธานีจะกลายเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบตามฝันของคุณอนันต์ กาญจนพาสน์ หรือไม่ คงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องมือพิสูจน์กันต่อไป
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
-
https://forbesthailand.com/people/cover-story/พอลล์-กาญจนพาสน์-รุ่น-2-impact-เ.html
-
http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1488.htm
-
https://www.bangkokbiznews.com//news/876082
-
http://www.bangkokland.co.th/
-
https://www.condonewb.com/insight/1249/เจาะลึกเมืองทองธานี-เมืองในเมือง-ความสะดวกย่อมๆ-จบในพื้นที่เดียว
-
http://www.muangthongthani.com/index.php/th/
-
https://www.prachachat.net/property/news-617652
-
https://www.reic.or.th/News/RealEstate/441888
-รายงาน 56-1 บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน)
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย