11 ต.ค. 2021 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 2: "ค ควาย"🐃
🕛ระยะเวลาการอ่าน 5-8 นาที
ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ที่ยังคงพูดถึงสัตว์ที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรไทย ซึ่งสัตว์เจ้าของเรื่องในวันนี้ก็คือน้องควายหรือ 'กระบือ' นั่นเอง
สำหรับคนไทยควายกลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ฉลาด เนื่องจากควายเป็นสัตว์ที่เชื่องและอ่อนโยน ถ้านำมาเลี้ยงแบบใกล้ชิด สามารถฝึกไว้ใช้งานและจูงไปได้
แต่ความจริงแล้วควายเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อชีวิตของเราเพราะเป็นสัตว์ที่อยู่กับสังคมและวัฒนธรรมทางด้านเกษตรกรรมของไทยมาช้านาน ในอดีตชาวนาใช้ควายในการไถนาสำหรับแปลงปลูกข้าวขนาดไม่ใหญ่🌾 แต่ปัจจุบันวิถีเกษตรกรรมเปลี่ยนไปกลายเป็นยุคของ 'ควายเหล็ก' แทน 🚜 ค.ควายจึงไม่เข้านาแล้วและควายพื้นเมืองกฌกำลังมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ
ทวีปไหนในโลกมีควายอยู่บ้างนะ?🗺📍
ควายทั่วโลกมีอยู่หลายชนิด โดยควายแท้ ๆ จะพบอยู่ในสามทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกาและออสเตรเลีย เท่านั้น แม้แต่ควายไบซันในอเมริกาที่เป็นหนึ่งในควายที่เป็นที่รู้จัก ความจริงแล้วเป็นแค่ลูกพี่ลูกน้องห่าง ๆ กับควายแท้ที่อยู่ในแอฟริกาและเอเชีย
สำหรับควายเอเชีย (Asiatic Water Buffalo) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Bubalus bubalis มีทั้งควายเลี้ยงและควายป่า พบอยู่ทั่วทวีปเอเชียและตะวันออกไกล ควายเอเชียได้ถูกนำมาเลี้ยงเป็นเวลาร่วม 5,000 ปี ในขณะที่ควายป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติก็มีอัตราการสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไปสามารถแบ่งควายเอเชียออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ควายแม่น้ำและควายปลัก โดยควายทั้งสองมีชื่อวิทยาศาสตร์ เหมือนกันคือ Bubalus bubalis แต่ต่างกันที่จำนวนโครโมโซม🧬 โดยควายแม่น้ำมีจำนวนโครโมโซม 2n=50 ส่วนควายปลักมีจำนวนโครโมโซม 2n=48🧐🧬
ที่มา : www.freepik.com
'ควายแม่น้ำ' (River or Riverine buffalo) ลักษณะทั่วไปมีผิวหนังค่อนข้างดำ ขนยาว โครงสร้างใหญ่ เหนียงที่หน้าอกยาน จัดได้ว่าเป็นควายนม เนื่องจากมีขนาดเต้าใหญ่ และให้น้ำนมประมาณ 5 ลิตร/วัน มีการเลี้ยงมากในประเทศอินเดียและปากีสถาน
'ควายปลัก' (Swamp Buffalo) ลักษณะทั่วไป มีรูปร่างล่ำสัน ขนสีเทาดำ หรือสีเทาเข้ม เขาโค้งเป็นวงกว้าง มีขนสีขาวรูปตัววี (V. Chevron) ขวางระหว่างส่วนคอกับส่วนอก เท้าทั้งสี่ข้างด่าง ชอบนอนแช่ปลักโคลน มีความแข็งแรงอดทน มีการเลี้ยงกันมากในประเทศจีนตอนใต้ ประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ และออสเตรเลีย
ควายไทยจัดเป็นควายปลัก นิยมเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานและใช้เนื้อ มี 2 สี คือควายสีดำ และควายสีขาว
สีของควายเป็นสีผิวหนังและสีขน แต่ควายปลักมีขนน้อย สีที่แสดงจึงเป็นสีผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ โดยควายมีขนเพียง 25-40 เส้นต่อผิวหนังหนึ่งตารางนิ้วเท่านั้น
ควายสีขาวหรือที่เรียกว่าควายเผือก แต่ตามหลักการแล้วน้องไม่จัดเป็นควายเผือก เพราะแม้จะสีผิวหนังออกสีชมพูเรื่อ ขนสีขาว แถมบางตัวอาจจะมีขนสีดำปนด้วย แต่การที่ส่วนของ เขา กีบ และตาดำ มีสีดำ จึงไม่จัดเป็นควายเผือก🤍
น้องมังกรทองควายเผือก จ.สกลนคร (ที่มา: https://hilight.kapook.com/view/141412)
🐃'ควายป่า' หรือ มหิงสา (Bubalusarnee)
1 ใน 19 สัตว์ป่าสงวนของไทย
นอกจากควายเลี้ยงที่กล่าวมาแล้วในธรรมชาติยังมี 'ควายป่า'อีกด้วย โดยควายป่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bubalus arnee
ควายป่ามีลักษณะทั่วไปคล้ายกับควายบ้าน (B. bubalis) ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีนิสัยว่องไวและดุร้ายกว่าควายบ้านมาก นอกจากนี้ขนาดลำตัวของควายป่ายังใหญ่กว่าควายบ้านโดยตัวโตเต็มวัยของควายป่ามีความสูงที่ไหล่เกือบ 2 เมตรเลยทีเดียว ในขณะที่ควายบ้านตัวเต็มวัยความสูงที่ไหล่ประมาณ 1.6 เมตร
นอกจากนี้ เขาของควายป่ามีขนาดใหญ่กว่าควายบ้านมาก วงเขากว้างโค้งไปด้านหลังคล้ายเสี้ยววงพระจันทร์ มีเขาคู่เดียวตลอดชีวิตไม่มีการแตกกิ่งเขาใหม่ เปลือกนอกเป็นปลอกเขาแข็ง ๆ ที่สวมทับบนแกนของกระดูกที่งอดติดกับกระโหลก ลำเขาตัดขวางเป็นลักษณะสามเหลี่ยม ปลายเขามีลักษณะเรียวแหลม โดยควายป่ามีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย
สีลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ด้านล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัว V เช่นเดียวกับบ้าน แต่มีลักษณะเด่นที่ ขาทั้ง 4 เป็นสีขาวหรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว🧦
ควายป่าลักษณะทั่วไปคล้ายกับควายบ้านต่างกันที่มีถุงเท้าสีขาว ที่มา: Dr. Raju Kasambe https://en.wikipedia.org/wiki/File:Indian_Water_Buffalo_Bubalus_arnee_by_Dr_Raju_Kasambe_IMG_0347_(11)_(cropped).jpg
ควายป่ามีการกระจายพันธุ์จากประเทศเนปาลและอินเดีย ไปสิ้นสุดทางด้านทิศตะวันออกที่ประเทศเวียดนาม โดยควายป่าประเทศไทยในอดีตเคยมีอยู่มากและกระจัดกระจายออกไป แต่ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เท่านั้น
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Asiatic_water_buffalo_2015.png
ควายป่าที่พบในปัจจุบันพบเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวนเพียงไม่ถึง 70 ตัวเท่านั้น และเป็นจำนวนประชากรคงที่เช่นนี้เสมอมา
เหตุที่ประชากรไม่เพิ่มมากขึ้น แม้การดูแลรักษาห้วยขาแข้งในปัจจุบันจะได้รับการพัฒนาให้เข็มแข็งและมีความทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล แต่ด้วยภัยคุกคามทางธรรมชาติ ที่รบกวนควายป่าจนทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้
🚨ภัยคุกคามต่อควายป่าที่สำคัญ🚨
🎣🪵การรบกวนจากมนุษย์จากการการบุกรุกพื้นที่ป่า เช่น การใช้เรือหรือนำเรือเข้ามาหาปลาในบริเวณพื้นที่ ตลอดจนการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ การลักลอบฆ่าควายป่าเพื่อนำเขาและกระโหลกไปทำเป็นเครื่องประดับ
🐄🐂🐮การปล่อยสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัวและควายเข้ามาหากินในพื้นที่อนุรักษ์อย่างอิสระ ซึ่งหากสัตว์เลี้ยงเหล่านี้มีโรคระบาด ก็อาจจะเสี่ยงต่อควายป่ารวมถึงสัตว์กีบอื่น ๆ ที่อาศัยในป่าที่จะติดโรคระบาดดังกล่าวจากสัตว์เลี้ยงได้
การสูญเสียลูกเกิดใหม่ เนื่องจากลูกควายป่าที่เกิดใหม่อาจตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง🐅หรือจมน้ำในกรณีที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่
การแพร่กระจายของพืชต่างถิ่น เช่น ไมยราบยักษ์ที่อาจเจริญเติบโตในพื้นที่หาดทรายแทนที่ 'หญ้าพง' ที่เป็นอาหารสำคัญของควายป่า🌱
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญก็คือข้อจำกัดทางภูมิประเทศ ทำให้จำนวนของควายป่าถูกควบคุมไว้ด้วยถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า หากไร้ซึ่งป่าห้วยขาแข้ง สถานภาพของควายป่าในหนังสือแบบเรียนหรือเอกสารทางวิชาการ ที่ในปัจจุบันถูกจัดอยู่ในสถานภาพ "ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง"* (critical endangered) อาจถูกเปลี่ยนเป็น "สูญพันธุ์" (Extinct) หรือ "สูญพันธุ์ในธรรมชาติ" (Extinct in the wild) ในอนาคตก็เป็นได้ หากสัตว์ป่าสงวนของไทย ไม่ได้ถูกสงวนและดูแลรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยเอาไว้อย่างที่ควรจะเป็น😢
หมายเหตุ*
-สถานภาพ IUCN คือ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangerd: EN)
-สถาพภาพของไทย คือ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical Endangered: CR)
(สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560))
โฆษณา