Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
blue bangkok
•
ติดตาม
11 ต.ค. 2021 เวลา 03:45 • ศิลปะ & ออกแบบ
Thanon Song Wat Series
ไปเดินเล่น แม้ในวันเงียบเหงาจากโรคระบาด แต่เมื่อผ่อนคลายและระวังตัวก็ไปสำรวจกันได้
วิธีเดินทาง หากสะดวกสุดคงเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Mrt เลือกขึ้นที่วัดมังกร หรือ หัวลำโพง ย่อมได้ เพราะถนนทรงวาดนี้ เป็นจุดเชื่อมกึ่งกลางระหว่างสองสถานี
ในอดีตถนนสายนี้ถูกตัดสร้างขึ้นจากเหตุผลด้านการป้องกันอัคคีภัย บ้างเล่าว่าจากพระราชดำริของร.5 แล้ว สมเด็จครู(สมเด็จฯนริศ) ท่านใช้ดินสอลากตัดชุมชนตลาดน้อยที่เป็นเมืองท่าเรือ(มีเจ้าสัวหลายท่านในย่านนี้)บนแผนที่ ขนานถนนเยาวราชที่ครั้งนั้นเติบโตเป็นชุมชนใหญ่ ควรมีช่องให้รถดับเพลิงหรือยามฉุกเฉินเข้าออกได้
ตึกแขก ในเอกสารออนไลน์ น่าจะเรียกแบบนั้น ตั้งหัวมุมถนนทรงวาดติดท่าเรือราชวงศ์ ทางซ้ายไปสำเพ็ง ทางขวาถนนทรงวาด (มาเรือด่วนหรือข้ามฝากก็ย่อมได้ อากาศสบายดี หากมาจากห้าง icon siam หรือ ล้ง1919(Lhong1919) ตึกแขกใช้เรียกตึกที่ทุบไปแล้วของชาวมัวส์ขายผ้าสมัยก่อน ชุมชนละแวกนี้เป็นเมืองท่า มีหลายศาสนา รูปแบบอาคารมีทั้งก่ออิฐผสมไม้ ที่น่าสนใจของอาคารหลังนี้คือ เป็นอาคารปิดมุมถนนมีมุขไม้ยื่นออกมาสองปีกด้านข้างและตรงกลาง สวยงามรับมุมขนานถนนไปตามแยก เครื่องไม้ฉลุลายประณีต สียังมีเค้าให้เห็น กระจกสีและบานกรอบหน้าต่างทรงยอดแหลมคล้ายศิลปะมุสลิม กับแบบโกธิคของคริสเตียน แม้ว่าจะผุพังตามกาลเวลาแต่ยังมีความทรงจำเดิมให้พบเห็นและปรับใช้เข้ากับชีวิตแต่ละช่วงจนถึงปัจจุบันที่มีกันสาดผ้าใบและสายไฟระโยงระยาง
เดินไปตามถนนขนานถนนเยาวราชและแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางหัวลำโพง จะพบตึกเก่าแต่ละยุคตลอดสองข้างทาง ร้านค้าหรือกิจการทั้งเก่าและใหม่ มีร้านกาแฟ โฮสเทล ร้านอาหาร แม้กระทั่งแกลเลอรี ตัดกับร้านขายส่งเมล็ดพันธุ์ทางการเกษตร อุปกรณ์ ร้านอาหารจีน
หรือร้านสตรีทฟู้ดประปราย ผ่านดงตึกแถวที่คนนิยมเรียก ตึกผลไม้ เพราะปูนปั้นประดับหน้าบันอาคารที่หลายคนต้องพักชมหรือถ่ายรูป(สวยแต่เราชอบตึกอื่นมากกว่า ความงามแต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน)
ตึกร้านขายของเล่นปากตรอกสะพานญวน ย่านนี้เคยมีชาวเวียดนามอพยพมาอาศัย มีแม้กระทั่งที่พำนักของ ซุนยัดเซ็น ครั้งท่านมาเยือนไทยระยะเวลาหนึ่ง อาคารนี้สีสันสดใสจากสีครีม ตัดด้วยขอบหน้าต่างสีน้ำตาลที่มีบานหน้าต่างสีฟ้า และเห็นทั้งด้านหน้ากับด้านข้าง มีกันสาดน่ารักเล็กๆรับกับหน้าต่าง ถูกใช้งานเป็นร้านของของเล่นที่มีกันสาดผ้าใบยุคใหม่สีสด
เดินไปตามทาง จนพบแยกใหญ่ที่จะออกไปทางเยาวราช จะมีตรอกเล็กๆ สังเกตจากตึกเก่าปิดมุมสามด้าน ตึกนี้ก็สวยนะ หลายคนชอบถ่ายรูปกัน
แต่เราพบว่ามีอีกอาคารหากเดินเข้ามา ที่รูปร่างของทรงหลังคาโค้งเป็นโดม เป็นงานแกะสลักไม้ประณีต หาที่มาไม่พบ ซึ่งส่วนตัวคาดเดาจากรูปแบบว่าอาจเป็นงานกลุ่มอิสลามหรือไปทางชาติอื่น เพราะความประณีต ไม่ใช่ฝีมือแบบไทยหรือจีน ด้านล่างเป็นอาคารตึกยุคใหม่แบบโมเดิร์น จึงเป็นความแปลกตาที่เหมือนการผสมยุคสมัยทางศิลปะ ลึกลับเพราะอยู่ในซอก และหาประวัติไม่ได้จากเอกสารส่วนกลาง เป็นความงามเฉพาะถิ่นสงวนไว้ด้วยเวลา
เดินออกมามุ่งไปตามถนนทรงวาดเช่นเดิม จนผ่านวัดปทุมคงคา ที่มีตึกแถวยาวเป็นรั้ววัด ตรงนี้มีร้านของถังไม้น่ารัก และฝั่งตรงข้ามมีร้านก๋วยเตี๋ยวแบบริมทาง เครื่องต้มน้ำซุปหอมเสมอ มีคนนั่งกินหลายคนตลอดเวลาที่เดินผ่าน เคยแวะชิมด้วยนะ หรือกลุ่มร้านอะไหล่เครื่องจักรยนต์ น่าถ่ายรูปเพราะความดิบเทห์ จนถึงแยกใหญ่ถนนตัดกัน
ฝั่งตรงข้ามจะเห็นตึกสีเหลืองมีทรงสูงและยาวไปด้านข้าง เดินมาจนพบนกยูงปูนปั้นที่พอเหลือเค้าเดิม กับอักษรห้าบันตึกว่า ลออหลิ่มเซ่งท่าย (สืบค้นเอกสารจนพบว่าคุณยายท่านนี้มีคุณูปการทางศาสนาและการศึกษา และสันนิษฐานส่วนตัวว่าเป็น แลนด์ลอร์ด ยุคนั้นเพราะท่านมีที่ดินและบริจาค สร้างโรงเรียนลอออุทิศ บริจาคให้คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศ ฯลฯ) รูปแบบอาคารก็น่าสนใจเป็นแบบยุคโมเดิร์นที่มีการผสมการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ทรงแปลกไม่ค่อยมีทำเป็นตึกแถวแนวยาวขนานถนนแล้วมีอาคารสูงแบบหอคอยเหลี่ยมยุคใหม่ตรงมุมถนนที่ตัดเป็นสี่แยกคล้ายมุขที่โดนยืดขึ้น ใช้สีเหลืองเด่นเป็นสง่า รูปปูนปั้นนกยูง(อาจเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวท่าน ลองสังเกตอีกนิดว่าด้านบนสุดมีสัญลักษณ์คล้ายนกยูงที่ลดทอนเหมือนพระอาทิตย์ ตรงนี้เพิ่งสังเกตเองว่าคล้ายตึกในตรอก ที่มีสัญลักญ์นี้ และรูปแบบอาคารโมเดิร์นผสมก็คล้ายกัน)
ตรงแยกนี้สามารถเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าสถานีหัวลำโพง หรือนั่งรถประจำทางสาย 1 (ผ่านเยาวราช) หรือดินไปทางบางรักได้ตามถนนเจริญกรุงทางขวาตัดผ่านย่านตลาดน้อย อาหารร้านค้าแถวนี้มีน่าสนใจ หรือลัดเข้ากรมเจ้าท่า ท่าน้ำสี่พระยาก็ไปได้
หวังว่าจะสนุกกับผลงานชุดนี้ของเรา blue bangkok
https://www.facebook.com/bluebangkok/
บันทึก
13
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ชมตึก (ย่านเก่า พิพิธภัณฑ์)
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย