12 ต.ค. 2021 เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์
อังกฤษเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร?
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ทำไมเราถึงต้องอยากรู้ เส้นทางการมาเป็นประชาธิปไตยของอังกฤษ ? นอกเหนือไปจากสาเหตุที่ว่า อังกฤษเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยแล้วนั้น อีกสาเหตุก็เพราะว่าเวลามีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง "การเมืองการปกครอง" หรือ "การมีอยู่ของสถาบันต่าง ๆ" อังกฤษก็มักจะเป็นประเทศที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับเราอยู่เสมอ แต่ทุกคนรู้หรือไม่ครับว่ากว่าประชาธิปไตยในอังกฤษ จะมีเสถียรภาพขนาดนี้
ใช้เวลานานแค่ไหน ? ผ่านอะไรมาบ้าง ? และปัจจุบัน เป็นอย่างไร ?
เป็นเรื่องค่อนข้างชัดเจนว่า การจะบรรลุเป้าหมาย "การเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
สำหรับอังกฤษ หรือ สหราชอาณาจักรนี้ก็เช่นเดียวกัน ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือ กะทันหันเพียงข้ามคืน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ บ้าง ใหญ่ ๆ บ้าง ที่สะสมสลับกันมาเรื่อย ๆ ตลอดหลายร้อยปี บางการเปลี่ยนแปลงก็เกิดจากการปฏิวัติ บางครั้งก็เป็นการตกลงกันได้เองในรัฐสภา แต่ถ้าจะสรุปให้เห็นภาพใหญ่อย่างรวบรัดเพื่อให้เข้าใจอย่างง่ายที่สุด การพัฒนาทางการเมืองของอังกฤษนั้น แบ่งเป็นมวยได้ 3 เวทีใหญ่ ๆ ครับ นั่นก็คือ
ระหว่างกษัตริย์ และ ขุนนาง ในยุคศักดินา
ระหว่างกษัตริย์ และ รัฐสภา
และคู่สุดท้ายก็คือ ระหว่างรัฐสภาหรือรัฐบาล และ ประชาชน
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ถ้าคุณกลับไปอ่านเรื่อง "มหากฎบัตร" หรือ "แมกนา คาร์ตา" เอกสารฉบับแรกที่ขุนนางเจ้าของที่ดิน หรือที่เรียกว่าพวก "บารอน" บังคับให้พระเจ้าจอห์นเซ็น ในคริสตศักราชที่ 1215 ซึ่งถือเป็นเอกสารฉบับแรกที่ประกาศว่า "กษัตริย์จะทำทุกอย่างตามอำเภอใจไม่ได้" นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนคนธรรมดาตรงไหนเลย เหล่าบารอนไม่ได้บังคับให้กษัตริย์เซ็นเอกสารเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วไป
เขาบังคับให้เซ็นเพื่อยกเลิกการใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจอย่างไม่จำกัดของกษัตริย์ กษัตริย์จะได้ไม่มาเอาแต่ใจกับเหล่าบารอน มาจับลูกหลานบารอนไปขังถ้าขัดคำสั่งและที่สำคัญก็คือเพื่อห้ามกษัตริย์ไม่ให้ไถเงินพวกบารอนได้ตามอำเภอใจ
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า แม้แต่ก่อนยุคของแมกนา คาร์ตา ในพิธีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ ก็จะมีพระราชดำรัสเป็นคำมั่นสัญญาต่อขุนนางและบารอน
1
ในโครงสร้างศักดินาว่า "จะทรงรับประกันสิทธิต่าง ๆ ของขุนนางและบารอน" ด้วยวาจามาตลอด
ธรรมเนียมนี้ มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1000 ต้น ๆ เลย ตอนที่กษัตริย์และขุนนางอังกฤษร่วมมือกันปฎิรูปอำนาจของศาสนจักรและนำเกาะอังกฤษออกจากภายใต้การปกครองโดยตรงของศาสนจักรที่กรุงโรม
เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงยุคของ พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ หรือ Richard The Lion Heart ที่มีการทำสงครามครูเสดอย่างยาวนาน ทำให้กษัตริย์ถังแตก
จึงต้องหันมารีดภาษีเอาจากประชาชนและขุนนางมากขึ้น ขุนนางก็ไม่เคยได้รับการประกันสิทธิต่าง ๆ เป็นเอกสารจริงจัง มีแต่คำพูดตามพิธีของกษัตริย์ในวันขึ้นครองราชย์ อย่ากระนั้นเลย เมื่อพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์สิ้นพระชนม์
พระเจ้าจอห์นผู้เป็นน้องชายก็ขึ้นครองราชย์
จึงเกิดแนวคิดของขุนนางและบารอน ที่จะร่างสัญญา เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา ให้กษัตริย์เซ็นต์ชื่ออย่างจริงจังสักที ! ประกอบกับตอนขึ้นครองราชย์ พระเจ้าจอห์นไม่แม้แต่จะให้คำมั่นสัญญา เป็นพระราชดำรัสตามธรรมเนียมด้วยซ้ำ ในเมื่อไม่ยอมพูดก็ต้องจับเซ็นล่ะ !!
แม้ว่าพวกบารอนหรือขุนนางจะไม่ได้พยายามจำกัดอำนาจของกษัตริย์เพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ตาม แต่มหากฎบัตร แมกนา คาร์ตา ก็เป็นการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ ซึ่งวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ลึกมาก ๆ เอาไว้ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ รากฐานทางกฎหมายที่สำคัญมาก ๆ คือ "ไม่มีความผิด หากไม่มีกฎหมาย" ซึ่งสำคัญมากเพราะก่อนจะมีแมกนา คาร์ตา กษัตริย์พูดว่าใครผิดคนนั้นก็หัวขาดได้เลย ไม่ต้องมาถามไถ่ไต่สวนกันไม่มีโอกาสได้ชี้แจง
แต่เมื่อมี "แมกนา คาร์ตา" แล้ว กษัตริย์ต้องออกกฎหมายซะก่อนที่จะบอกว่าอะไรผิด แล้วใครทำแบบนั้น คน ๆ นั้น จะมีความผิด ซึ่งนี่เรียกว่า ว้าวมาก ๆ หลังจากยุคของพระเจ้าจอห์น ก็มีการพัฒนาของ แมกนา คาร์ตา ต่อมาเรื่อย ๆ ตามรัชสมัยของกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มา
คำว่า รัฐสภา หรือ Parliament ได้รับการบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1236 เพื่อเรียกสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ สภานี้ประกอบไปด้วย บารอน หรือ ชนชั้นผู้ถือครองที่ดินและเหล่าผู้นำทางศาสนาคริสต์ หรือ "พระ" นั่นแหละ
ซึ่งจะประชุมกับกษัตริย์ปีละ 3 ครั้ง
3
สภาท้องถิ่นในรูปแบบคล้าย ๆ กันนี้ เกิดขึ้นทั่วไปในเกาะอังกฤษ ในยุคกลางนี้เช่นเดียวกัน แต่จะมีส่วนประกอบของประชาชน หรือคนสามัญร่วมด้วย ซึ่งสภาท้องถิ่นต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว
แต่คอนเซ็ปต์ก็คล้าย ๆ กันครับ ก็คือ เป็นการรวมตัวกันของผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อออกกฎหมาย ต่อรองผลประโยชน์ ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ ต่อรองเรื่องการเสียภาษีนั่นแหละ
ในคริสตศตวรรษที่ 13 สภา หรือ Parliament เริ่มมีอำนาจมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1295 กษัตริย์เริ่มเรียกตัวแทนอัศวินและประชาชน อย่างละ 2 คนจากเมืองต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกของสภา หลังปี ค.ศ. 1332 ที่ทางของคนเหล่านี้ รวมเรียกว่า สภาสามัญชน หรือ House of Commons ค.ศ. 1388
รัฐสภาเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ถึงขนาดลงมติให้เอารัฐมนตรีของกษัตริย์ ไปตัดหัวได้เลย !
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด หรือ https://www.youtube.com/c/SpokeDarkTV/join
ปี ค.ศ. 1407 กษัตริย์เฮนรี่ที่ 4 ครับ รับรองการไม่แทรกแซงการอภิปรายของสภา และไม่เรียกเก็บภาษีใด ๆ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา
ค.ศ. 1414 กษัตริย์เฮนรี่ที่ 5 ตกลงไม่ออกกฎหมายใด ๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา
ค.ศ. 1500 สภาได้รับการรับรองสิทธิอย่างเป็นทางการที่จะจัดประชุมขุนนางและสามัญชน ล้วนมีสิทธิเข้าฟังการประชุมสภา สภามีสิทธิที่จะอภิปรายถกเถียงเรื่องอะไรก็ได้และมีสิทธิที่จะแจ้งความต้องการของสภาต่อกษัตริย์ สภามีอำนาจควบคุมการเก็บภาษี กฎหมายใด ๆ ไม่สามารถออกได้หากไม่ผ่านสภา สภามีสิทธิลงโทษรัฐมนตรีของกษัตริย์ หากพบว่ามีความผิดจริงและสุดท้าย อังกฤษปกครองโดยกษัตริย์และสภา
จากพัฒนาการเหล่านี้นะครับ เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ถ่วงดุลอำนาจ บัดนี้ ได้เปลี่ยนจากมวยระหว่างกษัตริย์กับขุนนางในระบอบศักดินา มาเป็นกษัตริย์กับชนชั้นปกครองในรัฐสภาแล้ว ต่อมา ช่วงที่ราชวงศ์ทิวดอร์เรืองอำนาจในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ได้กลับมามีอำนาจเหนือรัฐสภาอีกครั้ง ทั้งกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ที่ทรงใช้รัฐสภาเป็นเพียงตรายางในการออกกฎหมายต่าง ๆ
จนถึงพระราชินีอลิซาเบธ ที่ 1 ซึ่งทรงเรืองอำนาจเป็นอย่างมาก
นอกจากจะไม่แคร์รัฐสภาเท่าไหร่แล้ว บางครั้ง ยังจับสมาชิกรัฐสภาที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจเกินขอบเขตของพระราชินี เข้าคุกซะเลย
ทั้งกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 และ พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ต่างเป็นกษัตริย์ที่มีความโดดเด่นทางอำนาจบางอย่างจนทำให้คนยำเกรง และสามารถครอบงำสภาได้ กล่าวคือ เฮนรี่ที่ 8 เป็นกษัตริย์ที่ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะพระสันตปาปาที่กรุงโรม ถือเป็นผู้นำทางศาสนาที่มีอำนาจทางการเมืองสูง เรียกว่าสามารถบงการศาสนิกในประเทศต่าง ๆ ที่เขามีพระเจ้าแผ่นดินของเขาอยู่ได้ คือ อาจจะเรียกว่าเป็น "อำนาจทับซ้อน" ก็ได้
อย่างไรก็ตามครับ เฮนรี่ที่ 8 ประกาศตัดขาดจากศาสนจักรที่กรุงโรม แล้วก็สถาปนานิกายอังกฤษ หรือที่เรียกว่า Church of England หรือ นิกาย Anglican ขึ้นมา จากนั้น ก็ทำการยึดทรัพย์และที่ดิน ที่เป็นของศาสนจักรคาทอลิกในอังกฤษทั้งหมด ศาสนจักรคาทอลิกนี่รวยมากแถมมีที่ดินเยอะมากด้วย พอกษัตริย์ยึดมา กษัตริย์ก็เลยรวยมาก ซึ่งรวยมากก็มีอำนาจมาก นั่นแหละ สภาสู้ไม่ได้ก็ต้องยอมตกเป็นตรายางไป
ส่วนในรัชสมัยพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ช่วงแรกของการครองราชย์ ก็ไม่ราบรื่นเพราะมีปัญหาตกค้างรุงรังมาจากกษัตริย์องค์ก่อน ๆ อย่างเช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา สงครามจากภายนอกประเทศ เป็นต้น แต่อลิซาเบธที่ 1 ก็เหมือนจะเอาอยู่นะครับ แก้ปัญหาได้ และก็แก้อย่างโหดพอสมควรเลย ก็คือผู้คนก็คงเหวอว่าเป็นผู้หญิงก็โหดได้เบอร์นี้เลย !
มีการจับพวกคาทอลิก ตัดหัวเป็นหลักร้อยคน แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงตกเป็นเป้าของการลอบปลงพระชนม์หลายครั้งด้วย
นอกจากนี้ กองทัพของพระองค์ก็ยังสามารถเอาชนะกองทัพเรือของสเปน ที่ยกมากะจะยึดเกาะอังกฤษ ซึ่งอันนี้ ถือว่าเป็นผลงานที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอลิซาเบธที่ 1 มาก ๆ เลย เพราะกองทัพเรือสเปนนั้น ถือว่าเป็นกองเรือที่มีแสนยานุภาพที่สุดในโลกขณะนั้นเลยทีเดียว หลังจากเอาชนะสเปนได้ อังกฤษก็เลยขึ้นแท่นเป็น "มหาอำนาจหน้าใหม่ของโลก" อลิซาเบธที่ 1 ก็เลยขัดขากับรัฐสภา เกือบตลอดรัชสมัยของพระองค์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ดิ้นรนทางอำนาจของกษัตริย์กับรัฐสภาก็กลับมาสูสีกันอีกครั้ง หลังจากหมดสมัยควีนอลิซาเบธที่ 1 กษัตริย์เปลี่ยนจากราชวงศ์ทิวดอร์มาเป็น ราชวงศ์สจ๊วร์ต ซึ่งอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17
กษัตริย์ชาร์ลส ที่ 1 ปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐสภายาวนานถึง 11 ปี จนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น
ผลของสงครามกลางเมืองก็คือ เกิดการล้มราชวงศ์กันเลยทีเดียว กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ถูกกองกำลังของฝ่ายรัฐสภา จับตัดหัวใน ค.ศ. 1649 และอังกฤษก็ถูกปกครองโดยสามัญชนในรูปแบบของ "สาธารณรัฐ" อยู่ระยะหนึ่ง
คนที่ล้มราชวงศ์อังกฤษ(ขณะนั้น)ได้สำเร็จอยู่ระยะหนึ่ง คนๆ นี้ ชื่อ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เขาเกิดในครอบครัวขุนนางตกยาก แต่ก็เป็นคนที่วางแผนการรบเก่งมาก แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางการทหารมาเลย แต่ก็มีความเป็นผู้นำสูงและเป็นคนที่เคร่งศาสนา โดยนับถือศาสนาคริสต์นิกาย "พิวริแตนท์" ตลอดช่วงเวลา 5 ปี ที่เป็น "ผู้นำ" หรือ “ผู้ปกป้องประเทศ"
ครอมเวลล์ทำสงครามเยอะมาก โดยเฉพาะกับไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นฝ่ายคาทอลิกและฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์
ผลงานชิ้นโบว์แดงของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ก็คือ การผนวกสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ และปกครองในระบอบสาธารณรัฐ
หลังจากที่จับกษัตริย์ตัดหัวไปแล้ว ครอมเวลล์ ก็ใช้รัฐสภาปกครองอยู่สักพักหนึ่ง แต่แล้วก็จบด้วยการยุบสภาและก็ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็น "ผู้นำเผด็จการทหาร" และแต่งตั้งนายทหารเป็นผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ
สรุปว่า การเมืองอังกฤษในช่วงนี้ ก็กลับไปเป็นการต่อสู้ระหว่างเผด็จการสามัญชน กับ ฝ่ายนิยมกษัตริย์ แต่ช่วงสาธารณรัฐของอังกฤษ ก็อยู่แค่เพียงเวลาสั้น ๆ ครอมเวลล์ ปกครองอยู่ได้ 5 ปีก็เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1658
แม้ว่าบุตรชายของครอมเวลล์จะสืบทอดอำนาจต่อแต่ก็ไม่มีใครยอมรับ
สุดท้ายก็มีการไปอัญเชิญ ชาร์ลส์ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกชายของชาร์ลสที่ 1 ที่ถูกตัดหัวไปแล้ว กลับมาครองราชสมบัติต่อไป กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 กลับมาครองราชสมบัติในปี ค.ศ. 1660
เป็นการกลับมาของกษัตริย์ "ราชวงศ์สจ๊วร์ต" ในห้วงเวลานั้นประเทศก็ยังคงมีความลุ่ม ๆ ดอน ๆ เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน มีคนจน คนอดตายเยอะ
ความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์กับ ชาวคาทอลิกก็ดำรงอยู่ตลอดรัชสมัยนะครับ ชาร์ลส์ที่ 2 ที่ปกครองอยู่ 25 ปี
แล้วในปี ค.ศ. 1685 กษัตริย์ เจมส์ที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชายของ ชาร์ลส์ที่ 2 ก็ขึ้นครองราชย์ เจมส์ที่ 2
สร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐสภาเป็นอย่างมาก เพราะประกาศตัวว่าเป็นคาทอลิกอย่างชัดเจน ทรงล้มกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ชาวคาทอลิกเป็นทหารหรือรับราชการ และตั้งกองทัพที่มีแต่ทหารชาวคาทอลิกล้วน ๆ ซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐสภาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะการที่กษัตริย์ประกาศตัวเป็นคาทอลิกนั้น เป็นการแสดงว่าหลักการความเชื่อของกษัตริย์ ก็คือ กษัตริย์ปกครองโดยอาณัติของพระผู้เป็นเจ้า อำนาจของกษัตริย์มาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง การมีสภาหรือสถาบันอำนาจอื่น ๆ มาร่วมบริหารบ้านเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าต้องการ หลักการเช่นนี้ ก่อให้เกิดปัญหาในการปกครองในระบอบรัฐสภา อันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างแน่นอน
การช่วงชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์และสภาก็กลับมาเข้มข้นอีกครั้ง รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายห้ามไม่ให้คนคาทอลิกเข้ารับราชการ กษัตริย์เจมส์ที่ 2 ก็จัดการยุบสภา และก็ปกครองโดยไม่มีรัฐสภา
เหตุการณ์ถึงจุดแตกหัก เมื่อพระราชินีทรงประสูติพระโอรส ทำให้เจ้าหญิงแมรี่ธิดาพระองค์โตของเจมส์ที่ 2 ซึ่งเป็นโปรแตสแตนท์ มีอันต้องหลุดไปจากตำแหน่งว่าที่รัชทายาทและเจ้าชายพระองค์ใหม่ก็จะได้รับการเลี้ยงดูแบบคาทอลิก ตามพระบิดาและพระมารดาอย่างแน่นอน ซึ่งหมายความว่า ต่อไปอังกฤษจะถูกปกครองโดยราชวงศ์ที่เป็นคาทอลิก ซึ่งคนอังกฤษในตอนนั้นรับไม่ได้ เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและผลประโยชน์อย่างมหาศาล คือ หักเลี้ยวกลับ 180 องศาเลย จากสมัยควีนอลิซาเบธ หรือ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งจองล้างจองผลาญพวกคาทอลิกมาตลอดนั่นแหละ
จนเป็นผลให้ขุนนางอังกฤษรวมหัวกัน ไปเชิญเจ้าชายวิลเลี่ยม แห่ง ออเรนจ์ ผู้ปกครองฮอลลแลนด์ ซึ่งเป็นพระสวามีของเจ้าหญิงแมรี่ อดีตว่าที่รัชทายาท
ให้ยกทัพมายึดเกาะอังกฤษและสถาปนาราชวงศ์ร่วม ระหว่างอังกฤษและดัทช์ซะเลย
ซึ่งความไม่พอใจต่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 นั้น ก็ชัดเจนมากจากเหตุการณ์นี้แหละ เพราะทหารของพระเจ้าเจมส์เลือกจะละทิ้งกษัตริย์ของตนเอง และก็ย้ายค่ายไปอยู่กับเจ้าชายวิลเลี่ยม แห่งออเรนจ์แทน จนพระเจ้าเจมส์ต้องลี้ภัยออกจากอังกฤษไปอาศัยอยู่กับครอบครัวของกษัตริย์ทางฝรั่งเศสซึ่งเป็นญาติกัน และก็เป็นคาทอลิกเหมือนกันด้วยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส แล้วก็ไม่เคยเสด็จกลับอังกฤษอีกเลย
การเข้ามายึดอำนาจของวิลเลี่ยม แห่งออเรนจ์ และเจ้าหญิงแมรี่ในปี ค.ศ. 1688 นี้ เรียกว่าเป็นการปฎิวัติที่แทบไม่เสียเลือดเสียเนื้อเลย ไม่ได้เกิดการรบจริงจัง เพราะมาถึงทหารก็ย้ายข้างเรียบร้อย รัฐสภาก็ต้อนรับทั้งสองพระองค์เป็นอย่างดี และกษัตริย์พระองค์ใหม่ก็เชื่อในการปกครองโดยรัฐสภาและระบอบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภาอยู่แล้ว
ด้วยความลงตัวงดงามขนาดนี้ นักประวัติศาสตร์จึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "การปฎิวัติอันรุ่งโรจน์" หรือ "The Glorious Revolution"
สรุปว่ายุคของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และควีนแมรี่ นี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการทางประชาธิปไตยของอังกฤษเลยก็ว่าได้ เพราะได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ
หรือ Bill of Rights ขึ้นโดยมีใจความสำคัญว่า "รัฐธรรมนูญ" จะเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด ผู้ปกครองต้องเคารพกฎหมายที่บัญญติไว้ในรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชน การออกกฎหมาย การยกเลิกกฎหมาย การออกกำหนดการเก็บภาษี ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้น Bill of Rights คือผลงานชิ้นโบว์แดง ของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ เป็นการย้ายเอาอำนาจสูงสุดที่เคยเชื่อกันว่าเป็นของกษัตริย์ เอามาไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างเป็นทางการครั้งแรก เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยอยุธยา ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการต่อสู้ คานอำนาจกันระหว่างกษัตริย์และรัฐสภาอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ หลังจากรัชสมัยของพระนางแมรี่ และ พระเจ้าวิลเลียมแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาคือ ควีน แอนน์ ซึ่งเป็นน้องสาวของ ควีน แมรี่
แต่ ควีน แอนน์ ครองราชย์ๆได้เพียง 5 ปี ก็สิ้นพระชนม์ พระญาติที่ใกล้ชิดที่สุด และนับถือศาสนาคริสต์โปรแตสแตนท์นั้น ได้แก่ เจ้าชายจอร์จ แห่ง ฮาโนเวอร์ ครับ ซึ่งเป็นคนเยอรมัน เป็นเยอรมันแบบที่พูดภาษาอังกฤษแทบจะไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม เจ้าชายเยอรมัน ก็ทรงราชาภิเษกเป็นกษัตริย์อังกฤษตามหน้าที่ แต่เรื่องของเรื่องก็คือ กษัตริย์จอร์จที่ 1 เป็นคนเยอรมันที่ชอบอยู่เยอรมัน พูดภาษาเยอรมัน และไม่มีความสนใจที่จะปกครองอังกฤษเท่าใดนัก
ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่เยอรมัน และยกหน้าที่บริหารกิจการบ้านเมืองให้กับคณะเสนาบดี หรือ คณะรัฐมนตรี ซึ่งแต่เดิมไม่เคยได้รับความสนใจหรือให้อำนาจอะไรมากมายนัก ก็กลายมาเป็นคณะบุคคลที่บริหารราชการแผ่นดินแทนกษัตริย์ไป
ระยะแรก ๆ นะครับ พระเจ้าจอร์จที่ 1 ก็เสด็จออกประชุมว่าราชการร่วมกับคณะเสนาบดี แต่เนื่องจากตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงเป็นโอกาสให้ เซอร์ โรเบิร์ต วอลโพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีความสามารถ ช่วยให้อังกฤษผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินได้และพอจะกราบบังคมทูลเป็นภาษาเยอรมันผสมภาษาละตินได้บ้าง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้เซอร์วอลโพล จึงถูกแต่งตั้งให้เป็น "หัวหน้าคณะรัฐมนตรี" หรือ รัฐมนตรีหมายเลข 1 Prime Minister ของอังกฤษ ซึ่งอีกหลายปีต่อมา ตำแหน่งนี้ก็เรียกว่า "นายกรัฐมนตรี" และเป็นที่รู้จักในระบบการเมืองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด หรือ https://www.youtube.com/c/SpokeDarkTV/join
หลังจากสมัยของนายกรัฐมนตรี วอลโพล ระบบนี้พัฒนาต่อไปอีกมาก จนกระทั่ง สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ เห็นว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญ ที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยไม่ได้อีกแล้ว หากแต่ต้องได้รับความยินยอมจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน ผู้ที่จะได้รับความยินยอมได้ ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและมีความสัมพันธ์กับสภา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างเช่น เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือเป็นหัวหน้าพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร หรือมิฉะนั้น ก็ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
ก็อาจจะพูดได้ว่า นอกจากเหตุการณ์การปฎิวัติอันรุ่งโรจน์แล้ว การที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อมา ที่ขึ้นครองราชย์ไล่ ๆ กัน ทรงเป็นชาวต่างชาติ ไม่ตรัสภาษาอังกฤษ และเบื่อจะอยู่อังกฤษเต็มที เป็นส่วนช่วยในการพัฒนาระบอบการปกครอง ทำให้รัฐสภาและรัฐบาลสามัญชนเข้มแข็ง จนเป็นอังกฤษอย่างทุกวันนี้ก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐสภาอย่างจริงจัง
ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 1700 แต่จะบอกว่าอังกฤษเป็นประชาธิปไตยแล้วตั้งแต่ตอนนั้น ก็ดูจะโฆษณาเกินจริงไปมาก เพราะว่า ในคริสตศตวรรษที่ 1800 มีประชากรน้อยกว่า 2% ของประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้ง
ซึ่งก็คือจำกัดไว้แค่คนที่เป็นเพศชายที่สืบเชื้อสายขุนนาง หรือเป็นผู้ชายที่มีทรัพย์สินเป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น มีเขตเลือกตั้งที่ไม่มีคน แต่มี สส. ส่วนในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการปฎิวัติอุตสาหกรรมของประเทศ อย่างเช่น แมนเชสเตอร์ หรือว่า ลีดส์ กลับไม่มีผู้แทนของตัวเองเลย
ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด นั่นก็เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งสร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมามากมาย แต่ในขณะเดียวกันคนยากจนจากชนบทก็ต้องเข้ามาแออัดกันในเมือง เพื่อขายแรงงาน หนีการอดตายจากชนบท มาถูกกดขี่ค่าแรงในเมือง ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางรายได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รัฐบาลก็เลือกที่จะปราบปรามอย่างรุนแรง
ใน ค.ศ. 1817 รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามกักขังคน โดยยังไม่พิสูจน์ความผิด และยังให้อำนาจทางการในการเข้าค้นบ้าน และลงโทษคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วย ซึ่งจะเป็นใครไปได้ นอกจากสื่อมวลชนและผู้นำแรงงานต่าง ๆ
จนในปี ค.ศ. 1819 ก็เกิดการนองเลือดขึ้น ในการสังหารหมู่ประชาชนที่ประท้วงเรื่องค่าแรงและค่าครองชีพอย่างสันติ ในเมืองแมนเชสเตอร์ และปรากฎการณ์นี้นะครับก็คือ มวยคู่ที่สาม ในหนทางการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของชาวอังกฤษ
มวยคู่นี้ก็คือการต่อสู้ระหว่างรัฐบาล หรือ รัฐสภากับประชาชน นั่นเอง หลังจากการเสียเลือดเสียเนื้อกันไปพักใหญ่
รัฐบาลก็ได้ผ่านกฎหมาย “ปฏิรูป ” ในปี ค.ศ. 1832 ซึ่งแก้ไขเรื่องเขตการเลือกตั้ง ให้จำนวนประชากรสมดุลกับจำนวน สส. ที่เขตนั้นจะได้รับ
ดังนั้น เมืองอุตสาหกรรมที่มีประชากรหนาแน่นไม่ว่าจะเป็น แมนเชสเตอร์ เบอร์มิงแฮม หรือ ลีดส์นะครับ ก็ได้มีตัวแทนของตนเอง หลังจากเสียภาษีฟรี ๆ มาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม จะบอกว่านี่คือประชาธิปไตยแล้วโว้ย !! ก็คงจะต้องบอกว่า... ยัง !!!
ต้องบอกว่ายังอีกรอบ เพราะการ “ปฏิรูป ” รอบนี้ มีคนได้รับสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 คนเท่านั้น ในศตวรรษที่ 19 การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและอำนาจต่อรองของประชาชน ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยแกนนำหลักของการเรียกร้องสิทธิ ก็คือเหล่าผู้ใช้แรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยังได้รับผลประโยชน์จากความเจริญรุ่งเรืองของประเทศน้อยมาก
ในที่สุด ในปี ค.ศ. 1884 ผู้ที่ได้รับสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน ซึ่งก็คือ ผู้ชายที่มีทรัพย์สินและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นี่คือ 5 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 30 ล้านคน ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ผู้หญิงก็ยังถูกทำเหมือนเป็นอากาศธาตุอยู่ แต่ถึงตอนนี้ก็เริ่มมีขบวนการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งให้กับผู้หญิงด้วย
ต้องมีสงครามโลกเกิดขึ้นมาซะก่อน ผู้หญิงถึงได้สิทธิในการเลือกตั้ง เพราะผู้ชายไปสงครามกันหมด ผู้หญิงก็ย่อมจะต้อง support อยู่ในประเทศ แต่นั่นก็หมายความว่าผู้หญิงจะต้องออกมาทำงาน ที่ตามความเคยชินแล้ว เป็นงานของผู้ชาย ในปี ค.ศ. 1918 ผู้ชายอังกฤษวัย 21 ปีขึ้นไปทุกคน ได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง ส่วนผู้หญิง ต้องอายุ 30 จึงมีสิทธิ และในที่สุดครับ ในปี ค.ศ. 1928 ผู้หญิงและผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งหมด
ทุกวันนี้นะครับ อังกฤษมีประชาธิปไตยที่หนักแน่น เข้มแข็ง ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 14 ในการจัดอันดับประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดีที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 2019 ครับ ซึ่งมี 167 ประเทศ ที่อยู่ในตารางนี้ จากยุคบารอน ในปี ค.ศ. 1000 ต้น ๆ มาจนถึงวันที่มีประชาธิปไตยแบบค่อนข้างสมบูรณ์ ก็ปาเข้าไปเกือบ 900 ปีกันเลย !
เราก็เรียนรู้จากเขาไม่ต้องไปใช้ timeline เดียวกับเขาก็ได้ อีกอย่างนะ เราต้องตระหนักว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่ของที่ตายแล้ว ต้องดูแลประคับประคองและก็หวงแหน วันนี้เป็นประชาธิปไตย พรุ่งนี้ใครจะรู้ ? อำนาจของประชาชนอาจถูกปล้นไปอีกเมื่อไหร่ !!!
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433 บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด หรือ https://www.youtube.com/c/SpokeDarkTV/join
โฆษณา