11 ต.ค. 2021 เวลา 15:49 • การตลาด
เห็นเงินแต่ไม่เห็นกำไร
จั่วหัวแบบนี้ จะเรียกแขกได้ไหม ผมยังคงสงสัยอยู่ เพราะมีมุมมองได้ 2 ทาง
ทางที่ 1 คือจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเห็นเงินนี่ต้องได้กำไรแน่ ๆ
ทางที่ 2 คือเป็นแนวคิดที่ถูกต้องแน่นอน เพราะไม่จำเป็นเสมอไปว่าเห็นเงินต้องเห็นกำไร เห็นเงินบางทีก็ไม่เห็นกำไรได้เช่นเดียวกัน
เรื่องนี้น่าคิด น่าคิดอย่างไร ตามอ่านกันต่อได้เลย
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ผมได้ไปช่วยขายของทอดในช่วงเทศกาลกินเจ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังจากวันแรกได้เขียนเรื่องเล่าช่วงเทศกาลกินเจไปแล้ว เผอิญว่า ร้านข้าง ๆ ที่ตั้งติดกับแผงขายของที่ผมไปช่วยขายของ เป็นร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิง ก็ถือว่าขายดีเหมือนกัน เพราะคอยมองตลอดว่ามีคนเข้าร้านมากน้อยเพียงใด ก็มีคนมาดู มาซื้ออยู่ตลอด ผมก็เป็นพวกหูไม่ค่อยอยู่สุข ชอบฟังคนซื้อกับคนขายพูดคุยกัน เพราะจะได้อะไรต่อมิอะไรมาให้คิดอยู่เรื่อยไป
มาได้ยินประโยคที่คนขายเสื้อผ้า บอกลูกค้าไปแบบเชิงน้อยใจ ด้วยประโยคตามที่จั่วหัวว่า “เห็นเงินแต่ไม่เห็นกำไร” เป็นประโยคสุดคลาสสิค ที่นำมานั่งคิด นอนคิดว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
มามองกันคนละมุม
มุมแรก มุมคนขาย การที่คนขายบอกคนซื้อแบบนี้ อาจสื่อได้ว่าต้องการให้คนซื้อเห็นใจ อย่าต่อรองราคา หรืออย่าลดราคาอีกเลย และให้ช่วยซื้อในราคาที่ได้ตั้งไว้ แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นกลยุทธ์การขายอย่างหนึ่งได้เลยนะเนี่ย
มุมที่สอง มุมทางบัญชี อันนี้เป็นได้มากเหมือนกัน เพราะบางครั้งบางร้านบางธุรกิจ ขายดีมาก ๆ ขายของได้หมดทุกวัน มียอดขายได้มาก ตัวเลขทางบัญชีมียอดขายเยอะมาก แต่บรรทัดสุดท้าย ดันปรากฎว่า กำไรน้อยนิด กำไรนิดเดียว บางครั้งถึงขั้นเข้าเนื้อขาดทุน ประเด็นนี้อาจเกิดจากการควบคุมต้นทุนขายหรือค่าใช้จ่ายได้ไม่ดี หรือมีการรั่วไหลจากการทุจริตก็เป็นได้ หรือในอีกมุมนึง อาจมีการทำบัญชีได้ไม่ละเอียดรอบคอบพอ หรือการใช้เงินธุรกิจเป็นเงินส่วนตัว ก็เป็นไปได้
เห็นไหมครับว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้จากตลาดค้าขายทั่ว ๆ ไป อาจมีประเด็นให้ชวนคิด ประเด็นให้ชวนคุย เพียงแต่จะนำมาเป็นประเด็นหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
โฆษณา