12 ต.ค. 2021 เวลา 07:56 • ธุรกิจ
ต่อไป KFC ในประเทศไทย จะมี ‘ชาเขียวโออิชิ’ เป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่
4
ต่อไปนี้นอกจากน้ำแร่ช้าง น้ำอัดลม ทั้งเป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่นอัพ ภายในร้าน KFC ทั่วประเทศไทย กำลังจะมีเครื่องดื่มชนิดใหม่ นั่นคือ ‘ชาเชียวโออิชิ’
“เรื่องนี้เป็นโจทย์ของ KFC ที่ต้องการเครื่องดื่มชนิดใหม่ให้กับลูกค้า ที่เป็นตัวเลือกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ จึงให้โจทย์เรื่องนี้กับซัพพลายเออร์มา 2-3 ราย ทางเราจึงได้ผลิตสินค้าและทดสอบสินค้ามาหลายเดือน ซึ่งปรากฏว่าโออิชิได้รับสิทธิ์ในครั้งนี้ และเซ็นสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว” นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และอีกตำแหน่งคือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ในระหว่างการแถลงข่าวประจำปีของไทยเบฟ
3
ที่ผ่านมาความท้าทายของ ‘ชาพร้อมดื่ม’ คือตลาดไม่ได้ ‘หวือหวา’ เหมือนก่อนหน้าที่ที่โหมอัดโปรโมชันจนสร้าง ‘ดีมานด์เทียม’ ดังนั้น เมื่อไม่มีการอัดโปรโมชัน ยอดขายก็ไม่เกิด แถมการเข้ามาของภาษีน้ำตาลทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก ผู้เล่นหลักอย่าง ‘โออิชิ’ และ ‘อิชิตัน’ จึงเพลาๆ เรื่องนี้ลง เพราะยิ่งทำหมายถึงกำไรที่จะลดลง
1
ตัวโออิชิเองก็พูดย้ำเสมอถึงการจะไม่อัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างหนักหน่วงเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่จะใช้การเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาดึงกลุ่มลูกค้าแทน เช่นปลายปีที่ผ่านมาก็ได้เปิดตัว ‘โออิชิ พลัส ซี’ ซึ่งได้ผสมวิตามินซีและโออิชิชาคูลล์ซ่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ 9 เดือน (เดือนตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564) ของธุรกิจเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 54 ล้านบาท หรือ 1.2% ด้วยตัวเลข 4,711 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลอดจนหันไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อขยายช่องทางขาย
1
ขณะที่ตลาดภายในไทยโออิชิก็ยังเป็น ‘เจ้าตลาด’ ด้วยส่วนแบ่งกว่า 48.4% จากมูลค่าตลาดรวม 10,620 ล้านบาท (ข้อมูลจาก Nielsen Thailand เดือนกุมภาพันธ์ 2563 – มกราคม 2564) ดังนั้น ตลาดในไทยจึงเป็นตลาดหลักที่ทิ้งไม่ได้ แต่โออิชิก็ต้องหาทางขยายช่องทางขายของตัวเองให้เข้าถึงกลุ่มคนไทยให้มากที่สุด ซึ่งการสามารถคว้าสิทธิ์เครื่องดื่มชนิดใหม่ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้โออิชิเพิ่มยอดขายได้
5
“เบื้องต้นจะเพิ่มในร้านของเราก่อน (KFC ในไทยมี 3 แฟรนไชส์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีร้านทั้งสิ้น 378 สาขา ที่เป็นของไทยเบฟ) โดยจะมี 2 รสชาติให้เลือก ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรสชาติยอดฮิตอย่างฮันนี่เลมอน”
Starbucks จะเข้าไปด้วยหรือไม่?
1
สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากน้ำแร่ที่ตีตราด้วยโลโก้ ‘ช้าง’ และยังมีโออิชิเป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่ ‘ไทยเบฟ’ จะสามารถนำเครื่องดื่มของตัวเองเข้าไปแทรกตัวได้หรือไม่ เพราะในวันที่ไทยเบฟใช้เงินกว่า 1.14 หมื่นล้านบาทเข้าซื้อแฟรนไชส์ KFC ล็อตสุดท้าย จำนวน 252 สาขา ก็ทำให้เกิดการจับตามองว่าน้ำอัดลมภายในร้านจะถูกเปลี่ยนมาเป็น ‘เอส’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มภายในเครือของไทยเบฟเองหรือไม่
แต่ที่สุดก็ไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทแม่ของ KFC อย่าง ‘ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)’ ก็ออกมาให้ข่าวว่าได้เซ็นสัญญาต่อไปอีก 5 ปี (2560-2564) เพื่อให้บริการเครื่องดื่มน้ำอัดลมในเครือ ทั้งเป๊ปซี่ มิรินด้า และเซเว่นอัพในร้าน แต่ที่มองข้ามไม่ได้คือ สัญญาดังกล่าวจะหมดลงภายในปีนี้ และยังไม่มีวี่แววว่าใครจะเป็นผู้ได้สัญญาเครื่องดื่มน้ำอัดลมไป ซึ่งล่าสุดได้มีการต่อสัญญาออกไปอีกเรียบร้อยแล้ว
4
ขณะเดียวกัน ภายใต้เครือไทยเบฟเองก็ยังเป็นเจ้าของสิทธิ์ในการบริหารจัดการร้าน Starbucks ในประเทศไทย หลังจากใช้เงินหลัก ‘หมื่นล้าน’ เข้าซื้อในปี 2562 ที่ผ่านมา ดังนั้น การที่โออิชิเจาะเข้าไปใน KFC ได้แล้ว หาก Starbucks จะเข้าไปบ้างก็อาจไม่ได้เรื่องแปลกอะไร เพราะถือเป็นการ Synergy ในเครือเอง
2
แต่เรื่องนี้นั้น นงนุชได้ตอบว่า “ฐานลูกค้าของ KFC และ Starbucks เป็นคนละกลุ่มกัน ถ้าเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันก็มีโอกาส แต่ ณ ตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่ ส่วนอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ แต่ทุกอย่างก็มีสิทธิ์เป็นไปได้หมด ซึ่งตอนนี้ทุกคนมีเรื่องหน้าบ้านที่ต้องจัดการกันอยู่”
1
แม้ Starbucks อาจเป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่แน่ๆ วันนี้ ‘เบียร์ช้าง’ ได้เริ่มเข้าไปวางขายให้ลูกค้าของ KFC ได้กินคู่กับไก่ทอดแล้ว โดยในกรุงเทพนั้นเริ่มที่ The PARQ ซึ่งเป็นมิกซ์ยูสที่อยู่ใต้เครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่นกัน โดยที่สาขานี้จะเสิร์ฟเป็นเบียร์สด ส่วนที่อื่นๆ ก็มีเช่นเดียวกัน
4
“นโยบายของเราไม่ได้ใส่เบียร์ในทุกสาขา แต่จะเลือกจาก 2 ปัจจัยคือ 1. เป็นสาขาที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนอย่าง The PARQ และ 2. เป็นสาขาที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรียกร้องอยากให้เราขายเบียร์”
KFC Food Truck มี 2 คันแล้ว
1
นอกจากการเติมเมนูใหม่ๆ เข้าสู่ร้านในเครือแล้ว ซึ่งไม่นานมานี้ก็เพิ่งทดลองขายเมนูอาหารจากแพลนต์เบส (Plant Based) ใช้วัตถุดิบจากแบรนด์ Meat Zero ของ CPF และวางขายในร้าน KFC Green Store 2 สาขา คือ สาขาอาคารแสงโสม และสาขาดีโป บาย วนชัย จ.ฉะเชิงเทรา ตัว KFC ที่อยู่ภายใต้ไทยเบฟยังได้ทดลองรูปแบบร้านใหม่ๆ นั่นคือ ‘KFC Food Truck’
1
เรื่องนี้นอกจากนงนุชแล้ว ศสัย ตังเดชะหิรัญ กรรมการผู้จัดการ The QSR of Asia ซึ่งเป็นผู้ดูแลร้าน KFC ของเครือไทยเบฟ ได้ร่วมให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ในช่วงกลางปี 2564 ไว้ว่า Food Truck นั้นเกิดขึ้นมาด้วยโจทย์คือ การเข้าถึงลูกค้าในทุกจังหวัด หรือพื้นที่ที่ KFC ยังไม่สามารถเข้าถึงได้
1
“Food Truck เป็นหนึ่งในการทดลองการตลาดว่าลูกค้าจะให้ความสนใจในโมเดลแบบนี้หรือไม่ ตลอดจนเข้าไปเรียนรู้ถึงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยตรงที่ KFC ยังไม่สามารถเข้าถึงได้”
1
KFC Food Truck ที่ไทยเบฟทำนั้นถือเป็นครั้งแรกของเอเชีย โดยเริ่มต้นขายมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 หรือราว 1 ปีมาแล้ว โดยในแง่ของยอดขายนั้น “ทำได้ใกล้เคียงกับร้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งเมนูที่ขายใน Food Truck นั้นจะเป็นราคาเดียวกับที่ขายในร้านทั่วไป”
แม้ KFC Food Truck คันแรกจะไปได้ดี แต่ยังมีเพนพอยต์อยู่คือ รถมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปบางพื้นที่ได้ ดังนั้น ล่าสุดจึงได้มีการพัฒนา KFC Food Truck คันที่ 2 ออกมา ซึ่งเล็กกว่าคันแรกพอสมควร ทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น
“ภายในทีมก็มีการวางแผนที่จะเพิ่ม KFC Food Truck ขึ้นมาอีก แต่คงจะไม่ใช่ภายในปีนี้แน่ๆ คงได้เห็นอีกทีปีหน้า” นงนุชกล่าวทิ้งท้าย
1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- KFC ทดลองโมเดล ‘ฟู้ดทรัก’ เป็นคันแรกในเอเชีย เน้นเจาะงานอีเวนต์
- KFC ไทย รุกตลาดแพลนต์เบส เตรียมเสิร์ฟเมนู ‘ไก่ทอดจากพืช’ ใช้วัตถุดิบจากแบรนด์ Meat Zero ของ CPF
เรื่อง: ถนัดกิจ จันกิเสน
2
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
โฆษณา