12 ต.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
ความยิ่งใหญ่ของ McDonald’s ที่จุดเริ่มต้นมาจาก “การหักหลัง”
1
“McDonald’s” เป็นเชนร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียง Subway โดยในปัจจุบัน McDonald’s มีมากกว่า 39,000 สาขา ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
3
McDonald’s ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้เผยแพร่วัฒนธรรมอาหารฟาสต์ฟูดแบบอเมริกัน ให้กับคนทั่วโลก ผ่านการขยายสาขาด้วยวิธีการขายแฟรนไชส์เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน รายได้จากการขายแฟรนไชส์ เป็นสัดส่วนราว 57% ของรายได้ทั้งหมด
4
แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ที่ร่ำรวยไปกับการเติบโตของร้าน McDonald’s กลับไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง อย่างสองพี่น้องตระกูล McDonald แต่กลายเป็นชาย ที่มีชื่อว่า “Ray Kroc”
2
Kroc คือใคร
แล้วเขาเกี่ยวข้องกับร้าน McDonald’s อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
ย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสองพี่น้องตระกูล McDonald
Richard และ Maurice McDonald เกิดและเติบโตในช่วงต้นทศวรรษ 1900s
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในครอบครัวผู้อพยพจากไอร์แลนด์ ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน
พ่อของพวกเขา ทำงานเป็นคนจัดการตารางทำงานที่โรงงานผลิตรองเท้า
แต่พออายุได้ 42 ปี เขากลับถูกไล่ออก เพราะทางโรงงานบอกว่าเขาอายุเยอะเกินไป
และแม้ว่าเขาจะทำงานที่นี่มาอย่างยาวนาน แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้มีเงินชดเชยใด ๆ
ให้กับคุณพ่อของ McDonald เลย
5
เรื่องนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้พี่น้อง McDonald ตั้งใจว่าโตขึ้น
พวกเขาจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับสิ่งที่พ่อพวกเขาต้องเจอ
2
ทั้งคู่เลยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องทำธุรกิจจนมีเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ได้ก่อนอายุ 50 ปี
พอถึงช่วงทศวรรษ 1920s หลังเรียนจบมัธยม สองพี่น้องก็ออกจากบ้านไปสร้างตัว
3
ด้วยความที่พวกเขาสนใจด้านการกำกับและผลิตภาพยนตร์ ทั้งคู่เลยเดินทางไปที่รัฐแคลิฟอร์เนียและได้เริ่มทำงานที่ “Columbia Movie Studios” โดยจะคอยรับผิดชอบงานรับจ้างทั่วไป
อย่างเช่น การจัดไฟและขับรถขนของ แลกกับเงินราว 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์
3
หลังจากเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ทั้งคู่เลยลองเริ่มทำธุรกิจเองในปี 1932
เริ่มต้นจากการซื้อโรงภาพยนตร์เก่ามาปรับปรุงแล้วเปิดให้บริการในชื่อ The Beacon
9
แต่ในช่วงเวลานั้น ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
กิจการที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์จึงแทบไม่มีรายได้
1
สองพี่น้อง McDonald จึงต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดด้วยการกินเพียงวันละมื้อ โดยมีเมนูประจำคือฮอตด็อกตรงรถเข็นที่ขายอยู่แถว The Beacon ซึ่งพวกเขาสังเกตเห็นว่าร้านฮอตด็อกเป็นกิจการไม่กี่อย่างที่ยังขายดีมากท่ามกลางวิกฤติ
หลังจากพ้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำไปแล้ว ในปี 1937 สองพี่น้องก็ตัดสินใจขายโรงภาพยนตร์
แล้วหันไปเดิมพันกับธุรกิจอาหารแทน โดยทั้งคู่ก็เริ่มจากขายฮอตด็อกแบบรถเข็น เช่นกัน
2
ผ่านไป 2 ปี ฮอตด็อกที่พวกเขาตระเวนขายด้วยรถเข็นก็ไปได้สวย ทั้งคู่เลยเริ่มหาสถานที่เพื่อเปิดเป็นร้านอาหารแบบลงหลักปักฐานในรัฐแคลิฟอร์เนีย จนในที่สุดก็ได้ทำเลที่เมืองซานเบอร์นาร์ดิโน
1
ในปี 1940 สองพี่น้อง เปิดร้านอาหารแบบไดรฟ์อินที่ชื่อว่า “McDonald’s Bar-B-Que” ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ให้ลูกค้าขับรถมาจอดในลานจอดรถของร้านแล้วทานอาหารบนรถ โดยทางร้านก็จะมีพนักงานคอยรับออร์เดอร์และเสิร์ฟอาหารให้ถึงที่รถ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในตอนนั้น
4
หลังจากนั้นไม่นาน McDonald’s Bar-B-Que ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนลานจอดรถเต็มตลอด ธุรกิจนี้เอง จึงทำให้สองพี่น้อง เริ่มสร้างตัวได้
1
แต่พอเข้าสู่ปีที่ 8 ก็มีเรื่องให้ทั้งคู่ต้องกลุ้มใจ เพราะแม้ร้านจะคนแน่นตลอด แต่ผลกำไรกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย พวกเขาเลยคิดหาวิธีการเพิ่มกำไร จนได้ข้อสรุปว่าต้องทำทุกอย่างให้ได้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าต่อวัน
5
ในปี 1948 สองพี่น้องเลยปิดร้านชั่วคราวเพื่อปรับปรุงและได้ตัดสินใจลดเมนูลงจาก 25 เมนูเหลือเพียง 3 เมนู โดยมีแฮมเบอร์เกอร์เป็นเมนูหลัก เพราะเป็นเมนูที่ขายดีสุด รวมถึงการปรับลดราคาขาย เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้น
3
นอกจากนี้ ทั้งสองพี่น้องยังมีการปรับระบบการทำงานในครัวใหม่ ตั้งแต่การเตรียมปรุงอาหารไว้จนพร้อมเสิร์ฟมากที่สุด เพื่อให้เวลาที่ลูกค้าสั่งอาหาร ขั้นตอนการปรุงจะได้มีไม่มาก
ซึ่งวิธีแบบนี้ ก็จะทำให้พวกเขาใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำอาหาร ไปจนถึงมือลูกค้า รวดเร็วที่สุด นั่นเอง
1
ในขณะเดียวกัน ระบบการทำงานในครัวก็เปลี่ยนมาเป็นระบบที่คล้ายกันกับสายพานการผลิตในโรงงาน คือพนักงาน 1 คนรับผิดชอบหน้าที่เพียงอย่างเดียว แล้วทำสิ่งนั้นซ้ำไปมา
4
ทั้งนี้ รูปแบบของร้านก็เปลี่ยนจากการมีพนักงานไปรับออร์เดอร์และเสิร์ฟที่รถ กลายมาเป็นให้ลูกค้าขับรถวนสั่งอาหารและรอรับอาหารแทน
2
โดยระบบร้านใหม่ที่สองพี่น้องช่วยกันคิดนี้ นอกจากจะช่วยลดจำนวนพนักงานลงได้เยอะเพราะไม่ต้องมีพนักงานเสิร์ฟแล้ว ที่สำคัญระบบดังกล่าวก็ได้ทำให้ลูกค้าแต่ละคนใช้เวลารอรับอาหารไม่ถึง 1 นาที
2
ผ่านไป 3 เดือน ร้านอาหารระบบด่วนแบบใหม่นี้ก็พร้อมให้บริการ โดยใช้ชื่อใหม่ที่ตัดคำว่า Bar-B-Que ออก เหลือเพียง “McDonald’s” และมีเมนูเหลือเพียง
1
แฮมเบอร์เกอร์ 15 เซนต์
ชีสเบอร์เกอร์ 19 เซนต์
เฟรนช์ฟรายส์ 10 เซนต์
มิลก์เชก 20 เซนต์
2
จากการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมา ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่ารายได้ของร้านลดลงไปครึ่งหนึ่ง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มเดิมส่วนใหญ่บอกว่าเมนูน้อยเกินไป รวมถึงลูกค้าบางคนพอเห็นว่าไม่มีบริการให้พนักงานมาเสิร์ฟอาหารที่รถก็เลยตัดสินใจไม่ใช้บริการ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป McDonald’s ก็เริ่มกลับมาขายดีอีกครั้ง เพราะจุดเด่นเรื่องราคาที่เข้าถึงง่ายและเวลาที่ใช้รออาหารไม่ถึงนาที สามารถดึงดูดลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งได้แทน
3
ความนิยมของ McDonald’s ก็ทำให้ร้าน ได้เริ่มขายแฟรนไชส์ในแถบแคลิฟอร์เนียและแอริโซนา จนมี 21 สาขาในปี 1954
2
โดยหนึ่งในผู้ที่รับรู้ถึงความนิยมของ McDonald’s คือชายวัย 52 ปี
ที่ชื่อว่า “Ray Kroc” ที่เราได้กล่าวถึงไปตั้งแต่ต้นเรื่อง
แล้วเขาเป็นใคร ?
Kroc เป็นเซลส์ขายเครื่องทำมิลก์เชกมา 15 ปี ซึ่งในช่วงระหว่าง 2 ปีมานี้ เครื่องทำมิลก์เชกเริ่มขายได้ไม่ดีเท่าเมื่อก่อน
แต่ร้านที่ชื่อว่า McDonald’s กลับเป็นร้านที่ใช้เครื่องทำมิลก์เชกมากถึง 8 เครื่อง โดยแต่ละเครื่องสามารถทำมิลก์เชกได้ 5 แก้วต่อครั้ง นั่นหมายความว่าร้านนี้ สามารถทำมิลก์เชกพร้อมกันได้ถึง 40 แก้ว ซึ่งก็นับว่าสวนทางกับยอดขายเครื่องทำมิลก์เชก ที่ปรับตัวลดลง
4
แถมอยู่ ๆ ก็ได้มีคนติดต่อเขา เพื่อขอซื้อเครื่องทำมิลก์เชกพร้อม ๆ กัน และต้องการสินค้าที่เหมือนกับของร้าน McDonald’s
ด้วยความสงสัย Kroc เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับร้านนี้ แล้วพอมีโอกาสไปทำธุระที่ลอสแอนเจลิส เขาเลยแวะไปดูร้าน McDonald’s
ภายนอกของร้าน McDonald’s แม้ว่าจะดูเหมือนร้านทั่วไป แต่กลับมีลูกค้าแน่นมาก
Kroc ใช้เวลาสำรวจร้านจนได้เห็นระบบการทำงานในครัวที่พนักงาน 1 คนรับผิดชอบ 1 หน้าที่ ทำให้ McDonald’s ใช้เวลาทำอาหารให้เสร็จได้ ในระยะเวลาเพียง 30 วินาที เท่านั้น
2
จากประสบการณ์ทำงานของ Kroc ทำให้เขาได้เห็นร้านอาหารมามากมาย แต่เขายังไม่เคยเจอร้านที่มีศักยภาพขนาดนี้มาก่อน ทำให้เขามองว่า McDonald’s สามารถขยายสาขาไปได้ทั่วประเทศ
2
Kroc เลยพูดคุยกับพี่น้อง McDonald เพื่อยื่นข้อเสนอขอเป็นตัวแทนขายแฟรนไชส์ให้กับ McDonald’s
แต่สองพี่น้องปฏิเสธ เพราะทั้งคู่ต้องการขยายกิจการแบบค่อยเป็นค่อยไป และพวกเขาก็พอใจกับความสำเร็จในระดับนี้แล้ว
2
อย่างไรก็ตาม Kroc ก็ไม่ยอมแพ้ เพราะในทันทีที่เขาเดินทางกลับไปที่ชิคาโก
เขาก็ได้เริ่มร่างสัญญาเพื่อขอสิทธิ์ขายแฟรนไชส์ McDonald’s ทั่วสหรัฐอเมริกา
2
โดยทุกแฟรนไชส์จะต้องเหมือนกันหมด ทั้งการใช้ชื่อ McDonald’s
รวมถึงโลโกตัว M สีเหลือง จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่สองพี่น้องจะยินยอม
1
และในสัญญายังระบุว่าเขาจะคิดส่วนแบ่ง 1.9% จากยอดขายของแฟรนไชส์แต่ละสาขา โดย 1.4% เป็นของ Kroc และอีก 0.5% เป็นของพี่น้อง McDonald โดยที่สองพี่น้องไม่ต้องทำอะไรเลย
ด้วยข้อเสนอแบบนี้ จึงทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองพี่น้องจึงยอมตกลงให้ Kroc เป็นตัวแทนขายแฟรนไชส์
ในปี 1955 Kroc ก็ได้เปิดแฟรนไชส์ McDonald’s สาขาแรกที่เมืองเดสเพลนส์ รัฐอิลลินอยส์
ผ่านไป 1 ปี Kroc ขายแฟรนไชส์ได้ 18 สาขา ทุกสาขาขายดี แต่ติดปัญหาว่าทำกำไรไม่ได้
2
Harry Sonneborn ซึ่งเป็น CFO ที่ทำงานกับ Kroc ในตอนนั้นให้คำแนะนำว่า ธุรกิจจริง ๆ ของ McDonald’s ไม่ใช่การขายอาหาร แต่เป็นอสังหาริมทรัพย์
2
ปี 1956 Kroc จึงเปิดบริษัทย่อยด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อ Franchise Realty Corp. เพื่อเป็นเจ้าของที่ดินที่แฟรนไชส์สาขาใหม่ ๆ จะไปเปิด แล้วเรียกเก็บค่าเช่าที่จากผู้ขอแฟรนไชส์อีกทีหนึ่ง ซึ่งการเก็บค่าเช่านี้ ทำเงินให้ McDonald’s ได้มากกว่า ค่าส่วนแบ่งจากยอดขายเสียอีก
1
โมเดลนี้ก็ทำให้ McDonald’s ที่คุณ Kroc รับผิดชอบมีรายได้และกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนในปี 1960 Kroc ขยายแฟรนไชส์ไปได้กว่า 200 สาขา
2
แต่ความเร็วในการขยายสาขาระดับนี้ ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่ Kroc พอใจ แถมเขากับสองพี่น้อง McDonald ยังมีวิสัยทัศน์การทำธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน ทำให้พวกเขาขัดแย้งกันบ่อยครั้ง Kroc เลยเริ่มคิดที่จะเป็นเจ้าของ McDonald’s แต่เพียงผู้เดียว
1
ปี 1961 Kroc เลยขอซื้อกิจการ McDonald’s มาจากสองพี่น้องในราคา 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สองพี่น้องตกลงขายแบรนด์ McDonald’s และขอส่วนแบ่งรายได้ 1.9% ของยอดขายร้าน McDonald’s ทุกสาขาตลอดไป
2
มาถึงตรงนี้ ความฝันของพี่น้อง McDonald ที่จะมีเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในอายุ 50 ปี ก็เป็นจริงแล้ว แถมพวกเขายังจะมีเงินเข้ากระเป๋าจากส่วนแบ่งยอดขายไปตลอด โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย
2
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Kroc ได้ตอบตกลงเรื่องส่วนแบ่งรายได้ แต่มันก็เป็นสัญญาแบบปากเปล่า เท่านั้น โดยอ้างเหตุผลว่าถ้าระบุเงื่อนไขนี้ในสัญญาแบบลายลักษณ์อักษร จะทำให้เขาขายแฟรนไชส์ได้ยากขึ้น
2
สุดท้ายแล้ว คำสัญญานั้นก็ลอยหายไปกับอากาศ เพราะ Kroc ตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะไม่ให้ส่วนแบ่ง
1
สองพี่น้อง McDonald จึงได้เพียงเงิน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ..
อย่างไรก็ตาม ในสัญญาขายร้าน McDonald’s กลับไม่ได้รวมร้าน McDonald’s สาขาแรกไว้ด้วย
ซึ่งสองพี่น้องตั้งใจว่าจะเป็นเจ้าของสาขานี้เองต่อไป แต่จะเปลี่ยนชื่อร้านเป็น The Big M แทน
1
Kroc เพิ่งมารู้เรื่องนี้ทีหลัง ทำให้เขาโกรธสองพี่น้อง McDonald มาก
Kroc เลยมาเปิดร้าน McDonald’s ใกล้กับร้าน The Big M
จนในที่สุดร้านของสองพี่น้องก็ต้องปิดตัวหลังจากนั้น 6 ปี..
3
หลังจากนั้น พี่น้อง McDonald ก็ไม่เคยได้เงินจากร้านอาหารที่พวกเขาปลุกปั้นมา อีกเลย
1
ในปี 1965 McDonald’s ขายแฟรนไชส์ได้กว่า 700 สาขา และทำกำไรได้มากมายจากโมเดลเก็บค่าเช่าที่ โดยในปีนั้น Kroc ก็ได้นำ McDonald’s เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
3
ปัจจุบัน McDonald’s มีมูลค่าบริษัทกว่า 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 6.2 ล้านล้านบาท มากกว่ามูลค่าที่ Kroc ซื้อกิจการมาจากสองพี่น้องกว่า 68,000 เท่า
และร้าน McDonald’s ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมฟาสต์ฟูดแบบอเมริกัน ที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี
ถึงตรงนี้ ถ้าจะให้สรุปว่าความยิ่งใหญ่ของ McDonald’s ในวันนี้ เกิดขึ้นได้เพราะใคร
เราก็คงต้องยกความดีความชอบให้กับทั้งผู้ริเริ่มโมเดลร้านอาหารฟาสต์ฟูด อย่างสองพี่น้อง McDonald
2
อีกส่วนหนึ่ง ก็น่าจะมาจาก Kroc ผู้ที่เห็นศักยภาพของร้าน McDonald’s มากกว่าใคร และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของกิจการ จนถึงขั้นต้องหักหลัง ไม่แบ่งรายได้ให้ ผู้ก่อตั้งที่เริ่มก่อร่างสร้างร้านมาตั้งแต่วันแรก แม้ว่าจะมีสัญญาปากเปล่ากันแล้ว นั่นเอง..
1
โฆษณา