13 ต.ค. 2021 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
‘Delta Works’ โปรเจกต์จัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลกของชาวดัตช์
ลบคำว่า “น้ำท่วมซ้ำซาก” ออกจากสารบบของเนเธอร์แลนด์
1
“น้ำท่วม” ภัยธรรมชาติที่แทบจะเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่ไม่ควรปกติในเกือบทุกประเทศทั่วโลกที่มีแม่น้ำไหลผ่าน มีฝนตกชุก มีพายุฝน และมีลมมรสุม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเหมือนพิบัติภัยที่สามารถบริหารจัดการควบคุมได้ แต่บางทีก็เหมือนจะควบคุมไม่ได้ เพราะน้ำมันไหลไปได้ทุกทิศทุกทางตราบใดที่มีพื้นที่ให้มันไป และเมื่อเกิดน้ำท่วมทีไรย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของพลเมืองในประเทศนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2
การควบคุมธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำ มีประเทศหนึ่งที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าแห่งการควบคุมน้ำ” และสามารถเอาชนะพลังของธรรมชาตินี้มาได้เป็นเวลาเกือบ 70 ปีแล้ว
“ประเทศเนเธอร์แลนด์” ดินแดนที่พื้นที่จำนวนมากอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่สามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้โดยที่แทบจะไม่ประสบกับน้ำท่วมใหญ่เลยตลอดเกือบร้อยปี
🔵 ‘Delta Works’ ระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุด และใหญ่ที่สุดในโลก
อย่างที่กล่าวไปว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีแผ่นดินอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล โดยมีพื้นที่ราว 40% และอีก 50% อยู่สูงกว่าระดับน้ำไม่เกิน 1 เมตรเท่านั้น ซึ่งชื่อของประเทศเนเธอร์แลนด์ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ก็มีความหมายว่า “แผ่นดินต่ำ” ทั้งสิ้น
ด้วยการที่ภูมิประเทศเอื้อต่อการเกิดอุทกภัยได้ตลอดเวลา ทำให้ชาวดัตช์ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับภัยธรรมชาตินี้ตั้งแต่อดีต เพราะด้วยขนาดของประเทศที่ไม่ได้กว้างใหญ่มีพื้นที่เพียง 41,526 ตารางกิโลเมตร หรือใกล้เคียงกับพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานีรวมกัน และมีลักษณะเป็นอ่าวลึกเข้ามาด้านในของแผ่นดินผสมกับตั้งอยู่บนปากแม่น้ำหลายสาย
ทำให้เมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุน หรือมีพายุรุนแรงนอกชายฝั่ง มวลน้ำก็จะหลากเข้าท่วมแผ่นดินที่อยู่ต่ำติดผืนน้ำได้ง่าย ดังเช่นที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศเมื่อปี 1953 หรือที่รู้จักกันว่า “1953 North Sea Flood” เกิดจากมวลน้ำในทะเลเหนือได้หนุนสูงจากพายุโหมกระหน่ำจนเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นดินที่ต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สร้างความเสียหายต่อทั้งเศรษฐกิจ มีผู้สังเวยชีวิตไปถึง 2,000 คน ทั้งยังทำให้ผู้คนนับแสนไร้ที่อยู่อาศัยทันที โดยน้ำท่วมครั้งนั้นทำให้พื้นที่ราว 9% ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ
1
จากเหตุการณ์ในวันนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นในความพยายามของชาวดัตช์ในการควบคุมพลังของธรรมชาติ ด้วยการสร้างเมกะโปรเจกต์ที่นับได้ว่ายิ่งใหญ่และท้าทายความสามารถทางวิศวกรรมอย่างมากในเวลานั้น โดยใช้ชื่อว่า ‘Delta Works’ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ได้เพียง 20 วัน รัฐบาลในขณะนั้นได้รวบรวมหัวกะทิที่มีความเก่งกาจในด้านต่างๆ จัดตั้ง “คณะกรรมการดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ” หรือ ‘Delta Committee’ โดยเป้าหมายสูงสุดคือ การวางแผนโครงการต่อสู้กับธรรมชาติที่จะทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องไม่เกิดน้ำท่วมในอนาคตอีกต่อไป
2
Delta Works นับเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประกอบด้วยกำแพงกันคลื่น คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ และเขื่อน รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ ก่อสร้างในจุดที่เป็นเส้นทางแม่น้ำสายหลัก และตลอดแนวชายฝั่งที่มีความยาว 700 กิโลเมตรทั้งประเทศ ใช้งบประมาณมหาศาลตลอดโครงการถึง 240,000 ล้านบาท และระยะเวลาก่อสร้างครบทุกเฟสยาวนานถึง 43 ปี ตั้งแต่ปี 1954 – 1997
2
โครงการนี้เปรียบเสมือนกับป้อมปราการขนาดใหญ่ที่คอยปกป้องประชากรกว่า 17 ล้านคนทั่วประเทศ เพราะจุดที่ก่อสร้างคือบริเวณปากแม่น้ำไรน์-เมิซ-สเกลต์ ซึ่งเชื่อมติดกับทะเลเหนือ และปากอ่าวต่างๆ ที่น้ำเข้าถึงด้านในของแผ่นดินทุกจุด เพื่อทำให้เนเธอร์แลนด์สามารถควบคุมระดับน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จถาวร
1
นอกจากนี้ แม่น้ำสายอื่นๆ ก็ทยอยสร้างเขื่อนและประตูควบคุมระบายน้ำทั้งหมดทุกด้าน รวมทั้งการพัฒนาระบบวิศวกรรมเพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำไปพร้อมกับการรักษาเส้นทางเดินเรือสำคัญของประเทศจากท่าเรือรอตเตอร์ดัม และท่าเรือแอนต์เวิร์ป ที่อยู่ลึกเข้าไปตอนในของแม่น้ำ โดยใช้การสร้างเขื่อนรูปแบบพิเศษซึ่งเรียกว่า ‘Compartment Dams’ ที่แบ่งลำน้ำออกเป็นสองช่อง โดยช่องที่กั้นแม่น้ำยังคงทำหน้าที่อยู่ แต่อีกช่องหนึ่งจะเป็นเส้นทางเพื่อให้เรือสามารถผ่านเข้าและออกได้ โดยที่จะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามาเกินกว่าระดับเหมาะสม
4
นอกจากจะยับยั้งเหตุการณ์น้ำท่วมได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ยังทำให้ได้แหล่งน้ำจืดเพิ่มขึ้นจากการควบคุมระดับน้ำทะเลที่จะไหลเข้ามาผสมกับน้ำจืดที่ไหลมาจากแม่น้ำบริเวณปากอ่าวที่ปกติจะต้องกลายเป็นกร่อยที่ไม่สามารถนำไปใช้ในเพื่อการอุปโภค บริโภค หรือทำการเกษตรได้ อ่าวน้ำกร่อยได้กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดไปในที่สุด ทั้งยังได้แผ่นดินใหม่ๆ ที่งอกเพิ่มขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยของผู้คนอีกด้วย
1
🔵 เขื่อนที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ และอาชีพท้องถิ่น
แม้ Delta Works จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ รวมทั้งการควบคุมกระแสน้ำทั้งด้านนอกและด้านในของโครงการได้ แต่กลับเป็นโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำที่มีความยืดหยุ่นสูง และไม่ทำลายวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านที่อยู่ตามแนวของโครงการ
2
ยกตัวอย่างเช่นบริเวณปากแม่น้ำ Schelde ที่จุดนั้นเป็นจุดที่มีน้ำกร่อยสูง และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งชาวประมงท้องถิ่นได้ประกอบอาชีพเพื่อจับปลาและสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ มาช้านาน การสร้างเขื่อนแบบปิดปากแม่น้ำอย่างถาวรอาจจะทำลายระบบนิเวศน์ และทำให้ชาวประมงท้องถิ่นได้รับความเดือนร้อนจากการไม่สามารถประกอบอาชีพดั้งเดิมได้
จึงมีการปรับรูปแบบจากเขื่อนมาเป็นประตูระบายน้ำแบบเปิดปิดได้แทน โดยมีทั้งหมด 62 ช่อง กว้าง 40 เมตรต่อช่อง ซึ่งส่วนใหญ่ของประตูระบายน้ำนี้จะเปิดค้างทิ้งไว้เพื่อให้การหมุนเวียนของน้ำเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ แต่ประตูนี้จะถูกปิดลงก็ต่อเมื่อมีพายุเข้าแบบหนักๆ หรือเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงมากเกินไปจนอาจไหลย้อนเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่ง
แม้ว่าจะต้องเพิ่มงบประมาณการก่อสร้างให้สูงขึ้นไปอีก และประตูระบายน้ำปากแม่น้ำ Schelde ยังเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่มีราคาแพงที่สุดในโลกอีกด้วย แต่รัฐบาลก็ยอมแลกกับงบประมาณมหาศาลเพื่อความต้องการของประชาชน และให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่โดยไม่ทำลายวิถีชุมชนดั้งเดิม
🔵 การจัดการน้ำคือหน้าที่พลเมืองต้องจ่าย ‘ภาษี’ ทุกคน
แน่นอนว่าโครงการ Delta Works ไม่ได้จบแค่การใช้งบประมาณที่สูงลิบก่อสร้างจนเสร็จ แล้วจะจบแค่นั้น เพราะสิ่งที่ตามมาคือ ค่าบริหารจัดการ ค่าบำรุงรักษา และค่าก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกมากมายที่ต้องใช้เงินมหาศาลไปกับการดำเนินโครงการดังกล่าวเช่นกัน
1
ดังนั้นประชาชนชาวดัตช์ทุกคนจึงต้องมีส่วนในการรับผิดชอบปราการป้องกันประเทศนี้ร่วมกัน เพราะถือว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ทุกคนได้ประโยชน์ และมีชีวิตที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมอย่างถาวร ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องมีการจัดเก็บ “ภาษีเกี่ยวกับน้ำ” หรือ ‘Water Authority Tax’ ให้กับ ‘Waterschap’ องค์กรการจัดการน้ำระดับท้องถิ่น และ ‘Rijkswaterstaat’ องค์กรการจัดการน้ำระดับประเทศ เพื่อใช้ในการดูแลบำรุงรักษาเขื่อน กำแพงกันคลื่น ประตูระบายน้ำ และงานระบบป้องกันน้ำท่วมทั้งหมด รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย และการบริหารจัดการแม่น้ำลำคลองทั้งหมดที่มีอยู่อย่างมากมายในเนเธอร์แลนด์
1
โดยประชาชนจะต้องจ่ายภาษีเกี่ยวกับน้ำในสัดส่วนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับรายได้ รูปแบบการอยู่อาศัย จำนวนสมาชิกในครอบครัว และเมืองที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีการจ่ายในอัตราภาษีที่ไม่เท่ากัน เฉลี่ยที่ 200 – 624 ยูโรต่อปี หรือราว 7,600 – 24,000 บาทต่อปี โดยยกตัวอย่างอัตราภาษีการจัดเก็บภาษีของหน่วยงานน้ำปี 2564 (Water authority tax rates 2021) อ้างอิงจาก Waternet บริษัทด้านการบริหารจัดการน้ำในกรุงอัมสเตอร์ดัมและปริมณฑล
🔹️ ค่าระบบน้ำที่อยู่อาศัย : 117.04 ยูโรต่อครัวเรือน
🔹️ ค่าระบบน้ำสำหรับอาคาร : 0.012126% ต่อยูนิตอาคาร
🔹️ ค่าระบบน้ำสำหรับที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง : 112.31 ยูโรต่อ 10,000 ตารางเมตร
🔹️ ค่าระบบน้ำสำหรับถนน : 224.62 ยูโรต่อ 10,000 ตารางเมตร
🔹️ ค่าระบบน้ำสำหรับพื้นที่ธรรมชาติ : 2.18 ยูโรต่อ 10,000 ตารางเมตร
🔹️ ค่าบำบัดน้ำเสีย : 56.27 ยูโรต่อหน่วยมลพิษ
🔹️ ค่ามลพิษ : 56.27 ยูโรต่อหน่วยมลพิษ
อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ยังคงต้องมีต่อไป เพราะนับวันภัยธรรมชาติจากน้ำยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการละลายตัวของน้ำแข็งขั้วโลกที่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เนเธอร์แลนด์ก็ยังคงไม่หยุดที่จะต้องหาทางสร้างปราการเพื่อป้องกันดินแดนของตัวเอง และรักษาคุณภาพชีวิตของพลเมืองเอาไว้
แม้นักสิ่งแวดล้อมจะตั้งคำถามว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างกั้นกระแสน้ำแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติให้ผิดเพี้ยนไปหรือไม่ แต่ที่สุดแล้วโครงการนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเนเธอร์แลนด์อย่างมหาศาล ประเทศที่มีขนาดเล็กๆ กว่าประเทศไทยถึง 13 เท่าแต่สามารถเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยคิดเป็นมูลค่าถึง 3.76 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2020 นั่นเทียบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินทั้งปีของประเทศไทย และยังมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลก ด้วย GDP สูงถึง 30 ล้านล้านบาท กับประชากรราว 17 ล้านคน (ไทยอันดับ 25 มูลค่า 19 ล้านล้านบาท 67 ล้านคน)
1
ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการที่ประเทศแห่งนี้มีการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้อย่างถาวร กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่สะดุดเพราะภัยธรรมชาติ แหล่งน้ำไม่ขาดแคลน พืชผลทางการเกษตรปลูกได้ตามฤดูกาล นี่จึงเป็นผลของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชากรที่แม้จะต้องจ่ายแพง แต่มันก็คุ้มค่าที่จะจ่ายนั่นเอง
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
โฆษณา