12 ต.ค. 2021 เวลา 20:55 • ปรัชญา
#๑๓ตุลารำลึก
#น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
จ อ ม ป ร า ช ญ์
ผู้ ส ร้ า ง ป ร า ช ญ์
พ ร ะ บิ ด า แ ห่ ง
ศ า ส ต ร์ พ ร ะ ร า ช า
"ศาสตร์พระราชา" หมายถึง ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยและพัฒนาจนเป็นผลสำเร็จว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนได้
จึงได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นแก่พสกนิกรชาวไทย ทั้งในรูปแบบของพระราชดำรัส แนวพระราชดำริ หลักการทรงงาน และปรากฏเป็นรูปธรรมนานัปการ ทั้งในโครงการส่วนพระองค์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
“ปราชญ์ “ หมายถึง ผู้มีปัญญารอบรู้ “จอมปราชญ์” จึงหมายถึงผู้เป็นยอดในหมู่ผู้มีปัญญารอบรู้
ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกและคนไทยทั้งปวงว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ ของประเทศไทย ทรงดำรงอยู่ในฐานะ “จอมปราชญ์” อย่างแท้จริง
ความเป็นจอมปราชญ์ของพระองค์ เป็นความมีปัญญารอบรู้ที่รอบด้าน ลึกซึ้งกว้างไกล ครอบคลุมทุกมิติขององค์ความรู้ในการสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนชาวไทย และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ ทรงเป็นจอมปราชญ์ทั้งศาสตร์และศิลป์ด้านต่างๆ มากมายเหลือคณานับ ฯลฯ อาทิ
จอมปราชญ์ด้านดนตรี ทรงดนตรีและประพันธ์เพลงไว้ประมาณ ๔๘ เพลง ทรงใช้ดนตรีสร้างความสุขให้กับประชาชนและปลุกเร้าให้ราษฎรเกิดความรักชาติรักแผ่นดินและสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งทรงได้รับการประกาศจารึกพระนามไว้ที่สถาบันการดนตรีและศิลปะ ณ กรุงเวียนนา นับเป็นบุคคลที่ ๒๓ ของโลกที่ได้รับเกียรตินี้
จอมปราชญ์ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปกรรมและภาพถ่าย ทรงวาดภาพจิตรกรรมไว้ถึง ๔๗ ภาพ ทรงปั้นงานประติมากรรมหลายชิ้น ทรงออกแบบ วัดพระราม ๙ จนได้รับการขนานนามว่า “โบสถ์พอเพียง” การเสด็จทรงงานที่มีกล้องถ่ายรูปคล้องพระศออยู่ตลอดเวลา เพื่อทรงถ่ายภาพในเชิงศิลป์ และถ่ายภาพสถานที่ สภาพภูมิประเทศ ผู้คนที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในงานพัฒนา
จอมปราชญ์ด้านภาษาและวรรณกรรม ทรงพระราชนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง เช่น “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” แสดงถึงพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นไปด้วยความผูกพันและความห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ “พระมหาชนก” สอนเรื่องความเพียรความอดทน “ทองแดง” สอนเรื่องความกตัญญู และพระราชนิพนธ์แปลอีกหลายเรื่อง อาทิ “ติโต” สะท้อนถึงสังคมที่หลากหลาย แต่อยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” เรื่องราวของคนที่ปิดทองหลังพระ เอาชีวิตเข้าเสี่ยง ทำภารกิจจนสำเร็จโดยไม่จำเป็นต้องมีใครรู้
จอมปราชญ์ด้านกีฬา ทรงกีฬาหลายประเภท เช่น แบดมินตัน เทนนิส จ็อกกิง ว่ายน้ำ กอล์ฟ ยิงปืน และเรือใบ ทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง และเรือนั้นนำเหรียญทองมาสู่ประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ทรงเล่นเรือใบเพื่อได้เรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมือง
จอมปราชญ์ด้านการสื่อสาร อุตุนิยมวิทยา และคอมพิวเตอร์ ทรงมีความรู้เรื่องคลื่นวิทยุและสามารถออกแบบเสาวิทยุเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทรงมีความเชี่ยวชาญในการใช้แผนที่เพื่อเสด็จทรงงานให้กับประชาชนทุกภูมิภาค ในด้านอุตุนิยมวิทยา ทรงคำนวณและพยากรณ์สภาพดินฟ้าอากาศได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อเฝ้าระวังภัยให้กับราษฎรได้ทันท่วงที ในด้านคอมพิวเตอร์ ทรงออกแบบโปรแกรมตัวอักษรเทวนาครีพระราชทานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลออกแบบซอฟต์แวร์หลายโปรแกรม และทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ส.ค.ส.พระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยตลอดทุกปี
จอมปราชญ์ด้านสิ่งประดิษฐ์ ทรงประดิษฐ์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนมากมายหลายรายการ สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ได้รับรางวัลในงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียมหลายรางวัล เช่น เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา) การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ฝนหลวง และทฤษฎีใหม่ ฯลฯ ทรงได้รับการถวายเหรียญรางวัล “ผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา” จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก นับเป็นพระองค์แรกของโลกที่ได้รับรางวัลนี้ นอกจากนั้น ทรงได้รับการถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เป็นพระองค์แรกของโลก จากสหภาพวิทยาศาสตร์ดินนานาชาติ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”
จอมปราชญ์ด้านการพัฒนามนุษย์ ทรงศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนามนุษย์ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน ด้วยหลักคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” บูรณาการเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์ทั้งประชาชนคนไทยของพระองค์และผู้คนทั้งโลก จนกระทั่งทรงได้รับการถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” จากองค์การสหประชาชาติ และได้น้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก
หลักคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องใช้ความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม นำไปสู่รูปธรรมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลายด้าน เช่น “ทฤษฎีใหม่” ในการบริหารจัดการนาสวนไร่ “แก้มลิง” “ฝายชะลอน้ำ” เพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งในยามน้ำมากและน้ำน้อย “แกล้งดิน” “หญ้าแฝก” เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพดิน “ไม้สามประโยชน์สี่” เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ พันธุ์พืช และรักษาต้นน้ำ “ฝนหลวง” เพื่อสร้างฝนในยามแล้ง “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เพื่อบำบัดรักษาสภาพน้ำ “ไบโอดีเซล” เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก ฯลฯ
“ศาสตร์พระราชา” จาก “จอมปราชญ์แห่งแผ่นดิน” อันอเนกอนันต์นี้ ได้ช่วยแก้ปัญหา พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๖๘๕ โครงการ และเผยแพร่ให้ประชาชนนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของตนเองผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่งทั่วทุกภูมิภาค
การก้าวตามรอยพระบาท สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธาน ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้ “คิด-ทำ-นำ-เปลี่ยน” เพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับตนเอง ครอบครัว และขยายผลสู่ชุมชน ได้สร้าง “ปราชญ์ชาวบ้าน” “ปราชญ์ท้องถิ่น” “ปราชญ์เกษตร” “ปราชญ์ภูมิปัญญาไทย” ให้เกิดขึ้นทั่วทุกท้องถิ่นทั้งแผ่นดิน โดยมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ของประเทศไทย ผู้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งศาสตร์พระราชา" “จอมปราชญ์ผู้สร้างปราชญ์ จอมปราชญ์แห่งแผ่นดิน” ได้ทรง “สอนให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น และเป็นแบบอย่างให้ทำตาม” และจะทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับพสกนิกรชาวไทยของพระองค์และชาวโลกตลอดไป...
สร้างประโยชน์ สูงสุด มนุษยชาติ
จอมปราชญ์ ผู้สร้างปราชญ์ ทุกศาสตร์ศิลป์
โลกทูนเทิด เชิดชู องค์ภูมินทร์
จอมปราชญ์ แห่งแผ่นดิน ของคนไทย...
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
(บทความเรื่อง "จอมปราชญ์ผู้สร้างปราชญ์ จอมปราชญ์แห่งแผ่นดิน" เรียบเรียง โดย ดร.อภิชาติ ดำดี จากหนังสือ "จอมปราชญ์ผู้สร้างปราชญ์" จัดพิมพ์โดย มูลนิธิบุคคลพอเพียง)
โฆษณา