13 ต.ค. 2021 เวลา 04:57 • ประวัติศาสตร์
*** สรุปสงครามเย็นเข้าใจง่าย ใน 10 นาที ***
การชิงความเป็นใหญ่ของชาติมหาอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษย์ อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีอาวุธถูกพัฒนาให้มีอานุภาพมากจนชาติมหาอำนาจไม่กล้ารบกันเองตรงๆ จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ “สงครามเย็น” ซึ่งชาติมหาอำนาจหันไปทำสงครามตัวแทนบนชาติเล็กต่างๆ พร้อมทั้งสร้างอิทธิพลปิดล้อมฝ่ายตรงข้าม บ่อนทำลายให้พังทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
ระหว่างปี 1947 - 1991 ฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียตได้ทำสงครามเย็นกับฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกา ผ่านสงครามตัวแทน, การต่อสู้ทางอุดมการณ์, การแข่งขันด้านอวกาศ, การแข่งขันทางเทคโนโลยีต่างๆ, และการสะสมอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง จบลงด้วยการที่อเมริกาเป็นฝ่ายชนะ ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่ง และทำให้โลกเปลี่ยนไปเป็น “แบบอเมริกา” จนทุกวันนี้
...ปัจจุบันหลายฝ่ายบอกว่าเราอยู่ในยุคของสงครามเย็น 2.0 ระหว่างจีนกับอเมริกา ซึ่งผลตัดสินของสงครามนั้นย่อมกระทบต่ออนาคตของเราทุกคน
ในบทความนี้ The Wild Chronicles จะพาท่านไปศึกษา “สงครามเย็น 1.0” อย่างง่ายๆ เพื่อถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น และหวังว่าจะสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจเหตุการณ์ในปัจจุบันได้
...แท้จริงแล้ว “สงครามเย็น” แม้ไม่ใช่สงครามร้อน แต่ก็โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม เต็มไปด้วยการกำจัดฝ่ายตรงข้ามโดยไม่สนใจความถูกผิด เคยสร้างความสูญเสียและสุ่มเสี่ยงต่อการถึงจุดเดือดมากกว่าที่เรารับรู้!
ภาพแนบ: รูปนี้มาภาพยนตร์เรื่อง East Zone, West Zone ปี 1962 ที่พูดถึงความขัดแย้งในสงครามเย็น
“เสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชนดังกึกก้องจากสองฝากฝั่งของเมืองเบอร์ลิน” เมื่อกำแพงที่เคยทอดยาวหลายกิโลเมตร เพื่อใช้ป้องกันผู้หลบหนีเป็นเวลากว่า 28 ปี เริ่มถูกทำลายลง ภาพดังกล่าวคือช่วงเริ่มต้นในบทส่งท้ายของสงครามเย็นระหว่างสองชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตซึ่งกินเวลานานกว่าสี่ทศวรรษ
ความเป็นจริงนั้น… สงครามเย็นมีมิติและบริบทซ่อนเร้นที่ซับซ้อน… เนื่องจากชาติมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันคือ “การขยายอิทธิพลเหนือฝ่ายตรงข้าม”
โดยไม่สนใจวิธีการหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ส่งผลให้คนในชาติเดียวกันผู้มีอุดมการณ์ต้องมาลงมือประหัตประหารกันเพื่อแย่งชิงอำนาจที่อ้างว่าชอบธรรม!
หลายประเทศต้องพบกับวังวนแห่งความขัดแย้งอันไม่มีจุดสิ้นสุด…
*** จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งใหม่ ***
ภาพของทหารโซเวียตกำลังโบกธงอยู่เหนืออาคารรัฐสภาเยอรมนี กลายเป็นสัญลักษณ์ของห้วงเวลาสุดท้ายแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคร่าชีวิตทหารและพลเรือนรวมกันกว่า 50 ล้านชีวิต ณ ตอนนั้นโซเวียตได้ร่วมมือกับอเมริกาและพันธมิตรเอาชนะสงครามสำเร็จ ทำให้ทั้งโซเวียตและอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหลักของโลก
ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตได้ปฏิเสธการถอนทหารออกจากเขตยึดครองในอิหร่านตามที่เคยตกลงไว้กับฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนสงครามโลกยุติลง ส่งผลให้ประเทศตะวันตกเริ่มดำเนินนโยบายกดดันด้วยช่องทางการทูตจนโซเวียตต้องตัดสินใจถอนทหารในที่สุด
ต่อมา… ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส ทรูแมน ประกาศ “หลักการทรูแมน” ที่ระบุว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมตอบโต้ภัยคุกคามของประเทศคอมมิวนิสต์ทุกรูปแบบ โดยไม่จำกัดระยะเวลาและพื้นที่ปฏิบัติการหากเห็นว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคง
นี่กลายเป็นหัวใจหลักของนโยบายการต่อต้านโซเวียตตลอดช่วงสงครามเย็น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าหลักการดังกล่าวเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นอย่างเต็มรูปแบบ
ภาพแนบ: การประชุมยัลต้าระหว่างสามผู้นำ
*** ยกที่ 1: จุดเริ่มต้นความขัดแย้งที่เบอร์ลิน ***
กรุงเบอร์ลินเป็นเมืองหลวงของฝ่ายเยอรมันซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 เขตปกครองภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียต, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, และฝรั่งเศสตามข้อตกลงของการประชุมยัลต้าเพื่อจัดระเบียบยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945
1
ภาพแนบ: เขตปกครองในเยอรมัน
เพียงเวลาไม่นานความตึงเครียดก็เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อชาติตะวันตกหันมารวมเขตการปกครองต่างๆในกรุงเบอร์ลินเข้าด้วยกัน พร้อมกับพิมพ์เงินสกุลใหม่อย่าง “ดอยช์มาร์ค” เพื่อใช้แทน “ไรชส์มารค์” ที่ใช้มาแต่สมัยสงครามโลก สร้างความไม่พอใจให้กับโซเวียตที่มองว่าสหรัฐพยายามช่วยให้กลับมาฟื้นตัว (โซเวียตต้องการให้เยอรมันเป็นรัฐบริวารที่เชื่อฟังของตน แต่ฝั่งอเมริกาและพันธมิตรต้องการให้เยอรมันเป็นรัฐกันชนที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง)
ความไม่ลงรอยดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินการ “ปิดล้อมเบอร์ลิน” ในวันที่ 24 มิถุนายน 1948 เพื่อบีบให้ชาติตะวันตกยุติการใช้ค่าเงินใหม่นี้ (เบอร์ลินตั้งอยู่ในฝั่งเยอรมันตะวันออกที่โซเวียตปกครอง)
เมื่อถูกฝ่ายโซเวียตใช้อำนาจทางทหารท้าทาย รัฐบาลสหรัฐและอังกฤษจึงตอบสนองด้วยการระดมอากาศยานเพื่อลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคและถ่านหินให้กับประชาชนในเมืองเบอร์ลินเป็นเวลานานเกือบหนึ่งปี จนโซเวียตต้องตัดสินใจยุติการปิดล้อมในวันที่ 12 พฤษภาคม 1949 ทำให้ปฏิบัติการดังกล่าวกลายเป็นชัยชนะของฝ่ายโลกเสรีครั้งแรกในการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย
*** ยกที่ 2: องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือและม่านเหล็กแห่งยุโรป ***
เมื่อการเผชิญหน้าทางทหารกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรอีก 12 ประเทศได้ร่วมกันลงนามใน “สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” เพื่อก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” (NATO) ขึ้นสำหรับถ่วงดุลย์อิทธิพลทางทหารในยุโรปตะวันออกของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1949
ขณะที่ฝ่ายโซเวียตเองก็เดินหน้าสร้างเครือข่ายป้องกันด้วยการดึงเอาประเทศในยุโรปตะวันออกอาทิ โปแลนด์, บัลแกเรีย, ฮังการี, โรมาเนีย, แอลเบเนีย, รวมถึงเยอรมันตะวันออก มาใช้เป็นหน้าด่านในการป้องกันตัวหากเกิดสงครามกับทางตะวันตกตลอดปี 1947-1949 เรียกกันแพร่หลายว่า “ม่านเหล็ก”
ภาพแนบ: ทหารกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนในปี 1949
*** ยกที่ 3: สงครามจีน สงครามเกาหลีและแนวรบเอชีย ***
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับฝ่ายโลกเสรีมากที่สุดคือ “ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองจีนปี 1949” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย
(ต่อมาจะมีการเรียกแนวหน้าด่านของจีนว่า “ม่านไม้ไผ่” เป็นการล้อคำว่า “ม่านเหล็ก” ของโซเวียต)
ในวันที่ 25 มิถุนายน 1950 เกิดสงครามเต็มรูปแบบครั้งใหม่ เมื่อกองทัพเกาหลีเหนือ (อยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์) จำนวนกว่า 75,000 นาย พร้อมรถถัง, เครื่องบิน, และปืนใหญ่จำนวนมหาศาล บุกทะลวงผ่านเส้นขนานที่ 38 (38th Parallel Line)
ก่อนจะโถมกำลังเข้าบดขยี้กองทัพเกาหลีใต้ (อยู่ฝ่ายโลกเสรี) ที่อ่อนแอกว่าแบบไม่เหลือชิ้นดี! ในเวลาเพียงสามวันเมืองหลวงของเกาหลีใต้ก็ตกอยู่ใต้การยึดครองของผู้รุกราน
ภาพแนบ: ทหารสหรัฐพร้อมบาซูก้า
ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐอนุมัติการส่งทหารจำนวน 540 นายที่ประจำการในญี่ปุ่นพร้อมกับบาซูก้าและปืนไร้แรงสะท้อนจำนวนหนึ่งไปยังเกาหลีใต้ในนาม “หน่วยเฉพาะกิจสมิธ” ตามชื่อของผู้บังคับบัญชา ก่อนจะพบว่าพวกเขาไม่สามารถรับมือกับกองทัพเกาหลีเหนือที่มียุทโธปกรณ์และจำนวนที่เหนือกว่าได้ สหรัฐจึงต้องกลายเป็นฝ่ายปราชัยในการรบครั้งแรกอย่างหมดรูป…
ภาพแนบ: นายพล ดักลาส แมกอาร์เธอร์ ผู้ควบคุมปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่อินชอน
พอล่วงเข้าเดือนสิงหาคม กองทัพสหประชาชาติที่นำโดยอเมริกาและกองกำลังเดนตายของเกาหลีใต้เหลือพื้นที่ควบคุมเพียงรอบเมืองปูซาน (Pusan) เท่านั้น เมื่อไม่สามารถพลิกสถานการณ์จากการส่งกำลังไปเสริมยังจุดเดียวได้ สหรัฐจึงอนุมัติแผนการยกพลขึ้นบกที่อินชอน (Inchon) จนสามารถพลิกสถานการณ์สำเร็จ
อย่างไรก็ตามสงครามเกาหลียังคงดำเนินไปนานเกือบ 3 ปี โดยที่สุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายการยุติการสู้รบผ่านการเจรจา
แม้จะไม่สามารถเอาชนะเกาหลีเหลือแบบเบ็ดเสร็จได้ แต่ความสำเร็จในการผลักดันผู้รุกรานออกจากเกาหลีใต้ก็ช่วยสร้างความมั่นใจว่านโยบายการ “ยับยั้งอิทธิพลคอมมิวนิสต์” ผ่านการสนับสนุนของประเทศพันธมิตรนั้นสามารถทำได้จริง!
*** ยกที่ 4: นิกิต้า ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตสู่อวกาศ ***
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนิกิต้า ครุสชอฟ สามารถเข้ามากุมอำนาจการปกครองหลังการเสียชีวิตของโจเซฟ สตาลิน จอมเผด็จการ ครุสชอฟทำการรื้อถอนแนวคิดของระบอบสตาลินที่มีการปกครองแบบโหดร้าย และสุดโต่ง
พร้อมกับนำเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาสหภาพโซเวียตแบบรุดหน้าอาทิ การใช้กลไกแบบห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทานที่เน้นการสร้างกำไร รวมถึงความพึงพอใจของลูกค้ามาเป็นตัวชี้วัด, การทดแทนเครื่องจักรเก่าด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย, การสร้างที่อยู่อาศัยและขยายเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของคนงานอุตสาหกรรม, รวมถึงการอนุญาตให้เอกชนเข้ามารับผิดชอบในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อส่งผลผลิตตามโควต้าที่รัฐกำหนด
นอกจากนี้รัฐบาลยังสนับสนุนหน่วยงานด้านอวกาศอย่าง Roscosmos ให้มีศักยภาพในการแข่งขันด้านอวกาศ (Space Race) กับสหรัฐ จนเกิดโครงการที่ประสบความสำเร็จมากมายอาทิ “การส่งดาวเทียมสปุตนิคขึ้นไปโคจรพร้อมสุนัขไลก้า” ในปี 1957 ก่อนจะส่ง ”ยูริ กาการิน” ขึ้นไปเป็นมนุษย์คนแรกที่โคจรบนอวกาศในปี 1961 ถือว่าล้ำหน้าในช่วงเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐต้องพยายามทุ่มสรรพกำลังต่างๆ จนต่อมากลับเป็นฝ่ายที่สามารถส่งนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จในเมื่อ 1969
อย่างไรก็ตามสำหรับนโยบายด้านการต่างประเทศนั้น ครุสชอฟยังคงสงวนการรักษาอิทธิพลของสหภาพโซเวียตด้วยความเด็ดขาดคล้ายกับสมัยของสตาลิน ด้วยการจัดตั้งความร่วมทางการทหารระหว่างสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารต่างๆในนาม “วอร์ซอร์แพค” (Warsaw Pact) เมื่อปี 1954 และเป็นส่งทหารเข้ากำราบการลุกฮือของชาวฮังการีแบบเบ็ดเสร็จจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 รายในเวลาเพียงไม่กี่อาทิตย์
1
น่าเสียดายว่าความพยายามในการปฏิรูปกลไกตลาดของเขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้นำคนใหม่ที่ยึดอำนาจทางการเมืองผ่านกลไกของพรรคอย่าง เลโอนิด เบรจเนฟ หันกลับไปดำเนินนโยบายที่ใกล้เคียงกับโซเวียตยุคสตาลินมากขึ้น
*** ยกที่ 5: จีนแตกกับโซเวียต ***
สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีเหตุกระทบกระทั่งทางอุดมการณ์และแนวคิดมาเป็นเวลานาน เนื่องจากโซเวียตนั้นมองว่า “การดำรงอยู่โดยไม่ก้าวก่ายกันระหว่างโลกคอมมิวนิสต์และโลกทุนนิยมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้”
ขณะที่ฝ่ายจีนกลับยืนกรานว่า “ทุนนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจอยู่ร่วมกับคอมมิวนิสต์ได้จึงต้องถูกทำลายลง” พร้อมกล่าวหาโซเวียตว่าเป็น “พวกที่ทรยศต่อลัทธิคอมมิวนิสต์” ส่วนโซเวียตก็ตอบโต้กลับว่า “จีนเป็นพวกเบี่ยงเบนจากลัทธิคอมมิวนิสต์และกระหายสงคราม“ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกหักในปี 1961
ภาพแนบ: ทหารแอลเบเนีย คอมมิวนิสต์ยุโรปผู้ได้รับอิทธิพลจากจีน
ส่งผลให้จีนกลายเป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจที่แม้จะไม่ได้เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ แต่ก็แข่งขันในการขยายอิทธิพลกับสหภาพโซเวียตผ่านการสนับสนุนการต่อสู้ในแอฟริกาและการกระชับความสัมพันธ์กับแอลเบเนียซึ่งเป็นรัฐบริวารของโซเวียตเป็นต้น
ภาพแนบ: ปธน บาติสตา จอมเผด็จการแห่งคิวบา
*** ยกที่ 6: ความขัดแย้งในคิวบา… และวิกฤตขีปนาวุธ ***
นอกจากความขัดแย้งที่อยู่ห่างไปเกือบซีกโลก สหรัฐยังต้องมาพะวงหน้าหลังกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในแถบละตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศคิวบาที่เกิดการสู้รบขึ้นระหว่างกองทัพของเผด็จการของประธานาธิบดี ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา และกลุ่มกบฏของฟิเดล คาสโตรและผู้สนับสนุนกลุ่มต่างๆ ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐบาล
ภาพแนบ: ฟิเดล คาสโตร
โดยในระยะแรกคาสโตรเองยังไม่แสดงท่าทีเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามยิ่งนานเข้าเขาก็ยิ่งแสดงอาการว่าจะเข้าข้างโซเวียต
ทำให้ทำให้ซีไอเอเสนอแผนการล้มล้างรัฐบาลคิวบาออกมา 2 แนวทางคือ “การใช้กำลังทหารสหรัฐเต็มรูปแบบ” หรือ “การสนับสนุนชาวคิวบาที่ลี้ภัยมายังสหรัฐ” โดยให้ตั้งกองกำลังต่อต้านที่ชื่อว่า “แนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตยคิวบา” หรือ DRF เพื่อยกพลขึ้นบกบริเวณอ่าวหมู (ฺBay of Pigs) แล้วให้กองกำลังดังกล่าว เริ่มต้นปฏิบัติการสงครามกองโจรร่วมกับฝ่านต่อต้านอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนคิวบา
ภาพแนบ: กองกำลัง DRF ที่ยอมจำนนต่อทหารคิวบา
ตอนนั้นประธานาธิบดีเคนเนดี้ของสหรัฐ ตัดสินใจเลือกหนทางที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฝ่ายโซเวียตโจมตีบนเวทีระหว่างประเทศน้อยกว่าด้วยการสนับสนุนชาวคิวบาลี้ภัย ส่งกองกำลังติดอาวุธราว 1,500 คน พร้อมรถถังเบาจำนวน 5 คันและเครื่องบินสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งบุกเข้าคิวบาผ่านทางทะเลในวันที่ 17 เมษายนปี 1961 ก่อนจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป! เมื่อกองกำลังหลักพันนายต้องปะทะกับกองทัพคิวบาหลักหมื่น พร้อมด้วยยานเกราะและรถถังมากกว่า 100 คัน…
*** ตัดเข้าช่วงโฆษณา ***
ขอโฆษณาว่าหนังสือ "ประวัติย่อก่อการร้าย War on Terror" ที่พิมพ์ครั้งก่อนขายหมดจากตลาดไปนานแล้ว มีแผนจะพิมพ์ใหม่ปลายปีนี้นะครับ
ตอนแรกว่าใกล้ๆ เสร็จแล้วค่อยทำโปร แต่เหตุการณ์ในอัฟกานิสถานและรำลึก 9/11 ทำให้มีคนถามมาเยอะเหลือเกิน เลยเปิดให้จองก่อน
- หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องประวัติของขบวนการก่อการร้ายสากลตั้งแต่ยุคอัลเคดามาต่อ ISIS
- ผมตั้งใจจะเพิ่มเนื้อหาให้อัพเดทถึงปัจจุบัน
- พิมพ์เป็นสี่สีแน่นอน
- ปกพิมพ์สีเมทัลลิก ปั้มนูนและปั้มเงินที่ชื่อเหมือนเล่มสุริยันพันธุ์เคิร์ด รับรองว่าสวยมาก เหมาะแก่การสะสม สำนักพิมพ์ The Wild Chronicles เราพิมพ์เองแล้วจะทำอะไรก็ได้ 555
- มีเซ็นลายเซ็นพิเศษประจำเล่มให้ครับ
- ราคาอยู่ที่ 389 บาท สั่งพรีออเดอร์ตอนนี้ลดเหลือ 369 บาท และฟรีค่าส่งในประเทศ (ปกติค่าส่ง 50 บาทครับ ส่วนต่างประเทศก็ตามจริง)
- สนใจชำระและใส่ที่อยู่ที่ link แนบได้เลย อนึ่งระบบนี้จะมีเมลคอนเฟิร์มไปแต่ช้าหน่อยนะครับ
นอกจากนี้ ขอโฆษณาว่าหนังสือ “สุริยันพันธุ์เคิร์ด” หรือหนังสือเล่มใหม่ของผมออกแล้วนะครับ มีรายละเอียดดังนี้...
1
- เรื่องนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ชาวเคิร์ด ผลงานเล่มล่าสุดในชุด The Wild Chronicles
- พิมพ์เป็นสี่สี!
- ยาวที่สุดเท่าที่พิมพ์มา ยาวกว่าพยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติราว 2 เท่า
- รูปโหดๆ ที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น จะไม่เซนเซอร์ แต่จะรวมอยู่ท้ายเล่ม และมีคำเตือนก่อน
- มีลายเซ็นทุกเล่ม!
- ราคา 439 บาท รวมค่าส่งแล้ว
ท่านที่ต้องการพรีออเดอร์สามารถชำระ และใส่ที่อยู่ทาง link แนบได้เลย
อนึ่งชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มน้อยในตะวันออกกลาง มีราว 30 ล้านคน หากไม่มีประเทศของตนเอง พวกเขาแตกเป็นหลายส่วนและถูกกดขี่อย่างหนัก แต่การถูกกดขี่เคี่ยวกรำนั้นทำให้พวกเขากลายเป็นนักรบที่เก่งกาจ
หนังสือเล่มนี้เขียนเรื่องราวของชาวเคิร์ดตั้งแต่ยุคตำนานจนถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีความพีคแล้วพีคอีก ผ่านสงครามใหญ่ๆ มากมาย เช่นสงครามอิรัก - อิหร่าน, สงครามอ่าวเปอร์เซีย, สงครามปราบซัดดัม, สงครามกลางเมืองอิรัก, สงครามปราบกลุ่มก่อการร้าย แต่ละสงครามที่ว่ามานี้มีสเกลใหญ่เป็นรองแค่สงครามโลก
ชาวเคิร์ดมีส่วนร่วมในสงครามเหล่านี้ทั้งหมดในฐานะชนกลุ่มน้อยที่ไม่รวยแต่รบเก่ง พอมีคนมาติดอาวุธให้เลยมักกลายเป็นไพ่โจ๊กเกอร์ที่เปลี่ยนผลชี้ขาดของสงคราม
อย่างไรก็ตามศัตรูอันดับหนึ่งของชาวเคิร์ดคือเผด็จการซัดดัม ฮุสเซนนั้นก็โหดมาก โหดโคตรๆ ใครเคยอ่านพยัคฆ์ทมิฬสิ้นชาติ หรือเชือดเช็ดเชเชน ผมบอกได้ว่าไอ้นี่ก็โหดไม่แพ้กัน หรือเผลอๆ โหดกว่า ดังนั้นการต่อสู้ของชาวเคิร์ดมันจึงเป็นเรื่องที่หลอนและดุเดือดมากๆ
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ผมได้ไปเยือนดินแดนเคอร์ดิสถานอิรัก (และหนีมิสไซล์มา) เมื่อต้นปี 2020 เพื่อนชาวเคิร์ดที่ผมสัมภาษณ์ทุกคนเป็นผู้รอดชีวิตจากทุกสงครามข้างต้น ทำให้มีข้อมูล ความเห็น และมุมมองของคนต่างๆ ที่ลึกกว่าในตำรา แน่นอนว่าประสบการณ์ของพวกเขาดาร์คมาก แต่เขาหลายคนไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายขนาดนั้น พวกเขาตีความสิ่งที่พบเจออย่างไร ลองตามอ่านดูนะครับ
"สุริยันพันธุ์เคิร์ด" ตั้งใจพิมพ์เป็นสี่สี เป็นหนังสือที่ยาวที่สุดตั้งแต่ผมเขียนสารคดีชุด The Wild Chronicles มา
อีกครั้งนะครับ ท่านที่ต้องการพรีออเดอร์หนังสืออย่างเดียว สามารถชำระ และใส่ที่อยู่ทาง link นี้ได้เลย 439 บาท รวมค่าส่งแล้ว (ในประเทศ) ถ้าบางท่านอยู่ต่างประเทศมีค่าส่งพิเศษจะแจ้งอีกที
ภายหลังเอาชนะฝ่ายต่อต้านสำเร็จ คาสโตรได้เดินหน้าเข้าหาสหภาพโซเวียตและอนุญาตให้นำจรวดต่อต้านอากาศยานเข้ามาวางยังประเทศคิวบาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 1962 ก่อนที่เครื่องบินสอดแนมจะพบการขนย้ายขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่น R-12 รวมถึงการสร้างฐานจำนวน 9 แห่งในอีกหนึ่งเดือนต่อมา
นี่ทำให้สหรัฐต้องดำเนินมาตราการการปิดล้อมทางทะเลเพื่อสกัดกั้นการขนส่งขีปนาวุธ นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังทั้งสองฝ่ายที่พัฒนาเป็น “วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา” หลังรัฐบาลทั้งสองประเทศต่างขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้หากถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี
ภาพแนบ: ขีปนาวุธ Jupiter 2
ทว่ายังนับเป็นโชคดี… เพราะในท้ายที่สุดผู้นำทั้งสองฝ่ายสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ หลังโซเวียตยอมถอนขีปนาวุธทั้งหมด แลกกับคำมั่นสัญญาว่าสหรัฐจะไม่รุกรานคิวบา และสหรัฐยอมถอนขีปนาวุธรุ่น จูปิเตอร์ 2 ออกจากตุรกี ทำให้ความขัดแย้งที่เกือบนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ยุติลงด้วยการเจรจา
*** ยกที่ 7: สงครามเวียดนาม… และความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ของสหรัฐ ***
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างกระทันหันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง… หลังประธานาธิบดี จอน เอฟ เคนาดี้ เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารในวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ส่งผลให้อำนาจการบริหารตกไปอยู่ในมือของรองประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน ผู้นำการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในประเทศ ไปพร้อมกับการเข้าร่วมสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ประเทศเวียดนาม
โดยตอนนั้นเวียดนามเหนืออยู่ฝั่งคอมมิวนิสต์ และเวียดนามใต้อยู่ฝั่งโลกเสรี สหรัฐเชื่อว่าหากเสียเวียดนาม ก็จะเสียลาว เขมร และไทย ตามๆ กันมาแบบทฤษฎีโดมิโน
เริ่มแรกสหรัฐดำเนินการส่งที่ปรึกษาทางทหารเข้ามาสนับสนุนการต่อสู้ในเวียดนามใต้ ก่อนจะขยายขอบเขตเป็นการส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าทำสงครามนอกแบบเช่นการสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ หรือลักลอบเข้าไปก่อวินาศกรรมพื้นที่ติดทะเลของเวียดนามเหนือ
ก่อนที่ลมจะเปลี่ยนทิศเมื่อเรือตอร์ปิโดจำนวน 3 ลำของเวียดนามเหนือทำการโจมตีเรือพิฆาตยูเอสเอส แมตดอกซ์ (USS Maddox) เพราะเชื่อว่าเรือลำดังกล่าวกำลังสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการพิเศษซึ่งเข้าไปแทรกซึมทางทะเล ส่งผลให้เกิดการยิงต่อสู้กันจนมีทหารเวียดนามเหนือเสียชีวิต 4 นาย เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกว่าอุบัติการณ์อ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin Incident) และเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบของสหรัฐในเวียดนาม
แม้ว่าสหรัฐจะประสบความสำเร็จบ้างด้วยยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าเวียดนามเหนือ แต่ไม่สามารถปราบการต่อสู้แบบกองโจรของฝ่ายคอมมิวนิสต์ลงได้
นานเข้าประชาชนสหรัฐเริ่มแสดงความไม่พอใจกับความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งความไม่พอใจนั้นทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่ฝ่ายเวียดกงเปิดการรุกใหญ่ในวันตรุษญวน (Tet Offensive, 1968) ที่แม้จบลงด้วยการกวาดล้างกองกำลังคอมมิวนิสต์เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่กระแสต่อต้านสงครามนั้นรุนแรงเกินต้านทาน ส่งผลให้สหรัฐตัดสินใจถอนกำลังรบในปี 1975 ตามนโยบายส่งมอบความรับผิดชอบในการดูแลประเทศให้แก่รัฐบาลเวียดนามใต้
อย่างไรก็ตามรัฐบาลเวียดนามใต้นั้นอ่อนแอและคอร์รัปชันมาก จึงรบแพ้และล่มสลายลงในปี 1975
ในประเทศไทยนั้นเกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกินเวลาเกือบ 18 ปี (1966-1983) โดยจบลงที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นฐานสำคัญให้อเมริกาและฝ่ายพันธมิตรใช้ในการสู้ศึกสงครามเย็น โดยอเมริกามีฐานทัพใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครพนม, และอีกหลายจังหวัด
*** ยกที่ 8: ช่วงเวลาแห่งการเจรจาและความสงบชั่วขณะ ***
ในยุค 70s นั้นถือเป็นห้วงเวลาที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายหันหน้าเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดในการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ จนเกิดเป็นข้อตกลงจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ 1 หรือ SALT 1 ในวันที่ 26 พฤษภาคม 1972 เพื่อจำกัดปริมาณอาวุธและทำลายฐานยิงเดิม ขณะที่ข้อตกลงจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ครั้งที่ 2 หรือ SALT 2 ในปี 1977 กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ฝ่ายละไม่เกิน 2,250 ลูก และหากฝ่ายไหนละเมิดข้อตกลง ฝ่ายตรงข้ามสามารถเพิ่มจำนวนได้ในจำนวนเท่ากัน เพื่อเป็นการสร้างสมดุลย์
ความพยายามดังกล่าวช่วยลดทอนความขัดแย้งลง… จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในห้วงเวลาสงบสุขที่สุดช่วงหนึ่งในสงครามเย็น
ภาพแนบ: นิกสันจับมือกับโจวเอินไหล
ขณะเดียวกันจีนซึ่งรู้สึกว่าโซเวียตเป็นภัยคุกคามจึงดำเนินนโยบายการทูต นำอเมริกามาคานกับโซเวียต มีเหตุการณ์สำคัญคือการที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในปี 1972 การที่จีนแตกกับโซเวียตแล้วกลับเป็นมิตรกับอเมริกานี้ ทำให้ฝ่ายโลกเสรีได้เปรียบขึ้นอย่างมาก
*** ยกที่ 9: สงครามเขมร-เวียดนาม และสงครามจีน-เวียดนาม ***
ภายหลังจากชัยชนะในสงครามเวียดนามไม่นาน เวียดนามกับเขมรแดงเกิดแตกกัน โดยเวียดนามนั้นโปรโซเวียต ส่วนเขมรแดงโปรจีน ทั้งสองสู้รบกันอยู่เนืองๆ จนเวียดนามได้ส่งกองทัพเข้าไปแทรกแซงเขมรในปี 1978 เพื่อแผ่อิทธิพล และสยบรัฐบาลเขมรแดงคลั่งชาติ!
การยึดครองเขมรนั้นส่งผลคุกคามมาถึงไทยและชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งนี้กลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย”ที่ทำให้จีนอนุมัติการใช้กำลังทหารบุกเข้าไปยังแผ่นดินเวียดนามเพื่อสั่งสอน พร้อมกับทำลายเขตอุตสาหกรรมและเหมืองต่างๆ โดยใช้ทหารอย่างน้อย 75,000 นาย (บางแหล่งระบุว่าเมื่อรวมกำลังสนับสนุนแล้วอาจมีจำนวนมากถึง 300,000 นาย) และอ้างว่าเป็น “การตอบโต้เชิงรุกเพื่อป้องกันตัว” ไม่ใช่การประกาศสงคราม
หลังเริ่มปฏิบัติการได้เพียง 3 วัน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนก็ประสบกับการต่อต้านอย่างหนักจากกองกำลังเวียดนามที่เชี่ยวชาญพื้นที่และมีประสบการณ์มากกว่า อย่างไรก็ตามพวกเขายังสามารถยึดครองจังหวัดลางซอนและซาปา ได้ในระยะสั้นๆ ก่อนจะถอนตัว
สงครามนี้ทั้งจีนและเวียดนามต่างประกาศชัยชนะ โดยจีนบอกว่าสั่งสอนเวียดนามสำเร็จ ส่วนเวียดนามบอกว่าสามารถขับไล่จีนออกไปได้ ไม่ว่าอย่างไรศึกนี้ได้ทำให้เวียดนามซึ่งเคยมีอำนาจทางทหารเข้มแข็งต้องเสื่อมกำลังลง ไม่สามารถบุกตีต่อไปยังประเทศไทยตามที่มีนายพลเวียดนามเคยขู่ไว้ว่าสามารถบุกถึงกรุงเทพฯ ในสองชั่วโมง
*** ยกที่ 10: การแทรกแซงอัฟกานิสถานของโซเวียต และการกลับมาแข่งขันสะสมอาวุธ ***
ในปี 1979 สหภาพโซเวียตตัดสินใจส่งทหารกว่า 80,000 นาย เข้าแทรกแซงรัฐบาลอัฟกันที่กำลังอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพจากการแก่งแย่งอำนาจภายใน ส่งผลให้ความไม่พอใจต่อประเทศมุสลิมทั่วโลกจนเกิดการสนับสนุนอาวุธและเงินทุนให้กับนักรบมูจาฮีดีน ส่งผลให้สหรัฐที่เห็นว่าโซเวียตกำลังเผชิญกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกคล้ายกับที่ตนเคยเผชิญในเวียดนาม เริ่มหันมาสนับสนุนอาวุธให้กับกลุ่มกบฏ
เมื่อโรนัลด์ เรแกน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 1981 นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง… เมื่อเขาหันกลับเข้าสู่การแข่งขันสะสมอาวุธ รวมถึงการพัฒนาโครงการดาวเทียมต่อต้านขีปนาวุธภายใต้ชื่อโครงการ Star Wars เพื่อเพื่อบีบให้โซเวียตที่กำลังเผชิญหน้ากับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการทุ่มงบประมาณทางทหารในอัฟกานิสถานต้องเข้าสู่การสะสมอาวุธอีกครั้ง
จนท้ายที่สุดรัฐบาลโซเวียตภายใต้การนำของ มิคาเอล กอร์บาชอฟ ก็ตัดสินใจถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 1989 หลังการทำการรบมาเป็นเวลานานกว่า 9 ปี นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ
*** การเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด ***
จากที่ผ่านมาจะเห็นว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์รบชนะฝ่ายโลกเสรีในหลายสมรภูมิ เผลอๆ อาจจะรบชนะมากกว่า แต่กาลเวลาได้พิสูจน์ว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นทำให้ประเทศมั่งคั่งมากกว่า เมื่อปล่อยนานไปฝ่ายโซเวียตยิ่งมาก็ยิ่งอ่อนแอ ขณะที่ฝ่ายอเมริกาแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
มิคาเอล กอร์บาชอฟ พยายามกอบกู้สหภาพโซเวียตที่อยู่ในสภาวะวิกฤตตั้งแต่มาตรฐานชีวิตประชากรที่ตกต่ำลง, ภาวะเศรษฐกิจซบเซาหลังการทุ่มงบด้านกลาโหมมูลค่ามหาศาล, การทุจริตคอร์รัปชันของชนชั้นปกครอง, และแรงต่อต้านภายในรัฐบริวารที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่งผลให้เกิดนโยบายการปฏิรูปที่เรียกว่า “เปเรสตรอยกา” หรือการปฏิรูปสภาพเศรษฐกิจผ่านการยกเลิกระบบผูกขาดจากรัฐเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับภาคเอกชน, การเปิดตลาดที่มีความเสรีมากกว่าในอดีตเพื่อผลักดันความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ, รวมทั้งการอนุญาตให้คนงานเลือกหัวหน้าเพื่อสรรหาผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งจริงๆ ขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบาย “กลาสนอสต์” ซึ่งพยายามจัดการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นภายในรัฐรวมถึงเปิดให้มีพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น
นอกจากนี้เขายังเดินหน้าเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกับผู้นำฝ่ายโลกเสรีหลายครั้ง จนสามารถบรรลุข้อตกลงในการลดจำนวนขีปนาวุธร่วมกันกว่า 2,500 ลูกและมีการปรับลดกำลังทหารโซเวียตอยู่ในยุโรปตะวันออกกว่าครึ่งล้านนายเพื่อลดความสุ่มเสี่ยงในการเผชิญหน้า
แม้ว่านโยบายของกอร์บาชอฟนั้นจะได้รับการชื่นชม แต่การเปิดเสรีทำให้ประชาชนเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวาง และทำให้รัฐบาลกอร์บาชอฟเสื่อมบารมีลงเรื่อยๆ
1
*** บทส่งท้ายของสงครามเย็น ***
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ประชาชนชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในเขตเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตกต่างออกมารวมตัวกันทำลายกำแพงเบอร์ลินส่งผลให้ในท้ายที่สุดแล้วกำแพงที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ก็มาถึงจุดสิ้นสุดลง ท่ามความยินดีของคนจากทั้งสองด้าน…
ต่อมาในปี 1991 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมโซเวียตพยายามจะก่อรัฐประหารรัฐบาลกอร์บาชอฟ ซึ่งถูกตำหนิว่าปฏิรูปประเทศเป็นเสรีนิยมเกินไป แต่ประชาชนไม่เห็นด้วย จึงออกมาต่อต้านจนการรัฐประหารล้มเหลวในเวลาเพียง 2 วัน
การสิ้นสุดอำนาจของกอร์บาชอฟ และฝ่ายรัฐประหารทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย รัฐต่างๆ ในโซเวียตทยอยประกาศตนเป็นอิสระ ขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นชาติหลักนั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย โดยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยมีบอริส เยลต์ซิน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำ นับเป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็นด้วยการพ่ายแพ้ของฝ่ายโซเวียตนั่นเอง
*** สรุป ***
เหตุการณ์ต่างๆที่ถูกยกมานั้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้สองขั้วมหาอำนาจซึ่งนำโลกเข้าสู่ความขัดแย้งเป็นเวลานานเกือบ 44 ปี
ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้โลกได้รู้จักกับการทำสงครามรูปแบบใหม่ที่มหาอำนาจมุ่งเน้นช่วงชิงพื้นที่ทางอุดมการณ์ และทำสงครามแบบตัวแทน
ในปัจจุบันเมื่ออเมริกาทำสงครามตัวแทนกับจีนและรัสเซีย ก็มีลักษณะหลายประการเหมือนกับยุคสงครามเย็นที่ผ่านมา นับว่าสิ่งนี้เป็นธีมของการต่อสู้ยุคใหม่ที่น่าจะดำเนินไปอีกนานในอนาคต
สัจธรรมข้อหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ… “สงครามย่อมเป็นสงคราม” ซึ่งย่อมสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตผู้คนมากมาย และทิ้งบาดแผลให้กับผู้ที่ถูกดึงมาสู่วังวนความขัดแย้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง…
ท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวแปลกๆ จากรอบโลกสามารถสมัครเข้ากลุ่ม illumicorgi
อนึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม exclusive ผมจะใช้ลงบทความพิเศษ ซึ่งมีเนื้อหาเจาะลึกกว่าที่ลงในเพจ The Wild Chronicles และบทความส่วนใหญ่ในกลุ่มจะเกี่ยวกับธีมของหนังสือที่ผมกำลังเขียน
ผู้ที่ต้องการสมัครเข้ากลุ่มให้ทำดังนี้เลยนะครับ
(1) กดสมัคร Line OA ของ The Wild Chronicles มาทาง link นี้ https://lin.ee/fNEO1jr
(2) กด add เป็นเพื่อน
(3) กด chat
(4) จากนั้น พิมพ์ชื่อที่ท่านใช้ใน Facebook มาทางช่องแชทของ Line OA เพื่อให้ทีมงานบ่งชี้ได้ว่าบัญชีของท่านสมัครมาแล้ว
(5) จากนั้นจะมีแอดมินมาคุยกับท่าน ให้แจ้งประเภทสมาชิกที่ท่านต้องการสมัคร แอดมินจะส่ง link เพื่อชำระค่าสมาชิก และแนะนำวิธีการเข้ากลุ่มต่อไป
::: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
โฆษณา