13 ต.ค. 2021 เวลา 10:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แม้ว่าล่าสุด CP จะออกมาตอบประเด็นเกี่ยวกับแผนการพัฒนา Super Tower บนพื้นที่ TOD มักกะสันว่าเป็นเพียง 1 ในรูปแบบทางเลือก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะพัฒนาไปในรูปแบบใด วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันครับว่า TOD คืออะไร? และมีความสำคัญเช่นไรกับการพัฒนาเมืองครับ
1
TOD คืออะไร?
การพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ (Transit-Oriented Development: TOD) หรือ ที่ไทยนิยมเรียกกันว่าการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง คือแนวคิดในการบริหารจัดการทั้งในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ และการเดินทางให้สอดคล้องกันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การกระจายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl)
ก่อนจะพูดถึง TOD ขอพูดถึงปัญหาที่ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาต้องพบเจอ คือปัญหาการเติบโตของเมืองอย่างไร้ทิศทาง และไม่ได้มีแผนการหรือผังเมืองรองรับการพัฒนาเหล่านั้น ซึ่งการกระจายตัวของเมืองนี้สร้างปัญหาโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่
2
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น อย่างเช่น สมมติว่ากรุงเทพฯ มีย่านธุรกิจที่สำคัญเพียงแห่งเดียวคือสีลม พอนานวันเข้าที่ดินบริเวณสีลมมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบนี้ถูกจำกัดด้วยราคา เมืองก็จะกระจายไปพื้นที่รอบนอกที่มีราคาถูกกว่า
1
สมมติอีกว่าคนเลือกที่จะไปสร้างที่อยู่อาศัยอยู่ที่นนทบุรีกัน ซึ่งไม่ได้มีผังเมืองหรือโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบขนส่งมวลชนรองรับการพัฒนาที่กระจายตัวเมืองมายังนนทบุรี ผลที่ตามมาคือเมื่อนนทบุรีโตขึ้น ปริมาณการเดินทางระหว่างนนทบุรีกับสีลมก็มากขึ้นไปด้วย ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทั้งเวลาในการเดินทาง (รถติด) และเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แย่ทั้งสุขภาพจิตใจและร่างกาย
แนวคิดในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางของ TOD คือ การแก้ที่ต้นเหตุ
เมื่อสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นคือการกระจายตัวของเมือง ดังนั้นแนวทางของ TOD คือการพัฒนาเมืองแบบกระชับ (Compact City) ซึ่งจากงานวิจัยด้านการขนส่งในหลายประเทศพบว่าระยะทางเดินเท้าต่อครั้งสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันที่คนทั่วไปเต็มใจที่จะเดินอยู่ที่ประมาณ 400-800 เมตร ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่ที่ดึงดูดปริมาณการเดินทางสูงอย่างเช่น พื้นที่ธุรกิจการค้า หรือพื้นที่สำนักงานจะถูกกำหนดให้อยู่ติดกับสถานีขนส่งมวลชนเพื่อลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยพื้นที่โดยรอบในระยะที่เดินเท้าได้จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาเพื่อการอยู่อาศัย เพื่อเชื่อมโยงที่อยู่อาศัยกับพื้นที่พาณิชย์และสถานีขนส่ง
1
ซึ่งแนวคิดนี้ นอกจากจะชวดลดการเดินทางโดยยานพาหนะส่วนตัวแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มปริมาณการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
TOD กับประเทศไทย
แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งของ Calthorpe Associates
ตัวอย่าง Kowloon Station ของฮ่องกง 1 ในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีที่ดีที่สุดในโลก
แม้ว่า TOD จะถูกพูดถึงมาแล้วหลายทศวรรษ แต่ต้องยอมรับว่าแนวทางการวางแผนและการใช้กฎหมายผังเมืองในประเทศไทยค่อนข้างหลวมมาก ในขณะที่ที่ดินรอบสถานีขนส่งที่ครอบครองโดยหน่วยงานรัฐอย่างเช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการวางแผนและพัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้ทุกวันนี้เหมือนเราพยายามแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จากการวางแผนและการบังคับใช้ที่ผิดพลาด
มาติดตามกันครับว่าที่ดินรอบสถานีมักกะสัน และสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชาที่อยู่ในการพัฒนาของเอกชน หรือแม้แต่โดยรอบบางซื่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟ จะถูกพัฒนาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแค่ไหน และภาครัฐจะผลักดันหรืออำนวยให้เป็นไปในรูปแบบใดครับ
ใครมีข้อคิดเห็นอย่างไรมาแลกเปลี่ยนกันได้ในช่องคอมเมนท์ด้านล่างเลยครับ ^^
อ้างอิง
Calthorpe, Peter (1993). The Next American Metropolis: Ecology, Community, and the American Dream. New York: Princeton Architectural Press.
1
"The 'Rail plus Property' model: Hong Kong's successful self-financing formula". McKinsey & Company.
Cervero, Robert; et al. (2004). Transit Oriented Development in America: Experiences, Challenges, and Prospects. Washington: Transit Cooperative Research Program, Report 102.
โฆษณา