15 ต.ค. 2021 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านทรงกล่องเท่ด้วยโครงคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่พร้อมกับผิวผนังที่ดิบเปลือยและมีร่องรอยจากการหล่อแบบของไม้ที่เลือกมาเป็นอย่างดีให้มีลวดลายสวยๆ กลายเป็นสน่ห์เฉพาะตัวอยู่ในความไม่สม่ำเสมอและไม่เรียบซึ่งไม่ได้ฉาบผิวทับหรือทาสีอะไรลงไป เข้ากันได้ดีกับงานระบบไฟฟ้าที่เดินลอยทั้งหมดซึ่งช่วยให้บำรุงรักษาง่าย เพิ่มความน่าสนใจด้วยการผสมเข้ากับงานเหล็กในส่วนของบันไดหลักทาสีน้ำเงินสดใส โครงสร้างหลังคา และคานที่พาดยาวซึ่งรับน้ำหนักของหน้าต่างกลางบ้านไว้ โดยมีระแนงแนวนอนที่เลื่อนได้มาช่วยบังแดดและเป็นช่องระบายอากาศร้อนออกไป
1
การเปิดเผยให้เห็นร่องรอยที่เหลือจากกระบวนการก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้เล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวเอง เจ้าของบ้านคือ คุณหมวย – น้ำค้าง ปริวุฒิพงศ์ ตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้ บนที่ดินหน้าบ้านของบ้านเดิม ซึ่งเธอเคยอาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้ตัวเองและน้องชายได้อยู่กันอย่างเป็นสัดส่วนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นที่ทำงานของคุณหมวยที่จะไม่รบกวนผู้อื่นอีกด้วย
คุณหมวยมอบให้ คุณปัว – ศาวินี บูรณศิลปิน และ Mr. Tom Dannecker ในนามของ Thingsmatter ซึ่งเป็นเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนเป็นผู้ ออกแบบบ้านให้ เดิมบ้านหลังนี้ไม่ได้มีหน้าตาแบบที่เห็น แบบร่างแรกที่ร่างไว้เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ดูต่างจากบ้านจริง ที่สร้างเสร็จในวันนี้ นั่นเพราะความคิดและทัศนคติของเจ้าของบ้านเปลี่ยนไปตามการใช้ชีวิตและการทำงาน บ้านก็แสดงออกตามตัวตนของเจ้าของบ้าน
“ตอนนี้คุณหมวยทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหนังและสินค้าเครื่องใช้ที่เราดีไซน์เองอยู่ค่ะ ชื่อ Mola + Taxidermy ความเรียบง่ายตรงไปตรงมา ของผู้เป็นเจ้าของแสดงออกมาผ่านการวางผังและการจัดพื้นที่ บ้านหลังนี้แบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 3 ส่วนหลัก คือ พื้นที่ส่วนของคุณหมวย พื้นที่ส่วนของน้องชายคุณหมวย และพื้นที่ส่วนกลาง โดยเราจะจัดเรียงตามลำดับ มีพื้นที่ส่วนกลางซึ่งมีความสูงเท่ากับสองชั้นคั่นกลาง พื้นที่ส่วนนี้ยังเป็นเหมือนหัวใจสำคัญของบ้าน เพราะเป็นจุดรวมและกระจายผู้อยู่อาศัยให้มีความสัมพันธ์ร่วมกันในการอยู่ บ้านหลังนี้ โดยใช้ลักษณะของผนังที่ทึบตันแทนบริเวณที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และบานกระจกใสแทนส่วนที่ต้องการเปิดมุมมองและการระบายอากาศที่ดี”
การเข้าถึงภายในบ้านก็ไม่ได้จำกัดเพียงด้านเดียว เพราะมีประตูที่สามารถเข้าไปได้มากกว่าบ้านทั่วไป จะเข้าห้องทำงานชั้นล่างโดยไม่ต้องผ่านห้องนั่งเล่นก็ได้ ขณะที่บันไดเหล็กกลางบ้านเป็นส่วนที่สถาปนิกต้องการเน้นให้เกิดการแยกส่วน อย่างชัดเจน เช่น ส่วนไหนเป็นคอนกรีตก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ส่วนที่เป็นเหล็กก็แยกด้วยสีที่สดใส ดูตัดกันแต่ลงตัว"
"ความงามอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้คือคอนกรีตหล่อ ซึ่งเราจะมานั่งลุ้นกันว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แม้จะมีความไม่สม่ำเสมอและไม่เรียบ แต่ทุกคนก็ได้มีส่วนร่วม เราลองเสนอเจ้าของบ้านว่าจะทำแบบนี้ และเขาก็ชอบ เราดีใจมากที่เจ้าของบ้านเห็นด้วยกับความคิดนี้”
คุณปัวยังเล่าต่อไปว่า “เรายังอยากลองว่ามีอะไรบ้าง ที่อยู่ในขอบเขตที่ช่างไทยทำได้ จึงอยากใช้ในขนาดที่เป็นงานก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งบ้านหลังนี้ถือว่าโชคดีมากที่ได้ช่างที่มีความตั้งใจ มีความสามารถจริงๆ และใจเย็น บางอย่างเราได้รับคำแนะนำจากช่าง ซึ่งรู้มากกว่าเราในแง่การก่อสร้างจริง เราก็ได้ความรู้มากขึ้น เมื่อบ้านเสร็จก็เป็นที่พอใจของทุกคน”
วัสดุที่ใช้มีการปรับเพื่อให้เข้ากับหน้างาน อย่างพื้นภายในบ้านใช้พื้นคอนกรีตทำผิวหินขัด ซึ่งช่างไทยมีความชำนาญพอสมควรในการทำพื้นหินขัด และราคายังไม่แพงนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
โครงสร้างหลักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่ ใช้ไม้แบบที่เลือกมาเป็นอย่างดีและใช้ลวดลายของไม้ แบบเป็นผิวของบ้านด้วย ส่วนเหล็กก็นำมาใช้กับส่วนที่เป็นบันไดหลัก โครงสร้างหลังคา และคานที่พาดยาว ซึ่งรับน้ำหนักของหน้าต่างกลางบ้านเอาไว้ บ้านนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แสงแดดจะเข้ามาจากทั้งสองด้านโดยตรง สถาปนิกจึงออกแบบช่องเปิดที่เปิดกว้างมากที่สุด
เพื่อระบายอากาศร้อนออกไป และเพิ่มระแนงแนวนอนที่ช่องเปิดกระจกใส ระแนงนี้สามารถเลื่อนได้ ช่วยบังแสงแดดในส่วนที่ต้องการได้สะดวกขึ้น
คุณหมวย เจ้าของบ้านยังได้กล่าวถึงบ้านหลังนี้ในตอนท้ายว่า “เราไม่ต้องการฉาบหรือทาสีทับความเป็นวัสดุเดิมของตัวบ้าน งานระบบไฟฟ้า ก็เป็นการเดินลอยทั้งหมด ซึ่งก็ดูเข้ากับรูปแบบของบ้านนี้และยังบำรุงรักษาง่ายด้วย รู้สึกว่าบ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราตั้งแต่เริ่มออกแบบและก่อสร้าง เพราะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตอนก่อสร้างก็เดินจากบ้านเดิมมาดูทุกวัน คุยกับช่างและสถาปนิกบ่อยมาก จนคิดว่าทุกอย่างที่กำลังก่อตัวขึ้นไม่ควรจะถูกลบเลือนไปด้วยวัสดุกรุที่ไม่มีความหมายกับเรา ผนังหล่อในที่ที่มีร่องรอยการแก้ไข การตีเส้นเพื่อความเป็นระเบียบและได้ดิ่ง เรียกว่ามีเรื่องราวอยู่ในทุกส่วนของบ้านจริงๆ”
เจ้าของ : คุณน้ำค้าง ปริวุฒิพงศ์
ออกแบบ : Thingsmatter โดยคุณศาวินี บูรณศิลปิน และ Mr. Tom Dannecker
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3cBbHIP
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา