13 ต.ค. 2021 เวลา 13:17 • ความคิดเห็น
ก่อนจะตอบว่าทำไมเราจึงขัดแย้งกันเมื่อพูดถึงเรื่องทางการเมือง ก็อยากจะให้ลองตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่เมื่อเราพูดเรื่องทางการเมืองกันแล้วจะต้องมีความเห็นสอดคล้องกันโดยปราศจากความขัดแย้ง?
พื้นฐานของความขัดแย้งนั้นมันเกิดมาจากความเห็นที่แตกต่างกัน และการที่มนุษย์แต่ละคนจะมีความเห็นแตกต่างกันนั้นมันเป็นเรื่องธรรมชาติ นับตั้งแต่มีสังคมมนุษย์บนโลกใบนี้ยังไม่เคยปรากฏว่าสังคมไหนที่จะทำให้มนุษย์ทุกคนในสังคมมีความเห็นเหมือนกันปราศจากซึ่งความแตกต่างและไม่มีความขัดแย้ง
ในหลักการของประชาธิปไตย ความแตกต่างหลากหลายคือความสวยงามที่ประชาธิปไตยรองรับ ความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่ปัญหา สังคมประชาธิปไตยไม่ได้ห้ามความขัดแย้ง
ประเด็นมันอยู่ที่ความขัดแย้งมักจะถูกมองด้วยมายาคติเชิงลบว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งที่ความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่กับมนุษย์มาอยู่เสมอ สอดรับไปกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ที่ว่าที่ใดมีอำนาจที่นั่นมีความขัดแย้ง
สิ่งที่เราควรจะตั้งคำถามและควรที่จะพิจารณามากที่สุดก็คือเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้วเราจัดการกับความขัดแย้งนั้นอย่างไร ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ความขัดแย้งนั้นนำไปสู่ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ทำอย่างไรที่เราจะยอมรับให้คนที่มีความเห็นแตกต่างนั้นมีความเป็นคนเท่ากับเรา ทำอย่างไรให้เราไม่มองว่าคนที่มีความเห็นต่างนั้นเป็นคนอื่น ไม่ใช่พวกเดียวกันกับเรา รู้สึกรังเกียจหรือจ้องทำร้าย มองอีกแง่หนึ่งก็คือไม่พยายามลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่นที่อาจไม่เห็นด้วยกับเรา
การจัดการกับความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่เราควรช่วยกันพิจารณาหาวิธีการในการประนีประนอมและอยู่ร่วมกัน มากกว่าที่จะมาจ้องทำอย่างไรให้คนในสังคมคิดเห็นเหมือนกัน
เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการเมืองเท่านั้นที่จะทำให้คนเราขัดแย้งกัน ในหลายมิติในหลักประเด็นคนเราเองก็มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และในหลายครั้งเราก็พบว่าเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนเรานั้นได้ในทันทีทันใด หรือคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเราได้เช่นกัน เรื่องบางเรื่องอาจใช้เวลา เรื่องบางเรื่องอาจทำได้ทันทีเลย มันขึ้นกับบริบทมากกว่า
และเมื่อเราถามว่าคนไทยรักกันที่สุดเรื่องไหน คำถามคือทุกวันนี้คนไทยเรารักกันหรือยัง ยกตัวอย่างง่ายง่ายเมื่อเราเดินออกไปบนท้องถนนในชีวิตของเราเราเห็นผู้คนที่เดินสวนกับเรามีปฏิสัมพันธ์กับเราในชีวิตประจำวันเรารู้สึกรักเขาหรือไม่ เพราะในแง่หนึ่งเขาก็คือคนไทยเช่นกัน
หลายคนพยายามที่จะอยากให้คนไทยรักกัน ทั้งที่ตัวเองยังเกลียดฉันคนบางกลุ่มที่อาจจะมีวัฒนธรรมแตกต่าง ภาษาแตกต่าง ความเชื่อแตกต่าง ศาสนาแตกต่าง หรือมีรูปลักษณ์ที่แตกต่าง แต่ยังบอกว่าฉันรักคนไทย นั่นหมายความว่าคำว่าคนไทยของเขาเป็นเพียงจินตนาการที่ไม่ได้สอดรับไปกับผู้คนที่มีชีวิตจิตใจแล้วอยู่ร่วมกับเขาในประเทศนี้จริงๆ
แต่หาพอจะตอบคำถามนี้ได้นั้นก็น่าจะเป็นการตอบว่าคนไทยรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันหรือต้องรวมกลุ่มกันเกาะเกี่ยวกันเมื่อไหร่ คำตอบก็คือเมื่อเรามีศัตรูหรือมีภัย เพราะเมื่อสิ่งเรานั้นเกิดขึ้นเราจะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงการรวมกลุ่มซึ่งเป็น สัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของมนุษย์จะส่งผลให้เรารู้สึกถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เราจึงจะสังเกตได้ว่าเมื่อภัยพิบัติมาถึง หรือมีศึกสงคราม รวมไปถึงการสร้างตัวแทนศัตรูขึ้นมาจึงสามารถรวบรวมผู้คนให้มาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ในช่วงขณะหนึ่ง
และเมื่อเรามองย้อนกลับไปในสังคมต่างๆของโลกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราก็ยังไม่พบว่าจะมีสังคมใดที่คนในสังคมรักใคร่กลมเกลียวกันอย่างอดุมคติเช่นนั้น (ถ้ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสังคมใดทำได้กรุณาช่วยชี้ทางสว่างให้ด้วย) เมื่อธรรมชาติของมนุษย์เต็มไปด้วยความหลากหลายและไม่ได้มีความรักใครกลมเกลียวขนาดนั้น การพยายามผลักดันตั้งเป้าหมายเพื่อสรรค์สร้างสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ให้เกิดขึ้นมันจึงไม่อาจเป็นไปได้
โฆษณา