14 ต.ค. 2021 เวลา 03:54 • สุขภาพ
......อยากสุขภาพดี ต้องนอนอย่างไร??
การนอนสำคัญเฉกเช่นเดียวกับอาหาร เพราะเวลา1/3ของชีวิตมนุษย์เรา ใช้ไปกับการนอน การรักษาคุณภาพในการนอนที่ดี จึงเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ทำให้เรามีสุขภาพดี
การนอนเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ การนอนหลับที่เพียงพอ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากการเหนื่อยล้า ได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอแล้ว ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ทั้งด้านจิตใจและจิตวิญญาณได้ด้วย ถือว่าการนอนหลับเป็นยาบำรุงขนานเอกเลยทีเดียว
คัมภีร์ลี่เวิงเหวินจี้《笠翁文集》 สมัยราชวงศ์ชิงบันทึกว่า “เคล็ดลับแรกสุดของการสร้างเสริมสุขภาพนั่นก็คือการนอน การนอนบำรุงจิง(สารจำเป็นพื้นฐานที่เป็นโครงสร้างร่างกาย) บำรุงชี่ บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก”
เพราะการนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด เป็นช่วงที่ร่างกายเราอยู่ในภาวะสงบ การไหลเวียนของเลือดลมในร่างกายเคลื่อนตัวช้าลง เป็นช่วงเวลาที่อวัยวะต่างๆได้รับการซ่อมแซมและฟื้นฟู การนอนที่เพียงพอนอกจากจะทำให้ร่างกายได้ชาร์จพลังจากการเหนื่อยล้าแล้วยังเป็นวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่ยอดเยี่ยมอย่างนึง ดังนั้นถ้าเราจะนอนทั้งทีก็ควรนอนอย่างมีคุณภาพและให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
วันนี้ทางเพจTCM for life ก็จะมาแนะนำวิธีการนอนให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยจะพูดถึง อุปกรณ์การนอน ท่านอน และเวลาในการนอน
1. อุปกรณ์ในการนอน
เครื่องนอนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งซึ่งส่งเสริมคุณภาพในการนอน
1.1 เตียงและฟูก การเลือกเตียงควรเลือกเตียงที่สูงกว่าระดับเข่าเล็กน้อย ขนาดเตียงก็ต้องใหญ่ให้นอนสบายเข้ากับสรีระร่างกายเรา ทำให้คงสภาวะที่กระดูกสันหลังเราจะเหยียดตรง หรือโค้งงอได้ ฟูกนอนก็ไม่ควรสูงและนิ่มเกินไป ควรให้สูงกว่าพื้นเตียงประมาณ 10 ซ.ม. ผ้าปูที่นอนก็ต้องทำจากวัตถุดิบที่นุ่มสบาย และสะอาด
1.2 หมอน การเลือกหมอนก็ไม่ควรจะแข็งและสูงจนเกินไป หมอนที่แข็งเกินไปจะทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณต้นคอไม่สะดวก หมอนที่สูงเกินก็จะทำให้กล้ามเนื้อคออยู่ในสภาวะเกร็ง กระดูกต้นคองอมากเกินไป นานวันเข้าก็จะทำให้กระดูกสันหลังมีปัญหา และอาจจำทำให้เกิดอาการตกหมอน นอนกรน หายใจไม่สะดวกได้ นอกจากนี้การนอนหมอนสูงเกินไปจนทำให้ศีรษะอยู่ในลักษณะก้มหน้าก้มหน้าเป็นเวลานานก็จะทำให้เลือดขึ้นหัวในปริมาณมาก ทำให้มีอาการหน้าบวม ตาบวม หรือหนักหัวหลังตื่นนอน
1.3 ผ้าห่ม ผ้าห่มก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เพราะการนอนในที่ที่ร้อนเกินไปจะทำให้เราไม่ผ่อนคลาย การหายใจเร็วขึ้น และทำให้รู้สึกกระหายน้ำคอแห้ง ส่วนการนอนในอากาศที่หนาวเกินก็จะทำให้กล้ามเนื้อเกรงไม่ผ่อนคลาย ทำให้หลับได้ไม่ลึก ตื่นมาสมองไม่ปลอดโปร่ง
2. ท่านอน
ถึงแม้ว่าท่านอนจะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล เช่นท่านอนหงาย นอนตะแคง แต่ตามตำราแพทย์จีนแล้ว แนะนำว่าท่านอนที่ดี ควรนอนตะแคงขวา งอตัว งอเข่าเล็กน้อยแบบคันธนู เพราะท่านี้จำทำให้ชี่ของหัวใจและม้าม(ในแพทย์จีน)ได้รับการปลดปล่อย กล้ามเนื้อแขนขาและลำตัวได้ผ่อนคลาย ทำให้การไหลเวียนของเลือด และการหายใจคล่องสะดวก ร่างกายจึงได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่
ในกรณีสตรีมีครรภ์ในไตรมาสสองและสามแนะนำให้นอนตะแคงซ้ายจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีกว่า เพราะช่วยป้องกันมดลูกไม่ให้กดทับเส้นเลือดดำใหญ่
3. เวลาในการนอน
อย่างที่เราเคยบอก อะไรที่ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับ บุคคล กาลเวลา และสถาณที่ เวลาในการนอนก็เช่นกัน จากค่าเฉลี่ยแล้ว เด็กทารกควรนอนประมาณ 18-20 ช.ม. ต่อวัน พอถึงวัยเข้าเรียนก็นอนวันละ 9-10 ช.ม. จนถึงวัยรุ่นก็ควรนอนประมาณ 8 ช.ม. ในผู้สูงอายุ ควรนอนประมาณ 9-10 ช.ม.ต่อวัน แต่ก็ต้องแล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน แต่ถ้าเรานอนเพียงพอแล้ว ตื่นมาเราก็จะรู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย และสบาย มีพลังในการลุยกับกิจกรรมต่างๆ
เวลากลางคืนช่วงสี่ 22:00-23:00 น. อุณหภูมิร่างกายเราจะเริ่มลดลง การหายใจจะช้าลง การหลั่งฮอร์โมนก็จะน้อยลง เป็นช่วงเวลาลาที่นาฬิกาชีวิตเรากำลังเข้าสู่โหมดสงบ ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเข้านอน
ตามหลักการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว การนอนและการตื่นนอนเกิดขึ้นจากการแปรเปลี่ยนของหยิน-หยางในตัวเรา เมื่อหยินก่อตัวมาก(เทียบกับหยาง)เราก็เข้าสู่ห้วงนิทรา และตื่นนอนขึ้นและมีพลังทำกิจกรรมต่างๆเมื่อหยางก่อตัวมากขึ้น(เมื่อเทียบกับหยิน)
ตามหลักแพทย์จีนเวลาเที่ยงวันและเที่ยงคืนนั้นเป็นเวลาที่หยิน-หยางในร่างกายเรามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ดังนั้นเราจึงควรให้ร่างกายได้พักผ่อนในช่วงเวลานั้น เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง
เวลา “จึ” (子时)คือกลางคืนช่วงเวลาระหว่าง ห้าทุ่มถึงตีหนึ่ง (23:00น.-1:00น.) เป็นช่วงเวลาที่พลังหยินในตัวเราเพิ่มจำนวนขึ้นมากที่สุด และพลังหยางในตัวเราอ่อนแอที่สุด เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะนอนพักผ่อนเพื่อให้หยิน-หยางในร่างกายเราได้ฟื้นฟู เข้าสู่สมดุลนั่นเอง ถ้าเราไปรบกวนสมดุลของหยินหยางจนร่างกายเสียสมดุล ก็อาจส่งผลเสียต่อคุณภาพของการนอน และสุขภาพจิตและสุขภาพกายในระยะยาวได้
ท้ายที่สุด การป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้ผลอย่ายั่งยืนก็ยังคงหนีไม่พ้น “4อ” อารมณ์ อากาศ อาหาร และออกกำลังกาย
และอย่าลืม กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และใส่แมสกันนะคะ
ด้วยความปรารถนาดีจาก TCM for life สุขภาพดีไปกับแพทย์จีน
โดย: พจ. วชิราภรณ์ ผดุงเกียรติวงษ์
อ้างอิง 1.《中医养生康复学》作者:章文春,郭海英出版社:人民卫生出版社
โฆษณา