14 ต.ค. 2021 เวลา 04:28 • การเมือง
จุดเริ่มต้นที่สำคัญของ “การลุกขึ้นสู้” ครั้งใหญ่ของขบวนนิสิตนักศึกษาประชาชนไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของ “ความไม่พอใจและความคับข้องใจ” ทางการเมืองจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และสมทบด้วยผลจาก “วิกฤตศรัทธา” ของสังคมที่มีต่อผู้นำรัฐบาลทหาร
คนส่วนใหญ่ในสังคมแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการการปกครองของผู้นำทหารอีกต่อไป เพราะรัฐบาลทหารไม่มีประสิทธิภาพในการต้องรับมือกับปัญหาในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตพลังงานครั้งแรกของโลกในปี 2516 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยโดยตรง และรวมถึงปัญหาอื่นๆ ในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับกระแสเสรีนิยมที่กำลังไหลทะลักเข้าสู่สังคมไทยด้วย
การก้าวเข้าสู่ปี 2516 สะท้อนให้เห็นชัดว่า ความเชื่อมั่นของสังคมต่อรัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร มีอยู่ในระดับต่ำ และจุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลประสบ “วิกฤตความน่าเชื่อถือ” จากกรณีทุ่งใหญ่ในช่วงต้นปี ภาวะเช่นนี้นำไปสู่การลดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลของจอมพล ถนอม ลงอย่างมาก จนอาจประเมินได้ว่า รัฐบาลจอมพล ถนอม อยู่ในภาวะถดถอยทางการเมือง และตกต่ำอย่างรุนแรง ประเด็นสำคัญคือ ผู้นำรัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลทหารถูกมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมไทยขณะนั้น แม้จะมีความพยายามในการนำเอาภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์มาเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารก็ตาม
การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวออกไปในวงกว้าง จนเกิดคำเรียก “สามผู้นำทหาร” ของรัฐบาลในขณะนั้นว่า “สามทรราช” สภาวะเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงทัศนะของสังคมที่มองว่า ผู้นำทหารในสายตาของสังคมคือ “ทรราช” พวกเขาไม่ใช่ “อัศวินม้าขาว” ที่จะเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหาของประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งคนในสังคมมีความรู้สึกว่า ผู้นำทหารและครอบครัวเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ และสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและพรรคพวก จนทำให้ผู้นำทหารเป็นเป้าหมายของความเกลียดชัง หรืออาจกล่าวได้ว่า คนในสังคมไม่มีความเชื่อมั่นให้กับผู้นำทหารเช่นในอดีต
ความไม่พอใจรัฐบาลทหารเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสังคมไทย ประมาณการว่า มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน (อ้างจาก ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดิน, 2543) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการชุมนุมจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหรือน้อยกว่าตัวเลขดังกล่าว ตัวเลขเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครองของผู้นำทหารอย่างชัดเจน
ดังนั้น เหตุการณ์การล้มรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ของสังคมไทยในปี 2516 เป็นประวัติศาสตร์ของ “การปฏิวัติทางการเมือง” ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทยอีกครั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และอำนาจที่ถูกผูกขาดอยู่ในมือของผู้นำทหารมาอย่างยาวนานได้ถูกทำลายลง พร้อมกับเปิดทางให้กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ในสังคมเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนิสิตนักศึกษา กรรมกร ชาวนา แม้กระทั่งกลุ่มพลังในกองทัพเอง เช่น กลุ่มนายทหารระดับกลาง ตลอดรวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวละครสำคัญในยุคหลัง 14 ตุลาฯ และปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทและการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังเหล่านี้มีผลต่ออนาคตการเมืองไทยในยุคหลังปี 2516 อย่างมากด้วย
หากจะสรุปบทเรียนสำคัญของการลุกขึ้นสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่า ระบอบทหารที่แม้จะมีกองทัพเป็นปราการสนับสนุนที่แข็งแรงเพียงใด ก็ไม่อาจต้านทานพลังการต่อต้านของนักเรียน -นิสิต-นักศึกษา-ประชาชนได้เลย เมื่อสังคมในขณะนั้นได้ “ระเบิดอารมณ์” ทางการเมืองใส่รัฐบาลทหาร จนกลายเป็น “คลื่นยักษ์” ที่พัดพารัฐนาวาทหารของจอมพลถนอม จมลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 14 ตุลาฯ และนัยสำคัญอีกประการของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ การสิ้นสุดของรัฐบาลทหารซึ่งสืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหาร 2490
ฉะนั้น หากเปรียบเทียบการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กับการต่อสู้รัฐบาลเผด็จการในเวทีโลกแล้ว เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ จึงเป็นเสมือนกับ “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” จนอาจเรียกได้มาเป็น “ไทยสปริง” เช่นที่บรรดาเสรีชนในหลายประเทศได้ต่อสู้ด้วยความเสียสละมาก่อน หรือเปรียบในบริบทปัจจุบันก็คือ อาหรับสปริง ฮ่องกงสปริง และเมียนมาสปริง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลในยุคปัจจุบันน่าได้เห็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และส่วนหนึ่งเห็นการล้มรัฐบาลทหารด้วยพลังนักศึกษาประชาชนด้วยตนเองจากโรงเรียนนายร้อยฯ ที่ถนนราชดำเนินนอก และทั้งยังเห็นถึง การที่ทหารต้องถอดเครื่องแบบออกในช่วงต้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เพราะสังคมไม่ยอมรับ และมีท่าทีต่อต้านอย่างมาก จนการใส่เครื่องแบบทหารในที่สาธารณะอาจเป็นปัญหาได้
ผู้นำทหารที่มีอำนาจในการเมืองไทย และผู้นำทหารที่มีอำนาจในกองทัพไทยปัจจุบัน อาจจะไม่อยากจดจำและเรียนประวัติศาสตร์ชุดนี้ อีกทั้ง ด้วยการสนับสนุนของชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย ผู้นำทหารที่กุมอำนาจในการเมืองไทยจึงมีความเชื่อมั่นอย่างมากว่า รัฐบาลชุดนี้จะเป็น “ระบอบที่ทนทาน” และจะไม่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็น “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” จน “ผู้นำสามทหาร” ของยุคปัจจุบันต้องหมดอำนาจลง
ว่าที่จริง ผู้นำสายอำนาจนิยมในทั่วโลกมักมีความเชื่อมั่นทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันว่า พวกเขาสามารถอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน ภาวะเช่นนี้จึงอาจเทียบเคียงได้กับรัฐบาลทหารของประธานาธิบดีมูบารัคในยุคก่อนอาหรับสปริง ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็น “ระบอบเผด็จการที่ทนทาน” เพราะไม่มีกลุ่มต่อต้านใดจะสามารถโค่นได้ ความอยู่รอดของรัฐบาลทหารอียิปต์จึงถูกสร้างเป็นความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลทหารไคโรจะไม่ถูกโค่นล้มลงอย่างง่ายดาย แต่เมื่อต้องเผชิญกับ “คลื่นยักษ์” ของประชาชนที่ออกมาต่อต้านแล้ว รัฐบาลทหารที่ปกครองอียิปต์มาอย่างยาวนานก็ถึงจุดสิ้นสุดลงในต้นปี 2554 ไม่ต่างจากอดีตการล้มลงของรัฐบาลทหารไทยในปี 2516
หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อแสวงหาข้อพิจารณาจากการต่อสู้ทางการเมืองในอดีตแล้ว จะเห็นได้ว่า เสียงต่อต้านและเสียงคัดค้าน “รัฐบาลสามทหาร” ดังไปทั่วทั้งสังคม และเสียงเช่นนี้กำลังดังมากขึ้นๆ เรื่อยในสังคมไทย จนอาจจบลงด้วยการมาของ “ฤดูใบไม้ผลิ” เช่นในปี 2516 ได้ไม่ยาก
ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้จึงอดฉงนใจไม่ได้ว่า ผู้นำทหารและกลุ่มผู้มีอำนาจในปี 2564 เรียนรู้ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ เพียงใด… หากใส่ใจพอแล้ว จะเห็นได้เสมอว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีบทเรียนให้เป็นข้อคิดสำหรับผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองเสมอ!
ขอคารวะวีรชน 14 ตุลาคม 2516!
โฆษณา